ต้นมะพร้าวและผลมะพร้าว ชักนำให้ผู้บริโภคอเมริกันรำลึกถึงเครื่องดื่ม Tropical Drink ที่เป็นที่นิยม ซึ่งเรียกกันว่า “pina colada” ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ใช้ Coconut cream เป็นส่วนผสมในการทำและเป็นสินค้าชนิดเดียวที่ทำให้ผู้บริโภคอเมริกันได้รู้จักกับมะพร้าว ใน ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคสหรัฐฯ ยังไม่ทราบว่ามะพร้าวเป็นวัตถุดิบสำคัญ ในการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคต่างๆ มากมายของผู้บริโภคทั่วโลก
กระแสการหลั่งไหลของกลุ่มชาวเอเซียเข้ามาอาศัยในสหรัฐฯ เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งต่อการเพิ่มความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวในสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทย เช่น กะทิกระป๋อง และ น้ำมะพร้าวกะป๋อง (Coconut Juice) ซึ่งมีส่วนเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวในสหรัฐฯ
ในปัจจุบัน ความต้องการไม่เพียงจำกัดการบริโภคอยู่เฉพาะชาวเอเซีย แต่ความนิยมและต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวขยายวงออกไป ทั้งในรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ ใช้กับปรุงอาหารชนิดต่างๆ ได้มากขึ้น และขยายตัวในการบริโภคไปสู่กลุ่มผู้บริโภคหลัก (Mainstream) ของสหรัฐฯ มากขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์มะพร้าวมีคุณค่าทางอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
คุณค่าทางอาหารของผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว
นักโภชนาการสหรัฐฯ ได้ศึกษาและวิจัยมะพร้าว และพบว่า ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวมีคุณประโยชน์ทางโภชนาการ (Nutrition) ต่อร่างกายหลายประการ เช่น น้ำมันมะพร้าวช่วยลดระดับไขมันรักษาระดับน้ำตาลในเส้นเลือด และ เพิ่มการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เป็นต้น คุณค่าทางโภชนาการอื่นๆ ของผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ได้แก่ ช่วยลดน้ำหนัก ลดคลอเรสเตอร์รัล ลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจช่วยระบบการย่อยและขับถ่าย และ ลดความเหี่ยวย่นของผิวพรรณ เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่ต้องการในตลาดสหรัฐฯ
วงการอาหารเพื่อสุขภาพของสหรัฐฯ ได้แนะนำผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่ได้รับความนิยมในตลาดสหรัฐฯ ปัจจุบัน มี 6 ชนิด ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว (Coconut Oil) กะทิ (Coconut Milk) น้ำมะพร้าวสด (Coconut Water) แป้งมะพร้าว (Coconut Flour) เนื้อมะพร้าวแห้งเกล็ด (Dried Coconut Chips) และ เนื้อมะพร้าวขูด (Desiccated Coconut)
1. น้ำมันมะพร้าว (Coconut Oil)
คุณสมบัติประการสำคัญของน้ำมันมะพร้าว คือ มีอายุการใช้นาน (Longer Shelf Life) หรืออยู่ได้นานกว่าน้ำมันบางชนิด เช่น น้ำมันพืช น้ำมันข้าวโพด หรือ น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันที่ใช้ได้เอนกประสงค์ (Multi Purpose) ในการปรุงอาหารและอบอาหาร และใช้ได้ดีกับการ Saute ผัก และ Roasting เนื้อ ในปัจจุบัน ผู้บริโภคสหรัฐฯ กลุ่มบริโภคอาหารอินทรีย์และธรรมชาติ หันมานิยมใช้น้ำมันมะพร้าวแทนน้ำมันพืชหรือน้ำมันจากสัตว์มากขึ้นเป็นลำดับ น้ำมันมะพร้าวเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งที่ผู้บริโภคสหรัฐฯ เรียก คือ เนยมะพร้าว (Coconut Butter)
2. กะทิ (Coconut Milk/Cream)
กะทิไม่เพียงถูกนำไปใช้เฉพาะการทำแกง หรือ ปรุงอาหารต่างๆ เท่านั้น ปัจจุบัน กะทิได้รับการยกระดับนำไปใช้แทนนมเติมกับซีเรียลเป็นอาหารเช้า หรือใช้เป็นส่วนผสมในการทำเครื่องดื่ม และ ทำขนมแป้งอบ ปัจจุบัน กะทิที่กล่าวถึง วางตามซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในสหรัฐฯ เช่น Whole Foods และเป็นสินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทย
3. น้ำมะพร้าวสด (Coconut Water)
เป็นน้ำมะพร้าวสดจากธรรมชาติไม่ปรุงแต่งรส หรือ เติมน้ำตาลเข้าไปซึ่งแตกต่างจาก Coconut Juice ของไทยที่แพร่หลายในสหรัฐฯ คุณค่าของน้ำมะพร้าวสด คือ ไม่มีน้ำตาล ไม่มีแคลอรี่ ไม่มีไขมัน และมีโปตัสเซียมสูง ซึ่งเหมาะสมสำหรับเป็นเครื่องดื่มหลังออกกำลังกาย จึงเป็นสาเหตุให้น้ำมะพร้าวสดได้รับความนิยมในตลาดสหรัฐฯ ปัจจุบัน น้ำมะพร้าวสดจากประเทศบราซิลครองสัดส่วนตลาดสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 70 น้ำมะพร้าวสดของไทยเพิ่งเริ่มเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา
4. แป้งมะพร้าว (Coconut flour)
คุณสมบัติที่สำคัญของแป้งมะพร้าว คือ ไม่มีกลูเตน มีคาร์โบรไฮเดรตต่ำ และมีไฟเบอร์สูงที่สุดในมวลแป้งทั้งหมดจึงเป็นข้อดีของแป้งมะพร้าวที่เด่นกว่าแป้งทั่วไป แป้งมะพร้าวเหมาะสมนำไปใช้ทำขนมแป้งอบชนิดต่างๆ เช่น คุ๊กกี้ มัฟฟิน ขนมปังเค๊ก และ แพนเค็ก เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว การบริโภคอาหารหรือของทานเล่นที่ทำด้วยแป้งมะพร้าว จะช่วยในด้านการรักษาระดับน้ำหนักที่เหมาะสมกับร่างกาย ดังนั้น กลุ่มผู้บริโภคที่ต้องระมัดระวังในเรื่องน้ำหนัก หรือร้านจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ จะหันมาใช้แป้งมะพร้าวในการทำอาหารหรือ ขนมแป้งอบ
