ข้อมูลตลาดสินค้าอาหารฮาลาลในอิหร่าน ตอนที่ 4

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 27, 2011 15:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. ข้อมูลอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในอิหร่าน

อิหร่านเป็นประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศและสภาพดินเหมาะสมในการเพาะปลูกทำการเกษตร ทำให้สินค้าเกษตรของอิหร่าน เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ มีคุณภาพสูง และรสชาติดี ซึ่งจากข้อมูลของ Food and Agriculture Organization of the United Nations อิหร่านเป็นประเทศที่ผลิตอาหารสูงติดอันดับสิบประเทศแรกของโลก และผลิตอาหารหนึ่งในสามของสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ในโลก อิหร่านเป็นแหล่งผลิต พิชตาชิโอ อินทพาลัม ทับทิม ลูกเบอรี่ แอบเปิ้ล หญ้าฝรั่ง ส้ม องุ่น ถั่ว และลูกเกด โดยผลผลิตสินค้าเกษตรของอิหร่านทั้งหมดประมาณ ๘๖.๓ ล้านตัน ประกอบด้วยผลผลิตธัญพืช ๖๔ ล้านตัน ผลไม้ ๑๓ ล้านตัน และอาหารสัตว์ ๙.๓ ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ ทางตอนใต้ของอิหร่านติดกับอ่าวเปอร์เซียและทะเลโอมาน อิหร่านมีทรัพยากรประมงและสัตว์ทะเลมหาศาลที่สามารถผลิตอาหารทะเลได้ โดยปัจจุบัน อิหร่านผลิตอาหารทะเลได้ประมาณ ๔๗๐,๐๐๐ ตันต่อปี

อุตสาหกรรมอาหารของอิหร่านเริ่มต้นครั้งแรกจากการก่อตั้งโรงงานน้ำตาล Kahrizak ในทศวรรษที่ ๑๙ และในปี ๑๙๓๐ ได้ก่อตั้งโรงงานอาหารกระป๋องเป็นครั้งแรก และได้ขยายกิจการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อุตสาหกรรมอาหารของอิหร่านสามารถผลิตอาหารตามมาตรฐานโลกและส่งออกสินค้าอาหารเกือบทุกชนิด อุตสาหกรรมอาหารอิหร่านมีโรงงานผลิตอาหารจำนวนกว่า ๑๒,๐๐๐ แห่ง หรือร้อยละ ๑๒ ของอุตสาหกรรมทั้งประเทศ และรองรับแรงงานกว่า ๓๒๐,๐๐๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๖.๑ ของแรงงานภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดของอิหร่าน

อิหร่านมีการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารเป็นมูลค่ากว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๑๘ ของการลงทุนในภาคอุสาหกรรมทั้งหมดของอิหร่าน และผลิตสินค้าเกษตรได้ประมาณ ๘๕ ล้านตันต่อปี อุตสาหกรรมอาหารอิหร่านประกอบด้วยโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ซึ่งสร้างงานประมาณร้อยละ ๑๕.๑ และร้อยละ ๑๓.๕ ตามลาดับ ในขณะที่ สร้างมูลค่าเพิ่มร้อยละ ๑๗ และร้อยละ ๑๐ ตามลำดับ

ปัจจุบัน ประเทศเยอรมัน ฮอลแลนด์ อังกฤษ และมาเลเซีย ได้ลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารในอิหร่าน โดยนักธุรกิจอิหร่านมีความต้องการร่วมลงทุนกับนักลงทุนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศนับถือศาสนาอิสลามเป็นพิเศษ

