ผลผลิตในประเทศ
เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกผลไม้ขนาดเล็กกระจัดกระจายทั่วประเทศ โดยในปี 2553 มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 1 ล้านเฮคตาร์ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง (ประมาณ 35% ของพื้นที่ปลูกผลไม้ทั้งประเทศ) ฝั่งตะวันออกของภาคใต้ (ประมาณ 17%) และตอนกลางของภาคใต้ซึ่งส่วนใหญ่เพาะปลูกแก้วมังกร มะม่วงและองุ่น
เวียดนามผลิตผลไม้ได้ประมาณปีละ 7 ล้านตัน (สถิติปี 2552) โดยผลิตกล้วยได้มากที่สุด (22%) รองลงมาคือลำไย (9%) มะม่วง (8%) เกรปฟรุ้ต (6%) แต่ที่ทำรายได้จากการส่งออกให้ประเทศมากที่สุดคือแก้วมังกร ซึ่งได้รับ Eurep GAP Certificate ในปี 2549 และปัจจุบันเวียดนามกำลังพัฒนาคุณภาพ สุขอนามัยและปริมาณผลไม้ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดส่งออกระดับบน โดยเริ่มใช้แก้วมังกรเป็นผลไม้นำร่องสำหรับการผลิตผลไม้ออร์แกนนิคส์
ผลไม้ที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะส่งผลไม้สดเข้าจำหน่ายในตลาด ส่งเข้าโรงงานแปรรูปเพียง 10 — 15% ทั้งนี้ เวียดนามมีโรงงานแปรรูปผักผลไม้ประมาณ 50 โรงงาน สามารถผลิตผักผลไม้แปรรูปได้ 3 แสนตันต่อปี อุตสาหกรรมสินค้าผักผลไม้แปรรูปของเวียดนามอยู่ระหว่างการพัฒนา เพราะกระบวนการ“ field to fork” ยังไม่ประสบความสำเร็จทำให้โรงงานขาดแคลนวัตถุดิบที่มีคุณภาพและส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตด้วย นอกจากนี้ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ยังมีจำกัด ส่วนใหญ่เป็นประเภทผลไม้กระป๋องและผลไม้แห้ง ทั้งนี้ “Vinamit ” เป็นแบรนด์สินค้าผลไม้แห้งของโรงงานแปรรูปเวียดนามรายใหญ่ที่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่และสามารถส่งออกมายังจีนและไทย
การส่งออกผลไม้ของเวียดนาม
เวียดนามเป็นประเทศที่ทั้งนำเข้าและส่งออกผักผลไม้ โดยในปี 2552 เวียดนามเกินดุลการค้าผลไม้ในตลาดโลกเป็นมูลค่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2553 เกินดุล 157 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เกาหลีใต้เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เปิดตลาดผลไม้ (แก้วมังกร)ให้เวียดนามและขณะนี้สำนักคุ้มครองพืชของเวียดนามกำลังดำเนินการร่วมกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เพื่อให้สามารถส่งแก้วมังกรเข้าในตลาดทั้งสองประเทศได้ ส่วนผลไม้แปรรูปที่เวียดนามส่งออกได้ คือ ขนุนอบแห้ง กล้วยตากและเนื้อมะพร้าวอบแห้ง
การส่งออกผักผลไม้ของเวียดนาม
ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม / ลด ( y-on-y %)
2549 259.1 +10.02 2550 305.6 +17.94 2551 407.0 +33.19 2552 438.0 +7.60 2553 451.0 +2.90
ที่มา : General Statistic Office of Vietnam
ตลาดส่งออกของเวียดนาม
ตลาดหลักของผักผลไม้ส่งออกของเวียดนาม คือประเทศอาเซียน + 3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) โดยจีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุด เดิมเวียดนามส่งออกผักผลไม้ไปยังตลาดจีนคิดเป็นประมาณ 40 % ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมด แต่หลังจากจีนลงนามในความตกลงเกี่ยวกับสิทธิพิเศษด้านภาษีกับไทย ทำให้การส่งออกของผลไม้เวียดนามเข้าไปในจีนลดลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกผักผลไม้ไปยังเนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย อินโดนีเซียและสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ปัจจุบันเวียดนามกำลังเตรียมการส่งออก ลำไย ลิ้นจี่และเงาะเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา มะม่วงเขียว (มะม่วงทานดิบ) มังคุด มะขาม และลางสาด / ลองกอง ปัจจุบัน เวียดนามได้ผลิตผลไม้ที่มีต้นกำเนิดจากไทย คือ ลางสาด มะม่วงเขียว และทุเรียนหมอนทอง โดยผลผลิตสามารถขายภายในประเทศได้ แต่ยังไม่สามารถส่งออก และได้มีการนำเข้าต้นไม้เพื่อขายให้ชาวสวนโดยตรงเพื่อเพาะปลูกในเวียดนาม (จาก Vietnam Business & Economy News, 24 Oct. 2010)
การนำเข้าผลไม้จากประเทศต่าง ๆ ของเวียดนาม * ปี 2553 ( มค. — ตค. )
มูลค่า : พันเหรียญสหรัฐ
