ข้อมูลตลาดสินค้าอาหารฮาลาลในอิหร่าน ตอนที่ 1

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 27, 2011 11:50 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. โอกาสทางการตลาด

อิหร่านเป็นประเทศที่มีประชากรกว่า ๗๖ ล้านคน และประชากรร้อยละ ๙๘ นับถือศาสนาอิสลาม ประชาชนชาวอิหร่านจึงมีความต้องการบริโภคอาหารฮาลาลเช่นเดียวกันทั้งประเทศ ดังนั้นสินค้าอาหารที่จำหน่ายหรือบริโภคในอิหร่านจะต้องเป็นอาหารฮาลาลทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่าตลาดอาหารฮาลาลในอิหร่านมีขนาดใหญ่เท่ากับจำนวนประชากรทั้งประเทศเลยทีเดียว นอกจากนี้ อิหร่านมีสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนติดต่อทั้งทางบกและทางทะเลกับประเทศต่างๆ หลายประเทศ เช่น รัสเซีย อาเซอร์ไบจาน เตอร์เมนิสถาน ตูรกี อิรัก ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และประเทศทางตอนใต้ติดกับอ่าวเปอร์เซีย เช่น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านี้นับถือศาสนาอิสลาม อิหร่านจึงสามารถใช้เป็นศูนย์กลางขนส่งเพื่อส่งสินค้าฮาลาลเข้าสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่มีประชากรรวมกันกว่า ๓๐๐ ล้านคนอีกด้วย รัฐบาลอิหร่านได้นำหลักศาสนาอิสลามมาใช้เป็นหลักในการปกครองและใช้เป็นแนวทางในการกำหนดตัวบทกฏหมายภายในประเทศ เมื่อรัฐบาลต้องการออกกฎหมายใหม่ ก็ต้องผ่านการกลั่นกรองจากรัฐสภา ก่อนส่งให้ผู้นำอาวุโสทางศาสนาพิจารณาเห็นชอบ แล้วบังคับใช้เป็นกฏหมาย ส่งผลให้กฎหมายและระเบียบต่างๆ อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมดูแลจากผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาและกฎหมายอิสลามทั้งสิ้น ประชาชนชาวอิหร่านนับถือศาสนาอิสลามและปฎิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด และจากการที่ศาสนาอิสลามกำหนดแนวทางและควบคุมความเป็นอยู่ของชีวิตมนุษย์อย่างละเอียด รวมทั้งมีข้อกำหนดต่างๆ สำหรับชาวอิสลามในการดำรงชีวิตในทุกมิติ เช่น การบริโภคอาหาร การดื่ม การแต่งกาย การใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ การเตรียมและปรุงอาหารต่างๆ ในอิหร่าน จึงต้องกระทาอย่างถูกต้องตามหลักฮาลาล ซึ่งชาวอิหร่านจะให้ความสำคัญกับอาหารฮาลาลตามหลักศาสนาอิสลามเป็นอย่างมาก และหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารอื่นใดที่น่าสงสัยว่าไม่ถูกต้องตามหลักฮาลาล ส่งผลให้อาหารที่ผลิตในอิหร่านเป็นอาหารที่ถูกต้องตามหลักฮาลาลไปโดยปริยาย พฤติกรรมการบริโภคของชาวอิหร่านจะให้ความสำคัญต่อการบริโภคอาหารเป็นอย่างมาก เนื่องจากวัฒนธรรมอิหร่านให้ความสำคัญต่อการประกอบอาหารที่ปราณีตเพื่อรับรองแขกที่มาเยือนและเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวัน ชาวอิหร่านจึงมีความต้องการบริโภคอาหารสูง และถึงแม้ว่าอิหร่านจะเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ชาวอิหร่านมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง ๑๐,๙๐๐ เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี จึงมีกำลังซื้ออาหารบริโภคพอสมควร ดังจะเห็นจากที่ชาวอิหร่านมีปริมาณการบริโภคอาหารสูงเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น อังกฤษ ซึ่งปรากฎการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับประเทศอาหรับอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ชาวอิหร่านนิยมซื้ออาหารเป็นจำนวนที่ละมากๆ และเก็บในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งในบ้าน แม่บ้านชาวอิหร่านนิยมประกอบอาหารรับประทานในครัวเรือน ทั้งนี้ อาหารแช่แข็งและอาหารสำเร็จรูปได้รับความนิยมพอสมควร โดยชาวอิหร่านนิยมรับประทานอาหารอิตาเลี่ยน เช่น พิซซ่าหรือลาซันย่าแช่แข็ง แม่บ้านชาวอิหร่านส่วนใหญ่จะเป็นผู้จับจ่ายซื้ออาหารและผลไม้เข้าบ้าน โดยจะซื้ออาหารตามร้านขนมปัง ร้านขายเนื้อสัตว์ ร้านผลไม้ที่ตั้งอยู่ทั่วไปในอิหร่าน

ชาวอิหร่านนิยมออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านพร้อมครอบครัว โดยจะสั่งอาหารประเภทย่างเป็นส่วนใหญ่ เช่น กาบาบไก่ กาบาบเนื้อ หรือกาบาบแกะ อย่างไรก็ดี พบว่าชาวอิหร่านไม่นิยมรับประทานอาหารไทย เนื่องจากอาหารไทยมีรสชาติไม่ถูกปากชาวอิหร่านนัก ปัจจุบัน ในกรุงเตหะราน มีร้านอาหารไทยเพียงร้านเดียวเท่านั้น