๒. ข้อเสนอแนะ

ตลาดอิหร่านเป็นตลาดใหม่ที่เป็น Blue Ocean ที่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกด้านอาหารไทยควรให้ความสนใจ ด้วยเหตุผลที่ว่า อิหร่านเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีศักยภาพสูง มีประชากรถึง ๗๖ ล้านคน ซึ่งเป็นฐานผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง อิหร่านจึงมีความต้องการบริโภคอาหารสูง และจากการที่อิหร่านมีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมัน ทำให้ประชาชนมีอานาจการชื้อสูง นอกจากนี้ ปัจจุบัน อิหร่านไม่สามารถผลิตอาหารพอเพียงต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ จึงจำเป็นต้องนำเข้าอาหารจากไทย เช่น สินค้าข้าว เป็นต้น

ทั้งนี้ อิหร่านเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบค่อนข้างมาก ทำให้มีคู่แข่งขันน้อย จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยฉวยโอกาสแปลงอุปสรรคให้เป็นโอกาสทางการค้า โดยการสร้างและขยายตลาดอาหารของตนเองก่อนประเทศคู่แข่งอื่นๆ นอกจากนี้ อิหร่านยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการขนส่งที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้เป็นศูนย์กลางเพื่อขนส่งสินค้าอาหารไทยไปประเทศอื่นๆ เช่นตะวันออกกลางและเอเชียกลาง ตลอดจนไปถึงตลาดในสหภาพยุโรป อีกด้วย

สำหรับสินค้าข้าวของไทย ผู้บริโภคอิหร่านยังไม่นิยมบริโภคข้าวหอมมะลิไทยมากนัก เนื่องจากข้าวไทยมีภาพลักษณ์เป็นข้าวคุณภาพต่ำ ราคาถูก อย่างไรก็ดี ผู้นำเข้าอิหร่านเริ่มหันมาให้ความสนใจนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยมากขึ้น เนื่องจากเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี ผู้ส่งออกไทยควรทราบว่าข้าวหอมที่ชาวอิหร่านนิยมบริโภค จะต้องเป็นข้าวชนิดที่หุงแล้วแห้งร่วน ไม่เกาะกันเป็นก้อน ซึ่งมีเฉพาะในข้าวหอมอิหร่าน และข้าวบาสมาติกของอินเดียและปากีสถาน ทำให้ข้าวไทยไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ดังนั้น การที่จะขยายตลาดข้าวหอมมะลิในอิหร่านได้ จึงจำเป็นต้องค้นคิดและเผยแพร่วิธีการหุงข้าวหอมมะลิให้ร่วนและไม่เกาะกันเป็นก้อนตามความนิยมของชาวอิหร่าน และต้องปรับพฤติกรรมผู้บริโภคอิหร่านให้หันมาบริโภคข้าวหอมมะลิไทย โดยการโฆษณาเผยแพร่ความรู้ เรื่องคุณภาพของข้าวหอมมะลิไทย และค้นคิดวิธีการหุงข้าวหอมมะลิไทยให้ถูกปากประชาชนอิหร่าน อันจะช่วยให้ชาวอิหร่านปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อข้าวหอมมะลิไทยและหันมาบริโภคข้าวหอมมะลิไทย เพื่อผลักดันให้ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปตลาดอิหร่านมากขึ้น

ในส่วนของสินค้าอาหารกระป๋อง สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมและติดตลาดอย่างยิ่งได้แก่สินค้าข้าวโพดอ่อนกระป๋องและสับปะรดกระป๋อง ซึ่งครองตลาดในอิหร่านเกือบทั้งหมด สินค้าประเภทแป้งทอดกรอบและน้ำมันพืชจากรำข้าวเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในตลาดอิหร่าน สินค้าประเภทผลไม้สดของไทยได้รับความนิยมจากชาวอิหร่านเช่นกัน เนื่องจากชาวอิหร่านชอบอาหารที่มีรสเปรี้ยว โดยเฉพาะมะขามหวานไทยได้รับความนิยมสูงสุด ผลไม้ไทยที่น่าจะมีโอกาสส่งออกไปอิหร่านได้แก่ มะม่วง มังคุด สัปปะรดสด และส้มโอ

