ธุรกิจสปาในประเทศญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 2, 2011 17:20 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้อมูลภาพรวมของธุรกิจสปาในประเทศญี่ปุ่น

ธุรกิจสปาในประเทศญี่ปุ่นเริ่มต้นเมื่อประมาณปี 2544 โดยเริ่มจากโรงแรมระดับห้าดาว ซึ่งมีกลุ่มลูกค้า เป็นชาวต่างชาติและชาวญี่ปุ่นที่เคยได้รับการบริการด้านสปาจากการเดินทางไปต่างประเทศ ทั้งนี้ในอดีต วัฒนธรรมการนวดสำหรับญี่ปุ่นมีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาโรค ไม่ใช่เพื่อการผ่อนคลายหรือเสริมความงาม เมื่อสปาเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมมากขึ้น มีการนำเอาสปามาเป็นบริการเสริมตามแหล่งอาบน้ำแร่ร้อน (onsen) ซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับการผ่อนคลายของชาวญี่ปุ่น และสถานเสริมความงามซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นบริการที่เป็น esthetic salon และ facial treatment/whitening สำหรับสุภาพสตรี ทำให้ธุรกิจสปาเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น

ธุรกิจสปาในญี่ปุ่นมีอัตราการเติบโตสูงมาก โดยในช่วงปี 2546-2550 มีธุรกิจสปาเปิดบริการเพิ่มขึ้นจาก 116 แห่ง เป็น 300 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าตัว ธุรกิจสปาในญี่ปุ่นมีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านเยน โดยคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจสปาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านล้านเยน

กลุ่มลูกค้า ธุรกิจสปาในใจกลางเมืองจะมีผู้หญิงใช้บริการมากกว่าผู้ชาย ในขณะที่สปาตามแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวจะมีสัดส่วนของผู้ใช้บริการเป็นผู้ชายและผู้หญิงใกล้เคียงกัน แตกต่างกันที่ประเภทของบริการที่เลือกใช้โดยผู้หญิงญี่ปุ่นนิยมใช้บริการสปาเพื่อเสริมความงามเป็นหลัก ขณะที่ผู้ชายญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้บริการสปาเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทำงานอายุ 30-40 ปี ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าที่น่าสนใจ และมีแนวโน้มเข้ามาใช้บริการสปาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสปาเพื่อการพักผ่อนและเพื่อรักษาสุขภาพ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากประชากรในยุค Baby Boom ในช่วงปี 2490-2492 เริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ

ผู้ประกอบการ มีทั้งชาวญี่ปุ่น และผู้ประกอบการต่างชาติซึ่งนอกจากชาวตะวันตกแล้วยังมีชาวเอเชีย โดยเฉพาะสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต่างชาตินิยมลงทุนประกอบธุรกิจสปาในโรงแรม ขณะที่ผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดใหญ่มักลงทุนทั้งสปาในโรงแรม และสปานอกโรงแรมที่มีสาขาตั้งอยู่ในเมืองต่าง ๆ สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจบ่อน้ำแร่ร้อนและนำบริการด้านสปามาเสริม ทุนข้ามชาติได้เข้าไปลงทุนธุรกิจโรงแรมระดับอินเตอร์ในญี่ปุ่นจำนวนมาก เช่น แกรนด์ไฮแอท โฮเทล, คอนราด ฮิลตัล, แมนดาริน โอเรียนทอล, E'SPA เพนนินซูล่า โฮเทล, แชง กรี-ลา โฮเทล ทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เน้นสปารูปแบบใจกลางเมืองในโตเกียว ส่วนสปาที่เข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมสปาโดยเฉพาะ อาทิเช่น บลูม สปา ใน วินเซอร์ โฮเทล โทยา รีสอร์ท แอนด์ สปา หรือ บันยัน ทรี สปา โฟนิกส์ แอนด์ โฮเทล ซีเกีย รีสอร์ท

นอกจากนี้ ธุรกิจสปาของต่างชาติมักจะเลือกทำเลที่ตั้งตามแหล่งท่องเที่ยว ในลักษณะ "สปา รีสอร์ท" เฉพาะที่เมืองโอกินาวาเมืองเดียว ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีโรงแรมเพิ่มขึ้นจาก 2,000-3,000 ห้อง เพิ่ม 5,000 ห้อง

