แนวโน้มวิถีการบริโภคอาหารของสหรัฐอเมริกา ปี 2554 (ตอนที่ 2)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 31, 2011 13:45 —กรมส่งเสริมการส่งออก

6. ยักษ์ใหญ่ต้องทำตัวเป็นยักษ์แคระ (Small is the New Big Business)

หากมองภาพหน้าพิซซ่าใกล้ ๆ จะเห็นว่า มิใช่เป็นรูปแบบทั่วไปๆ หรือผลิตโดยเครื่องจักร แต่เป็นตัวอย่างพิซซ่าจริงของร้าน Domino’s Pizza ที่บรรจงทำโดยใช้วัตถุดิบซึ่งได้รับการแนะนำจากผู้บริโภคธุรกิจขนาดย่อมในสหรัฐฯ มักจะใช้กลยุทธ์สร้างความพอใจและรับฟัง คำแนะนำจากผู้บริโภค และนำมาปรับปรุงในการนำเสนอสินค้าให้แก่ผู้บริโภค ปัจจุบัน บริษัทขนาดใหญ่ได้หันมาดำเนินการเลียนแบบธุรกิจขนาดย่อมในการเข้าถึงผู้บริโภค โดยการจับกระแสผู้บริโภครับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภค และ ศึกษารายละเอียดปลีกย่อยจากผู้บริโภค ธุรกิจที่กำลังขยายตัวจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาแนวโน้ม/ทิศทางความต้องการของผู้บริโภค ผู้ประกอบการควรจะสร้างกระแสความต้องของผู้บริโภค โดยการชักนำให้ผู้บริโภคเข้ามามีบทบาทและให้ความคิดเห็นในการนำเสนอสินค้าอาหาร ดังตัวอย่างของธุรกิจ Domino’s Pizza ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่และเป็นผู้นำตลาดด้านพิชซ่ารายใหญ่รายหนึ่งของสหรัฐฯ แต่ทำตัวราวกับเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กในการเข้าถึงผู้บริโภค

การใช้เครื่องมือ Social Media เช่น Face Book และ Twitter เพื่อช่วยจับกระแสความต้องการของผู้บริโภค เป็นอีกทางหนึ่งที่ธุรกิจน้อยใหญ่ในสหรัฐฯ ให้ความสำคัญเพื่อที่จะเข้าถึงผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด โดยจะฟังความคิดเห็นของลูกค้าเสมือนว่า ได้การสนทนาแบบตัวต่อตัว และจะเลือกผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายเพียงไม่กี่ประเภทชนิด แทนการผลิตสินค้ามากมายหลากหลายชนิดให้ลูกค้าเลือกและพัฒนาสินค้านั้นให้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด จะเห็นว่า แนวโน้มของธุรกิจอาหารจะเปลี่ยนเป็น แนวคิดให้เล็กลง (Smaller in how they think) และนึกถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก (Customer in mind) แทนที่จะคิดถึงแต่จุดกำไร/ขาดทุน (Bottom Line)

7. ความสดใหม่ตลอดเวลา (Fresh Everyday)

ผู้บริโภคสหรัฐฯ หันมานิยมกลับไปซื้อเนื้อสด ผักผลไม้ ขนมปัง ตามร้านค้าปลีกที่ตั้งอยู่ในชุมชน เพราะได้ของสด ใหม่ ทุกวัน ถึงแม้ว่าร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ประเภทซุปเปอร์มาร์เกตจะมีสินค้าให้เลือกซื้อนานาชนิด แต่ความนิยมในการเลือกซื้ออาหาร สดใหม่ จากชาวไร่ชาวนาที่นำมา ขายตามตลาด กลับได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

