รายงานสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยไปอิตาลีเดือนธันวาคม ๒๕๕๓

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 1, 2011 14:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. สถานการณ์ส่งออก

ในช่วง ๑๒ เดือน (มกราคม-ธันวาคม) ของปี ๒๕๕๓ ไทยส่งออกสินค้ามายังอิตาลีทั้งสิ้น ๑,๗๐๘.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๑,๓๑๔.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ ๒๙.๙๕ โดยมีสินค้าส่งออก ๕ อันดับแรก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ๑๗๖.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (๑๓.๓๖%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ๑๖๙.๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (๗๖.๐๘%) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ๑๒๔.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (๑๒๐.๗%) ยางพารา ๑๒๐.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (๑๑๕.๓%) และปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง ๙๙.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (๕.๔๗%)

๒. การวิเคราะห์สถานการณ์โดยรวม

การส่งออกมาอิตาลีในช่วง ๑๒ เดือน (มกราคม-ธันวาคม) ของปี ๒๕๕๓ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๙.๙๕ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน วิเคราะห์ได้ดังนี้

๒.๑ เป็นการเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งประสบวิกฤตเศรษฐกิจ และหากพิจารณาเฉพาะเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ การส่งออกของไทยมาอิตาลีเพิ่มขึ้นไม่มากนักคือ ๔.๗๗% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากเป็นเดือนที่ผู้ประกอบการอิตาลีต้องการขายสินค้าในสต็อกออกไปให้หมดเพื่อเป็นการบริหารจัดการด้านการเงินในช่วงสิ้นปี และจำกัดการสั่งซื้อสินค้าใหม่ซึ่งเป็นวงจรการดำเนินธุรกิจโดยปกติ

๒.๒ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมและคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมในเดือน พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยคือ ๐.๖% และ ๒ % เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะสินค้าเหล็กและเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ และอุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่อิตาลีนำเข้าวัตถุดิบประเภท Semi-finished product จากไทย

๒.๓ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังคงอ่อนแอในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยจะเห็นได้จากยอดจำหน่ายปลีกในเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ ได้ลดลงเท่ากับระดับต่ำที่สุดที่เคยปรากฎเมื่อช่วงกลางปี ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นผลจากผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อปัญหาการว่างงานที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น

๒.๔ ต้นทุนวัตถุดิบในเดือน ตุลาคม ๒๕๕๓ ยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าแฟชั่น (วัตถุดิบส่วนใหญ่ได้แก่ เส้นด้ายและใยสังเคราะห์ และผ้าขนสัตว์) โดยเพิ่มขึ้น ๑๖% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และ ๔๗% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน รวมทั้งวัตถุดิบที่ใช้ในสินค้าเครื่องจักรกล (อลูมิเนียม ทองแดง พลาสติก) และวัตถุดิบเคมีภัณฑ์ (virgin naphtha) ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง ๕% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และ ๒๐-๓๐% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน มีผลทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการอิตาลีเพิ่มสูงขึ้นด้วย

๒.๕ ข้อมูลการนำเข้าของอิตาลีล่าสุดจาก WTA (มกราคม-ตุลาคม ๒๕๕๓) ปรากฎว่าอิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น +๑๖.๒๓% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นจากแทบทุกประเทศ ยกเว้น ไอร์แลนด์ที่อิตาลีนำเข้าลดลงเล็กน้อย (-๓.๕๗%) และประเทศที่อิตาลีนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ อาเซอร์ไบ-จัน (+๕๕.๙๘%) และอิหร่าน (+๑๓๔.๑๒%) ทั้งนี้ จีนยังคงเป็นประเทศที่อิตาลีนำเข้ามากเป็นอันดับที่ ๓ มูลค่านำเข้า ๓๐,๙๑๕.๑๓๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๓๕.๘๓%) โดยมีสินค้าที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เครื่องแต่งกาย (Women และ Knit apparel) เรือ เครื่องหนัง ของเล่นและอุปกรณ์กีฬา และรองเท้า

