ธุรกิจสปาในเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 1, 2011 10:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์ทั่วไป

ธุรกิจสปาในเวียดนามเป็นผลจากกระแสการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเวียดนาม ส่วนใหญ่จึงจำกัดอยู่ในเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยว เช่น กรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ เว้ ดานัง และญาจาง เป็นต้น และมักตั้งอยู่ในโรงแรมระดับ 4 — 5 ดาว ค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้บริการถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของชาวเวียดนาม ดังนั้น เป้าหมายหลักของกลุ่มลูกค้าจึงเป็นนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกและชาวต่างชาติที่ทำงานในเวียดนาม รวมทั้งนักร้อง นักแสดงและผู้มีรายได้สูงชาวเวียดนาม แต่ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพมากที่สุดเป็นพนักงานที่ทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ และนักธุรกิจที่มีอายุระหว่าง 25 — 40 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใส่ใจด้านความงามมากกว่าสุขภาพ ผู้มีรายได้เดือนละประมาณ 500 เหรียญสหรัฐ มักใช้บริการสปาเดือนละ 1 ครั้ง ส่วนผู้มีรายได้เดือนละประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐขึ้นไป จะใช้บริการสปามากกว่า 1 ครั้ง / เดือน

ผลิตภัณฑ์สปาระดับ premium ที่ได้รับความนิยมมากในเวียดนาม คือแบรนด์ Demalogical ของฝรั่งเศส

รูปแบบการให้บริการ

การให้บริการสปาแก่ผู้มีรายได้ไม่สูงมากนัก มักเป็นการนวดผ่อนคลายปกติ ( body massage ) มีการขัดผิว แว็กซ์ และดูแลผิวหน้า โดยมีค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้บริการประมาณครั้งละ 10 — 40 เหรียญสหรัฐ ธุรกิจส่วนใหญ่เป็นขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเป็นเพียงร้านสปาธรรมดา ขณะนี้มีการแข่งขันอย่างมากในการให้บริการและจัดหาผลิตภัณฑ์สปาใหม่ ๆ บรรดาเจ้าของธุรกิจจึงมักเดินทางไปต่างประเทศเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมและจัดหาวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนผลิตภัณฑ์สปาใหม่ ๆ

ส่วนการให้บริการสปาแก่ผู้มีรายได้สูง มักเป็นแบบ Medical Spa เช่น การรักษาผิว ซาวน่า แช่ จากุซซี่ (jacuzzi) และการนวดบำบัดพิเศษ โดยมีค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้บริการประมาณครั้งละ 50 — 150 เหรียญสหรัฐ ธุรกิจสปารูปแบบนี้ต้องใช้เงินลงทุนสูงในการออกแบบตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม และมักตั้งอยู่ในโรงแรม / รีสอร์ท ระดับ 5 ดาว

ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาที่เวียดนามเริ่มมีสปาปลาบำบัดเท้า (fish massage) โดยเริ่มต้นที่กรุงฮานอย (ร้าน Sakura Spa) และได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว เพราะมีการโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคผิวหนังได้ มีการนำเข้า “ doctor fish ” จากเกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับการขยายตัวธุรกิจสปาบำบัดเท้าซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติในเวียดนาม โดยบริษัทนำเที่ยวหลายแห่งได้นำการให้บริการ สปาปลาบำบัดเท้ารวมอยู่ใน package การท่องเที่ยวด้วย ค่าใช้จ่ายการใช้บริการต่อครั้งประมาณ 20 — 50 เหรียญสหรัฐ

ผู้ประกอบการ

ปัจจุบันในนครโฮจิมินห์มีธุรกิจสปาขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐาน 6 แห่งและมีธุรกิจที่เรียกตัวเองว่าสปาประมาณ 200 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการ upgrade ธุรกิจเสริมความงามหรือร้านตัดผมของตน โดยการเพิ่มบริการนวดตัวและนวดฝ่าเท้าเข้าไป

เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ผู้ประกอบการธุรกิจสปาในนครโฮจิมินห์ได้ร่วมประชุมกันเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจสปาในเวียดนาม สำหรับการจัดทำแผนขออนุญาตจัดตั้งสมาคมสปาแห่งเวียดนามขึ้น

