สรุปภาวะตลาดสินค้าอาหารไทยในเยอรมนี เดือนมกราคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 3, 2011 14:49 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อุตสาหกรรมอาหารในประเทศ

ตามตัวเลขเบื้องต้นของสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี ในปี 2553 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 และคาดว่าตลอดปี 2554 นี้ยังจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกร้อยละ 2 — 2.5 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ 1.1 สำหรับอุตสาหกรรมอาหารยอดค้าปลีกเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 149,500 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ร้อยละ 1.2

เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2553 ต้นเดือนมกราคมปี 2554 ในตลาดเยอรมนีมีการตรวจพบสารไดออกซินปนเปื้อนในไข่ไก่ เนื้อไก่ และในเนื้อหมู เกิดจากโรงงานแห่งหนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตไขมันจากน้ำมันเครื่องเพื่อเป็นไขมันใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง โรงงานนี้อยู่ทางตอนเหนือของเยอรมนีได้ส่งไขมันที่มีสารไดออกซินปนเปื้อนไปยังโรงงานผลิตอาหารสัตว์เพื่อผลิตเป็นอาหารเลี้ยงไก่และหมูต่อไป ทำให้เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมนี้ พบว่า ไก่และไข่ไก่ มีการปนเปื้อนจากสารตัวนี้สูงมาก มีการสั่งปิดฟาร์มไก่และฆ่าไก่นับหมื่นตัว ในช่วงเวลาต่อมาก็ได้ พบสารนี้ในเนื้อหมูอีกในอัตราสูงกว่าปกติกว่า 50 เท่า ฟาร์มหมูกว่า 900 แห่งจึงถูกสั่งปิดเพื่อตรวจสอบ และพบว่าฟาร์มส่วนใหญ่ไม่มีการปนเปื้อนใดๆ การสั่งปิดฟาร์มไก่ ฟาร์มหมูระยะหนึ่งนี้ทำให้ตลาดสินค้าที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะไข่ไก่ หยุดชะงักลง ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าจากฟาร์มเกษตรอินทรีย์แทน ในขณะที่รัฐบาลเยอรมันปรึกษาหารือกันเพื่อปรับปรุงแก้ไข เพิ่มการควบคุมการผลิตสินค้าให้รัดกุมยิ่งขึ้น

สินค้าส่งออกของไทย

ในช่วงฤดูหนาวสินค้าประเภทผักผลไม้สดยังคงมีวางจำหน่ายในตลาดมากเพียงพอกับความต้องการ แต่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากประมาณร้อยละ 6 และ 5 ตามลำดับ เป็นสินค้าที่นำเข้าจากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะจากประเทศในอัฟริกา และตะวันออกกลาง ที่มีสินค้าคล้ายคลึงกับของไทย โดยเฉพาะสินค้าจากอิสราเอล (ผักชี) สำหรับโหระพา และสาระแหน่ เป็นสินค้าจากอิตาลี และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งสินค้าประเภทนี้ของไทยและผักสดที่เป็นปัญหาอื่นๆ ได้แก่ ถั่วฝักยาว มะเขือ พริก เป็นต้น อาจจะมีการระงับห้ามมิให้ส่งออกโดยทางการของไทยตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป เนื่องจากในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมีการตรวจพบความไม่ถูกต้องผักสดของไทยมาโดยตลอด ได้มีการแจ้งผ่านระบบ Rapid alert ของสหภาพยุโรป ใน 2 ปีที่ผ่านมาปีละประมาณ 150 ครั้ง เพราะมีเพลี้ย สารเคมีต้องห้ามและยาฆ่าแมลงตกค้าง เพื่อมิให้สหภาพยุโรปอ อกประกาศห้ามนำเข้าสินค้าเหล่านี้ ทางการของไทยอาจจะสั่งห้าม ระงับการส่งออกชั่วคราวเพื่อป้องกันการถูกห้ามนำเข้าโดยสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการต่อไป ที่ต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าที่สหภาพยุโรปจะอนุญาตให้นำเข้าได้ หากเป็นการระงับโดยทางการของไทย อาจจะใช้เวลา 6 เดือนสหภาพยุโรปก็จะอนุญาตให้นำเข้าสินค้าจากไทยได้ ผักสดที่เป็นปัญหาเหล่านี้ ล้วนเป็นวัตถุดิบสำหรับการประกอบอาหารไทย หากยังคงไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปด้วยดี จะเกิดปัญหากับร้านอาหารไทยได้เพราะจะไม่มีสินค้าในการปรุง ทำอาหารไทยแท้

ในภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยไปเยอรมนีมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งสินค้าเกษตรด้วยที่ตลอดปี 2553 มีการส่งออกไปเยอรมนีเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 281.6 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.2 คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 8.5 ของการส่งออกสินค้าไทยทั้งสิ้น ไปเยอรมนี สินค้าที่ส่งออกมาก ได้แก่ ไก่แปรรูป กุ้ง ข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรมีการส่งออกมูลค่า 270.7 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 8.2 ของการส่งออกไปเยอรมนี ที่สำคัญๆ ได้แก่ กุ้งแปรรูป สับปะรดกระป๋อง และปลาทูน่ากระป๋อง เป็นต้น จากปัญหาการตรวจพบการปนเปื้อนสารพิษในเนื้อสัตว์ในตลาดเยอรมนีอาจจะมีส่วนช่วยให้เนื้อไก่ของไทยได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ที่ปัจจุบันมีการส่งออกเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