ประเทศ 2552 2553 เพิ่ม/ลด ส่วนแบ่งตลาด ( มค.-ตค.) (มค.-ตค.) ( y-on-y % ) ( % ) จีน 128,929 125,774 -2.4 53.7 ไทย 41,698 35,921 -13.9 15.3 สหรัฐอเมริกา 16,762 22,601 34.8 9.7 ออสเตรเลีย 14,023 10,347 -26.2 4.4 มาเลเซีย 2,323 2,740 18.0 1.2 ชิลี 1,800 2,368 31.6 1.0 บราซิล 2,185 2,304 5.4 1.0 อินโดนีเซีย 1,187 2,089 76.0 0.9 ประเทศอื่น ๆ 13,875 29,881 115.3 12.8 มูลค่าทั้งหมด 222,782 234,025 5.0 100.0 ที่มา : General Statistic Office of Vietnam * ไม่นับรวมผลไม้ที่ลักลอบนำเข้าตามชายแดน
ในปี 2553 เวียดนามนำเข้าผลไม้เป็นมูลค่า 294 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่านำเข้า 280 ล้านเหรียญสหรัฐของปีที่ผ่านมาเพียง 5% โดยตลาดที่นำเข้าผลไม้ลดลงอย่างมากคือ ออสเตรเลียและไทย ส่วนจีนลดลงเพียง 2% ขณะที่ผลไม้จากอินโดนีเซีย สหรัฐฯ และชิลีนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ผลไม้นำเข้าส่วนใหญ่จำหน่ายในตลาดบนเพราะมีราคาสูงกว่าผลไม้เวียดนาม 2 — 3 เท่าตัว ขณะที่ผลไม้จากจีนซึ่งไม่ได้รับความไว้วางใจด้านสุขอนามัยจึงสามารถครองตลาดได้ในระดับล่าง เพราะมีราคาถูกกว่าผลไม้ประเภทเดียวกันของเวียดนามและคู่แข่ง ส่วนผลไม้ไทยได้รับความเชื่อถือด้านความปลอดภัยจากสารเคมี สารพิษตกค้างมากกว่าผลไม้จีน และมีคุณภาพผลไม้ดีกว่าผลไม้เวียดนาม จึงเป็นที่ต้องการสำหรับผู้มีรายได้สูง
การส่งออกผลไม้ไทยไปยังเวียดนาม
จากสถิติของไทย การส่งออกผลไม้ไทยไปยังเวียดนามปี 2553 ขยายตัวเพียง 7.1% ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวถึง 313.5% ในปีที่ผ่านมา โดยผลไม้ที่ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้นในอัตราสูงคือ เงาะและทุเรียน
แนวโน้มอุปสรรคผักผลไม้นำเข้าตลาดเวียดนามปี 2554
การนำเข้าผลไม้ในปี 2553 ของเวียดนามมีมูลค่าลดลง 9.74% (y-on-y) โดยเฉพาะการนำเข้าผลไม้จากออสเตรเลีย ไทยและจีน เนื่องจากสื่อท้องถิ่นออกข่าวผลไม้นำเข้าครองตลาดเวียดนามโดยเฉพาะผักผลไม้จากจีนซึ่งทะลักเข้าเวียดนามตามด่านชายแดนต่าง ๆ จำนวนมหาศาล โดยไม่ผ่านการตรวจสอบด้านสุขอนามัย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทำให้กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนามเริ่มเข้มงวดมากขึ้นกับการนำเข้าผักผลไม้จากต่างประเทศ ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ Saigon Times ฉบับวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 รายงานว่ากระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท เวียดนาม จะออกระเบียบว่าด้วยมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับการนำเข้าผลผลิตด้านการเกษตร ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในปี 2554 เพื่อลดข้อกังวลเกี่ยวกับสารตกค้างที่เป็นพิษในผักและผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเวียดนาม อาทิ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคตามเกณฑ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเวียดนามมีเพียงระเบียบควบคุมเฉพาะสาหร่าย วัชพืชและแมลงในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นอันตรายต่อพืชพันธ์ท้องถิ่น แต่ไม่มีระเบียบสำหรับตรวจสอบสารตกค้างเป็นพิษที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคที่ดีเพียงพอ โดยเมื่อมีการบังคับใช้ระเบียบใหม่นี้แล้ว จะมีการควบคุมตรวจสอบผักและผลไม้ทุกชนิดที่นำเข้าทางทะเล อากาศ และทางบกอย่างเข้มงวดที่ด่านทุกด่าน
ระเบียบดังกล่าวแม้จะมีเป้าหมายการควบคุมการนำเข้าผักผลไม้จากจีนเป็นสำคัญ แต่ย่อมมีผลกระทบต่อการนำเข้าผลไม้ไทยด้วยเช่นกัน และโดยที่เวียดนามเป็นตลาดสำคัญสำหรับการนำเข้าผลไม้ไทย ตลอดจนมีโอกาสขยายตลาดได้อีกมาก เนื่องจากผลไม้ไทยได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคที่มีรายได้สูงและระดับกลาง รวมทั้งยังมีผลไม้ไทยอีกหลายชนิดที่สามารถนำเข้ามาทำตลาดได้ จึงควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้ติดตามกฏ/ระเบียบในการนำเข้าเพื่อพิจารณาดำเนินการรองรับให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าวมิให้เป็นข้ออ้างในการกีดกันการนำเข้า และควรประชาสัมพันธ์ให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกได้ทราบความเคลื่อนไหวเพื่อปรับตัวรับสถานการณ์ดังกล่าว
สคร.นครโฮจิมินห์
ที่มา: http://www.depthai.go.th