จดหมายจากเมืองแขก — เรื่องพูดจาภาษาแขก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 26, 2011 13:33 —กรมส่งเสริมการส่งออก

วิสาขาน้องรัก

พี่หายไปหลายวันเลยนะคราวนี้ เพิ่งสอบเสร็จน่ะ วิชาหินๆ ทั้งนั้น อย่างเศรษฐศาสตร์มหาภาคงี้ แต่พี่ก็ผ่านชิวๆ หลังจากปรับตัวกับความพิลึกกึกกือของวัฒนธรรมการพูดแบบแขกๆ เสียหลายเพลา พี่จะเจาะแจ๊ะให้ฟัง

ตอนที่พี่มาใหม่ๆ ทุกครั้งที่มีสอบย่อยเก็บคะแนน ทำเอาพี่ใจหายใจคว่ำประจำ เกือบได้ 0 คะแนนเสียหลายครั้ง สาเหตุสำคัญก็เพราะไม่เข้าใจความหมายของ “ภาษาอังกฤษแบบแขกๆ” เช่น คำถามมีว่าให้วิเคราะห์เศรษฐกิจอินเดีย “โดยย่อ” พี่ก็เลยย่อเสียเหลือ 1 หน้า เอาแต่เนื้อๆ กะว่าได้เต็ม 100 ชัวร์ ผลปรากฏว่าพี่ได้แค่ 10 คะแนน ส่วนสาวิตรีได้ตั้ง 90 คะแนนแหนะ สอบถามคุณเธอได้คำตอบว่าสาวิตรีตอบตั้ง 15 หน้า ฮึ่ม แค้นนี้ต้องชำระ

ครั้งล่าสุดที่พี่สอบ พี่เลยใส่เต็มที่เลย ตอนนี้พี่ตีความคำว่า “โดยย่อ”ว่า “ขยายความ” จึงตอบไป 40 หน้าเต็ม ผลปรากฏว่าได้คะแนน 99% แถมอาจารย์ยังเขียนชมว่า excellent ทำเอาสาวิตรีไม่พูดกับพี่ไปหลายวันเลยเชียว

อยู่เมืองแขกต้องพูดให้มากและรวดเร็วน้ำไหลไฟดับปานกามนิตกว่าแขก และต้องมีสิ่งที่เหนือกว่าคือพูดแต่คำจริงด้วยเหตุผล พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ สัมมาวาจา อย่างจริงจังและหนักแน่นกว่าจึงจะประสบความสำเร็จ ท่านอนาคาริก-ธรรมปาละ แขกศรีลังกาวีรบุรุษของชาวพุทธ ผู้พูด พูด และพูดอย่างจริงจังและต่อเนื่องเรียกร้องพุทธคยาจนแขกโรตีใจอ่อนยอมคืนพุทธคยามาเป็นของชาวพุทธทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้ เคล็ดลับในความสำเร็จของท่านคือพลังแห่งการพูดด้วย “สัมมาวาจา”นั่นเอง

