มณฑลกวางตุ้ง เป็นศูนย์กลางในการผลิตสินค้าแปรรูปที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศจีนรองจากเมืองชิงเต่า มณฑลซานตงและยังเป็นศูนย์กลางของการกระจายสินค้านำเข้าทั้งสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตและสินค้าอาหารแปรรูปชนิดต่าง ๆ รวมทั้งสินค้าผลไม้แปรรูปด้วย สินค้านำเข้าหลายชนิดได้ถูกนำเข้าผ่านทางกว่างโจวซึ่งเป็นเมืองเอกของกวางตุ้งโดยตรง เมืองกว่างโจวเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในด้านวัฒนธรรมการบริโภคและประชาชนเมืองกว่างโจวนิยมบริโภคอาหารนานาชนิด จนมีคำกล่าวว่า “กินที่กว่างโจว” “Eating in Guangzhou” พฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคเมืองกว่างโจวโดยทั่วไปนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านและทดลองชิมอาหารที่มีรสชาดแปลกใหม่ มีความหลากหลาย นอกจากนี้ การบริโภคอาหารแปรรูปของชาวจีนในมณฑลอื่น ๆ ก็มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันอัตราเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการบริโภคของชาวเมืองกว่างโจวสูงที่สุดในประเทศจีน คือเฉลี่ยคนละ 6,000 หยวน/เดือน สูงกว่าอัตราเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการบริโภคของเมืองอื่น ๆ ถึง 3 เท่า
เมืองกว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง เป็นตลาดที่มีความสำคัญสำหรับสินค้าอาหารแปรรูปจากต่างประเทศที่ต้องการเข้าสู่ตลาดของประเทศจีน จากสถิติตัวเลขการส่งออกผลไม้แปรรูปของกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า การส่งออกผลไม้แปรรูปไทยไปจีน ในช่วงปี 2553 มีมูลค่า459.39 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2552 มีมูลค่า 320.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.51 % เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีน เริ่มนิยมการบริโภคผลไม้แปรรูปมากขึ้นโดยสินค้าผลไม้แปรรูปที่จำหน่ายในตลาดเมืองกว่างโจว มีผลไม้แปรรูปที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เนื้อฝรั่งอบแห้งและมะม่วงดองจากมณฑลกวางตุ้ง มะพร้าวกรอบจากมณฑลไหหลำ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศและมีบางส่วนนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ การนาเข้าส่วนใหญ่จะนาเข้ามายังเมืองกว่างโจวโดยตรงในลักษณะสินค้านำเข้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์เดิมและยี่ห้อของไทยเอง เช่น ผลไม้แปรรูปยี่ห้อ KING FRUIT , SIAM, SAMUI, วราพรและวัชมนฟู๊ด เป็นต้น อีกส่วนนำเข้ามาในลักษณะเป็นตัน แล้วนำมา Repackage ใช้ยี่ห้อของผู้จำหน่ายเอง เช่น ยี่ห้อ Zhuang Yuan, Wang Wang เป็นต้น หลังจากนั้นสินค้าก็จะถูกส่งต่อไปยัง Supplier, Distributor, Wholesaler และ Agent เพื่อ จำหน่ายและกระจายต่อไปสู่มือผู้บริโภคโดยช่องทางของธุรกิจค้าปลีกหรือ Modern Trade เช่น ห้าง LOTUS, JUSCO, WAL-MART, CARREFOUR, SAM’S CLUB, GRANDBUY, FREINDSHIP ร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store), หรือร้าน