๒. ช่องทางการตลาด/การกระจายสินค้า

ช่องทางการตลาดสินค้าอาหารในอิหร่านจะประกอบด้วยกลุ่มผู้ผลิตอาหาร กลุ่มผู้นำเข้า กลุ่มพ่อค้าคนกลางที่ดูแลและอำนวยความสะดวกในเรื่องการกระจายสินค้าอาหารไปสู่ร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งที่กระจายทั่วประเทศ ทั้งนี้ ผู้นาเข้าสินค้าอาหารจะต้องเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าตามกฎหมายของอิหร่าน และจะเป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตนำเข้า การแข่งขันด้านการตลาดระหว่างผู้ผลิตภายในประเทศและต่างประเทศจะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากสินค้าอาหารที่นำเข้าส่วนใหญ่ เพื่อชดเชยสินค้าที่ขาดแคลนภายในประเทศ แผนภูมิ ๑ แสดงการช่องทางและความสัมพันธ์การกระจายสินค้าอาหารในตลาดอิหร่าน

ผู้นำเข้าอาหารจากไทย สามารถจำหน่ายสินค้าอาหารฮาลาลไทยผ่าน Chain Store ห้างค้าปลีก หรือร้านค้าย่อยที่ตั้งอยู่ทั่วไปในอิหร่าน สำหรับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ส่วนใหญ่จะเป็นของรัฐบาล โดยหน่วยงานราชการหรือมูลนิธิต่างๆ ในอิหร่านจะเป็นผู้บริหารจัดการ ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ในอิหร่าน มีดังต่อไปนี้

ก. ห้าง Shahrvand Chain Stores เป็นห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สุดที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเทศบาลกรุงเตหะราน

(Municipality of Tehran) โดยห้าง Shahrvand จะจำหน่ายสินค้าในราคาที่ได้รับการอุดหนุนหรือกำหนดโดยรัฐบาล

และมีสาขากระจายอยู่ตามแหล่งชุมชนต่างๆ ในกรุงเตหะราน การออกแบบสถานที่ส่วนใหญ่จะจัดให้มีส่วนบริเวณด้านนอกของ

ห้างเป็นลานตลาดสดเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทผัก ผลไม้ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ฯลฯ

ข. ห้าง Refah Chain Stores เป็นห้างค้าปลีกภายใต้การดูแลของธนาคารมิลลี่แห่งชาติอิหร่าน (Mille Bank of Iran)

ซึ่งเป็นของรัฐบาลอิหร่าน ปัจจุบัน มีสาขาทั่วประเทศ 120 สาขา และมีสินค้าให้เลือกซื้อตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น

ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ

ค. ห้าง Etka Chain Stores เป็นห้างค้าปลีกภายใต้กระทรวงพิทักษ์การรุกรานแห่งชาติอิหร่าน (Ministry of Defense)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายสินค้าราคาถูกแก่คนยากจนในอิหร่าน

ง. ห้าง Qhod Store เป็นห้างค้าปลีกที่อยู่ภายใต้ความดูแลของมูลนิธิเพื่อกิจการผู้อ่อนแอและผู้พิการแห่งการปฏิวัติอิสลาม โดย

ห้างนี้มีชื่อเรียกก่อนการปฏิวัติว่า Korosh Store และเปลี่ยนชื่อภายหลังการปฏิวัติเป็น Qhod Store

จ. ห้าง Kowthar Chain Store เป็นห้างค้าปลีกภายใต้มูลนิธิเพื่อผู้พลีชีพแห่งการปฏิวัติอิสลาม มีทั้งหมด 12 สาขาในกรุง

เตหะราน

ฉ. ห้าง Fishing Chain Store ในปี 1992 ห้าง Fishing Chain Store ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกองทุนผู้ปลดเกษียณ

อายุ (Pension Fund of Construction Jihad) และเป็นห้างที่ทำการจำหน่ายอาหารทะเล และผลิตภัณฑ์อาหารทะเล

และอาหารทะเลแปรรูปในอิหร่าน

ช. ห้างอุตสาหกรรมน้ำมัน (Industry of Oil Store) เป็นร้านค้าปลีกภายใต้การกำกับดูแลของบริษัทน้ำมันแห่งชาติอิหร่าน

สินค้าส่วนใหญ่ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

ซ. ห้าง Zendeghi-Behtar Store เป็นร้านค้าปลีกที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2004 โดยบริษัท Gold Iran เป็นห้างที่ขายสินค้า

ประเภทอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทั่วประเทศอิหร่าน

ฌ. ห้าง Shahr va Rosta Store ก่อตั้งในปี 1943 โดยความร่วมมือของบริษัทชาวเยอรมันนี เดิมชื่อ Ferdowsi Store

หลังการปฏิวัติเปลี่ยนชื่อเป็น Shahr va Rosta Store ดำเนินกิจการแบบสหกรณ์บริษัท อยู่ภายใต้ความดูแลของกระทรวง

เศรษฐกิจและการพาณิชย์แห่งชาติอิหร่าน

ญ. ห้าง Hyper Star นักลงทุนชาวฝรั่งเศสได้ลงทุนก่อสร้างห้างสรรพสินค้าในเครือคาร์ฟูร์เป็นแห่งแรกในกรุงเตหะราน โดย

สร้างขึ้นในบริเวณพื้นที่ตะวันออกของกรุงเตหะราน ใกล้กับสนามกีฬา Azadi Stadium ซึ่งเป็นบริเวณที่มีประชากรฐานะ

ปานกลางอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

สคร ณ กรุงเตหะราน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