มีผู้บริโภคอีกจำนวนมาก ที่เลือกรับประทานอาหารสดใหม่เป็นอันดับแรก บางรายถึงกับปลูกพืชผักสวนครัวเอง แม้แต่การปลูกบน หลังคาของตึกคอนโด นับวันจำนวนผู้บริโภคที่ยอมเสียเวลาในการเลือกซื้ออาหารสด/ใหม่ตามร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าพิเศษเฉพาะอย่าง (Specialty Stores) จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคหนุ่มสาวที่เรียกว่า Yuppies ที่มีเวลาและเงิน ยินดีที่จะจ่ายเงินมากเพื่อที่จะได้สินค้าที่มีคุณภาพที่ดีกว่า

8. พ่อครัวปรุงอาหารสำหรับเด็กในโรงเรียน (Chefs in School)

ปัญหา อาหารเด็กในโรงเรียนขาดคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการ ก่อให้เด็กมีปัญหาโรคอ้วน (Child Obesity) ดังนั้น ปี 2554 จึงเป็นปีที่พ่อครัวหลายพันคนรวมตัวและช่วยกันทำงานอย่างใกล้ชิดกับโรงเรียนในสหรัฐฯ เพื่อปรุงอาหาร และจัดอาหารที่มีความสดและคุณภาพให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนได้รับประทานเพื่อสุขภาพที่ดีของเด็ก

นาง Michelle Obama สตรีหมายเลข 1 ภริยาของประธานาธิบดี ของสหรัฐฯ เป็นผู้ให้ความสนใจต่อสุขภาพของเด็ก และเข้ามาเป็นผู้นำรณรงค์หยุดยั้งโรคอ้วนของเด็ก (Child Obesity) โดยเชิญพ่อครัวมากกว่า 400 คนไปพบปะหารือที่ทำเนียบขาวเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา เพื่อ ให้พ่อครัวจัดเตรียมอาหารที่มีคุณประโยชน์ และมีคุณภาพให้เด็กนักเรียนได้รับประทาน การดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการส่งอาหารให้โรงเรียน จะต้องปรับปรุงการนำเสนอเมนูอาหารใหม่ ให้มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเด็กนักเรียนตามไปด้วย

นอกจากนั้นแล้ว รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งในสหรัฐฯ กำลังดำเนินการที่จะไม่ให้มีการเปิดร้านอาหารจานด่วน (Fast Food) และห้ามการแจก/แถมของเล่นเด็กเมื่อซื้ออาหารเด็กประเภท Happy Meal โดยมีโรงเรียน Berkeley ในรัฐ California ที่เป็นผู้นำร่อง และประสบผลสำเร็จในโปรแกรมการเรียนการสอนปลูกผักกินในบริเวณรั้วโรงเรียน (Edible Schoolyards) ซึ่งทำให้เด็กนักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับพืชผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีประโยชน์ต่อการปรับปรุงสุขภาพควบคุมการลดน้ำหนัก

9. ทดลองอาหารที่ไม่คุ้นเคย (Discomfort Foods):

ผู้บริโภคมีแนวโน้มสนใจทดลองรับประทานอาหารใหม่ๆ มากขึ้นเพื่อจะได้ประสบการณ์และรสชาติแปลกใหม่นิตยสาร TIME ใช้คำว่า Discomfort Food ว่า “ เป็นการรับประทานอาหารที่ไม่คุ้นเคยแปลก แหวกแนว ผิดไปจากรูปแบบเดิมๆ หรือตามประเพณีนิยม”

ผู้บริโภคสหรัฐฯ หันมาทดลองรับประทานอาหารใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำเร็จรูป หรือ อาหารตามภัตตาคาร เช่น อาหารเมดิเตอร์เรเนียน (มอรอคโค แอลจีเรีย และ ลิเบีย) แทนการไปรับประทานอาหารเม็กซิกัน หรือการรับประทานสลัดปลาหมึกที่มีหนวดติดมาด้วย หรือการ รับประทานหอยเม่นแทนปลานิล รับประทานสเต็ก หรือ แฮมเบอร์เกอร์เนื้อวัวไบซอนแทนเนื้อวัวปกติหรือ แม้แต่การรับประทานตัวหนอน (Worm) ชนิดต่างๆ เป็นต้น

