ข้อมูลตลาดสินค้าอาหารฮาลาลในอิหร่าน ตอนที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 27, 2011 13:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. ขั้นตอนในการนำเข้าสินค้าและกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง

หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องมาตรฐานอาหารฮาลาลในอิหร่านได้แก่ The Institute of Standard and Industrial Research of Iran, The Veterinary Organization of Iran และ The Ministry of Health and Medical Affairs, Islamic Chamber Research & information Center นอกจากนี้ รัฐสภาอิหร่านได้ก่อตั้ง Food Industry Sub-committee และ I.R. of Iran’s Halal Supreme Council เป็นองค์กรสูงสุดในการกำกับดูแลและปกป้องการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารในอิหร่าน ผู้ผลิตอาหารอิหร่าน สามารถขอใช้ตราฮาลาลจากหน่วยงานนานาชาติ ได้แก่ International Halal food Organization และ Research Center of Islamic Chamber ที่ตั้งอยู่ในกรุงเตหะราน (www.icric.org)

ในอิหร่าน การติดเครื่องหมายฮาลาลสำหรับสินค้าอาหารจากต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ และที่ผ่านมา ตราฮาลาลที่ออกจากคณะกรรมการกลางอิสลามของประเทศไทยได้รับการยอมรับในอิหร่าน และแม้ว่าอาหารบางชนิดจะเป็นอาหารฮาลาล แต่ผ่านการปรุงแต่งรสชาติหรือเติมแต่งรสชาติ อาจสร้างความสงสัยต่อผู้บริโภคได้ เช่น น้ำมันที่เป็นส่วนประกอบในปลากระป๋อง หรือซอสปรุงรส เป็นต้น เครื่องหมายฮาลาลจึงที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคในอิหร่านเป็นอย่างมาก สินค้าอาหารแปรรูปไทยที่ส่งออกไปอิหร่านที่ควรติดเครื่องหมายฮาลาล ได้ อาหารกระป๋อง น้าผลไม้ สารปรุงแต่งรสชาติ เยลลี่ น้ำมันพืช เป็นต้น

ทั้งนี้ สินค้าอาหารที่ผลิตในอิหร่านยังไม่มีการบังคับให้มีเครื่องหมายฮาลาลประทับ เนื่องจากผู้บริโภคชาวอิหร่านจะทราบว่าอาหารที่ผลิตในอิหร่านทุกชนิดจะถูกต้องตามหลักฮาลาล ดังนั้น ผู้บริโภคอิหร่านจะตรวจสอบเรื่องอาหารฮาลาลเฉพาะกับอาหารที่ผลิตจากประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิมเป็นพิเศษ เช่น สินค้าจากไทย จีน บราซิล สหภาพยุโรป เป็นต้น

กฎระเบียบการออกใบรับรองสินค้าฮาลาล ศูนย์ Islamic Chamber Research and Information Center (ICRIC) ซึ่งเป็นองค์กรในเครือ Organization of Islamic Conference ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องกฎ ระเบียบการออกใบรับรองสินค้าฮาลาล เพื่อความสมบูรณ์และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในโลกมุสลิม ดังต่อไปนี้ (แปลอย่างไม่เป็นทางการ)

มาตรา ๑ นิยาม

อาหารฮาลาล หมายถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับอนุญาตบนพื้นฐานของกฎอิสลามที่เรียกว่า “ฮาลาล”

หมายเหตุ ๑: คณะกรรมการฮาลาลยอมรับว่าการตีความเรื่องเนื้อสัตว์และวิธีการฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร ระหว่างสาขาของอิสลาม ยังไม่สอดคล้องกันอยู่บ้าง ทั้งนี้ คณะกรรมการฮาลาลจะพิจารณาความเชื่อพื้นฐานของนิติศาสตร์อิสลาม หรือจากองค์กรศาสนานิติศาสตร์อิสลามสูงสุด เช่น Assembly of Islamic Jurisprudence of the Organization of Islamic Conference (OIC) และ The World Forum for Proximity of Islamic Schools of Thought เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำเนินการและในบ้างกรณีจะเสนอเรื่องต่อ Islamic Jurisprudence Research Committee เพื่อหาทางออก ซึ่งจะผ่านการพิจารณาจาก The Jurisprudence Assemblies ที่เป็นที่ยอมรับของ OIC ก่อน

