อาหารแห่ขึ้นราคา..อาหรับเดือดร้อนหนัก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 26, 2011 10:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องสำคัญของประเทศที่ไม่มีพื้นที่การเกษตรและแหล่งน้ำเพียงพอ ประเทศเหล่านั้นพยายามหาพื้นที่เพาะปลูกเพื่อลดความเสี่ยงทางอาหารของพลเมืองในระยะยาว หลายประเทศได้เริ่มเข้าไปเช่าหรือซื้อที่ดิน เพื่อเสาะหาพื้นที่ของประเทศอื่นที่ยากจนและค่าแรงต่ำ โดยการแลกเปลี่ยนทรัพยากรหรือเงินค่าเช่าให้กับประเทศเจ้าของที่ดินเป็นการตอบแทน เพื่อทำการเกษตรแล้วส่งไปเลี้ยงประชากรในประเทศตน ประมาณว่าที่ดินในทวีปแอฟริกาอย่างน้อย 31.25 ล้านไร่ ใน 11 ประเทศ ถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ในยุโรปและเอเชียเข้าใช้เป็นฐานเพาะปลูก หลายประเทศในตะวันออกกลางที่ส่วนใหญ่พึ่งพาการนำเข้าอาหารจากเกือบทั้งสิ้น มักประสบกับปัญหาเมื่อรัฐบาลประเทศผู้ส่งออกมีนโยบายจำกัดการส่งออก ทำให้ประเทศผู้นำเข้าเหล่านี้เดือดร้อนขาดแคลนอาหาร รัฐบาลทั้งหลายนี้จึงหามาตรการต่างๆเพื่อรับมือ โดยเฉพาะราคาอาหารที่แพงขึ้น การจัดแผนควบคุมราคาอาหารที่จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน อันเป็นสาเหตุการปฏิวัติของประชาชนที่เกิดขึ้นในประเทศตูนีเซีย เพราะประชาชนมีความไม่พอใจในอัตราการว่างงานและการเพิ่มราคาอาหารสินค้าจำเป็น และทำให้เกิดมีการประท้วงรูปแบบเดียวกันในประเทศอาหรับข้างเคียง เช่น อัลจีเรีย จอร์แดน และอียิปต์

ซาอุดิอาระเบียประกาศเพิ่มปริมาณสำรองข้าวสาลีให้ครอบคลุมได้ 1 ปีเพิ่มจาก 6 เดือน และกลุ่มธุรกิจจากซาอุดิอาระเบีย ทำสัญญาปลูกข้าวพื้นที่ 4 ล้านไร่ ในเกาะที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งที่อินโดนีเซีย และอีกหลายล้านไร่ในปากีสถาน คาซัคสถาน พม่า ฟิลิปปินส์

รัฐบาลคูเวตมอบเงินทุนให้แก่กระทรวงเกษตรและป่าไม้ลาว ศึกษาโครงการทำนาข้าวและจัดระบบชลประทานในเขตนครเวียงจันทน์เพื่อเพาะปลูกข้าวส่งจำหน่ายให้แก่คูเวต ในกัมพูชารัฐบาลคูเวตลงทุนอีกราว 200 ล้านดอลลาร์เพื่อเช่าที่นานับหมื่นๆไร่เพื่อปลูกข้าว รวมทั้งให้เงินกู้ 546 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างระบบชลประทานกับเขื่อนเอนกประสงค์อีก 1 แห่ง สร้างถนนเข้าสู่ผืนนาในจังหวัดกัมปงจามและพระตะบอง ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2554 รัฐบาลคูเวตประกาศแจกเงินสดให้คนคูเวตทุกคนๆละ 1,000 ดินาร์ หรือประมาณ 104,000 บาท และทุกคนจะได้รับอาหารจำเป็นฟรีจากรัฐบาลเป็นเวลา 13 เดือนอีกด้วย

รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ยูเออี Mr. Sultan Bin Saeed Al Mansouri ประกาศแผนความมั่นคงอาหารว่ารัฐบาลยูเออีได้ลงทุนการเกษตรในต่างประเทศ เช่น เวียตนาม กัมพูชา อียิปต์ ปากีสถาน โรมาเนีย และสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการขาดแคลนและขึ้นราคาสินค้าอาหาร และมีแผนที่จะเจรจาขยายการลงทุนกลุ่มพืชเกษตรที่ยังมีความต้องการสูงในตะวันออกกลางเพื่อเพาะปลูกในประเทศอื่น อาทิ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย เป็นต้น

ค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาในยูเออีปรับสูงขึ้นเมื่อปลายปี 2553 ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม รัฐบาลประกาศเพิ่มค่ารถยนต์แท๊กซี่ ปรับราคาอาหารและเครื่องดื่ม(ที่ไม่มีแอลกอฮอล์)สูงขึ้น ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 10-30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เกิดภาวะราคาอาหารเฟ้อ (Food Inflation) ส่งผลกระทบตรงไปยังกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางที่เป็นกลุ่มประชากรกลุ่มใหญ่ในประเทศเดือดร้อน จนถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและรายได้สูง

ขณะนี้ยูเออีนำเข้ามูลค่ากลุ่มอาหารปีละประมาณ 10 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้แก่ ธัญพืชและสินค้าเกษตร เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นมเนย น้ำมันปรุงอาหาร และผักผลไม้สด เป็นต้น สินค้าบางส่วนสำหรับใช้ส่งออกต่อไปประเทศใกล้เคียงและกลุ่มอัฟริกา

สำนักส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