สถานการณ์เศรษฐกิจของไอร์แลนด์
1) ไอร์แลนด์ยังคงประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ทั้งจากปัญหาจากสถาบันการเงินซึ่งรัฐบาลต้องใช้เงินเข้าอุดหนุนภาคธนาคารจนมีหนี้สาธารณะสูงถึงร้อยละ 66.5 ของ GDP ประกอบกับปัญหาฟองสบู่แตกของภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ไอร์แลนด์ต้องเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2554 และยังส่งผลด้านการเมืองโดยรัฐบาลซึ่งนำโดยนาย Brian Cowen นายกรัฐมนตรี จากพรรค Fianna Fail party ถูกกดดันให้เลื่อนการเลือกตั้งทั่วประเทศให้เร็วขึ้นเป็นในเดือนกุมภาพันธ์ 2554
2) จากตัวเลขทางเศรษฐกิจล่าสุด ในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2553 ไอร์แลนด์มีอัตราการเจริญทางเศรษฐกิจติดลบต่อเนื่องโดยมีอัตราลดลงร้อยละ 0.7 เมื่อเที่ยบกับปี 2552 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สอง โดยภาคก่อสร้างยังคงมีอัตราลดลงถึงร้อยละ 8.2 ขณะที่ภาคบริการซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญของไอร์แลนด์ยังคงมีอัตราลดลงในทุกหมวดบริการ
3) จากข้อมูลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้านบน อัตราการว่างงานของไอร์แลนด์ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีอัตราร้อยละ 13.9 ในไตรมาสที่สามของปี 2553 ขณะที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดว่าหนี้ภาครัฐของไอร์แลนด์มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นจากร้อยละ 65.5 ในปี 2552 เป็นมากกว่าร้อยละ 100 ของ GDP ในปี 2553
4) สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจไอร์แลนด์ยังมีความเสี่ยงที่จะลุกลามไปยังประเทศ กรีซ โปรตุเกสและสเปน และยังจะส่งผลกระทบต่อประเทศที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาลไอร์แลนด์ ได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี สหรัฐฯ และฝรั่งเศส และคาดว่าสภาพเศรษฐกิจของไอร์แลนด์ในปี 2554 ซึ่งเพิ่งจะเข้ารับความช่วยเหลือจาก IMF ยังคงตกอยู่ในภาวะถดถอยต่อไปอย่างน้อยจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
สถานการณ์การค้าไทย-ไอร์แลนด์
- นับจากวิกฤตเศรษฐกิจในไอร์แลนด์ การค้าสองฝ่ายไทย — ไอร์แลนด์มีมูลค่าลดลงอย่างรุนแรง ในปี 2552 มูลค่าการค้าลดลงถึงร้อยละ 36.8 จากมูลค่า 790 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2551 เหลือเพียง 498 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2552 ขณะที่มูลค่าการค้าสองฝ่ายในปี 2553 เริ่มปรับตัวกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 มูลค่า 518.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- การส่งออกของไทยไปยังไอร์แลนด์ลดลงร้อยละ 9.6 ในปี 2553 จากมูลค่า 290.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2552 ลดลงเป็น 262 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2553
- มูลค่าการนำเข้าจากไทยกลับขยายตัวร้อยละ 22.7 ในปี 2553 คิดเป็นมูลค่า 255 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าหลักที่นำเข้าได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรกล และเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ
ผลกระทบต่อการค้าสินค้าและบริการของไทย
- สินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังไอร์แลนด์ประกอบด้วยกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ วงจรพิมพ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งต่างได้รับปัญหาเศรษฐกิจของไอร์แลนด์
- นอกจากนี้ สินค้าอาหารประกอบด้วย ไก่แปรรูป ข้าว สิ่งปรุงรสอาหาร ผลไม้กระป๋อง ตลอดจน เสื้อผ้าสาเร็จรูป และอัญมณีและเครื่องประดับ ยังคงเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังไอร์แลนด์ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจน้อยกว่าในกลุ่มอุตสาหกรรม
- สินค้าและบริการไทยที่ได้รับความนิยม ได้แก่ อาหารไทยและร้านอาหารไทย ทั้งในหมู่ชาวไอร์แลนด์ และกลุ่มแรงงานอพยพจากต่างชาติที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจากจีนและฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ดี โดยที่สินค้าอาหารจำเป็นต่อการดารงชีวิต จึงน่าที่ผู้บริโภคจะยังคงความต้องการบริโภค เนื่องจากสินค้าอาหารของไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีทั้งด้านคุณภาพและราคา เมื่อเทียบกับสินค้าจากจีนหรืออินเดีย จึงได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจบ้างแต่ไม่รุนแรงนัก
- ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมลำดับต้นๆ ของสาธารณรัฐไอร์แลนด์ โดยแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนไทยประมาณ 70,000 คนจากประชากร 4 ล้านคน ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศย่อมส่งผลให้ชาวไอร์แลนด์ลดการเดินทางท่องเที่ยวในระยะไกลลง ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไอริชเดินทางไปยังประเทศไทยน่าจะลดลงในปี 2554
ที่มา: http://www.depthai.go.th