มาตรา ๒ มาตรฐานทั่วไป

๒.๑ ผลิตภัณฑ์จะต้องไม่มีวัตถุดิบต้องห้ามหรือไม่อนุญาตตามกฎอิสลาม

๒.๒ ผลิตภัณฑ์จะต้องไม่ได้ถูกสัมผัสด้วยวิธีการใดๆ หรือจากอุปกรณ์ที่ไม่ได้รับการยอมรับหรือไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายศาสนาอิสลาม ทั้งในช่วงการเตรียมการ การดำเนินการ การขนส่งและการเก็บรักษา

๒.๓ ในช่วงการเตรียมการ ดำเนินการ ขนส่งและเก็บรักษาสินค้า ผลิตภัณฑ์จะต้องไม่สัมผัสกับสารอาหารที่ไม่ได้รับการยอมรับจากกฎศาสนาอิสลาม

หมายเหตุ ๒: อาหารฮาลาลไม่สามารถผลิต ขนส่ง และเก็บรักษาในโรงงานหรือในสายการผลิตที่มีสินค้าหรือวัตถุที่เป็นฮาราม (Haraam) ร่วมผลิต ขนส่ง และเก็บรักษา นอกจากจะมีผู้สังเกตการณ์ชาวมุสลิมมีส่วนเข้าร่วมในกระบวนการผลิตและการจัดการเพื่อป้องกันการสัมผัสระหว่างอาหารฮาลาลและอาหารฮาราม

หมายเหตุ ๓: ในกรณีที่อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการการผลิต ขนส่งและเก็บรักษา กับสินค้าฮารามและอาลาลร่วมกัน อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เหล่านั้นจะต้องทำความสะอาดและชำระล้างตามกฎอิสลาม โดยชาวมุสลิมจะเข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการทุกขั้นตอน

หมายเหตุ ๔: เมื่อใบรับรองฮาลาลหมดอายุ ผู้ขอใบรับรองจะต้องขอต่อใบอนุญาตและขอรับการตรวจสอบตามขั้นตอนที่กำหนด

มาตรา ๓ ขอบเขต และการผนวก

๓.๑ ตามศาสนาอิสลามอันศักดิ์สิทธิ สินค้าอาหารและแหล่งที่มาของอาหารเป็นฮาลาลและได้รับอนุญาต ยกเว้นมีแหล่งที่มาและวัตถุดิบดังต่อไปนี้

๓.๒ การผลิตสินค้าอาหารจากสัตว์ต่อไปนี้ ไม่ได้รับการยอมรับและอนุญาต

ก. สุกรทุกชนิด และหมีป่า

ข. สุนัขทุกชนิด งู และลิง

ค. สัตว์กินเนื้อทุกชนิดที่มีกรงเล็บและฟันหน้า เช่น สิงโต เสือ หมี และสัตว์อื่นๆ ที่คล้ายกัน

ง. นกล่าเหยื่อ เช่น นกแร้ง และนกอื่นๆ ที่คล้ายกัน

จ. สัตว์ที่เป็นอันตราย เช่น หนู กิ้งกือ แมงป่อง และสัตว์อื่นๆ ที่คล้ายกัน

ฉ. สัตว์ที่ห้ามฆ่าตามหลักศาสนาอิสลาม เช่น มด ผึ้ง และนกหัวขวาน

ช. สัตว์ที่สิงสู่อยู่กับมนุษย์โดยทั่วไป โดยการซ่อนเร้นหรืออย่างไม่เต็มใจ เช่น แมลงปรสิต แมลงวัน แมลงดูดเลือด และสัตว์อื่นๆ ที่คล้ายกัน

ซ. สัตว์ที่อาศัยทั้งในน้าและบนดิน (สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้า) เช่น กบ จระเข้ และสัตว์อื่นๆ ที่คล้ายกัน

ฌ. สัตว์ทะเลใดๆ ที่ไม่มีเกล็ด (ที่มีอันตรายและเป็นพิษ)

ญ. สัตว์ใดๆ ที่ไม่ได้ถูกฆ่าเป็นอาหารตามหลักกฎหมายศาสนาอิสลาม

ฎ. เลือดหรืออาหารที่ผสมเลือด

ฏ สัตว์ใดๆ ที่อาศัยในน้า (สัตว์น้ำ) และไม่ได้ล่าตามหลักกฎหมายอิสลาม (ไม่ได้ถูกจับขณะมีชีวิตขึ้นจากน้ำหรือถูกล่าให้ตาย)