๓. ทั้งนี้สามารถวิเคราะห์แยกรายสินค้าที่สำคัญ ได้ดังนี้

๓.๑ อัญมณีและเครื่องประดับ

การส่งออกในช่วง ๑๒ เดือน (มกราคม-ธันวาคม) ของปี ๒๕๕๓ มีมูลค่า ๑๗๖.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๑๕๕.๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๓๖ แต่หากพิจารณาเฉพาะเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ ไทยส่งออกมาอิตาลีลดลง -๕๑.๑๙% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจาก

(๑.) ผู้ประกอบการได้มีการสั่งซื้อก่อนหน้าในเดือนพฤศจิกายน เพื่อขายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสแล้ว โดยจะเห็นได้ว่าในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ ไทยส่งออกมาอิตาลีเพิ่มขึ้นถึง ๔๒.๐๙% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

(๒.) ผู้นาเข้าอิตาลีต้องการรอดูสถานการณ์ในช่วงต้นปี ๒๕๕๔ ก่อนที่จะทำการสั่งซื้อเพื่อนามาขาย ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ในเดือนกุมภาพันธ์

(๓.) ราคาวัตถุดิบ คือทองคำเพิ่มสูงขึ้นมีผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น (ราคาทองคำ ณ เดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ๒๕๕๓ เท่ากับ ๑,๔๓๒ เหรียญสหรัฐฯและ ๑,๔๒๐ เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์ ตามลำดับ) และทำให้มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในทางกลับกันก็มีผลกระทบต่อการบริโภคเนื่องจากถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยประกอบกับมีราคาแพงขึ้น

(๔.) สินค้าที่อิตาลีนำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ (สัดส่วน ๕๙% ของการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยทั้งหมด) เป็นเครื่องประดับที่ทำจากพลอย (Precious Jewelry) และพลอย Precious stones (สัดส่วน ๒๖%)

ส่วนการนำเข้าจากประเทศคู่แข่ง เช่น จีน ส่วนใหญ่กว่า ๕๐% เป็นการนำเข้าเครื่องประดับเทียม (Imitations Jewelry), ฮ่องกง เป็นการนำเข้าเครื่องประดับที่ทำจากพลอยเช่นเดียวกับสินค้าที่นำเข้าจากไทย (กว่า ๕๐%) และอินเดีย เป็นการนำเข้าเพชร (๔๗%) และเครื่องประดับที่ทำจากพลอย (๒๖%)

(๕.) จากข้อมูลการนำเข้าของ WTA ช่วง ๑๐ เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) ของปี ๒๕๕๓ ไทยครองตลาดเป็นอันดับ ๑๔ (สัดส่วน ๑.๐๘%) โดยมีประเทศที่อิตาลีนำเข้า ๕ อันดับแรกได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ (สัดส่วน ๒๗.๒๘%) แอฟริกาใต้ (๑๑.๔๕%) ฝรั่งเศส (๙.๔๓%) สหรัฐอเมริกา (๙.๒๖%) และเยอรมัน (๗.๑๒%) ประเทศคู่แข่งสาคัญได้แก่ จีน (อันดับที่ ๘ สัดส่วน ๒.๗๖%) อินเดีย (๑.๐๙%) ฮ่องกง (๐.๙๔%) รัสเซีย (๒.๓๓%)

(๖.) แนวโน้มของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดอิตาลีในปี ๒๕๕๔ ซึ่งได้มีการเผยแพร่ในงาน VICENZA ORO FRIST FAIR ปรากฎว่าเป็นสินค้าที่แสดงถึงแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ การใช้วัสดุเงินมาทำรูปแบบใหม่ในชื่อ “The news gold” การใช้หินสีมาทำเป็นเครื่องประดับที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ และมีรูปแบบเก๋ทันสมัย และง่ายต่อการสวมใส่ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าหนุ่มสาว รวมทั้งเครื่องประดับที่ทำจากเงินสำหรับเด็ก

๓.๒ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ

การส่งออกในช่วง ๑๒ เดือน (มกราคม-ธันวาคม) ของปี ๒๕๕๓ มีมูลค่า ๑๒๔.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๕๖.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ ๑๒๐.๗๐ แต่หากพิจารณาเฉพาะเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ การส่งออกกลับลดลงถึง -๖๗.๕๕% เนื่องจาก

