เปิดกรุสมบัติกรุงลงกา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 28, 2011 13:42 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาพรวมเศรษฐกิจศรีลังกา

ปัจจุบันรัฐบาลศรีลังกาอยู่ระหว่างการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศครั้งใหญ่ ภายหลังสงครามกลางเมืองสงบลงเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๒ เปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนมากมายให้ผู้ประกอบการไทย

ในปี ๒๕๕๒ เศรษฐกิจศรีลังกาขยายตัว ๓.๕% สำหรับในปี ๒๕๕๓ ขยายตัว ๘.๒% และคาดว่าในปี ๒๕๕๔ การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะใกล้เคียงกับปี ๒๕๕๓ ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ เกษตร (๑๒.๘%)อุตสาหกรรม(๒๙.๒%) ได้แก่ ชา ยางพารา เสื้อผ้า/สิ่งทอ และบริการ (๕๘%) ได้แก่ การท่องเที่ยว ในปี ๒๕๕๓ อัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือ๕% (๒๕๕๑ อัตราเงินเฟ้อ ๒๐%) ทั้งนี้นโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของศรีลังกา

รัฐบาลศรีลังกามีโครงการฟื้นฟูประเทศและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ ที่สำคัญประกอบด้วย

๑) การพัฒนาท่าเรือทั่วประเทศ เพื่อให้ศรีลังกาเป็น Hub ด้านการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ

๒) การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม SEZ ชานเมืองหลวงและหัวเมืองท่าสำคัญ

๓) ปรับปรุงสนามบินนานาชาติเพื่อให้ศรีลังการเป็น Hub ด้านการบินระหว่างประเทศ

๔) สร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหินแห่งใหม่ และสำรวจแห่งน้ำมันในช่องแคบจาฟนา

๕) ปรับปรุงทางหลวงทั่วประเทศ

๖) ปรับปรุงระบบปะปาในเมืองโคลัมโบและเมืองสำคัญๆ รวมทั้งภาคเหนือและตะวันออก

๗) ปรับปรุงคูคลองและอุโมงระบายน้ำรอบกรุงโคลัมโบเพื่อป้องกันน้ำท่วม

๘) ส่งเสริมการท่องเที่ยว

โอกาสด้านการค้าและบริการสำหรับ SME ศรีลังกาเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งในตลาดน้อย เหมาะสำหรับ SME ไทยจะเข้าไปบุกเบิกตลาด สินค้าและบริการที่มีศักยภาพ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ไม้ยางพารา ยางพราราและผลิตภัณฑ์ ยางรถยนต์ แบตเตอรี่ อาหารแปรรูปไทย เครื่องปรุงรส เครื่องดื่มชูกำลัง ผลไม้และน้ำผลไม้ เสื้อผ้า/ผ้าผืน ของตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ อาหารทะเลแปรรูป คอนพิวเตอร์/ชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก/ผลิตภัณฑ์ รถยนต์และชิ้นส่วน ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เครื่องจักรกลการเกษตร ทองรูปพรรณ อัญมณีและเครื่องประดับ กระดาษและผลิตภัณฑ์ การท่องเที่ยว และสปา

นับเป็นโอกาสดีที่จะมีการจัดงานแสดงสินค้าไทยครั้งแรกในกรุงโคลัมโบ ช่วงต้นสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน ๒๕๕๔ ภายใต้ชื่อ Thailand Shopping Festival งานดังกล่าวจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างบริษัท Introductions Trade Shows และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำศรีลังกา โดยการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองเจนไน คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ราย ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ thaitradechennai@gmail.com

โอกาสในธุรกิจก่อสร้างในศรีลังกา

อุตสาหกรรมก่อสร้างศรีลังกามีสัดส่วน ๘.๖% ของ GDP ปัจจุบันรัฐบาลได้เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ ก่อให้เกิดโอกาสในธุรกิจก่อสร้างมากมายหลายด้าน ได้แก่

๑) การพัฒนาท่าเรือทั่วประเทศ ได้แก่ การขยายท่าเรือโคลัมโบให้ใหญ่ขึ้น พัฒนาท่าเรือแห่งใหม่อื่นๆ ได้แก่ ท่าเรือที่เมือง Hambantota (บ้านเกิดของประธานาธิบดี) , Galle port (ท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวและเรือยอร์จ) , Oluvil, Trincomalee และKKS Port เพื่อให้ศรีลังกาเป็น Hub ด้านการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ

๒) การพัฒนาพัฒนานิคมอุตสาหกรรม SEZ ชานเมืองหลวง หัวเมืองหลักและเมืองท่าสำคัญ

๓) การปรับปรุงสนามบินนานาชาติโคลัมโบ สร้างสนามบินแห่งชาติแห่งอีก ๒ แห่งที่เมือง Matara และเมือง Hambantota (ทางใต้ของศรีลังกา) เพื่อให้ศรีลังกาเป็น Hub ด้านการบิน

๔) ด้านพลังงาน สร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหินแห่งใหม่ ได้แก่ โครงการที่กำลังดำเนินการ คือ Norochcholai Coal Power Project, Upper Kothmale Hydro Power Project สำหรับโครงการในอนาคตได้แก่ Trincomalee Coal Power Project, LNG Power and LNG Terminal, India-Sri Lanka High tension Power connection และสำรวจแห่งน้ำมันในช่องแคบจาฟนา

๕) ปรับปรุงทางหลวงทั่วประเทศ มีทั้งหมด ๙๘ โครงการ เช่น Colombo-Katunayake Expressway (25Km), Southern Highways (๑๓๐ Kms), Outer circular Highways (๒๘ Km), Colombo- Kandy highway , Katunayake-Pandeniya-Anuradhapura (๑๕๓ Km)

๖) ปรับปรุงระบบปะปาในเมืองโคลัมโบและเมืองสำคัญๆ รวมทั้งภาคเหนือและตะวันออกอดีตเขตยึดครองของฝ่ายกบถ

๗) ปรับปรุงคลองและอุโมงระบายน้ำรอบกรุงโคลัมโบเพื่อป้องกันน้ำท่วมเห็นอย่างนี้แล้ว บริษัทก่อสร้างไทยอย่างได้รอช้า รีบเข้าไปจับจองประมูลงานกันเร็วไว

การก่อสร้างด้านประปาและการระบายน้ำ

ศรีลังกาอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบปะปาในเมืองโคลัมโบและเมืองสำคัญๆ รวมทั้งภาคเหนือและตะวันออกอดีตเขตยึดครองของฝ่ายกบถ รวมทั้งมีการปรับปรุงคลองและอุโมงระบายน้ำรอบกรุงโคลัมโบเพื่อป้องกันน้ำท่วม สาเหตุจากการที่โคลัมโบมีปัญหาคล้ายๆ กับกรุงเทพคือเป็นแอ่งกะทะ จำเป็นต้องทำแก้มลิงไว้ดักน้ำ ซึ่งศรีลังกามีความสนใจวิธีแก้ปัญหาของไทยและอยากให้บริษัทก่อสร้างไทยเข้าไปร่วมพัฒนาการประปาและการระบายน้ำของศรีลังกา

โอกาสในธุรกิจการท่องเที่ยวศรีลังกา

ในปี ๒๕๕๓ มีนักท่องเที่ยวเยือนศรีลังกา ๖ แสนคน เพิ่มขึ้น ๔๖.๑% เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๒ รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น ๒.๖ ล้านคนภายในปี ๒๕๕๙ ศรีลังกาจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเพิ่มจำนวนห้องพักโรงแรมจาก ๑๕,๐๐๐ ห้องในปัจจุบันเป็น ๓๖,๐๐๐ ห้องในอนาคตอันใกล้ นอกจากนั้น ศรีลังกายังกำหนดให้ปี ๒๕๕๔ เป็น Visit Sri Lanka year ๒๐๑๑ จึงเป็นโอกาสแก่ธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจโรงแรมของไทยที่จะเข้าไปลงทุน ปัจจุบันดุสิตธานีและอามารีมีโครงการเข้าไปดำเนินธุรกิจในศรีลังกา ในอีกด้านหนึ่งศรีลังกาก็มีการปรับปรุงสนามบินต่างๆ เพื่อให้ศรีลังกาเป็น Hub ด้านการบินและรองรับนักท่องเที่ยว เช่น สนามบินนานาชาติโคลัมโบ สร้างสนามบินแห่งชาติแห่งอีก ๒ แห่งที่เมือง Matara และเมือง Hambantota (ทางใต้ของศรีลังกา) พร้อมทั้งมีแผนปรับปรุงสนามบินประจำจังหวัด เช่น Sigiriya, Hingurakgoda, Polomnaruwa, Batticaloa, Vevulniya, Palali, KKS,Trincomalee, Ampara, Koggala, Wirawila, katukurunda,Ratmalana

ศรีลังกามีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ มีชายหาดที่งดงามทั่วประเทศ อาหารการกินก็อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอาหารทะเลเลิศรสที่หากินได้ง่ายในราคาที่ไม่แพง และที่สำคัญคนศรีลังกามี service mind ไม่แพ้คนไทยเลย

