ตลาดฮาลาลในสาธารณรัฐตุรกี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 31, 2011 11:49 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ข้อมูลเบื้องต้น

1.1 ตุรกีเป็นประเทศที่มีการผลิตสินค้าอาหารได้เพียงพอแก่ความต้องการภายในประเทศ และยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารรายใหญ่ไปยังสหภาพยุโรปด้วย ประชากรนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ประมาณร้อยละ 98 แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยถือปฏิบัติและเคร่งครัดในหลักศาสนา สุราและเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์จะมีจำหน่ายทั่วไป รวมทั้งเนื้อสุกรก็มีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในนครอิสตันบูล เมืองใหญ่ ๆ และมีบริการในโรงแรมชั้นนำด้วย

1.2 อาหารสำเร็จรูปที่วางจำหน่ายในท้องตลาด และในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องหมายฮาลาล เนื่องจากเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่าจะไม่มีส่วนผสมหรือส่วนประกอบของสุกร ในทางตรงกันข้าม หากอาหารที่วางจำหน่ายมีส่วนประกอบหรือส่วนผสมที่ทำจากสุกรจะมีเครื่องหมายแจ้งไว้เพื่อให้ผู้บริโภคทราบ

2. มาตรฐานอาหารฮาลาลในตุรกี

2.1 ปัจจุบัน ตุรกียังไม่มีมาตรฐานอาหารฮาลาล รวมทั้งหน่วยงานตรวจสอบและหน่วยงานออกใบรับรองที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล เนื่องจากการนำมาตรฐานอาหารฮาลาลมาใช้ยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงนัยหรือผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในวงกว้าง กล่าวคือ ตุรกีเป็นรัฐที่แบ่งแยกศาสนาออกจากการเมือง(Secularism) แต่มาตรฐานอาหารฮาลาลถูกกำหนดโดยกฎเกณฑ์ของศาสนาอิสลาม การจะนำมาตรฐานดังกล่าวมาใช้ อาจจะได้รับการต่อต้านจากกลุ่มผู้ยึดมั่นใน Secularism แม้แต่ความพยายามของพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำของรัฐบาล ที่จะยกเลิกข้อห้ามสตรีสวมผ้าคลุมศีรษะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยก็ถูกต่อต้านและเป็นชนวนนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน

2.2 สินค้าที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศตุรกี จึงไม่มีการติดฉลากมาตรฐานอาหารฮาลาล หากผลิตภัณฑ์นั้นทำจากเนื้อสุกรหรือมีส่วนประกอบของเนื้อสุกร ก็จะมีข้อความบ่งบอกอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์รวมทั้งมีป้ายติดบนชั้นวางสินค้าด้วย ส่วนการนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศก็ ไม่ต้องมีใบรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลดังกล่าว แต่สินค้าที่ส่งเข้ามาจำหน่ายอาจมีการติดฉลากมาตรฐานอาหารฮาลาลอยู่แล้ว เนื่องจากผู้ส่งออกสินค้าดังกล่าวไปจำหน่ายในประเทศมุสลิมอื่น ๆ ด้วย

3. การดำเนินการพัฒนามาตรฐานอาหารฮาลาล

3.1 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐได้เริ่มพัฒนามาตรฐานอาหารฮาลาลอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือผู้ส่งออกอาหารตุรกีเช่นกัน ซึ่งกำลังจะเสียเปรียบประเทศอื่น ๆ ในส่วนแบ่งตลาดอาหารฮาลาลทั่วโลกซึ่งมีมูลค่ากว่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพราะปัจจุบัน ผู้ส่งออกสินค้าอาหารตุรกีต้องไปขอใบรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลในต่างประเทศ ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายสูง และอาจเกิดความล่าช้า หรือมิฉะนั้น ผู้ส่งออกตุรกีก็หันไปใช้ทางเลือกอื่น เช่น เชิญผู้แทนบริษัทนำเข้าในต่างประเทศมาเยี่ยมชมโรงงานฆ่าสัตว์, โรงงานผลิต หรือขอใบรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลจากกรมการศาสนาตุรกี (Directorate-General of Religious Affairs) แต่การรับรองมาตรฐานของกรมการศาสนาตุรกีก็มิได้เป็นไปตามขั้นตอนถูกต้อง แต่ที่ผ่านมา ไม่มีปัญหา เนื่องจากตุรกีเป็นประเทศมุสลิมอยู่แล้ว

3.2 ขณะนี้ ตุรกีเริ่มดำเนินการพัฒนามาตรฐานอาหารฮาลาลในกรอบองค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ในฐานะที่ตุรกีเป็นผู้ริเริ่มและผู้ประสานงานในเรื่องนี้ ทั้งนี้มาตรฐานดังกล่าวของ OICจะเป็น Commonly Acceptable Standardsซึ่งใช้บังคับทั่วไป ทั้งกับประเทศมุสลิมและประเทศมิใช่มุสลิมที่ต้องการส่งอาหารไปยังประเทศมุสลิมอื่น ๆ ที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม หากประเทศสมาชิก OIC ใดจะมีมาตรฐานอาหารฮาลาลแห่งชาติ (National Standard) นอกเหนือไปจากของ OIC ก็ย่อมได้ แต่จะใช้บังคับกับผู้ผลิตอาหารในประเทศของตนเองเท่านั้น ไม่สามารถใช้กีดกันผู้ส่งออกอาหารจากประเทศอื่น ๆ ที่ผลิตได้ตามมาตรฐานของ OIC แล้ว ส่วนตุรกีไม่มีนโยบายนำมาตรฐานอาหารฮาลาลของ OIC มาใช้เป็นข้อกำหนดสำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ขั้นตอนการนำเข้าจะเป็นไปตามปกติ