5. มะพร้าวแห้งเกล็ด (Coconut Chips)
แนววิถีการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ชักนำให้ผู้บริโภคสหรัฐฯ หันมาบริโภคอาหารซึ่งใช้ส่วนประกอบและวัตถุดิบเป็นธรรมชาติ (Natural Ingredients) ดังนั้น ผักและผลไม้แห้ง จึงเป็นสินค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความสนใจสูงจากผู้บริโภคที่รับประทานเพื่อสุขภาพ มะพร้าวแห้งเกล็ดจึงถูกนำมาผสมกับ ถั่วชนิดต่างๆ และผลไม้แห้งชนิดต่างๆ เป็นของทานเล่นเพื่อสุขภาพ (Healthy Snack Foods)
6 มะพร้าวขูด (Desiccated Coconut)
มะพร้าวขูดเป็นสินค้าที่มีจำหน่ายมานานแล้วในตลาดสหรัฐฯ แต่อยู่ในวงจำกัด ด้วยคุณสมบัติที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ดังนั้น ปัจจุบัน จึงมีการประยุกต์ใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน เช่น โรยหน้าขนมเค็ก คัปเค๊ก ผสมในสมู้ทตี้ หรือ ไอศกรีม โรยหน้าอาหารบางชนิด ปัจจุบัน มะพร้าวขูดที่จำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ มี2 แบบ คือ มะพร้าวขูดแช่แข็ง และ มะพร้าวขูดแห้ง
อนึ่ง ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่มีจำหน่ายในสหรัฐฯ นอกเหนือไปจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น 6 ชนิด ได้แก่ Coconut Vinegar, Coconut Nectar, Coconut Spread, Coconut Sugar เป็นต้น
ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ
ปัจจุบัน สหรัฐฯ นำเข้าผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว จากประเทศไทย ในช่วงมกราคม-พฤศจิกายน 2553 เป็นมูลค่าประมาณ 79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 มีสินค้าสำคัญได้แก่ ผลมะพร้าวสด น้ำมะพร้าว กะทิ และ เนื้อมะพร้าวแห้ง/แช่แข็ง และ สินค้าผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทยครองตลาดสหรัฐฯ กว่าร้อยละ 65 คู่แข่งที่สำคัญได้แก่ กลุ่มประเทศแคริบเบียน กลุ่มประเทศอเมริกากลาง และ เวียดนาม
ความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวในสหรัฐฯ แยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ จากกลุ่มผู้บริโภคที่รับประทานเพื่อสุขภาพ (Health Conscious Consumer) และ กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่มของสหรัฐฯ มีความต้องการผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นผลก่อให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวในรูปแบบต่างๆ เช่น น้ำมันมะพร้าว กะทิน้ำมะพร้าวสด แป้งมะพร้าว และ เนื้อมะพร้าวแห้ง เพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐฯ
ความต้องการที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวจากประเทศไทย ดังนั้น เพื่อสนองตอบความต้องการผู้บริโภคสหรัฐฯ และ ผลักดันการขยายตลาดผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทยในสหรัฐฯ ให้กว้างยิ่งขึ้น ให้มีทั้งปริมาณ และ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ในสหรัฐฯ ภาครัฐและ ภาคอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทย ควรพิจารณา ดังนี้
1. ภาครัฐควรผลักดันการทำสวนมะพร้าวให้เป็นการปลูกเพื่อการค้า (Commercial) โดยแท้จริง หรือให้เป็นต้นไม้เศรษฐกิจ แทนการปลูกแบบตามมีตามเกิด (Traditional) นอกจากนั้นแล้ว ควรจะให้การส่งเสริมในด้านการค้นคว้าและวิจัยเพื่อพัฒนาเพิ่มผลผลิตมะพร้าว
2. ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันในด้านวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่จากมะพร้าว เพื่อนำเสนอตลาด รวมไปทั้งในด้านการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อดึงดูดความสนใจผู้บริโภค
3. การประชาสัมพันธ์ภาพรวมของผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทยผ่านสื่อต่างๆ ให้ผู้บริโภคสหรัฐฯ ได้ทราบว่า ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของประเทศไทยมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล เพื่อเป็นการตอกย้ำให้ผู้บริโภคสหรัฐฯ หาซื้อผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทย
4. ผลิตภัณฑ์มะพร้าวจัดเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและอินทรีย์ (Natural & Organic) แต่หากจะอ้างคุณสมบัติอินทรีย์และส่งไปจำหน่ายยังสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์มะพร้าวต้องได้การรับรองตามระเบียบของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA Organic) หรือการรับรองที่เทียบเท่า USDA Organic
5. การขยายตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทยควรมุ่งไปยังผู้บริโภคกลุ่มรับประทานเพื่อสุขภาพ และช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ คือ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ คือ Natural Products Expo East (www.expoeast.com) ณ นครบอสตัน และ Natural Products Expo West (www.expowest.com) ณ นครลอสแอนเจลิส
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก
ที่มา: http://www.depthai.go.th