(๑.) ผู้นำเข้าได้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงก่อนหน้าแล้ว โดยในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓ ไทย ส่งออกเพิ่มขึ้นถึง +๑๗๑.๐๒% และพฤศจิกายน ๒๕๕๓ ซึ่งส่งออกเพิ่มขึ้น ๑๘.๖๕% เนื่องจากผู้นำเข้าคาดว่าในเดือนกันยายน ๒๕๕๓ รัฐบาลจะปรับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้ครอบคลุมถึงรถยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมและการเกษตรด้วย (เดิมเมื่อปี ๒๕๕๒ รัฐบาลไม่ได้ออกมาตรการช่วยเหลือ) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พฤศจิกายน-ธันวาคม ๒๕๕๓ ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมและการเกษตรในปี ๒๕๕๓ เพิ่มขึ้น +๖.๒% และคิดเป็นรถยนต์จำนวน ๑๘๖,๗๓๘ คัน

(๒.) อย่างไรก็ดี ในส่วนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ซึ่งเดิมในปี ๒๕๕๒ เคยได้รับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินและหมดอายุลงไปแล้วตลาดกลับชะลอตัว โดยในเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ มียอดจดทะเบียนรถใหม่ลดลง ๒๑.๗% โดยเฉพาะรถขนาดเล็กที่ลดลงถึง -๓๒.๒%

(๓.) สินค้าที่อิตาลีนำเข้าจากไทยส่วนใหญ่คือ ๔๗% ของการนำเข้ารถยนต์ทั้งหมดจากไทยเป็นรถบรรทุก (เครื่องดีเซลและมีขนาดเครื่องยนต์เท่ากับหรือน้อยกว่า ๕ เมตริกตัน), ๒๔.๕% เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (เครื่องดีเซลและขนาดเครื่องยนต์มากกว่า ๑,๕๐๐ ซีซี) และ ๒๔% เป็นชิ้นส่วนรถมอเตอร์ไซค์

ส่วนการนำเข้าจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ ได้แก่ จีน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งรถบรรทุกรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถมอเตอร์ไซค์ ส่วนอินเดียเป็นการนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลและชิ้นส่วน (FIAT เป็น joint venture กับ TATA) สำหรับการนำเข้าจากเกาหลีใต้เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (แบรนด์ฮุนได) และการนำเข้าจากไต้หวันเป็นรถมอเตอร์ไซค์และชิ้นส่วน

(๔.) ในภาพรวมของตลาดรถยนต์ในปี ๒๕๕๓ ค่อนข้างชะลอตัว โดยผู้บริโภคมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อรถใหม่รวมทั้งสิ้นมูลค่า ๓๗.๖ พันล้านยูโร ลดลงจากปีก่อน -๑๐.๓% และมียอดรถที่จดทะเบียนใหม่ดังนี้

  • รถยนต์นั่งโดยสารส่วนบุคคล จำนวน ๑,๙๖๐,๒๘๒ คัน (ลดลงจากปีก่อนหน้า -๙.๒%)
  • รถบรรทุกที่ใช้ในการพาณิชย์ จำนวน ๑๘๖,๗๓๘ คัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน +๖.๒%)

ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งชาติ (National Automotive Industries Association - ANFIA) ได้คาดการณ์ว่าในปี ๒๕๕๔ ตลาดรถยนต์ยังคงมีแนวโน้มอ่อนตัวลง โดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะลดลง -๕.๖% และรถบรรทุกที่ใช้ในการพาณิชย์จะลดลง -๒.๗% เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับกลุ่มนี้

(๕.) ข้อมูลการนำเข้าล่าสุดจาก WTA (มกราคม-ตุลาคม) ของปี ๒๕๕๓ ไทยครองตลาดอันดับที่ ๒๓ (สัดส่วน ๐.๓๓%) โดยประเทศที่อิตาลีนำเข้า ๕ อันดับแรกได้แก่ เยอรมัน (สัดส่วน ๓๕.๖๖%) ฝรั่งเศส (๑๒.๑๒%) สเปน (๙.๙%) โปรแลนด์ (๘.๑๙%) และตุรกี (๔.๖๒%)

ประเทศคู่แข่งสำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น (สัดส่วน ๓.๖๒%) จีน (๒.๑๒%) อินเดีย (๑.๒๓%) เกาหลีใต้ (๑.๑๗%) และไต้หวัน (๐.๘๒%)

