รายละเอียดกฏระเบียบข้อบังคับใหม่ด้านสารตะกั่ว
เมื่อปลายปี 2553 ที่ผ่านมา รัฐบาลกลางของแคนาดา โดย นาย Leona Aglukkaq รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศเริ่มการใช้มาตรการเกี่ยวกับปริมาณสารตะกั่วที่ใช้ในของเล่นเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ที่เด็กอาจนำเข้าปากได้ที่เข้มงวดที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับนานาประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้การผลิตสินค้าดังกล่าวหลีกเลี่ยง/งดการใช้สารตะกั่วอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยกฏระเบียบใหม่นี้ได้จำกัดปริมาณสารตะกั่วในของเล่นสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปีให้มีปริมาณไม่เกินอัตราร้อยละ 0.009 ลดลงจากเดิมที่กำหนดปริมาณตะกั่วไว้ที่อัตราร้อยละ 0.06 โดยนอกจากจะบังคับใช้สำหรับของเล่นเด็กเล็กแล้ว กฏระเบียบนี้ยังมีผลบังคับใช้รวมไปถึง เครื่องใช้ในครัว ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่สามารถสัมผัสกับปาก เช่น หลอดจุกนม ผ้ากันเปื้อนเด็ก หลอดดูด พ่นสำหรับป้อนอาหารเด็ก ด้วย
นอกจากนั้น กระทรวงสาธารณสุขแคนาดายังได้แก้ไขเพิ่มเติมในกฏระเบียบรวมถึงในส่วนของสีที่ใช้ทาและเคลือบผิวตัวผลิตภัณฑ์บางชนิดด้วย โดยกำหนดให้มีค่าสารตะกั่วโดยรวมน้อยลงไปอีก โดยคาดว่ากฏ ระเบียบใหม่นี้จะช่วยขจัดปัญหาการใช้สารตะกั่วในสีทา/เคลือบที่ใช้โดยทั่วไปในสินค้าผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเล็ก ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็ก ของเล่น อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์สำหรับเล่นและวัสดุเพื่อการเรียนรู้ต่างๆสำหรับเด็ก ซึ่งมีสารเคลือบผิวเคลือบอยู่ด้วย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เปรียบเทียบกฏระเบียบข้อบังคับด้านสารตะกั่วของแคนาดากับประเทศอื่นๆ
กฏระเบียบใหม่นี้เข้มงวดมากที่สุดในโลก เพราะในสหรัฐอเมริกาเองนั้นกำหนดปริมาณสารตะกั่วไว้เพียงไม่เกินร้อยละ 0.03 สำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับเด็กอายุ12 ปีหรือต่ำกว่า และกำลังจะลดลงเหลือร้อยละ 0.01 ในเดือนสิงหาคม 2554 นี้ ในขณะที่กฏหมายควบคุมของประเทศอื่นๆ อาทิ ออสเตรเลีย จำกัดปริมาณสารตะกั่วไว้ไม่เกินร้อยละ 0.009 ของสารตะกั่วที่หลุดลอกได้ แต่สาธารณสุขแคนาดาเลือกที่จะกำหนดปริมาณสารตะกั่วทั้งหมดในตัวผลิตภัณฑ์เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าเป็นสินค้าทั่วไปที่จำเป็นต้องใช้เป็นประจำ ซึ่งมีการสึกหรอได้ง่าย ทั้งนี้ รวมถึงสินค้าดังกล่าวข้างต้นที่ถูกควบคุมเพื่อมิให้เป็นอันตรายต่อเด็กเมื่อสัมผัสทางปากด้วย
ผลกระทบต่อสุขภาพจากสารตะกั่ว
ถึงแม้ว่าการเล่นของเล่นที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่การได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยการอมของเล่นก็ดี หรือกลืนชิ้นส่วนเข้าไปก็ดี ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณน้อยนิดก็ตามที อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสมองได้ และเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำลายสมองถ้าหากได้รับการสะสมเป็นระยะเวลายาวนาน กฏระเบียบใหม่นี้จะช่วยให้รัฐบาลมีอำนาจทางกฏหมายในการป้องกันสินค้านำเข้าและสินค้าที่วางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป มิให้มีปริมาณสารตะกั่วเกินอัตราที่กำหนดไว้คือ ร้อยละ 0.009
ข้อคิดเห็น/ เสนอแนะ
