สถานการณ์น้ำท่วมรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 24, 2011 15:06 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์น้ำท่วมรัฐควีนส์แลนด์เริ่มจากฝนตกหนักในภาคตะวันออกของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนกลางของรัฐควีนส์แลนด์ตั้งแต่ต้นธันวาคม 2553 และพายุไซโครนเข้าประเทศตั้งแต่ คริสมาสต์ของปีที่แล้ว โดยน้ำเพิ่มสูงสุดเมื่อวันที่ 13 มกราคม น้ำท่วมครอบคลุมประมาณ 3 ใน 4 ของพื้นที่รัฐควีนส์แลนด์ รวมทั้งบริสเบนซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ และท่วมส่วนเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลล์ นอกจากนั้น 1 ใน 3 ของพื้นที่รัฐวิกตอเรียก็ถูกน้ำท่วม

ประมาณมากกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่การเกษตรปลูกผลไม้และผักของออสเตรเลียได้รับผลกระทบ ผลผลิตผักและผลไม้ของควีนส์แลนด์มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 28 ของผลผลิตทั้งหมดของประเทศ มูลค่าความเสียหายของผลิตผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ และเครื่องมือการเกษตรมีมูลค่ารวมกันประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญออสเตรเลีย ผลิตผลธัญพืชของ ควีนส์แลนด์ เช่น ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ข้าวโพด และ chickpea เสียหายประมาณร้อยละ 40 สินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ บีทรูท ถั่วลิสง มันฝรั่งหวาน (sweet potatoes) zucchini ส้มแมนดาริน พริก ต้นหอม กระหล่ำ พริกหวาน ถั่วลันเตาและถั่วหวาน (sugarsnap peas) อโวคาโด ข้าวโพดหวาน มะเขือเทศ แตงโม และมะนาว (lemons) คาดว่าราคาผักผลไม้เมืองร้อน (tropical fruits) จะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเริ่มเข้าฤดูใบไม้ร่วงประมาณเดือนมีนาคมหรือเมษายน ซึ่งผลผลิตจากรัฐอื่นลดลงและเป็นช่วงที่ผลผลิตฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ของรัฐควีนส์-แลนด์เข้าสู่ตลาด ซึ่งถึงแม้ขณะนี้ผลผลิตที่จำหน่ายส่วนใหญ่จะไม่ได้มาจากรัฐควีนส์แลนด์ แต่ราคาผลไม้เมืองร้อนหลายชนิดเริ่มสูงขึ้นแล้ว เช่น สับปะรด ลิ้นจี่ pawpaw ขณะที่ มะนาวและมันฝรั่งหวานเริ่มขาดแคลน สินค้าเกษตรที่ต้องการเวลาในการปลูกค่อนข้างยาว เช่น สับปะรด จะได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้าเกษตรที่ใช้เวลาปลูกสั้น ราคาน้ำตาลจะเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยไร่อ้อยได้รับผลกระทบก่อนหน้าจากฝนที่ตกอย่างมากใน 5 เดือนที่ผ่านมาและยังได้รับผลกระทบเพิ่มจากน้ำท่วม ทั้งนี้ บริษัท Queensland Sugar Ltd ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลใหญ่สุด ของออสเตรเลียให้ข่าวว่าจะซื้อน้ำตาลจากบราซิลและไทยเพิ่มขึ้น

ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีนส์แลนด์เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเลี้ยงวัว และเกือบครึ่งของการแปรรูปเนื้อวัวกระทำในรัฐควีนส์แลนด์ ซึ่งโรงงานเชือดและแปรรูปได้รับผลกระทบทำให้ต้องปิดโรงงาน หรือไม่สามารถส่งวัวไปยังโรงงานได้ นอกจากนั้น คาดว่าปริมาณสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลา กุ้ง ปู ที่เข้าสู่ท้องตลาดจะลดลงเนื่องจากการปนเปื้อนของแม่น้ำและสัตว์น้ำที่ถูกพัดออกจากแม่น้ำในระหว่างน้ำท่วม รวมทั้ง เครื่องมือที่ใช้ในการประมงได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางรายเห็นว่าการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรอาจมีผลกระทบเพียงชั่วคราวและส่งผลไม่มากเพราะสินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่สามารถหาซื้อได้จากแหล่งอื่นและการแข่งขันจะส่งผลให้ราคาลดลง และคาดว่าผู้ค้าจะต้องพยายามหาสินค้าจากแหล่งอื่นมาทดแทน นอกจากนั้น คาดว่าน้ำท่วมอาจส่งผลดีในระยะยาวต่อการปลูกสินค้าเกษตรของออสเตรเลียเนื่องจากความชื้นของดินเพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจของควีนส์แลนด์ได้รับผลกระทบประมาณ 10 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และจะมีผลทำให้เศรษฐกิจของออสเตรเลียชะงักระยะหนึ่งหลังจากขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า GDP ปี 2554 จะลดลงประมาณร้อยละ 0.3-0.6 หรืออาจถึงร้อยละ 1 มูลค่าประมาณ 13 พันล้านดอลลาร์ ออสเตรเลีย โดยคาดว่า GDP ในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณจะลดลงร้อยละ 0.4 เปรียบเทียบกับที่เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.8 โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อ GDP ได้แก่ การชะงักการส่งออกแร่ถ่านหิน (coal) ประมาณร้อยละ 50 ของเหมืองแร่ถ่านหินในรัฐควีนส์แลนด์ต้องหยุดชะงักเพราะน้ำท่วม ส่งผลกระทบประมาณร้อยละ 35 ของการ ส่งออกถ่านหินของออสเตรเลีย รัฐควีนส์แลนด์ส่งออก metallurgical coal ประมาณร้อยละ 50 ของโลก และส่งออก coking coal ประมาณร้อยละ 65 ของโลก ทั้งนี้ คาดว่าราคาแร่ถ่านหินจะเพิ่มขึ้นและจะส่งผลกระทบต่อราคาเหล็กกล้าของโลกซึ่งต้องใช้แร่ถ่านหินในการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ต้องพึ่งการนำเข้าถ่านหิน ได้แก่ อินเดีย ไต้หวัน ญี่ปุ่นและเกาหลี อินเดียต้องพึ่งพาถ่านหินจากออสเตรเลียประมาณร้อยละ 80 ของถ่านหินที่ใช้ในการผลิต pig iron

ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ได้แก่ ผลผลิตการเกษตรที่ลดลง การท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบก่อนหน้าแล้วจากค่าเงินออสเตรเลียที่แข็งค่าขึ้น ผลกระทบต่อผลกำไรที่ลดลง และรายได้ครอบครัว คาดว่าการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมจะส่งผลกระทบต่อการขาดแรงงานฝีมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่จะใช้ในการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานและแรงงานสำหรับเหมืองแร่ รวมทั้งแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าจะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการในการซ่อมบ้านและธุรกิจ การก่อสร้างเพื่อซ่อมแซมหลังน้ำท่วมจะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นนของค่าแรงและวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง และยังมีการคาดการณ์ว่าส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ ซึ่งรัฐบาลอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนเมษายน และอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงถึงร้อยละ 5.75 ใน 12 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ ค้าปลีกจะรับผลกระทบอันเนื่องจากราคาสินค้าอาหารและของจำเป็นที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่าย

ควีนส์แลนด์เป็นรัฐที่มีอาณาเขตใหญ่เป็นอันดับสองรองจากรัฐออสเตรเลียตะวันตก (Western Australia) จัดเป็นศูนย์ธุรกิจอันดับ 3 รองจากรัฐนิวเซาท์เวลล์ และวิกทอเรีย สินค้าสำคัญของรัฐ ได้แก่ กล้วย สับปะรด ถั่ว พืชและผลไม้เขตร้อนอื่นๆ ธัญพืช ไวน์ เนื้อวัว ฝ้าย น้ำตาล ขนสัตว์ แร่ธาตุต่างๆ เช่น ถ่านหิน ซิลิกา สังกะสี ตะกั่ว เงิน ทองแดง ทองคำ อัญมณี น้ำมันและก๊าซ และการท่องเที่ยว

มูลค่านำเข้าของควีนสแลนด์จากไทยเป็นอันดับ 4 รองจาก เวสเทิร์นออสเตรเลีย วิกตอเรีย และนิวเซาท์เวลล์ มีสัดส่วนร้อยละ 14.7 ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของออสเตรเลียจากไทย โดยระหว่างเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2553 มีมูลค่านำเข้า 1.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว สินค้าที่นำเข้าจากไทยอันดับต้น ได้แก่ ยานยนต์ แอร์คอนดิชั่น ยางรถยนต์ อาหารกระป๋อง (ปลา กุ้ง ปู ปลาหมึกกระป๋อง) โทรทัศน์ (เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15943) เครื่องซักผ้า ตู้เย็น น้ำตาล (เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 71530) ข้าว ภาชนะพลาสติก เครื่องประดับ อาหารสัตว์ แผ่นฟิลม์ อาหารปรุงแต่ง เป็นต้น

ระหว่างเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2553 ควีนส์แลนด์นำเข้าจากทั่วโลกมูลค่าทั้งสิ้น 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีมูลค่านำเข้าอันดับ 3 รองจากนิวเซาท์เวลล์และวิกตอเรีย สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้า เครื่องยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ โดยอันดับต้นที่นำเข้า ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ยานยนต์และชิ้นส่วน ทอง เครื่องขุด บดถนน แร่ทองแดง ยางรถยนต์ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ แอร์คอนดิชั่น แร่เหล็ก เป็นต้น

ข้อสังเกตุ/ความเห็น

1. สินค้าเกษตรนอกจากจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในรัฐควีนส์แลนด์แล้ว ยังเกิดจากผลกระทบของน้ำท่วมในรัฐวิกตอเรียและทางเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลล์ รวมทั้งฝนที่ตกมากในรัฐเซาท์ออสเตรเลียและรัฐทัสมาเนีย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สินค้าเกษตรของออสเตรเลียจะได้รับผลกระทบทำให้ขาดแคลนและราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ออสเต-เลียมีมาตรการเข้มงวดในการนำเข้าสินค้าเกษตร ซึ่งทำให้ผู้นำเข้าอาจไม่สามารถหาสินค้าจากแหล่งอื่นทดแทนได้มากนัก นอกจากนั้น เกษตรผู้ปลูกสินค้าเริ่มเรียกร้องไม่ให้มีการนำเข้าสินค้าจากแหล่งอื่น

2. ที่อยู่อาศัย สถานธุรกิจ ยานยนต์ และโครงสร้างพื้นฐานได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งหลังจาก น้ำท่วมและทำความสะอาดพื้นที่แล้ว จะต้องมีการก่อสร้าง ซ่อมแซม รวมทั้งการหาของทดแทนต่อไป ซึ่งจะมีความต้องการ สินค้าที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอย่างมากในอีกไม่นาน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