๓.๓ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

การส่งออกในช่วง ๑๒ เดือน (มกราคม-ธันวาคม) ของปี ๒๕๕๓ มีมูลค่า ๖๖.๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๖๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ ๒.๖๒ แต่หากพิจารณาเฉพาะเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ ไทยส่งออกลดลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ ๔๒.๒% เนื่องจาก

(๑.) ผู้นำเข้าได้มีการสั่งซื้อสินค้าตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าเพื่อขายในช่วงเทศกาลตริสต์มาสและปีใหม่ และคงมีสินค้าในสต็อกเพียงพอเพื่อจำหน่าย โดยการส่งออกในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึง ๘๓.๒%

(๒.) เป็นสินค้าที่มีอายุการเก็บได้นาน ผู้นำเข้ามักจะนำเข้าในปริมาณมากแต่น้อยครั้งเพื่อเป็นการลดต้นทุนการขนส่ง

(๓.) ในทางการค้าโดยปกติผู้นำเข้าจะพยายามระบายสินค้าในสต็อกให้หมดภายในเดือน ธันวาคม ด้วยเหตุผลด้านการจัดทำบัญชีการเงินประจำปี และจะไม่สั่งซื้อสินค้าเก็บเข้าสต็อก

(๔.) สินค้าหลักที่อิตาลีนำเข้าจากไทย คือ ปลาทูน่ากระป๋อง (๖๘% ของการนำเข้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปทั้งหมดจากไทย) และอื่นๆ (๓๑%) ได้แก่ ปลาซาร์ดิน แองโชวี่ แมคเคอเรล และซูสิมิ หอย และกุ้ง

ส่วนการนำเข้าจากประเทศคู่แข่งอื่นๆได้แก่ จีน ซึ่งอิตาลีนำเข้าเฉพาะปลาทูน่ากระป๋องและแปรรูปชนิดฟิเลต์ ส่วนฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องในน้ามันพืช

(๕.) จากรายงานการสำรวจของ Italian Institute of Agro Alimentary Market Research (ISMEA) สรุปได้ดังนี้

  • ตลาดสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปในอิตาลีมีปริมาณราว ๑๑๗,๐๐๐ ตัน โดยมีปลาทูน่ากระป๋องเป็นสินค้าหลักที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคอิตาเลียนได้ถึง ๙๕% เนื่องจากสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง มีราคาไม่แพง และถือกันว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
  • ในปี ๒๕๕๓ การผลิตอาหารทะเลในอิตาลีมีอัตราการขยายตัวเพียง +๑% ในขณะที่การผลิตอาหารทะเลแปรรูปขยายตัวดีกว่า คือ +๗.๙%
  • การบริโภค ในตลาดอิตาลีแบ่งประเภทของการบริโภคอาหารทะเลได้เป็น อาหารแบบสด ๕๒.๒% แปรรูป ๒๑.๑% แช่แข็งชนิดแพ็ค ๑๔.๓% รมควัน ๗.๓% และแช่แข็งชนิด Bulk ๔.๘%

ทั้งนี้ ในปี ๒๕๕๓ การบริโภคอาหารทะเลอ่อนตัวลง (-๒.๖%) ในขณะที่การบริโภคอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (+๐.๕%) และการบริโภคอาหารทะเลแบบสดลดลง (-๕.๕%) เนื่องจากมีราคาแพงขึ้น (+๔%)

(๖.) ข้อมูลการนำเข้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปของอิตาลีจาก WTA ล่าสุด (มกราคม-ตุลาคม) ของปี ๒๕๕๓ ไทยครองตลาดเป็นอันดับที่ ๔ โดยมีประเทศที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ ๕ อันดับแรก ได้แก่ สเปน (สัดส่วน ๒๓.๒๕%) เยอรมัน (๑๓.๖๙%) เอควาดอร์ (๕.๔๔%) ไทย (๔.๓%) และ เนเธอร์แลนด์ (๔.๑๓%)

ประเทศคู่แข่งสำคัญได้แก่ จีน (๑.๔๑%) และเวียดนาม (๑.๐๗%)