การส่งเสริมการลงทุนของศรีลังกา

ในปี ๒๕๕๒ มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในศรีลังกามูลค่า ๖๐๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีมาเลเซียเป็นผู้ลงทุนอันดับ ๑ (๒๗%) รองลงมาเป็น อังกฤษ (๑๔.๘%) อินเดีย (๑๓%) เนเธอร์แลนด์ (๗%) และฮ่องกง(๔%) ตามลำดับ ส่วนการลงทุนจากไทยมีมูลค่า ๑๕ ล้านเหรียญสหรัฐ (๒.๕%) โดยบริษัทไทยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ บริษัท Uknit Garment (Pvt) Ltd., Behive Industries (PVt.) Ltd. และ Bishoff Gamma Lanka (Pvt.) Ltd. ไทยและศรีลังกาได้มีการลงนามในความตกลงคุ้มครองการลงทุน (๓ มกราคม ๒๕๓๙)และความตกลงยกเว้นภาษีซ้อน (๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๑)กันแล้ว

สาขาที่ BOI ศรีลังกาส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน (โทรคมนาคม พลังงาน โรงพยาบาล การพัฒนาชุมชนเมือง เคหะชุมชน นิคมอุตสาหกรรม และ นิคมอุตสาหกรรม IT) การท่องเที่ยวและสันทนาการ สิ่งทอ/ผ้าผืน BPO/KPO/การศึกษา/IT/IT enabled services อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา อุตสาหกรรมการเกษตรและเกษตรแปรรูป และอัญมณี/เครื่องประดับ

ไปไหว้พระกันดีกว่า

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะไปเปิดตลาดศรีลังกา ขอแนะนำให้ไปไหว้พระที่วัดที่สวยที่สุดในศรีลังกา โดยมีวัดที่ขอแนะนำ ๓ วัดในกรุงโคลัมโบ ดังนี้

๑. วัดกังการาม (Gangaramaya) เป็นวัดที่มีชื่อเสียงของโคลัมโบอยู่ริมทะเลสาบ Beira Lake ลองแวะไปเยี่ยมเว็บไซต์ของวัดก่อนก็ได้ที่ http://www.gangaramaya.com/ เป็นวัดที่มีกิจกรรมมากมายไม่ว่าจะการฟังเทศน์โดยพระนักเทศน์ดังๆ หลายรูป นอกจากนั้นวัดนี้ยังเป็นวัดที่สงเคราะห์เด็ก คนชรา และคนยากได้ แถมยังมีกฐินจากเมืองไทยไปเยี่ยมเยียนกันบ่อยๆ ดังนั้น จงเตรียมใจไว้ว่าจะได้เจอะเจอกับคนไทยแน่นอน ที่สำคัญ อย่าลืมแวะเยี่ยมศาลาริมน้ำของวัด ฝีมือสถาปนิกเอกของศรีลังกา นามเจฟฟรี บาวา เลยเชียว

๒. วัดเกลาณียา (Keleniya Raja Maha Viahra) วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเขารูปสี่เหลี่ยมสูงประมาณตึก 3 ชั้น มีบรรไดเดินขึ้นไปได้ เป็นวัดใหญ่ที่สุดของศรีลังกา ตามตำนานเล่าว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้เมื่อตรัสรู้แล้ว ๘ พรรษา มีเจดีย์สีขาวองค์ใหญ่ที่ทุกคนต้องไปเดินเวียนรอบทุกคนไป มีหลวงพ่อโตองค์ใหญ่สีสันสวยงามคล้ายพระพม่า อีกห้องหนึ่งมีพระปางค์ไสยาสน์องค์ใหญ่เช่นกัน

๓. วัดทีปทุตตมาราม (Dipaduttaramayaram (Thai) Temple อยู่ที่ถนน Kotahena Road, Colombo ๑๐ วัดนี้มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทย คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเคยเสด็จ และพระองค์เจ้าปฤษฏางค์ชุมสาย พระราชโอรส ในรัชกาลที่ ๓ เคยบวชและเป็นเจ้าอาวาสที่วัดนี้ด้วย ซึ่งพระองค์ท่านยังได้สร้างเจดีย์คล้ายเจดีย์พุทธคยาไว้ในบริเวณวัดด้วย ไหว้พระ ๓ วัดก็รวยแล้ว ถ้าได้มีโอกาสไปร่วมงานแสดงสินค้าไทยฯ ที่บอกไว้ตอนแรก

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองเจนไน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก สงคราม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