ขณะที่เมืองเกียวโต โอซากา และ โตเกียว จัดเป็นสปาใจกลางเมือง จะเป็นกลุ่มทุนญี่ปุ่นที่เข้าไปจับจองพื้นที่ผุดโรงแรมและบ่อน้ำพุร้อนไว้ก่อนหน้านี้แล้วจำนวนสถานบริการสปาที่พบได้มากในญี่ปุ่น ได้แก่

1. Day spa ในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ คิดเป็นประมาณ 20.3 เปอร์เซ็นต์ของสถานบริการสปาทั้งหมด

2. Onsen Ryokan (Hot spring inns) คิดเป็นประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์ของสถานบริการสปาทั้งหมด

3. Resort/Hotel Spa คิดเป็นประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ของสถานบริการสปาทั้งหมด

ในขณะที่ยอดขายบริการสปาใน Resort Hotels และ Onsen Ryokan ครอบคลุม 22 และ 42.6 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายบริการสปาทั้งหมดในปี 2551 โดยสปาใน Resort/Hotel เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในระหว่างปี 2549-2551 โดยสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่จาก Fitness Club และ Super Sento (สถานบริการอาบน้ำ) มาได้

ประเภทของบริการสปาที่พบได้บ่อยในญี่ปุ่น คือ facial treatment, aroma therapy, reflexology อัตราค่าใช้บริการเฉลี่ยที่คนญี่ปุ่นจ่ายเพื่อรับบริการสปาใน Resort/Hotel, Onsen Ryokan และ City Hotel สูงกว่า 12,000 เยน ในขณะที่อัตราเฉลี่ยที่จ่ายเพื่อรับบริการสปาใน Super Sento (สถานบริการอ่างอาบน้ำแบบญี่ปุ่น) และศูนย์การค้า มีราคาต่ำกว่า 5,000 เยน ในขณะที่ Luxury Spa อัตราค่าบริการจะเริ่มที่ 60,000 เยนขึ้นไป

ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม

ญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตและเป็นเจ้าของแบรนด์ดังในระดับสากลหลายแบรนด์ ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เป็นตลาดที่ผู้ซื้อต้องการความหลากหลายและเปิดรับสินค้าแบรนด์ต่างๆ จากทั่วโลก โดยเป็นตลาดที่มาตรฐานสูงและมีการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งเรื่องคุณภาพของสินค้า จุดขายและบรรจุภัณฑ์ญี่ปุ่นนำเข้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการนำเข้าในปี 2553 (F) ประมาณ 2,950 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่าการนำเข้าในปี 2550 ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2550 เป็น 17.4 เปอร์เซ็นต์

ในปี 2553 ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าจากไทยมากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการดูแลเส้นผม โดยผลิตภัณฑ์ของไทยมีสัดส่วนสูงถึง 73 เปอร์เซ็นต์ของการนำเข้าทั้งหมด รองลงมาเป็นสบู่และผลิตภัณฑ์อาบน้ำ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์สปาแบรนด์ไทยที่จำหน่ายอยู่ในญี่ปุ่น เช่น Pranpuri, Thann, Harnn และอภัยภูเบศร์