๔. ภาวะเศรษฐกิจอิตาลีในปี ๒๕๕๓

ภาวะเศรษฐกิจอิตาลีในปี ๒๕๕๓ เติบโตได้ค่อนข้างช้า โดยเฉพาะธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนตัวลงในไตรมาสสุดท้าย การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากความอ่อนแอของความสามารถด้านรายได้ และความไม่มั่นใจต่อตลาดการจ้างงาน รวมทั้งมาตรการเข้มงวด ด้านงบประมาณของรัฐบาลทำให้ธนาคารแห่งอิตาลีคาดว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี ๒๕๕๓ จะเท่ากับ +๑%

๕. การคาดการณ์เศรษฐกิจอิตาลี ณ วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๔ (โดยธนาคารแห่งอิตาลี)

                                        ปี ๒๕๕๓           ปี ๒๕๕๔           ปี ๒๕๕๕
          (๑.) GDP                          ๑%            ๐.๙%             ๑.๑%
          (๒.) การบริโภค                   ๐.๗%            ๐.๘%             ๐.๘%
          (๓.) การลงทุน                    ๒.๙%            ๒.๕%             ๒.๔%
          (๔.) การส่งออก                     ๘%              ๖%             ๕.๓%
          (๕.) การนำเข้า                   ๘.๒%            ๕.๑%             ๔.๔%
          (๖.) การจ้างงาน                     -            ๐.๕%             ๐.๕%
          (๗.) ภาวะเงินเฟ้อ                 ๑.๖%            ๒.๑%               ๒%
          (๘.) การว่างงาน*                 ๘.๕%            ๘.๙%             ๘.๙%
  • เป็นข้อมูลจาก CONFINDRUSTRIA

๖. ข้อคิดเห็น

๖.๑ คาดว่าไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๔ การส่งออกของไทยมาอิตาลีจะชะลอตัวเล็กน้อยเนื่องจากเศรษฐกิจอิตาลีในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ๒๕๕๓ ยังคงฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้าและต่อเนื่อง ผู้บริโภคยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวังเนื่องจากความสามารถในด้านรายได้ที่ลดลงและความไม่มั่นใจในตลาดแรงงาน

๖.๒ อย่างไรก็ดี เมื่อกลางเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ รัฐบาลอิตาลีได้ออกกฎหมาย The Stability Laws (สำหรับปี ๒๕๕๔-๒๕๕๖) วงเงิน ๕.๗ พันล้านยูโร (สำหรับปี ๒๕๕๔) และ ๑ พันล้านยูโร (สาหรับปี ๒๕๕๕-๒๕๕๖) ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านการคลังและเศรษฐกิจ เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านค่าประกันสังคมแก่ผู้ประกอบการเพื่อมิให้มีการเลิกจ้างงาน การขยายเวลาการไม่เก็บภาษีสาหรับเงินโบนัสจากการทำงาน (ทั้งภาคผู้ประกอบการและภาคครัวเรือน) การปฏิรูปและให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย การสนับสนุนด้านการวิจัยเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

๖.๓ นอกจากนี้ รัฐบาลอิตาลีได้ขยายระยะเวลาของมาตรการ In House Plan วงเงิน ๒,๐๐๐ ล้านยูโร (ออกตั้งแต่ปี ๒๕๕๒) ซึ่งเป็นมาตรการการให้เงินช่วยเหลือสำหรับการปรับปรุงที่พักอาศัย (Green House environment) และการซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ (Cleaner Motorbike) การปรับปรุงระบบการขนส่งและยานยนต์เพื่อการก่อสร้าง และเครื่องจักรออกไปอีกจนถึงปี ๒๕๕๕

๖.๔ คาดว่ามาตรการของรัฐบาลอิตาลีดังกล่าว จะส่งผลกระทบในทางบวกต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการว่างงานที่ยังคงมีต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการภายในประเทศมีการขยายตัวมากขึ้น และคาดว่าจะทำให้การส่งออกของไทยมาอิตาลีเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้คือ +๑๑% (มูลค่าการส่งออก ๑,๗๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

๖.๕ สินค้าที่คาดว่ายังคงมีแนวโน้มที่ดี ได้แก่ เสื่อผ้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถจักรยานยนต์ พลาสติก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