Frenchise ซึ่งปัจจุบันธุรกิจการค้าในจีนนิยมใช้ระบบ Frenchise มาก เป็นต้นว่า ร้าน 7-11, ร้าน C-Store, Family Mart, WATSONS, MANNING, ZI RAN PAI และ CHUNKYSHIRE เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้นำเข้าบางรายยังนิยมจำหน่ายสินค้าดังกล่าวบน Internet ผ่าน Website เช่น www.Alibaba.com, www.makepolo.com และ www.taobao.com เป็นต้น โดยผู้สนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ตามจำนวนต้องการและจัดส่งถึงบ้านด้วย
ปัจจุบัน สินค้าผลไม้แปรรูปไทยที่จำหน่ายในตลาดเมืองกว่างโจวมีหลายชนิด อาทิเช่น มะม่วงดอง/หวาน ทุเรียนอบแห้ง/ผง/ท๊อฟฟี่ทุเรียน เนื้อมังคุดอบแห้ง ขนุนอบกรอบ เนื้อเงาะอบแห้ง กล้วยแผ่นอบกรอบ ฝรั่งอบแห้ง มะขาม สับปะรดอบแห้ง มะละกออบแห้ง มะพร้าวอบกรอบ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะผลิตในลักษณะอบแห้ง (Dried Freeze) , แช่แข็ง( Frozen), ผลไม้กระป๋อง (Canned) และผลไม้อบกรอบ (Chip) บางประเภทผลิตในลักษณะแยมผลไม้ เพื่อใช้ทำใส้ขนมเปี๊ยะของจีน คนจีนส่วนใหญ่มักจะใช้ผลไม้แปรรูปเป็นของว่างสำหรับกินเล่นในยามว่างหรือพักผ่อน บางคนซื้อมอบเป็นของกำนัลให้ผู้หลักผู้ใหญ่ ญาติสนิทมิตรสหาย เป็นต้น โดยผลไม้แปรรูปไทยที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดคือ ทุเรียนอบแห้ง รองลงมาคือมังคุดอบกรอบ กล้วยอบ/กรอบ มะม่วงดอง/หวาน ตามลำดับ โดยประเทศคู่แข่งขันที่สำคัญของไทยที่ไม่ควรมองข้ามคือประเทศเวียดนาม ซึ่งสินค้าขนุนอบกรอบของเวียดนาม สามารถตีตลาดจีนได้สำเร็จ นอกจากนี้ ยังมี ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งส่งออกมะม่วง สับปะรดและกล้วยอบแห้งเช่นเดียวกับไทย ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียส่งออกทุเรียนแปรรูป ไต้หวันส่งออกฝรั่งแปรรูป เป็นต้น
สำหรับบรรจุภัณฑ์ของสินค้าผลไม้แปรรูปที่นำเข้ามาจำหน่ายในตลาดจีนนั้นมีหลายลักษณะเช่น บรรจุกล่องกระดาษ ถุงพลาสติก ถุงสูญญากาศ กระป๋อง เป็นต้น โดยราคาจำหน่ายปลีกของผลไม้แปรรูปที่จำหน่ายในเมืองกว่างโจวมี ดังนี้
ทุเรียนอบแห้ง ขนาด 250 กรัม ราคา ถุงละ 34.8 หยวน
ขนุนอบแห้ง ขนาด 250 กรัม ราคา ถุงละ 14.5 หยวน
ผลไม้รวมอบแห้ง ขนาด 100 กรัม ราคา 11.8 หยวน
ท๊อฟฟี่กะทิ ขนาด 200 กรัม ราคา 5.5 หยวน
มะม่วงดอง ขนาด 500 กรัม ราคา 22.8 หยวน
มะม่วงหวานขนาด 200 กรัม ราคา 25.5 หยวน
กล้วยอบ ขนาด 150 กรัม ราคา 7.8 หยวน
จากการที่ผู้บริโภคชาวจีนมีค่านิยมและรสนิยมในการบริโภคที่เปลี่ยนไปในทางแบบตะวันตกมากขึ้นและมีการยอมรับวัฒนธรรมในการรับประทานอาหารที่แปลกใหม่ของชาติอื่น รวมทั้งกระแสของการนิยมบริโภคของที่มีคุณภาพและปลอดภัย จึงเป็นโอกาสทางการตลาดที่ดีที่ผู้ผลิตผลไม้แปรรูปของไทยมีโอกาสเจาะตลาดผู้บริโภคชั้นสูงของจีนที่มีกำลังในการซื้อมากด้วยการส่งสินค้าชั้นดีมีคุณภาพที่เป็นที่ต้องการของชาวจีนที่มีฐานะและนิยมบริโภคของดีที่ได้มีการคัดสรรคุณภาพว่าเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยมก็น่าจะทำตลาดในประเทศจีนได้
สคร. กวางโจว
ที่มา: http://www.depthai.go.th