การค้าระหว่างประเทศของฟิลิปปินส์ เดือน กันยายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 1, 2011 10:45 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การค้าระหว่างประเทศในเดือนมกราคม — กันยายน 2553 เปรียบเทียบกับปี 2552

มูลค่า : พันล้านเหรียญสหรัฐ

                  ม.ค.-ก.ย.53    ม.ค.—ก.ย.52     % Change
   การค้ารวม         78.235          59.34         31.84
   การส่งออก         38.298          27.648        38.52
   การนำเข้า         39.937          31.692        26.02
   ดุลการค้า          -1.639          -4.044       -59.47

1.1 ปริมาณการค้า ปริมาณการค้ารวมเดือน มกราคม - กันยายน 2553 มีมูลค่า 78.235 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.84 จาก 59.340 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2552 โดยเป็นการส่งออก 38.298 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ นำเข้า 39.937 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับเดือนกันยายน 2553 มีปริมาณการค้ารวม 9.887 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.31 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2552 ส่วนมูลค่าส่งออกและนำเข้าเดือนกันยายน 2553 เท่ากับ 5.314 และ 4.573 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

1.2 การส่งออก ในช่วงเดือนมกราคม — กันยายน 2553 ฟิลิปปินส์ส่งออกมูลค่า 38.298 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.52 จาก 27.648 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2552

สินค้าส่งออกที่สำคัญของฟิลิปปินส์ยังคงเป็นสินค้าอีเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการส่งออกรวม 23.502 พันล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61.3 ของมูลค่าส่งออกรวม) เพิ่มขึ้นจาก 15.981 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่งออกได้ในระยะเดียวกันของปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 47.06 สำหรับการส่งออกในเดือนกันยายนนี้มีมูลค่าการส่งออก 5.314 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนที่ผ่านมาร้อยละ 46.1 และเป็นเดือนที่ส่งออกได้สูงสุดของปี2553 โดยที่สินค้าอีเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักมีมูลค่าส่งออก 3,478 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนที่ผ่านมาซึ่งส่งออกได้ 2,249.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 54.5 เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มในการส่งออกสดใส ลำดับที่สองได้แก่เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มซึ่งมีมูลค่าส่งออก 146.5 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนปีที่ผ่านมาซึ่งส่งออกได้ 114.6 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 27.8 ส่วนลำดับต่อมาได้แก่ ไม้แกะสลักและเฟอร์นิเจอร์ไม้ มูลค่าส่งออก 113.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3 และยังมีน้ำมันมะพร้าวซึ่งส่งออกได้ 97.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50

ตั้งแต่มกราคม — กันยายน 2553 ตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของฟิลิปปินส์กลับมาเป็นสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 15.16 ส่วนญี่ปุ่นเลื่อนลงมาเป็นลำดับที่สอง มีสัดส่วนร้อยละ 14.95 ลำดับต่อมาได้แก่ สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง มีสัดส่วนร้อยละ 14.51, 10.15 และ 8.29 ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยเป็นตลาดลำดับที่ 9 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.36

1.3 การนำเข้า ในช่วงเดือนมกราคม — กันยายน 2553 การนำเข้าของฟิลิปปินส์มีมูลค่า 39.937พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.02 จาก 31.692 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สินค้านำเข้าอันดับหนึ่งคือ สินค้าอีเล็กทรอนิกส์ นำเข้ามูลค่า 13.678 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มีสัดส่วนร้อยละ 34.2 ของการนำเข้ารวม) นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.98 จากปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้า 11.306 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลำดับที่สองได้แก่น้ำมันเชื้อเพลิง นำเข้ามูลค่า 6.814 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.44 จาก 5.223 พันล้านเหรียญสหรัฐของเดือนกันยายนของปีที่ผ่านมา ส่วนเดือนกันยายนนี้มีการนำเข้า 4,573 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนที่ผ่านมาซึ่งนำเข้า 3,669 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 24.6 โดยที่ร้อยละ 39.7 เป็นการนำเข้าวัตถุดิบ และร้อยละ 30.8 เป็นการนำเข้าสินค้าทุนที่สำคัญได้แก่ อุปกรณ์ด้านโทรคมนาคมและไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนนำเข้าร้อยละ 54.5 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ลำดับต่อมาได้แก่ อุปกรณ์เกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 17.3 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.4 ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 สำหรับสินค้าข้าวตั้งแต่มกราคม - กันยายน 2553 นำเข้าแล้วเป็นมูลค่า 1,493.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้า 913.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 66.7

1.4 ดุลการค้า

ตั้งแต่มกราคม — กันยายน 2553 ฟิลิปปินส์มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออกทำให้มีการขาดดุล 1.639 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งขาดดุล 4.044 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 59.47

1.5. ประเทศคู่ค้าสำคัญของฟิลิปปินส์

คู่ค้าที่สำคัญของฟิลิปปินส์ในเดือนนี้ ลำดับแรกยังคงเป็นญี่ปุ่นซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 13.66 ส่วนสหรัฐอเมริกาเลื่อนลงมาเป็นอันดับสองมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 12.88 ส่วนอันดับที่ 3, 4 และ5 ได้แก่ สิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และเกาหลีใต้ ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 12.12, 9.09 และ 5.72 ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยคงอยู่ในลำดับที่ 7 เช่นเดียวกับเดือนที่ผ่านมา โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.47