1. แคนาดามีมาตรฐานคุณภาพสินค้าที่สูงเพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดและความปลอดภัยของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการบังคับใช้กฏ ระเบียบ ที่เข้มงวด แต่ในทางปฏิบัติ ก็ยังไม่สามารถควบคุมให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ทั้งหมด เนื่องจาก ในการตรวจสอบของกระทรวงสาธารณสุขแคนาดา ยังคงพบว่ามีผลิตภัณฑ์เด็กซึ่งจำหน่ายในตลาดแคนาดา ที่มีปริมาณสารตะกั่วสูงกว่าปริมาณกำหนด และการใช้สารทดแทนชนิดอื่น ก็อาจมีอันตรายเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากกรณีตัวอย่างดังต่อไปนี้
- เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา แคนาดาได้ออกกฏ ระเบียบ ควบคุมปริมาณสารตะกั่วในสินค้าเครื่องประดับสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า15ปี ซึ่งกำหนดไม่ให้เกินร้อยละ 0.06 และได้บังคับใช้อย่างเข้มงวด ด้วยจุดประสงค์ให้ผู้ผลิตจากต่างประเทศเลิกใช้วัตถุดิบที่เป็นอันตรายดังกล่าวในการผลิตสร้อยคอ ต่างหู เครื่องประดับอัญมณีเพื่อการส่งออกไปยังแคนาดา อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประกาศใช้กฏ
ระเบียบดังกล่าว ผลจากการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องของกระทรวงสาธารณสุขในผลิตภัณฑ์ภายใต้ข้อบังคับฯ ในร้านขายปลีกที่มีชื่อเสียงต่างๆ ของแคนาดา เช่น Garage (ซึ่งเรียกคืนจิวเวลรี่ไปสองชนิดเมื่อปีที่ผ่านมาปรากฏว่าพบค่าปนเปื้อนสารตะกั่วที่สูงถึงร้อยละ 87 และ 90) ยังคงพบสารปนเปื้อนดังกล่าวอยู่ในปริมาณที่เกินกำหนด
- นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 กระทรวงสาธารณสุขแคนาดาเริ่มสังเกตุเห็นการใช้สารแคดเมียมแทนสารตะกั่วในเครื่องประดับอัญมณีสำหรับเด็ก ซึ่งหากใช้แคดเมียมในปริมาณที่สูงถึงร้อยละ 93 จะมีอันตรายมากกว่าสารตะกั่ว แต่ในปัจจุบันแคนาดายังไม่มีกฏหมายควบคุมปริมาณการใช้สารแคดเมียมในเครื่องประดับอัญมณีสำหรับเด็กและของเล่น อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการดำเนินการทดสอบเพื่อศึกษาและวางมาตรการที่เหมาะสมสำหรับการออกกฏระเบียบ ข้อบังคับในการใช้สารแคดเมียมในผลิตภัณฑ์เด็ก(หากจำเป็น) โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่ใน Postmedia News เกี่ยวกับผลการศึกษาการทดสอบการใช้สารแคดเมี่ยมฯ ระหว่าง ปี พ.ศ. 2552-2553 ภายใต้หัวข้อ “ข้อมูลข่าวสารการออกบัญญัติกฏหมาย ( access-to-information legislation)”
2. ผู้ผลิตสินค้าเครื่องประดับ ของเล่นเด็ก และผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเด็ก ที่ประสงค์จะขยายตลาดส่งออกไปยังแคนาดา ต้องระมัดระวังในการใช้สารอันตรายดังกล่าว แม้จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นการปฏิบัติที่บังคับใช้กับผู้ส่งออกของทุกประเทศโดยไม่เลือกปฏิบัติ และผู้บริโภคแคนาดาส่วนใหญ่ของแคนาดาให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพ มาตรฐานสินค้า และความปลอดภัยในการบริโภค โดยได้มีการเผยแพร่เกี่ยวกับกฏ ระเบียบ และสินค้าที่ต้องเรียกคืน อยู่เสมอ ซึ่งการใช้สารที่เป็นอันตรายอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย Hazardous Products Act รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถศึกษาได้จากเว็ปไซต์ Hazardous Products Act http://laws.justice.gc.ca/en/H-3/ ซึ่งแนวโนัมอาจมีการเพิ่มประเภทสารอันตราย ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเล็กเพิ่มขึ้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์
ที่มา: http://www.depthai.go.th