โอกาสและช่องทางของธุรกิจสปาและผลิตภัณฑ์สปาของไทย

ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนประกอบธุรกิจสปา เพราะนอกจากจะมีประชากรจำนวนมากที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มความนิยมในการใช้บริการสปาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อรักษาสุขภาพ เสริมความงาม และเพื่อการพักผ่อนแล้ว ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวประเทศหนึ่งในโลกตลาดของธุรกิจสปาจึงไม่จำกัดเฉพาะคนญี่ปุ่นแต่รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มีปริมาณมากถึง 8.6 ล้านคน/ปี (2553) นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้มีการลงทุนประกอบธุรกิจสปาเพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว จากปัจจัยสนับสนุนดังกล่าว ประกอบกับชื่อเสียงของธุรกิจสปาไทยเป็นที่รู้จักในญี่ปุ่น ด้วยจุดเด่นและเอกลักษณ์ โดยมีจุดแข็ง คือ ความเอื้อเฟื้อและอัธยาศัยไมตรี (hospitality) ของผู้ให้บริการ การใช้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรธรรมชาติซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายและสามารถตอบสนองอุปนิสัยของชาวญี่ปุ่นที่ตื่นตัวและระมัดระวัง ในเรื่องของสุขภาพค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการนวดของไทยที่มีขื่อเสียงด้าน “ศาสตร์แห่งการนวดแบบดั้งเดิม” (Original) ซึ่งชาวญี่ปุ่นที่เคยสัมผัสต่างชื่นชมในวัฒนธรรมและวิวัฒนาการของการนวดแผนโบราณของไทยที่สืบทอดมายาวนาน การนวดแบบดั้งเดิมผสมผสานกับการใช้สมุนไพร ทำให้การนวดของไทยนอกจากจะช่วยผ่อนคลายแล้วยังเป็นศาสตร์บำบัดเพื่อป้องกันและรักษาโรคได้อีกด้วย ซึ่งเป็นจุดแข็งที่เหนือกว่าประเทศอื่นๆ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจสปาไทยในการลงทุนประกอบธุรกิจสปาในญี่ปุ่น

จากการศึกษาของบริษัท Mitsui Knowledge Industry พบว่ายังไม่มีโรงแรมขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นให้บริการสปาแบรนด์ไทย ในขณะที่นอกจากแบรนด์ของตะวันตกแล้ว ยังมีแบรนด์ของประเทศในเอเชียในญี่ปุ่นเช่น Banyan Tree ของสิงคโปร์ Mandara Spa ของอินโดนีเซีย และ Chi Spa Shangri-la ของฮ่องกง โดยเจาะตลาดของกลุ่มผู้นิยมหรือต้องการทดลอง Asian Taste ทั้งๆ ที่บริการสปาของไทยมีภาพลักษณ์ระดับห้าดาวในสายตาของต่างชาติ นับเป็นโอกาสที่จะเสนอบริการโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายในระดับ High end โดยอาจอาศัยการเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากต่างชาติของแบรนด์ที่มีชื่อเสียงของไทย เช่น Jim Thompson หรือ ดุสิตธานี โดยร่วมมือกันเพื่อเปิดธุรกิจสปาแบบไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังอาจอาศัยกระแสของการเกิด ‘‘Designer’ ryokan’ หรือสถานที่พักแรมสไตล์ญี่ปุ่น (ryokan) ที่มีการปรับรูปโฉมใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน Ryokan ญี่ปุ่นต้องปรับตัวมากขึ้นตามความต้องการของลูกค้าจากเดิมที่มักมีเพียงบริการ onsen (แช่น้ำพุร้อน) มาเป็นการผสมผสานด้วยการนวดบำบัดเพื่อแข่งขันกับ Spa resort ของต่างชาติที่เข้ามาจับจองพื้นที่ตามแหล่งท่องเที่ยว เช่น โอกินาวา และตามใจกลางเมืองอย่างโตเกียว โอซากา และเกียวโต การร่วมมือกับ Ryokan จึงน่าจะเป็นโอกาสในการจับตลาดระดับกลางซึ่งมีขนาดใหญ่มากขึ้น ด้วยภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปัจจุบัน โดยรูปแบบการลงทุนอาจเป็นแบบร่วมทุน การขาย Knowhow หรือ license Knowhow

อีกทางเลือกหนึ่ง หากไม่สามารถเข้าไปตั้งธุรกิจสปาได้ นักลงทุนไทยอาจจะเข้าไปเป็นผู้วางระบบในการบริหารจัดการ เช่น เปิดโรงเรียนอบรมนวดแผนไทย หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สปา เช่น สมุนไพร โดยก่อนหน้านี้มีบริษัทไทยชื่อ Harnn และ Thann เข้าไปเริ่มต้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จนได้รับความนิยม จากนั้นจึงค่อยร่วมทุนธุรกิจสปาในภายหลัง เช่นเดียวกับโมเดลธุรกิจของ E' Spa จากประเทศอังกฤษ ที่เริ่มต้นเข้าไปเป็นที่ปรึกษากำหนดโมเดลธุรกิจสปาในญี่ปุ่นอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวางคอนเซปต์โรงแรม ออกแบบ พ่วงท้ายด้วยการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งถือว่าเป็นอีกรายหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ เช่นกัน

ปัญหาและอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด พร้อมข้อเสนอแนะ

1. ญี่ปุ่นไม่ยอมเปิดตลาดพนักงานนวดและสปา โดยอ้างว่าเป็นการคุ้มครองอาชีพของคนตาบอดนับเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งในการขยายตัวของธุรกิจสปาไทย ซึ่ง Therapist มีความสำคัญเป็นอย่างมาก รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักดีว่าบริการเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตและสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก และยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ท้องถิ่นได้ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) จึงตั้งงบประมาณศึกษาวิจัยด้านมาตรฐานแรงงาน spa therapist เพื่อใช้ในการวางมาตรฐานของตนเองก่อนเปิดตลาดให้ชาวต่างชาติ ทั้งนี้คาดว่าญี่ปุ่นจะกำหนดมาตรฐานที่ค่อนข้างสูง โดยอาจกำหนดให้ต้องได้รับ National Qualification ในลักษณะเดียวกับการเปิดให้พยาบาลและผู้ดูแลผู้สูงอายุชาวฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเข้าประเทศ

ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางรายที่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดแคลนบุคลากรผู้ให้บริการธุรกิจสปา ซึ่งมีกฎระเบียบที่เข้มงวด ระบุไว้ในกฎหมายว่าผู้ให้บริการนวดจะต้องผ่านการอบรมการนวด ตามที่กฎหมายญี่ปุ่นกำหนดไม่ต่ำกว่า 100 ชั่วโมง ขณะเดียวกันโรงแรมต่างชาติที่เข้าไปดำเนินธุรกิจจำนวนมาก ทำให้ผลิตบุคลากรไม่ทันกับความต้องการรัฐบาลควรผลักดันให้ญี่ปุ่นเปิดตลาด therapist ซึ่งหากทำได้นอกจากจะเป็นการสร้างอาชีพให้กับคนไทยแล้วยังทำให้ธุรกิจสปาไทยในญี่ปุ่นสามารถดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมายและมีโอกาสในการเติบโตสูงมากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้เกิดการหารือด้านความร่วมมือในการวางมาตรฐานแรงงานด้าน therapist เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกันซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนย้ายบุคลากรระหว่างกัน

2. กฎระเบียบที่ซับซ้อนและภาษาเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจในญี่ปุ่น ผู้ประกอบการควรหาผู้ร่วมทุนชาวญี่ปุ่นเพื่อช่วยทำการตลาดและทราบถึงแนวโน้มความนิยมของลูกค้า สำหรับการโปรโมทสปาไทย ควรโปรโมทผ่านนิตยสารสำหรับผู้หญิง ซึ่งจะมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการตัดสินใจของคนในญี่ปุ่นโดยเฉพาะผู้หญิง

3. มาตรฐานของสินค้าไทย ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ การควบคุมคุณภาพ และแพ็คเกจ เป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งที่ทำให้สินค้าไทยยังไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าญี่ปุ่น หรือสินค้าจากตะวันตกซึ่งเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นได้ การควบคุมคุณภาพ มาตรฐานและการพัฒนาแบรนด์ของสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น

กฎระเบียบ/ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง

1. กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการสปา ได้แก่ A-HA-KI Law, Pharmaceutical Affairs Law,Japanese Inn Business Law, Public Bath Law

2. กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์สปา

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

1. Nippon Spa Association (NSPA)

Head Office: 8F, Shuwa-Okachimachi bldg. 4-27-5, Taitou, Thatou-ku, Tokyo 110-0016, Japan

Tel: +81 -3-3831-2624 Fax: -81-3-5807-3019

E-mail: center@n-spa.org

2. The Federation for Japan Spa Association (JSPA)

3F, Hitsujiya bldg. 3-3-2, Kami-Meguro, Meguro-ku, Tokyo 153-0051, Japan

Tel: +81 —(0)3-5724-6649 Fax: +81 —(0)3-3716-4936

http://www.j-spa.jp/

แหล่งข้อมูล :

1. “The Guidelines on the Strategic Advice for Thai Enterprises Interested in Entering the Japanese Spa Market”, Mitsui Knowledge Industry Co.,Ltd., 14 October 2009

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