๓.๓ อาหารอินทรีย์และพืชทุกชนิดได้รับอนุญาต เว้นแต่นิติศาสตร์อิสลามพิพากษาไม่อนุญาตไว้ เนื่องจากมีส่วนผสมของสารอันตราย แอลกอฮอล์ หรือสิ่งมึนเมา (อย่างไรก็ดี คำพิพากษาจะขึ้นกับคณะนิติศาสตร์ศาสนา ภายใต้การกำกับดูแลของ Organization of Islamic conference)

๓.๔ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีอันตราย หรือเครื่องดื่มทุกชนิดที่เป็นของมึนเมา ไม่ได้รับการยอมรับ และถือว่าเป็นฮาลาม

๓.๕ สารปรุงแต่งที่ผลิตสารตามมาตรา ๓ ถือว่าไม่ได้รับการยอมรับ (เช่น สาร Gelatin ที่ผลิตจากหนังหรือกระดูกของสุกรหรือวัว ที่ไม่ได้ถูกฆ่าสัตว์เป็นอาหารตามกฎอิสลาม)

๓.๖ การฆ่าสัตว์ที่มีชีวิตเพื่อเป็นอาหารบนพื้นดิน จำเป็นต้องปฎิบัติตามกฎศาสนาอิสลาม ดังนี้

ก. การฆ่าสัตว์เป็นอาหาร จำเป็นต้องกระทำโดยชาวมุสลิมที่มีความศรัทธาและมีความรู้ในเรื่องการฆ่าตามหลักอิสลาม

ข. สัตว์จะต้องถูกฆ่าเป็นอาหารตามหลักศาสนาอิสลาม

ค. ก่อนการฆ่าสัตว์เป็นอาหาร สัตว์จะต้องมีชีวิตอยู่ และมีสัญญานว่ายังมีชีวิตอยู่ชัดแจ้ง

ง. จะต้องประกาศคำว่า “Besm-e-Allah” (In the name of God) ก่อนการฆ่าสัตว์เป็นอาหาร

จ. อุปกรณ์การฆ่าสัตว์เป็นอาหารต้องทำจากเหล็กมีคม

ฉ. ในระหว่างการฆ่าสัตว์เป็นอาหาร หลอดลมและหลอดอาหาร เส้นเลือดแดง และเส้นเลือดทั้งหมดบริเวณลาคอ จะต้องถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง

ช. สัตว์จะต้องหันไปทาง Qibla (ทิศการสวดของชาวมุสลิม Mecca)

มาตรา ๔: พันธะกรณีและความจำเป็นของอาหารฮาลาล

๔.๑ ตราฮาลาลของศูนย์ฯ หรือเทียบเท่า จะต้องติดบนฉลากสินค้า

๔.๑ ความเชื่อถือที่ได้รับจากศูนย์ฯ ไม่มีวันหมดอายุ

ขั้นตอนในการขอตราฮาลาลในอิหร่าน ศูนย์ Islamic Chamber Research and Information Center (ICRIC) ได้กำหนดขั้นตอนในการขอตราฮาลาลในอิหร่าน ดังต่อไปนี้

๑ ให้ยื่นขอใบรับรองฮาลาลอย่างเป็นทางการ ณ ICRIC พร้อมแนบเอกสารดังต่อไปนี้

ก. ชื่อและรายละเอียดของบริษัทหรือโรงงาน

ข. ชื่อและรายละเอียดที่อยู่ของบริษัทหรือสำนักงานใหญ่

ค. ชื่อและรายละเอียดของสินค้าหรือบริการที่ต้องการตราฮาลาล

ง. สำเนาทะเบียนบริษัท

จ. สำเนาใบอนุญาตโรงงาน

ฉ. เสนอชื่อผู้ประสานงาน หมายเลขโทรศัพท์ โทรสาร (สามารถส่งข้อมูลที่ info@halalworld.org)

๒ ติดต่อประสานงานจะนัดหมาย โดยผู้ประสานงานติดต่อฝ่ายเลขาฯ ของ ICRIC เพื่อเยี่ยมชมพื้นที่ (On-site visit) และดำเนินการตามขั้นตอนตรวจสอบจนแล้วเสร็จ

๓ ผู้ตรวจสอบเตรียมรายงานผลการตรวจสอบพร้อมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมผลจากห้องทดลองเสนอแก่คณะกรรมการฮาลาล

๔ ผลการตัดสินใจ ประกาศผล รายงานผล

๕ มอบตราฮาลาล และใบรับรองฮาลาลแก่ผู้ยื่นขอ

สคร ณ กรุงเตหะราน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