4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานอาหารฮาลาล

4.1 ปัจจุบันได้มีแนวทางในการกำหนดมาตรฐานอาหารฮาลาลแบบครบวงจร ส่งผลให้มีมาตรฐานอาหารฮาลาลกว่า 50 มาตรฐานทั่วโลก รัฐบาลตุรกีจึงผลักดันให้ OIC เข้ามามีบทบาทด้านนี้ โดยตุรกีมีบทบาทนำในการร่างข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรฐานอาหารฮาลาลต่อ Halal Food Standard and Halal Certification and Accreditations ซึ่ง OIC จัดตั้งเมื่อเดือน เมษายน 2551 จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนในเรื่องนี้แต่อย่างใด

4.2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของตุรกี

  • Undersecretariat for Foreign Trade (UFT)
  • Turkish Standard Institute (TSI)
  • Tukish Accreditation Agency
  • บริษัท Etika Consulting (ตัวแทนของ Australian Halal Certification Agency ซึ่งต้องการเข้ามาเจาะตลาด

การออกใบรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลในตุรกี)

4.3 สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอังการา ได้เคยหารือกับหน่วยงาน UFT และ TSI ข้างต้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะจัดทำ MOU ว่าด้วยความร่วมมือมาตรฐานอาหารฮาลาลระหว่างไทยกับตุรกีแต่ทางรัฐบาลตุรกียังมิได้แต่งตั้งหน่วยงานใดเป็นหน่วยงานแห่งชาติสำหรับรับผิดชอบเรื่องมาตรฐานอาหาฮาลาล ดังนั้น ทั้งหน่วยงาน UFT และ TSI จึงยังไม่พร้อมที่จะจัดทำ MOU กับไทย กอรปกับการจัดทำเอกสารดังกล่าวจะต้องมีการหารือระหว่างหน่วยงานของตุรกีที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ UFT ขอให้รอร่างมาตรฐานอาหารฮาลาลของ OIC ผ่านความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกก่อน เพื่อดูว่ารัฐบาลตุรกีจะดำเนินการด้านโครงสร้างสถาบันอย่างไร

5. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

5.1 การพัฒนามาตฐานอาหารฮาลาลของตุรกียังก้าวตามหลังประเทศไทย รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานฯ ของตุรกีมีวัตถุประสงค์หลักคือการสนับสนุนผู้ส่งออกอาหารตุรกีให้สามารถแข่งขันกับ ผู้ส่งออกอาหารจากประเทศอื่น ๆ มากกว่าที่จะนำมาใช้บังคับกับอาหารที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศ รวมทั้งสินค้าอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วย หรือหากจะนำมาใช้ก็น่าจะเป็นไปด้วยความสมัครใจ

5.2 มาตรฐานอาหารฮาลาลจึงมิใช่ปัญหาในการส่งออกสินค้าประเภทอาหารมายังตุรกี แต่ปัญหาสำคัญที่ควรศึกษาและวิเคราะห์ คือ

  • รสนิยมของผู้บริโภคชาวตุรกี
  • อัตราภาษีการนำเข้าที่สูง
  • การตรวจสอบคุณภาพอาหารที่เข้มงวด

5.3 สินค้าอาหารฮาลาลของไทยที่มีศักยภาพที่จะขยายตลาดในตุรกี จะเป็นสินค้าในรายการที่ตุรกียังผลิตไม่ได้คุณภาพดีหรือไม่เพียงพอ เช่น ผัก/ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ปลากระป๋อง นมถั่วเหลือง อาหารทะเลแช่แข็ง เป็นต้น ส่วนอาหารสินค้าอื่น ๆ เช่น ข้าว เครื่องปรุงรส เครื่องจิ้ม อาหารแห้ง เส้นหมี่/ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ ก็ยังมีการส่งออกไปยังตุรกีไม่มากนัก และจะมุ่งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในตุรกี ซึ่งยังเป็นตลาดเป้าหมายขนาดเล็กและมีผู้บริโภคจำนวนน้อย เมื่อคิดเป็นอัตราเทียบกับจำนวนของชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศยุโรปอื่น ๆ

5.4 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปตุรกี ยังมีโอกาสขยายตัวได้โดยอาศัยกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกเป็นเครื่องผลักดัน เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร GIDA ที่นครอิสตันบูลทุกปี หรือนำคณะเข้าเยี่ยมชมงาน THAIFEX ที่ประเทศไทย รวมทั้งการจัด Incoming Mission อื่น ๆ ซึ่งจะเห็นได้จากเริ่มมีการนำเข้าสินค้าจากไทย เพิ่มชนิดของสินค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อความหลากหลายในการเลือกบริโภคสินค้าคุณภาพ และทดลองตลาดไปในตัวด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ณ นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