การทดลองรับประทานสิ่งใหม่ๆ ไม่จำกัดวงเฉพาะอาหารเท่านั้น แต่ยังขยายวงไปยังกลุ่มของหวานจานขนาดเล็กๆ การนำของแต่งหน้าขนม (Toppings) แปลกมาแต่งหน้าเค็ก ขนมแป้งอบ หรือ โยเกริตแช่เย็น ผู้บริโภคยุคใหม่จะไม่มีความกลัว แต่อยากจะทดลองของใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยลองรับประทาน

10. กินเพื่อความเป็นหนุ่มเป็นสาว:

สหรัฐฯ ในยุคนี้เป็นยุคของ Baby Boomer (เกิดระหว่างปี 1946 -1964) หรือคนที่มีอายุระหว่าง 47-65 ปี ซึ่งเป็นวัยกลางคนจนถึงใกล้เกษียณอายุ คนกลุ่มนี้มักจะเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อาหารที่ช่วยให้มีความกระฉับกระเฉง และดูเป็นหนุ่มสาวขึ้น กลุ่ม Baby Boomer บางรายอยู่ในวัยใกล้เกษียณ ต้องเลือกรับประทานอาหารที่ให้พลังงาน ให้มีความกระตือรือร้น หรือแม้แต่การหาซื้อผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้ กิจกรรมทางเพศมีชีวิตชีวาขึ้น เช่นยา Viagra หรือ Nutmeg

ปัจจุบันเราจะได้ยินคำพูดที่ว่า อายุ 60 เหมือนคนอายุ 50 หรือ อายุ 50 เหมือนคนอายุ 40 เพราะคนมีอายุยืนยาวขึ้น และ Baby Boomer ก็ต้องการมีชีวิตด้วยการมีสุขภาพที่แข็งแรง ด้วยการสรรหารับประทานอาหารที่เสริมพลังประเภท Superfood ที่จะช่วยหยุดยั้งความชราภาพ ความเหี่ยวย่น เช่น การรับประทาน ทับทิม มังคุด อาซาอีเบอรี่ (Acai Berry) หรือ โกจิเบอรี่ (Goji Berry) หรือจะเป็นอาหารที่ทำให้ร่างกายกระชับดูปราดเปรียว จะเห็นว่าคนรุ่นนี้ในปัจจุบันหันมาออกกำลังกายตามสถานออกกำลังกาย (Health Clubs) และเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

การถนอมอาหาร ผู้ชายเข้าครัว ซื้อผักสดจากสวน การใช้คูปองส่วนลด การลดน้ำหนัก การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และ ลองลิ้มอาหารรสชาติแปลกใหม่ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคสหรัฐฯ ในปี 2554 และ ประการสำคัญ ผู้บริโภคอาหารของสหรัฐฯ จะมองหาและซื้อสินค้าอาหารจากร้านค้าที่ให้ความสำคัญและเน้นในด้านคุณค่าและคุณภาพ (Value & Quality) ของอาหาร

แนวโน้มวิถีการบริโภคอาหารจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงความต้องการสินค้าในตลาดของสินค้าอาหารและวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารของผู้บริโภค ดังนั้น แนวโน้มวิถีการบริโภคอาหารของสหรัฐฯ ในปี 2554 ดังที่กล่าวมาแล้ว 10 Trends จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และสนับสนุนให้ผู้ผลิต/ส่งออกสินค้าไทยที่ไปยังสหรัฐฯ ได้นำไปปรับเปลี่ยน การผลิต พัฒนาสินค้า และ การวางกลยุทธ์ด้านการตลาด สำหรับสินค้าอาหารที่ต้องการส่งไปขายในตลาดสหรัฐฯ ในอนาคต

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นคาชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