อุปสรรคสำคัญในการเปิดตลาดสินค้าในอิหร่านคือเรื่องการตรวจสอบคุณภาพอาหารตามมาตรฐานและระเบียบการนำเข้าของทางการอิหร่านที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และเสียค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ ผู้นำเข้าอิหร่านที่นำเข้าอาหารจากประเทศอื่นอยู่แล้ว มักจะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะกีดกันไม่ให้ผู้นำเข้ารายอื่นนำเข้าอาหารชนิดเดียวกันจากไทย ถึงแม้ว่าอาหารจะมีคุณภาพดีกว่าอย่างมากก็ตาม

ผู้ส่งออกไทยที่ต้องการส่งออกอาหารไปอิหร่าน จึงควรเริ่มจากการแสวงหาผู้นำเข้าอาหารชาวอิหร่านที่เชื่อถือได้ และร่วมมือกันฝันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้สามารถเปิดตลาดอาหารไทยในอิหร่านให้ได้ โดยเมื่อสินค้าอาหารไทยเข้าสู่ตลาดอิหร่านแล้ว ก็จะควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคชาวอิหร่านตระหนักถึงคุณภาพของอาหารไทยต่อไป

สืบเนื่องจากสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการคว่ำบาตรฝ่ายเดียว (Unilateral sanction) ต่ออิหร่าน โดยใช้มาตรการให้ธนาคาร/สถาบันการเงินทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ให้ยุติการทำธุรกรรมทางการเงินกับอิหร่าน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยปฏิเสธรับ L/C และระงับการทาธุรกรรมกับอิหร่านโดยสิ้นเชิง จึงขอให้ผู้ส่งออกไทยพิจารณารับชำระค่าสินค้าเป็นเงินสดจากผู้นำเข้าอิหร่านแทน L/C ผ่านระบบ T/T (Telegraphic Transfer) เช่น SWIFT เป็นต้น และหากเป็นไปได้ ขอให้ผู้นำเข้าอิหร่านโอนเงินสดชำระค่าสินค้าส่วนใหญ่ก่อนส่งสินค้าออกจากท่าเรือ เพื่อลดความเสี่ยง นอกจากนี้ ขอให้ผู้ส่งออกไทยที่ต้องการทำการค้ากับอิหร่าน พิจารณาถึงชนิดสินค้า วิธีการโอนเงิน วิธีการขนส่ง และคู่ค้าชาวอิหร่านก่อนว่าอยู่ในบัญชีดำของสหประชาชาติหรือสหรัฐอเมริกา หรือไม่ อย่างไร ก่อนทำการค้าระหว่างกัน

กิจกรรมที่น่าสนใจในการส่งเสริมอาหารฮาลาลไทยในอิหร่านคืองาน International Halal Fair and Forum ที่จัดขึ้นประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยสภาหอการค้า เหมืองแร่และอุตสาหกรรมอิหร่าน ร่วมกับ Islamic Chamber of Commerce and Industry (ICCI), Islamic Development Bank (IDB), Islamic Chamber Research and Information Center (ICRIC) and Federation of Iranian Food Industry Associations (FIFIA) เพื่อส่งเสริมการใช้ตราฮาลาลในอิหร่านเป็นประจำทุกปี

กรมส่งเสริมการส่งออกมีแผนเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Iran Food & Hospitality ๒๐๑๑ ณ ศูนย์แสดงสินค้า Tehran International Permanent Fairground กรุงเตหะราน อิหร่าน ระหว่างวันที่ ๕-๘ มิถุนายน ๒๕๕๔ โดยมุ่งเน้นให้ผู้ส่งออกอาหารของไทยมีโอกาสนำเสนอสินค้าอาหารและเจาะตลาดอาหารอิหร่าน นอกจากนี้ ผู้ส่งออกจะมีโอกาสสำรวจตลาดและศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อนำความรู้ไปปรับใช้ในการพัฒนาสินค้าอาหารให้เหมาะสมต่อไป

สคร ณ กรุงเตหะราน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