เรื่องพูดมากนี้แขกเก่งนัก เก่งมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว พูดเป็นคุ้งเป็นแคว พูดแบบเพลิดเพลินเหมือนกลอนพาไป แล้วก็จบไม่ลง ไม่รู้จะสรุปอย่างไร มีเรื่องเล่าว่าสมัยเมื่อพระพุทธเจ้าใกล้จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระอานนต์ได้ถามเรื่องหลายเรื่อง ซึ่งไม่น่าจะถามเลย เพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญ และไม่ใช่เวลาที่จะถามเรื่องนั้น เช่น ถามว่าพระภิกษุควรปฏิบัติต่อสตรีเพศอย่างไร พระพุทธองค์ตรัสว่า “อย่าได้มองเลยเป็นดี” พระอานนท์ถามต่อว่า “ถ้าจำเป็นต้องเห็นแล้วจะทำอย่างไร” (ถามซะละเอียดละออเชียวนะ) ถ้าเป็นคนธรรมดาคงตอบไปแล้วว่าถามไปทำไม ว- แต่พระพุทธองค์ก็ทรงเปี่ยมพระเมตตาหยั่งรู้ว่านั่นเป็น “ธรรมดาของแขกเป็นเช่นนั้นเอง”ตรัสตอบ “อย่าเจรจาด้วยเป็นการดี” และพระอานนท์ก็ยังมีคำถามอีกว่า “ถ้าจำเป็นต้องพูดด้วย จะทำอย่างไร” พระพุทธองค์ตรัสว่า “ถ้าจำเป็นต้องพูดก็ให้มีสติไว้” (ประเด็นนี้สำคัญ คนเป็นอันมากพูดโดยไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองกำลังพูดอะไร พูดเพื้อเจ้อ พูดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์) ทำนองว่าให้คิดก่อนพูด ถ้าเป็นคนทั่วไปก็คงพูดกลับไปว่า ถามไปทำไม ว- แต่ก็อย่างที่บอก แขกเป็นเช่นนั้นเอง อย่าไปยึดมั่นถือมั่น อย่าถือสาแขกเลย อีก ๒๕๐๐ ปีเมื่อสิ้นพุทธกาล แขกก็ยังเป็นอย่างงี้ เป็นเช่นนั้นเอง

ยังมีทีเด็ดอีกนะ พระอานนท็ยังไม่หยุดพูด (อีกแล้ว) ถามว่า “จะให้จัดการพระสรีระของพระพุทธองค์อย่างไร” พระพุทธองค์ตรัสห้ามว่า “อย่าเลยอานนท์ ......นั่นเป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์... เขาคงทำกันเองเรียบร้อยดี” และน้องคงรู้แล้วว่าต่อไปจะเป็นคำถามที่พระพุทธองค์ต้องตรัสตอบจนได้ว่าจะต้องปฏิบัติต่อพระสรีระของพระองค์อย่างไร

พระทรงทรงหยั่งรู้อยู่แล้วว่าพระอานนท์หยุดถามเมื่อไรก็บรรลุอรหันต์เมื่อนั้น ซึ่งก็เป็นความจริง เมื่อพระพุทธองค์จากไปแล้ว ไม่มีใครให้ถามอีกต่อไป ความอยากรู้ อยากถามก็ลดลงเป็นลำดับ จนความอยากดับสนิท แล้วพระอานนท์ก็บรรลุอรหันต์จริงๆ

พระพุทธองค์ทรงดำรงชีพจนวาระสุดท้ายด้วย “สัมมาวาจา” อย่างแท้จริง ไม่มีแม้สักครั้งเดียวที่พระองค์จะพูดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์หรือไร้สาระ ในปัจฉิมโอวาทก็ยังเป็นคำสอนที่สามารถสรุปคำสอนทั้งหมดของพระพุทธองค์ไว้ได้เป็นอย่างดี สั้น-กระชับ-ได้ใจความ-ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดไว้ได้ ความว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนเธอทั้งหลายให้จำมั่นไว้ว่า สิ่งทั้งปวงมีความเสื่อมและสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด” สรุปได้ว่าพูดกับแขกต้องใจเย็นๆ พูดด้วยสัมมาวาจา พูดด้วยวาจะสุภาษิต พูดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ ถ้าไม่รู้จะพูดอะไรให้นิ่งฟังสังเกตุการณ์ไปก่อน รอให้ถึงเวลา และสถานที่เหมาะๆ ค่อยพูด ดีกว่าพูดแบบพากันเข้ารกเข้าพง แล้วก็จบลงด้วยการเสียเวลากันไปเป็นวัน เป็นเดือนโดยไม่ได้อะไรเลย อย่างไรเสียแขกก็ยังคงเป็นญาติธรรมของเราชาวพุทธที่ตัดกันไม่ขาด ถ้าไม่มีชมพูทวีป ก็คงไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ชิมิ

ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