พนักงานนวด

ปัจจุบันยังไม่มีโรงเรียนสอนการนวดหรือการให้บริการสปาที่ถูกต้องตามกฏหมายในเวียดนาม แม้กฏหมายเวียดนามกำหนดให้พนักงานนวดต้องมีใบรับรองของรัฐบาล จึงจะสามารถทำงานได้ แต่ในความเป็นจริงพนักงานนวดที่ทำงานในธุรกิจสปาส่วนใหญ่ไม่มีใบรับรองหรือหากมีก็เป็นใบรับรองที่ได้มาจากการใช้เงินใต้โต๊ะ พนักงานนวดเกือบทั้งหมดเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง หรือจากการสอนต่อ ๆ กัน หรือจากการฝึกอบรมชั่วคราวของบริษัทที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สปา จึงเกิดปัญหาการขาดแคลนพนักงานนวดที่เป็นมืออาชีพ ผู้ประกอบการธุรกิจสปาขนาดใหญ่มักใช้วิธีนำผู้ฝึกสอนต่างชาติเข้ามาฝึกให้พนักงานนวดชาวเวียดนามเป็นระยะเวลาสั้น ๆ โดยไม่มีประกาศนียบัตรรับรอง หลังจากนั้น พนักงานนวดจะสอนต่อกันเอง

2. ปัญหาธุรกิจสปาในเวียดนามปัจจุบัน

บุคลากร — ผู้ประกอบการและพนักงานนวดยังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ/ ทักษะอย่างเป็นระบบ เจ้าของธุรกิจหลายแห่งลอกเลียนการตกแต่งร้านและการบริการแบบสปาญี่ปุ่นหรือไทย แต่ขาดความเข้าใจ ขาดความสามารถ และการเข้าถึงในการให้บริการ ส่งผลให้เกิดการบริการที่ขาดคุณภาพและความประทับใจ

กฎระเบียบ — จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการรวมตัวของผู้ประกอบการเพื่อจัดตั้งสมาคมสปาขึ้นในเวียดนาม รวมทั้งยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐกำกับดูแล ออกกฎระเบียบในการกำหนดรายละเอียด/ขั้นตอนการจัดตั้งและออกใบอนุญาตประกอบการ

3 โอกาสของผู้ประกอบการไทย

การนำผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสปาเข้ามาเจาะตลาดในเวียดนามยังมีโอกาสสูงโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ได้แก่ นครโฮจิมินห์และกรุงฮานอย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจพิจารณา แนวทางการดำเนินการดังนี้

(1) ส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย อาทิ ลูกประคบสมุนไพร น้ำมันนวดตัว/นวดฝ่าเท้า สบู่ ยาสระผมและครีมนวด เพื่อใช้ในธุรกิจสปาขนาดกลางและขนาดใหญ่

(2) ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2553 ที่ยังผลต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้ใช้บริการสปาบางกลุ่มประหยัดค่าใช้จ่ายโดยการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สปากลับไปใช้ที่บ้านและโดยที่ผลิตภัณฑ์สปาของไทยมีภาพลักษณ์เป็นสินค้าคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับและนิยมในเวียดนาม จึงควรหาทางวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อด้วย ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังไม่พบผลิตภัณฑ์เสริมความงามประเภทครีมบำรุงผิวและเส้นผมประเภทสมุนไพรของไทยวางจำหน่ายทั่วไป พบเพียงในธุรกิจสปาขนาดใหญ่ที่เจ้าของกิจการนำเข้าจากไทยโดยตรง

(3) ฝึกทักษะการนวดแผนไทยควบคู่กับการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้กับพนักงานนวดในเวียดนาม เพื่อโอกาสในการรองรับการเปิดธุรกิจสปาไทยอย่างเต็มตัวในอนาคต ทั้งนี้ รูปแบบการนวดที่เป็นที่นิยมในเวียดนาม ได้แก่ การนวดตัวแบบสวีดิชและนวดแผนไทย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเวียดนามยังไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติลงทุนในธุรกิจสปาที่เป็น stand alone ต้องร่วมหุ้นกับชาวเวียดนามและการส่งออกผลิตภัณฑ์สปาไทยมายังเวียดนามยังจำเป็นต้องดำเนินการผ่านผู้นำเข้าและผู้กระจายสินค้าชาวเวียดนาม เท่านั้น

สคร.นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