2. การค้าระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์เปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา

มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐ

                                ม.ค.— ก.ย. 53     ม.ค.- ก.ย.52       % Change
การค้ารวม                             5,481.30         3,338.10           64.2
ไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์                     3,757.30         2,143.60          75.29
ไทยนำเข้าจากฟิลิปปินส์                    1,724.00         1,194.50          44.33
ดุลการค้า                              2,033.30            949.1         114.23

2.1 ปริมาณการค้า

ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ในช่วงเดือนมกราคม - กันยายน 2553 มีมูลค่า 5,481.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.2 จาก 3,338.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2552 โดยเป็นการส่งออก 3,757.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 1,724.0 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในเดือนกันยายน 2553 มีปริมาณการค้ารวม 641.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.1 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2552 ส่วนการส่งออกและนำเข้าเดือนนี้มีมูลค่า 441.4 และ 199.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

2.2 การส่งออก

ในช่วงเดือนมกราคม — กันยายน 2553 ไทยส่งสินค้าออกไปฟิลิปปินส์เป็นมูลค่า 3,757.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.29 จาก 2,143.6 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าสินค้าไทยส่งไปฟิลิปปินส์กับมูลค่าที่ฟิลิปปินส์นำเข้าจากทุกประเทศ คิดเป็นร้อยละ 9.41

สินค้าไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์ที่สำคัญได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่า 781.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 20.8 ของมูลค่าการส่งออกรวมจากไทยไปฟิลิปปินส์) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 67.24 ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ลำดับที่สองคือน้ำมันสำเร็จรูป มีมูลค่าส่งออก 461.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 12.3 ของมูลค่าการส่งออกรวม) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 540.90 สินค้าเกษตรที่สำคัญได้แก่ ข้าวมีมูลค่าส่งออก 234.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 6.2 ของมูลค่าการส่งออกรวม) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 295.79 เนื่องจากผู้ส่งออกไทยสามารถประมูลขายข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังส่งออกน้ำตาลทรายได้เพิ่มขึ้น จาก 30.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 144.0 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 376.31 ทั้งนี้เพราะฟิลิปปินส์ประสบภาวะแห้งแล้ง ผลิตน้ำตาลได้ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค

2.3 การนำเข้า

ในช่วงเดือนมกราคม — กันยายน 2553 ไทยนำเข้าจากฟิลิปปินส์มูลค่า 1,724.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.33 จากระยะเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งนำเข้ามูลค่า 1,194.5 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าสินค้าที่ฟิลิปปินส์ส่งมายังไทยคิดเป็นร้อยละ 4.5 ของมูลค่าส่งออกรวมของฟิลิปปินส์

สินค้านำเข้าจากฟิลิปปินส์ที่สำคัญอันดับแรกคือ แผงวงจรไฟฟ้ามีมูลค่า 314.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 18.2 ของมูลค่านำเข้ารวม) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้ามูลค่า 214.6 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 46.52 ลำดับที่สองได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ นำเข้าเป็นมูลค่า 265.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 15.4 ของมูลค่านำเข้ารวม) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้ามูลค่า 140.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 88.82

2.4 ดุลการค้า

เนื่องจากไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์มากกว่านำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์ ในช่วงเดือนมกราคม — กันยายน 2553 ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้ากับไทยเป็นมูลค่า 2,033.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขาดดุลสูงกว่าระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ขาดดุล 949.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 114.23

3. การคาดการณ์ภาวะการค้า

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2010 อัตราร้อยละ 7.5 และคาดว่าปี 2010 ทั้งปีจะอยู่ที่ร้อยละ 7-7.4 ซึ่งสูงกว่าที่ประเมินไว้ครั้งแรกที่ ร้อยละ 5-6 สำหรับปี 2511 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในอัตราร้อยละ 7-8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากภาคการก่อสร้าง เงินที่ส่งมาจากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ และการบริโภคภายในประเทศ ในภาคการส่งออกแม้ว่าจะมีอุปสรรคทางด้านการกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้า การขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศ และปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ คาดว่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 10 โดยมีสินค้าในกลุ่มอิเล็คโทรนิกส์เป็นหลัก ซึ่งมีการส่งออกประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่าส่งออกรวม ด้านการนำเข้าประมาณการว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 18 ประเทศไทยเป็นแหล่งนำลำดับที่ 8 มีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 7 ของการนำเข้ารวม สำหรับสินค้าไทยที่ยังมีศักยภาพในการส่งออกไปฟิลิปปินส์เป็นอันดับหนึ่งได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 67.24 ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะยังมีความต้องการซื้อเพื่อชดเชยรถยนต์ที่เสียหายจากพายุใต้ฝุ่น สินค้าอื่นที่มีศักยภาพรองลงมา ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และแผงวงจรไฟฟ้า ส่วนสินค้าเกษตรได้แก่ข้าว และน้ำตาลทราย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