กฎระเบียบการนำสินค้าเข้าไปแสดงโชว์ในสหรัฐฯและการนำเข้าสหรัฐฯตัวอย่างสินค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 4, 2011 10:58 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กฎระเบียบของหน่วยงานสหรัฐฯที่เกี่ยวข้องกับการนำสินค้าเข้าประเทศสหรัฐฯในช่วงระยะเวลาสั้นๆด้วยวัตถุประสงค์เพื่อนำออกโชว์ในงานแสดงสินค้าหรือใช้ในการจัดงานที่เป็นพิเศษ (special event) มีดังนี้คือ

การนำสินค้าเข้าสหรัฐฯเพื่อใช้สินค้าในงาน “Trade Fairs” หน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯระบุว่า หมายถึงการนำเข้าสินค้าเพื่อนำมาแสดง เพื่อใช้ในการก่อสร้าง ติดตั้ง หรือบำรุงรักษา ในระหว่างการแสดงสินค้าและสินค้าจะถูกส่งกลับคืนไปยังประเทศส่งออกหรือส่งออกต่อไปยังอีกประเทศหนึ่ง หรือถูกทำลายทิ้งภายใน 3 เดือนนับจากวันสิ้นสุดงานภายใต้การควบคุมดูแลของศุลกากรสหรัฐฯ

การนำเข้าประเภทนี้ผู้นำเข้าจะต้องกรอกแบบฟอร์ม Entry for Exhibition ของศุลกากรสหรัฐฯและอาจจะได้รับอนุญาตให้นำเข้าสหรัฐฯได้โดยการวางเงินค้ำประกัน ศุลกากรสหรัฐฯอาจจะอนุญาตให้จัดส่งตรงไปยังสถานที่จัดงานได้โดยทันที หรือสั่งให้ส่งไปเก็บในโกดังเอกชนเพื่อรอการตรวจก่อนการจัดส่งไปยังสถานที่จัดงานหรือ สั่งให้ส่งเข้าโกดังที่เป็น bonded warehouse เพื่อรอส่งไปยังสถานที่จัดงานสินค้าที่นำเข้าในลักษณะนี้จะต้องถูกแยกออกจากสินค้านำเข้าปกติ

การนำสินค้าเข้าที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ USFDA ไปแสดงโชว์/ใช้ในงานที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ (special event) ในสหรัฐฯ

เนื่องจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าอื่นๆภายใต้การควบคุมดูแลของ FDA จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย Federal Food, Drug, and Cosmetic Act ดังนั้นสินค้าอาหารที่นำเข้าเพื่อไปแสดงในงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯก็จะต้องกระทำตามข้อบังคับของกฎหมายนี้ด้วยเช่นกันทั้งในเรื่องของขบวนการผลิต มาตรฐานการผลิตและการปิดฉลากสินค้า

การจัดส่งสินค้าภายใต้การควบคุมของ USFDA เข้าสหรัฐฯเพื่อนำออกแสดงในงานแสดงสินค้าสามารถกระทำได้หลายวิธี

1. ถ้าสินค้ามีการปฏิบัติตามกฎระเบียบของ USFDA สามารถทำการนำเข้าด้วยวิธีปกติได้

2. ถ้าสินค้าไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของ USFDA อาจจะนำเข้าสหรัฐฯได้ถ้าผู้นำเข้าหรือตัวแทนผู้นำเข้ายื่นร้องขอนำเข้ากับสำนักงาน USFDA district office ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่จัดงานแสดงสินค้าและต่อศุลกากรในพื้นที่ ให้ปล่อยสินค้าผ่านเข้าสหรัฐฯเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้แสดงที่งานแสดงสินค้าและระบุการจัดหาการทำลายสินค้าหรือการส่งออกกลับคืนไปเมื่อสิ้นสุดงานภายใต้การดูแลและควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ FDA

3. โดยปกติแล้ว FDA จะออกใบอนุญาตให้ปล่อยสินค้าที่อาจจะมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบของ USFDA โดยอาจจะมีเงื่อนไขว่าต้องมีการปิดประกาศในจุดที่วางแสดงสินค้าว่าสินค้าดังกล่าว ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของ USFDA และให้ผู้สนใจในสินค้าติดต่อ USFDA เพื่อขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมถึงขบวนการปฏิบัติเพื่อให้สินค้านั้นๆถูกต้องตามกฎระเบียบของ USFDA

4. ในกรณีที่ USFDA พบการจัดส่งสินค้าจำนวนมากจนเข้าข่ายเป็น commercial size shipment และเป็นสินค้าที่ไม่มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบของ USFDA โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการส่งเสริมการขายในงานแสดงสินค้า ถ้าผู้นำเข้าหรือตัวแทนผู้นำเข้ายื่นขออนุญาตและได้รับอนุญาตจาก USFDA ในพื้นที่ USFDA อาจจะปล่อยตัวอย่างสินค้าออกมาส่วนหนึ่งเพื่อใช้แสดงในงาน การปล่อย

สินค้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ USFDA และที่มีจำนวนมากและถือเป็น “commercial size shipment” ออกมาทั้งหมด USFDA จะพิจารณาเป็นกรณีไป

การนำเข้าเพื่อใช้ใน Special Event

Special Event บางรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการกีฬา ผู้เข้าร่วมในงานดังกล่าวอาจจะขอนำเข้าอาหาร เครื่องมือ หรือยารักษาโรคเพื่อมาใช้กับนักกีฬาหรือทีมของตน สิ่งของต่างๆ เหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งของที่โดยปกติแล้วไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในประเทศสหรัฐฯและจะต้องถูกยึดในระหว่างการนำเข้า แต่โดยปกติแล้ว USFDA ไม่ห้ามคนต่างชาติที่เดินทางไปสหรัฐฯนำอาหารพื้นเมืองหรือยารักษาโรคเพื่อเข้าไปใช้เป็นการส่วนตัวในขณะที่อยู่ในประเทศสหรัฐฯแต่เมื่องานดังกล่าวสิ้นสุดลง สินค้าดังกล่าวที่เหลืออยู่จะต้องถูกส่งกลับออกไปหรือทำลายทิ้งเสีย เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการนำเข้า ผู้นำเข้าควรจะทำรายการสินค้าเหล่านี้อย่างละเอียดและแจ้งให้ศุลกากรสหรัฐฯทราบในระหว่างการนำเข้า การนำเข้าสินค้า ยา หรือเครื่องมือใดๆที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ USFDA เข้าสหรัฐฯเพื่อวัตถุ ประสงค์ในการใช้ใน Special Event ใดๆ จะต้องมีจำนวนที่เหมาะสมกับระยะเวลาการอยู่ในสหรัฐฯของผู้ใช้

การนำสินค้าเข้าที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ USDA ไปแสดงโชว์/ใช้ในงานที่จัดขึ้นเป็นพิเศษในสหรัฐฯ

ผู้ที่ประสงค์จะนำตัวอย่างสินค้าที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (United States Department of Agricultural — USDA) เข้าไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการแสดงโชว์ในงานแสดงสินค้าจะต้องแจ้งให้หน่วยงาน Food Safety and Inspection Service (FSIS) ของ USDA ทราบล่วงหน้าก่อนทำการนำเข้า สินค้าที่นำเข้าจะไม่ถูกตรวจโดย FSIS แต่จะถูกตรวจโดยหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) ดังนั้นสินค้าที่นำเข้าในลักษณะนี้จะต้องมีการปฏิบัติที่เป็นไปตามกฎระเบียบการนำเข้าของหน่วยงาน APHIS (www.aphis.usda.gov)

การแจ้งนำเข้าล่วงหน้ากับ FSIS import field office จะต้องแจ้งกับสำนักงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่จะเกิดการนำเข้า โดยการยื่นแบบฟอร์ม Notification of Intent for the Importation of Meat, Poultry or Egg Product Samples for Laboratory Examination, Research, Evaluative Testing, or Trade Show Exhibition” ในบางกรณี (ไม่รวมการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากไก่หรือไข่) อาจจะต้องมีเอกสารประกาศนียบัตรรับรองสุขภาพ (health certificate) จากประเทศต้นสังกัดระบุว่า “Samples intended for laboratory examination, research, evaluative testing, or trade show exhibition” การนำเข้าตัวอย่างสินค้าที่เป็น ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกหรือไข่ไม่จำเป็นต้องมีประกาศนียบัตรรับรองของประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า

ในกรณีที่เป็นสินค้าอาหาร เมื่อสินค้าเดินทางถึงสหรัฐฯ Regional Import Field Office (RIFO) ของหน่วยงาน FSIS จะดำเนินการดังนี้คือ

1. ตรวจเอกสาร Notification of Intent for Importation of Meat, Poultry or Egg Product Samples for Laboratory Examination, Research, Evaluative Testing, or Trade Show Exhibition” และประกาศนียบัตรสุขภาพจากหน่วยงานในประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า

2. ถ้าสินค้าไม่มีเอกสารที่กำหนด เจ้าหน้าที่ที่อาจจะเป็น RIFO หรือ Import Surveillance and Liaison Officers (ISLO) จะแจ้งผู้ยื่นขอนำเข้าว่าไม่ให้นำสินค้าเข้าสหรัฐฯจนกว่าจะส่งเอกสารดังกล่าวให้สหรัฐฯ (การพิจารณาเอกสารนี้เป็นการพิจารณาเอกสารที่จะต้องถูกส่งให้แก่สหรัฐฯก่อนการจัดส่งสินค้าลงเรือ)

3. ในกรณีที่สินค้าถูกระบุที่ด่านนำเข้าว่านำเข้ามาเพื่องานแสดงสินค้า เจ้าหน้าที่ ISLO จะตัดสินว่า RIFO ได้รับเอกสารแจ้งล่วงหน้าถึงการจัดส่งสินค้านี้หรือไม่

4. ถ้าการจัดส่งสินค้านี้ไม่มีเอกสารที่กำหนดมาแสดงที่ด่านนำเข้า RIFO จะปฏิเสธการนำเข้าโดยทันทีและสั่งการให้ ISLO ควบคุมสินค้าไว้

5. สินค้าเนื้อวัวที่ทำให้สุกแล้วและแช่เยือกแข็งมา เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจตัวอย่างสินค้าอีกครั้งหนึ่ง โดยตรวจการจัดส่งสินค้า น้ำหนัก ประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า

6. บรรจุภัณฑ์การจัดส่งสินค้าและบรรจุภัณฑ์ตัวสินค้าแต่ละตัวจะต้องมีฉลากระบุ

6.1 ชื่อสินค้า

6.2 ประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า

6.3 หมายเลข Establishment ที่ออกให้โดยระบบการตรวจสินค้าเนื้อและเนื้อสัตว์ปีกของประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า ในกรณีของไข่ ต้องมี Plant Number

6.4 ชื่อและที่อยู่ของโรงงานผลิตสินค้า

6.5 ข้อความที่ระบุว่า “Samples intended for laboratory examination, research, evaluative testing or trade show exhibition and not for sale”

การนำเข้าในกรณีนี้มีข้อกำหนดเรื่องน้ำหนักของสินค้านำเข้าว่าจะต้องไม่เกินที่กฎหมายกำหนดและบรรจุภัณฑ์จะต้องกระทำตามที่กฎหมายกำหนด

1. น้ำหนักการจัดส่งเนื้อสัตว์ใหญ่จะต้องไม่เกิน 50 ปอนด์ (22.7 กิโลกรัม) สำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากแต่ละชนิดของสัตว์

2. น้ำหนักการจัดส่งเนื้อสัตว์ปีกจะต้องไม่เกิน 50 ปอนด์ (22.7 กิโลกรัม) สำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแต่ละชนิดของสัตว์

3. น้ำหนักการจัดส่งผลิตภัณฑ์ไข่

3.1 ไข่ที่เป็นน้ำหรือที่แช่เยือกแข็งมาจะต้องไม่เกิน 30 ปอนด์ (13.6 กิโลกรัม)

3.2 ผลิตภัณฑ์ไข่แห้ง จะต้องไม่เกิน 50 ปอนด์ (22.7 กิโลกรัม)

3.3 ไข่ที่มีเปลือก ไม่เกิน 30 โหล

การนำเข้าและการเคลื่อนย้ายสินค้านำเข้าในกรณีนี้จะถูกสอดส่องและเฝ้าสังเกตอยู่ตลอดเวลา

สินค้าที่ขออนุญาต USDA นำเข้าเพื่อการนี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขาย แจกจ่าย หรือ บริโภคโดยผู้บริโภคทั่วไป สินค้าที่มีการนำเข้าเพื่อใช้ในการทดลองตลาดผู้บริโภคหรือในการส่งเสริมการขายจะถือว่าเป็นการนำเข้า เพื่อการพาณิชย์และจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของ FSIS เรื่องการนำเข้าที่รวมถึงข้อบังคับว่าต้องมีถิ่นกำเนินสินค้าในประเทศที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าสหรัฐฯได้ จากโรงงานผลิตที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าได้ในสหรัฐฯ และที่ได้รับการรับรองว่าให้ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯได้เท่านั้น

การนำสินค้าเข้าที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ ATF ไปแสดงโชว์/ใช้ในงานที่จัดขึ้นเป็นพิเศษในสหรัฐฯ

การนำตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่เป็นสินค้าภายใต้การควบคุมของหน่วยงาน Bureau of Alcohol, Tobacco, Firearms and Explosives (ATF) เข้าไปใช้ในงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯและหรือเพื่อเสนอขาย ในบางกรณีสามารถกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีประกาศนียบัตรรับรองฉลากสินค้า (Certificate of Label Approval-COLA) ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ ATF กำหนด โดยผู้นำเข้าจะต้องยื่นขอการผ่อนผันไม่ต้องมี COLA กับหน่วยงาน Alcohol and Tobacco Tax and Trade Bureau (TTB) ของ ATF

การยื่นขอผ่อนผันจะต้องทำเป็นจดหมายส่งถึง Alcohol and Tobacco Tax and Trade Bureau, Attention: International Trade Division, 1310 G St., NW, Suite 400W, Washington, DC 20220, Fax: 202 453-2970 ในจดหมายจะต้องระบุข้อมูลดังต่อไปนี้

1. ระบุประเภทและปริมาณของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละชนิดที่นำเข้า

1.1 ในกรณีที่เป็นไวน์ การระบุประเภทหรือ “Type” หมายถึงระบุว่าว่าเป็น “red wine”, “white wine”, “sparkling wine” และ/หรือ ตามที่มีการระบุประเภทถ้าไวน์ไว้บนฉลาก

1.2 ในกรณีที่เป็นเหล้า การระบุประเภทหรือ “Type” หมายถึงระบุว่าเป็น “rum”, “brandy” “vodka” เป็นต้น

1.3 ในกรณีที่เป็นเครื่องดื่มประเภทเบียร์ การระบุประเภทหรือ Type หมายถึงระบุว่าเป็น “beer”, “ale” หรือ “porter” เป็นต้น

2. ระบุประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า

3. ระบุยี่ห้อของแต่ละสินค้า

4. ระบุวัตถุประสงค์ในการนำเข้าตัวอย่างสินค้า ในกรณีที่เป็นการนำเข้าสำหรับใช้ในงานใดงานหนึ่งที่เจาะจงลงไป (special event) ให้ระบุวันที่และสถานที่จัดงาน

5. ระบุหมายเลข Federal Importer’s Basic Permit

6. ระบุว่ามีการดำเนินการตามเงื่อนไขเหล่านี้

6.1 สินค้าถูกนำเข้าโดยผู้ที่มี Federal Importer’s Basic Permit เท่านั้น

6.2 มีการจ่ายภาษีและอากรต่างๆทุกชนิดครบถ้วน

6.3 มีการติดสติกเกอร์บนทุกๆบรรจุภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นขวดหรือกล่องด้วยข้อความว่า “For TradeShow (or Sample) Purposes Only — Not for Sale”

6.4 ติดฉลากบนทุกบรรจุภัณฑ์ด้วยข้อความเตือนผู้บริโภคเรื่องสุขภาพ (Health Warning Statement) ตามที่กฎหมายกำหนด คือ “Government Warning; (1) According to the Surgeon General, women should not drink alcoholic beverages during pregnancy because of the risk of birth defects. (2) Consumption of alcoholic beverages impairs your ability to drive a car or operate machinery, and may cause health problems.”

6.5 ในกรณีของไวน์ ต้องมีการติดฉลากเพิ่มว่า “Contains Sulfites”

6.6 ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ระบุในจดหมายฉบับนี้ได้มีการปฏิบัติตามข้อบังคับเรื่องการปิดฉลากสินค้าข้างต้นแล้วก่อนที่สินค้าจะเดินทางมาถึงท่านำเข้าในสหรัฐฯ

เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้นำเข้าที่จะประกันว่าสินค้าตัวอย่างที่นำเข้าจะไม่เข้าสู่การค้าระหว่างมลรัฐ (interstate) และ/หรือการค้าภายในมลรัฐ (intrastate) โดยไม่ได้รับการอนุมัติที่เป็น Certificate of Label approval (COLA) เสียก่อน

การนำสินค้าตัวอย่างโดยทั่วไปเข้าสหรัฐฯ

สินค้าที่ถูกนำเข้าสหรัฐฯในลักษณะเป็น “สินค้าตัวอย่าง” จะถูกจัดเข้ากลุ่มสินค้าในรหัสศุลกากรสหรัฐฯที่ 98 หรือ HTS98 (Harmonized Tariff Schedule —HTS)

ตัวอย่างสินค้าที่นำเข้าสหรัฐฯเพื่อไปเสนอขายและรับใบสั่งซื้อสินค้าไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า เนื่องจากในมุมมองของศุลกากรสหรัฐฯสินค้าเหล่านี้ยังคงมีมูลค่าทางการค้าอยู่ การนำตัวอย่างสินค้าเข้าสหรัฐฯโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าสามารถกระทำได้ 3 วิธีคือ

1. ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน Harmonized Tariff Schedule ที่จะทำให้ตัวอย่างสินค้าที่นำเข้าสหรัฐฯได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ยกตัวอย่างเช่นในกรณีตัวอย่างสินค้าที่เป็นสิ่งทอ (textiles) สามารถนำเข้าสหรัฐฯได้โดยไม่ต้องเสียภาษีถ้าสินค้าแต่ละชิ้นมีมูลค่าไม่เกิน 1 เหรียญฯ หรือจะต้องถูกทำเครื่องหมาย ถูกทำให้ขาด เจาะรู หรือการกระทำอื่นๆที่จะทำให้สินค้านั้นเกิดความเสียหายที่เป็นถาวรและไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้

2. การนำเข้าตัวอย่างเพื่อวัตถุประสงค์ในการมารับใบสั่งซื้อสินค้าเท่านั้นไม่ได้เพื่อการบริโภคในสหรัฐฯ สินค้าเหล่านี้

2.1 จะต้องไม่ถูกจำหน่าย

2.2 จะอยู่ในประเทศสหรัฐฯได้ 1 ปีนับจากวันที่นำเข้า โดยสามารถขอยืดเวลาต่อได้สองครั้งซึ่งจะต้องไม่เกิน 3 ปี

2.3 ต้องวางเงินค้ำประกันที่ครอบคลุมถึงจำนวนที่เท่ากับร้อยละ 110 ของภาษีนำเข้าและค่าธรรมเนียมที่ถูกประเมิน

2.4 ในกรณีที่สินค้าไม่ถูกส่งกลับออกไปหรือถูกทำลายภายในระยะเวลาที่กำหนด ศุลกากรสหรัฐฯถือว่าเป็นการละเมิดการค้ำประกันที่กระทำไว้กับศุลกากร และจะเรียกเก็บเงินค่าเสียหายที่เป็นการชำระหนี้เท่ากับร้อยละ 110 ของภาษีนำเข้าที่ถูกประเมิน

3. วิธีการนำเข้าตัวอย่างสินค้าที่ดีที่สุดทั้งนี้รวมถึงการนำเข้าเพื่อนำไปแสดงในงานแสดงสินค้าคือการใช้ ATA Carnet

การนำเข้าสหรัฐฯตัวอย่างสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป

การนำตัวอย่างสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปเข้าไปยังสหรัฐฯสามารถกระทำได้สองวิธีด้วยกันคือ

1. การนำเข้าตัวอย่างสินค้าที่ไม่ได้ถูกทำให้เสียหาย (Non-mutilated Samples) กล่าวคือไม่ได้ถูกทำเครื่องหมายหรือถูกทำให้เสียหายด้วยวิธีอื่นๆ ตัวอย่างสินค้าในลักษณะนี้ ศุลกากรสหรัฐฯไม่ถือว่าเป็น “ตัวอย่าง” สินค้า และจะต้องมีการดำเนินการดังต่อไปนี้ครบถ้วนคือ

(ก) มี Invoice ระบุรายละเอียดสินค้าอย่างละเอียด จะระบุแต่เพียงคร่าวๆว่าเป็น เสื้อผ้าสตรี หรือเสื้อผ้าบุรุษเท่านั้นไม่ได้

(ข) มีฉลากระบุประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า

(ค) มีชื่อและที่อยู่ของโรงงานผลิต

(ง) จ่ายชำระค่าธรรมเนียมและภาษีนำเข้า

(จ) มีวีซ่ากำกับ ในกรณีที่จำเป็นต้องมีวีซ่า

2. การนำเข้าตัวอย่างสินค้าที่ถูกทำให้เสียหาย (Mutilated Samples) เช่น การประทับตราว่า “SAMPLE” บนด้านนอกสินค้า หรือการทำให้ขาดหรือตัด เป็นการนำเข้าภายใต้ระหัสศุลกากร HTS 9811.00.60 สามารถนำเข้าได้โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า วิธีการทำสินค้าให้เสียหายมีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี คือ

(ก) ตัวเสื้อจะต้องถูกตัดหรือฉีกบนด้านนอกของสินค้าในความยาวอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 นิ้วหรือ 5 เซ็นติเมตร และต้องเป็นการตัดหรือฉีกบน “ตัว” ของสินค้าไม่ใช่ที่ตะเข็บหรือที่ตรงชาย จะต้องให้เห็นรอยตัดหรือฉีกได้อย่างชัดเจน

(ข) การเจาะรูบนด้านนอกในบริเวณที่เป็นบริเวณสำคัญของเสื้อและเป็นบริเวณที่ไม่สามารถนำผ้ามาปิดทับหรือปักลวดลายทับได้ ความกว้างของรูจะต้องไม่น้อย 1 นิ้ว หรือ 2.5 เซ็นติเมตร หรือขนาดเหรียญ 25 เซ็นต์ของสหรัฐฯ

(ค) ทำเครื่องหมาย “SAMPLE” ด้วยหมึกหรือสีที่ลบไม่ออก ขนาดความสูงของตัวอักษรจะต้องไม่ต่ำกว่า 1 นิ้ว หรือ 2.5 เซ็นติเมตรและจะต้องมีความยาวไม่ต่ำกว่า 2 นิ้ว หรือ 5 เซ็นติเมตร การทำเครื่องหมาย “SAMPLE” จะต้องกระทำบนที่ที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อนำเสื้อผ้าดังกล่าวไปใส่

การนำเข้าตัวอย่างสินค้าที่ถูกทำให้เสียหายแล้วจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้อย่างครบถ้วน หากมีการฝ่าฝืนข้อใดข้อหนึ่ง ศุลกากรสหรัฐฯจะถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้ถูกทำให้เสียหาย คือ

(ก) การทำให้ตัวอย่างสินค้าเป็นสินค้าที่เสียหายจะต้องกระทำก่อนที่สินค้าเดินทางมาถึงสหรัฐฯ

(ข) ต้องมี invoice กำกับที่ระบุว่าเป็น “Mutilated Samples — 9811.00.60”

(ค) การระบุมูลค่าสินค้าจะต้องระบุมูลค่าแท้จริงของสินค้าหรือราคาขายสินค้าที่อยู่ในสภาพที่ถูกทำให้เสียหายแล้ว ในกรณีที่ตัวอย่างสินค้าจะไม่ถูกจำหน่ายหรือจะถูกถ่ายมือโดยไม่มีการจ่ายเงินมูลค่าสินค้าบน invoice จะเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตบวกค่าใช้จ่ายในการทำให้สินค้าเกิดความเสียหาย ศุลกากรสหรัฐฯถือว่าการทำให้สินค้าเสียหายและการทำเครื่องหมายว่า “SAMPLE” ไม่ได้หมายความว่าสินค้าตัวอย่างดังกล่าวจะไม่มีมูลค่าทางการค้า

(ง) การนำเข้าตัวอย่างสินค้าที่ถูกทำให้เสียหายแล้วจะต้องแยกออกจากตัวอย่างสินค้าที่ยังไม่ได้ทำให้เสียหายที่อาจจะเป็นส่วนประกอบเสื้อผ้าที่เป็นตัวอย่างสินค้าที่ถูกทำให้เสียหายแล้ว หรืออาจจะเป็นตัวอย่างอื่นๆที่เป็นสินค้าเสื้อผ้าที่ไม่ได้ถูกทำให้เสียหาย การจัดส่งตัวอย่างสินค้าทั้งสองแบบรวมกันมาในการจัดส่งสินค้าครั้งเดียวจะทำให้สินค้าหมดสภาพการเป็นตัวอย่างสินค้าและมีโอกาสที่จะถูกศุลกากรสหรัฐฯยึดหรือเรียกเก็บเงินค่าปรับได้

การนำเข้าตัวอย่างสินค้าผ้าผืน

ใช้กฎเดียวกับการนำเข้าตัวอย่างเสื้อผ้า รวมถึง

1. สามารถนำเข้าได้สองลักษณะคือ

(ก) เป็นตัวอย่างสินค้าที่ไม่ได้ถูกทำให้เสียหาย

(ข) เป็นตัวอย่างสินค้าที่ถูกทำให้เสียหายแล้ว โดยการพิมพ์คำว่า “SAMPLE” ลงไป การตัดหรือการเจาะรูในกรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการทำให้เสียหาย

2. ใน invoice ต้องบรรยายสินค้าอย่างละเอียด จะบอกแค่เพียงว่าเป็น “fabric” ไม่ได้

3. สินค้าตัวอย่างจะต้องไม่ยาวเกินกว่า 2 หลาหรือ 1.83 เมตร หากยาวเกินกว่านี้แม้ว่าจะถูกทำให้เสียหายแล้วก็ตาม ศุลกากรสหรัฐฯจะไม่ถือว่าเป็นสินค้าตัวอย่าง

4. สินค้าจะต้องถูกทำเครื่องหมาย “SAMPLE”พิมพ์เป็นมุมตั้งฉากขวางบนผ้า ตัวอักษรสูงอย่างน้อย 1 นิ้ว หรือ 2.5 เซ็นติเมตร และยาวไม่ต่ำกว่า 5 นิ้ว หรือ 13 เซ็นติเมตร

5. ตัวอย่างสินค้าผ้าที่ตัดเป็นริ้วๆ ถ้ามีขนาดไม่เกิน 8 นิ้ว คูณ 8 นิ้ว หรือ 20 เซ็นติเมตร คูณ 20 เซ็นติเมตร ไม่จำเป็นต้องทำเครื่องหมายหรือทำให้เสียหาย หากมีขนาดเกินกว่านี้จะต้องถูกเจาะรูที่มีขนาด 1 นิ้วหรือ 2.5 เซ็นติเมตร ตรงกลางผ้า มิฉะนั้นจะไม่ถือว่าเป็นสินค้าตัวอย่าง

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