ร้านอาหารไทยในแคนาดาฝั่งตะวันออก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 8, 2011 13:28 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อาหารไทยเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงในประเทศแคนาดา ส่งผลให้มีการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเมืองสำคัญๆ รอบๆปริมณฑลนครโตรอนโต หรือเขต GTA (Greater Toronto Area) ซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรหนาแน่น หลากหลายเชื้อชาติ และเป็นศูนย์กลางการค้าการผลิตที่สำคัญของประเทศ จากข้อมูลการสำรวจพบว่ามีร้านอาหารไทยในเขต GTA มากถึงประมาณ ๑๖๕ แห่ง โดยร้านอาหารไทยเหล่านี้ ประมาณร้อยละ ๓๕ เป็นธุรกิจของคนไทย ที่เหลืออีกร้อยละ ๖๕ มีเจ้าของเป็นคนเวียดนาม ลาว และ จีน

ความนิยมในอาหารไทยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากจำนวนของประชากรในเขต GTA ซึ่งมีประมาณ ๕.๕ ล้านคน โดย ๒.๔๘ ล้านคน อาศัยอยู่ในเขตนครโตรอนโต และในจำนวนนี้ กว่ากึ่งหนึ่งเป็นประชากรอพยพย้ายถิ่นฐาน เช่น จากอินเดียและปากีสถาน (ร้อยละ ๑๒) จีน (ร้อยละ ๑๑.๔) แคริเบียน (ร้อยละ ๘.๔) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ ๔.๑) และจากลาตินอเมริกา (ร้อยละ ๒.๖) เป็นต้น ซึ่งประชากรอพยพเหล่านี้กว่าร้อยละ ๒๗.๕ มีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารคล้ายๆ กับคนไทย ซึ่งมีข้าวเป็นอาหารหลัก นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้บริโภคหลักที่เป็นชาวแคนาดาผิวขาว อาหารไทยยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ที่มีรสชาดดี

การขยายตัวของร้านอาหารไทยข้างต้น ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารไทยประเภทวัตถุดิบและเครื่องปรุงขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย โดยในปี ๒๐๐๙ แคนาดานำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบอาหารจากประเทศไทย เช่น กะทิ กระป๋อง น้ำพริกแกง ทั้งแกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงกะหรี่ แกงมัสมั่น น้ำพริกเผา หน่อไม้กระป๋อง ผลไม้กระป๋อง น้ำปลา ข้าวสาร ข้าวเหนียว เส้นก๋วยเตี๋ยว มะขาม กุ้งแช่แข็ง สินค้าแช่แข็งอื่นๆ ใบมะกรูด ข่า เป็นต้น มูลค่า ๔๐๗.๖๐๖ ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และในช่วง ๑๐ เดือนของปี ๒๐๑๐ มูลค่านำเข้า ๓๓๕.๘๖๓ ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปี ๒๐๐๙ จำนวน ๕.๗๑๓ ล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ ๑.๗๐

โครงสร้างร้านอาหารไทยในแคนาดาฝั่งตะวันออก

ร้านอาหารไทยในแคนาดาฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะในนครโตรอนโต โดยทั่วๆไป มีโครงสร้าง ดังนี้

๑) ร้านอาหารไทยที่มีเจ้าของเป็นคนไทย แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ประกอบไปด้วย

๑.๑) ร้านอาหารไทย Thai Select ได้แก่ ร้านอาหารผ่านมาตรฐานข้อกำหนด และได้รับตรารับรอง Thai Select ของกรมส่งเสริมการส่งออก ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น ๑๙ ร้าน ในแคนาดาฝั่งตะวันออก ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในนครโตรอนโต และเมืองใกล้เคียง มีขนาดความจุของร้านประมาณ ๓๐-๙๐ ที่นั่ง ซึ่งเป็นร้านอาหารขนาดกลาง ที่ใช้เงินลงทุนไม่มากนัก (ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ เหรียญแคนาดา) ร้านอาหาร Thai Select เหล่านี้ มีรูปแบบการตกแต่งที่เน้นความเป็นไทย และใช้วัสดุอุปกรณ์ภายในร้านที่นำเข้าจากไทย เช่น ผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจาน ช้อน ส้อม จาน ชาม เป็นต้น

การดำเนินกิจการส่วนใหญ่เป็นรูปแบบ Fine Dining ที่เน้นบรรยากาศและรสชาดอาหารเป็นหลัก รายการอาหารที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่ ผัดไท แกงเขียวหวานไก่ ต้มยำกุ้ง และต้มข่าไก่ เป็นต้น ลูกค้าของร้านส่วนใหญ่เป็นชาวแคนาดาผิวขาว ในขณะที่ลูกค้าชาวเอเชียและชาวไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมรับประทานอาหารไทยในร้านอาหารเหล่านี้ เนื่องจากมีราคาแพงเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารจีนและเวียดนาม (ประมาณร้อยละ ๑๐-๒๐ ต่อจาน) โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่าย รับประทานอาหารที่ร้านอาหารไทยประมาณ ๑๘-๒๓ เหรียญแคนาดาต่อคนต่อมื้อ

๑.๒) ร้านอาหารไทยแบบ Take Out เป็นร้านอาหารจานด่วนที่เน้นความรวดเร็วและอาหารตามสั่งไม่กี่รายการ จากการสำรวจพบว่าปัจจุบันมี ๒ ร้าน ได้แก่ ร้าน Thai To Go และร้าน Sukhothai ซึ่งใช้พื้นที่หน้าร้านน้อยไม่ต้องมีพนักงานบริการ มีโต๊ะและเก้าอี้สำหรับนั่งรอ หรือรับประทานที่ร้านได้ ประมาณ ๘-๑๐ ที่นั่งเท่านั้น มีค่าใช้จ่าย โดยเฉลี่ยต่อหัว/ต่อมื้อประมาณ ๘-๑๒ เหรียญแคนาดา

๒) ร้านอาหารไทยที่เจ้าของไม่ใช่คนไทย แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่

๒.๑) ร้านอาหารไทยแบบ Fine Dining เป็นร้านอาหารที่มีรูปแบบการตกแต่งคล้ายร้านอาหาร Thai Select และบางแห่งจะมีความเลิศหรูกว่าเนื่องจากมีการลงทุนสูงกว่า โดยร้านอาหารไทยประเภทนี้จะมีขนาดความจุประมาณ ๓๐-๑๕๐ ที่นั่ง ซึ่งถือว่าเป็นร้านอาหารขนาดกลางถึงใหญ่ ร้านอาหารเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะจ้างพ่อครัว/แม่ครัวคนไทยและมีการติดต่อกับเครือข่ายบริษัทท่องเที่ยวเพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวคณะใหญ่ๆ ได้แก่ร้าน Bangkok Garden, Ivory เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารไทยที่ใช้กลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ผ่าน Celebrities และเปิดเป็นโรงเรียนสอนการทำอาหารไทย ได้แก่ร้าน เม็งรายและ Sasi Cooking School

ร้าน Mengrai

เป็นร้านอาหารไทยที่จับกลุ่มชาวต่างชาติและบริษัทจัดท่องเที่ยว และเปิดโรงเรียนสอนทำอาหารชื่อว่า Sasi Cooking Studio สอนโดย Chef ชาวไทยของร้านใช้การประชาสัมพันธ์ผ่าน Celebrity ซึ่งทำให้ร้านได้รับความนิยมในกลุ่มชาวต่างชาติ และสื่อมวลชนด้านอาหารร้านเม็งรายจัดตกแต่งและให้บริการทั้งแบบตะวันตก และแบบไทยผสมตะวันตก เพื่อสร้างความแตกต่างจากร้านอาหารไทยอื่นๆ

ร้าน Bangkok Garden

เป็นร้านอาหารแบบ Fine Dining และมีเพียงสาขาเดียวตั้งอยู่ที่ เลขที่ ๑๘ Elm Street, Toronto, Ontario, Canada การตกแต่งของร้านโอ่โถงให้ความรู้สึก Classy วัสดุที่ใช้ตกแต่งนำเข้าจากประเทศไทยเมื่อ ๒๕ ปีก่อน บางชิ้นมีการสั่งทำพิเศษเฉพาะ การบริการเป็นระดับมืออาชีพตามแบบร้าน Fine dining ของชาวตะวันตกที่มีชื่อเสียง ดำเนินกิจการการโดย บริษัท Brydson Group Inc. ที่มี Ms.Sherry Brydson ผู้เป็นหลานสาวของตระกูล Thompson ตระกูลที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยที่สุดในแคนาดา กองทุนของเธอได้ลงทุนในธุรกิจสายการบิน บริษัทจัดจำหน่ายที่นอนรายสำคัญและมีชื่อเสียงใน North America รวมทั้งธุรกิจ อื่นๆ อีกมาก

Ms. Sherry Brydson มีความสนใจและชื่นชอบวัฒนธรรมหลายๆ อย่างของไทยเป็นพิเศษ นอกจากดำเนินธุรกิจร้านอาหาร Bangkok Garden ภายใต้ บริษัท Brydson Group Inc. แล้ว บริษัทฯ ยังดำเนินธุรกิจอื่นๆ เช่น โรงเรียนฝึกสอนการให้บริการด้าน Spa ชื่อว่า Elmcrest College of Applied Sciences and Spa Management และสถานบริการ Spa ชื่อว่า Elmwood Spa

ร้าน Bangkok Garden เปิดให้บริการมาแล้วกว่า ๒๕ ปี ถือเป็นหนึ่งในร้านอาหารไทยในยุคบุกเบิกที่ยังคงรักษามาตรฐานและความนิยมมาได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าระดับบน ที่ให้ความสำคัญกับรสชาดและบรรยากาศของร้านเป็นหลัก ถึงแม้ว่าราคาโดยทั่วๆไปจะแพงกว่าร้านอาหารไทยอื่นๆ เกือบเท่าตัวก็ตาม

๒.๒) ร้านอาหารไทยแบบ Franchise เป็นร้านอาหารที่ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มผู้บริโภควัยทำงานและวัยรุ่น เนื่องจากมีการตกแต่งร้านที่มีบรรยากาศทันสมัย และการดัดแปลงรูปแบบอาหารที่มีความเป็น Fusion เป็นที่ถูกใจลูกค้าและอยู่ในระดับราคาที่ไม่แพงมากนัก ตัวอย่างร้านอาหารประเภทนี้ได้แก้ ร้าน Thai Express และร้าน Spring Rolls เป็นต้น ร้านเหล่านี้ส่วนใหญ่มีคนจีนและเวียดนามเป็นเจ้าของ ใช้พ่อครัว/แม่ครัวชาวจีนเป็นหลัก มีรูปแบบการดำเนินการโดยบริษัทแม่เป็นผู้ให้ลิขสิทธิ์ Franchise จัดหา เครื่องปรุง กำหนดรูปแบบและขั้นตอนการปรุงให้กับร้านจับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการความรวดเร็ว

ร้าน Thai Express

ร้าน Thai Express เป็นร้านอาหารประเภท Fast food โดยมีเจ้าของคือ MTY Group Inc. (Matoyee Enterprises Inc) มีเจ้าของได้แก่ Mr.Stanley Ma ที่เป็นชาวแคนาดาเชื้อสายฮ่องกง ร้านฯ ได้เริ่มเปิดกิจการแห่งแรกในนครมอน ทรีอัล มณฑลควิเบค (ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับ Thai Express ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มองโกเลีย และอินเดีย ) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ ๓๔๖๕ boul. Thimens Ville, St.-Laurent, Quebec, Canada ปัจจุบันมีสาขาทั่วประเทศจำนวนมาก ทั้งที่เป็นรูปแบบ Kiosk ใน food Court ของห้างสรรพสินค้า และร้านที่ตั้งอยู่ตามย่านอาคารสำนักงาน จุดโดดเด่นที่ดึงดูดลูกค้าและสร้างความสำเร็จให้กับร้าน Thai Express คือจัดบริเวณปรุงอาหารแบบเปิดที่ลูกค้าสามารถเห็นกระบวนการ และมั่นใจในความสดใหม่ของอาหาร และสร้างความรู้สึกอยากรับประทานอาหารไปด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างได้ผลเนื่องจากร้านอาหาร Fast food ดั้งเดิมของชาวตะวันตก จะประกอบอาหารโดยนำวัตถุดิบแช่แข็งมาทอดหรืออบ และในขณะเดียวร้านอาหารของคนจีนก็จะปรุงอาหาร Fast Food คราวละมากๆ อยู่ในครัวด้านหลังที่ลูกค้าไม่สามารถมองเห็นได้ ดังนั้น ร้าน Thai Express จึงได้รับรางวัล Golden Chain Award Franchisor ในปี ๒๐๐๙

การดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทยในแคนาดา

การเปิดกิจการหรือดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทยในประเทศแคนาดา มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก โดยทั่วๆ ไปประกอบด้วย ๓ ขั้นตอน (รายละเอียดในภาคผนวก) ดังนี้

          ขั้นตอน              รายการ                  ระยะเวลา                    ค่าใช้จ่าย
          จดทะเบียน        ทะเบียนธุรกิจ               ไม่เกิน ๓ สัปดาห์           รวม ๔๒๕ เหรียญแคนาดา

ทะเบียนร้านอาหาร

-ใบเสียภาษีธุรกิจ

          ขอใบอนุญาต       -จำหน่ายเครื่องดืม            ไม่เกิน ๓ เดือน         รวมประมาณ ๘๐๐ เหรียญแคนาดา

-ใบเสียภาษีป้าย

          ขอใบรับรอง       สุขอนามัย                      ๑ วัน                   ๘๕ เหรียญแคนาดา

(Food Handler)

ข้อกำหนดในการดำเนินธุรกิจร้านอาหาร

หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลธุรกิจร้านอาหารได้แก่หน่วยงาน Public Health ของแต่ละเมืองซึ่งจะมีข้อกำหนดข้อบังคับที่แตกต่างกันออกไป สำหรับนครโตรอนโต อยู่ภายใต้การดูแลของ Toronto Public Health เป็นผู้ดูแล และออกกฎระเบียบ ข้อบังคับ ด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหาร โดยในทุกๆปี จะทำการตรวจสอบร้านอาหารทุกประเภทในเขตดูแลอย่างน้อย ๑ ครั้ง และจะถูกสุ่มตรวจเป็นระยะๆ หากพบว่าร้านใดไม่ผ่านมาตรฐานและข้อบังคับ ทาง Toronto Public Health จะสั่งปิดกิจการจนกว่าจะได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน

มาตรฐานและกฎระเบียบที่ใช้บังคับกับธุรกิจ ร้านอาหาร โดยทั่วๆไปประกอบด้วย

๑) มาตรการด้านการรักษาอุณหภูมิของอาหารสด เช่น อาหาร Hot Food ต้องรักษาให้มีอุณหภูมิในระดับ ๖๐ องศาเซลเซียสขึ้นไป และ อาหาร Cold Food ต้องรักษาให้มีอุณหภูมิ ๔ องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า เป็นต้น

ตัวอย่างอุณหภูมิสำหรับประกอบอาหารสำคัญต่างๆ ได้แก่

               ประเภทอาหาร                                อุณหภูมิที่ใช้ (เซลเซียส) ทุกๆ 15 วินาที
          ไก่ทั้งตัว                                                     ๘๒ องศา
          ไก่บด                                                       ๗๔ องศา
          อาหารที่มีส่วนผสมของไก่ หรือไข่ หรือ สัตว์ปีกอื่นๆ                      ๗๔ องศา

หรือ ปลา หรือมีส่วนผสมของโปรตีนที่มีความเสี่ยงต่อ

การเป็นพิษ

          หมู เนื้อหมู หรือหมูบด รวมทั้งหมูบดที่มีส่วนผสม                         ๗๔ องศา

ของสัตว์ปีก

          ปลา                                                        ๗๐ องศา

๒) มาตรการดูแลรักษาความสะอาดของอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว

๓) มาตรการการรักษาสุขอนามัยของผู้ประกอบอาหาร เช่น

  • ล้างมือให้สะอาดตามหลักอนามัย ๖ ขั้นตอน ได้แก่ ล้างด้วยน้ำสะอาดจากก๊อก ใส่สบู่ ถูมือทั้ง ๒ ข้างไป-มาให้ทั่ว ล้างออกด้วยน้ำสะอาดจากก๊อก เช็ดมือด้วยผ้าสะอาด หรือกระดาษเช็ดมือ ใช้กระดาษเช็ดมือหรือผ้าที่ใช้เช็ดมือปิดก๊อกน้ำ
  • สวมถุงมือพลาสติกหรือถุงมือยางในการจับหรือสัมผัสอาหาร และเปลี่ยนถุงมือที่ใช้ทุกครั้งเมื่อถอดออก
  • ห้ามสูบบุหรี่ในห้องครัวและบริเวณที่ใช้เตรียมและประกอบอาหาร
  • สวมเสื้อผ้าที่สะอาดและสวมผ้ากันเปื้อน รวมทั้งต้องซักทำความสะอาดผ้ากันเปื้อนอยู่เสมอ

ข้อมูลเพิ่มเติมด้าน Food handling สามารถดูได้จากhttp://www.toronto.ca/health/foodhandler/about.htm

พัฒนาการของร้านอาหารไทย

การขยายตัวของร้านอาหารไทยมีพัฒนาการ ดังนี้

๑) ร้านอาหารไทยที่มีเจ้าของเป็นคนไทยส่วนใหญ่ เกิดขึ้นโดยคนไทยที่อพยพย้ายถิ่นฐานมายังแคนาดาในช่วง ๒๐-๓๐ ปีที่ผ่านมา โดยเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่เคยเป็นพนักงานในร้านอาหารไทยยุคแรกเริ่ม ทำงานสั่งสมประสบการณ์และเก็บเงินในร้านอาหารไทยมาระยะหนึ่ง ก่อนออกมาเปิดธุรกิจร้านอาหารไทยเป็นของตนเอง

๒) ร้านอาหารไทยที่เปิดใหม่ในระยะหลังๆ ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารขนาดเล็ก ที่เจ้าของเพิ่งอพยพมายังแคนาดา ไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทยมาก่อน แต่มีเงินทุนในการลงทุนบ้างเล็กน้อย และเห็นว่าการลงทุนในร้านอาหารไทยน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

๓) ร้านอาหารไทยที่เกิดจากเจ้าของดำเนินกิจการร้านอาหารอื่นๆ มาก่อนและหันมาเปิดร้านอาหารไทยตามกระแสความนิยม ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเป็นการลงทุนโดยนักลงทุนที่ไม่ใช่คนไทย มีทุนทรัพย์ที่เพียงพอ มีรูปแบบและทิศทางการลงทุนอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของแฟรนไซส์หรือร้านสาขา ซึ่งในกรณีนี้ มีตัวอย่างร้านอาหารไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด คือ ร้าน Thai Express ซึ่งเป็นร้านประเภท Fast food จับกลุ่มลูกค้าระดับกลางตามห้างสรรพสินค้า และย่านที่ตั้งอาคารสำนักงานที่มีพนักงานจำนวนมาก และร้าน Bangkok Garden ซึ่งเป็นร้านที่จับกลุ่มเป้าหมายลูกค้าระดับบน มีราคาอาหารต่อจานค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับร้านอาหารไทยอื่นๆ

ปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดของร้านอาหารไทย

จากข้อมูลสำรวจและการสอบถามผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในแคนาดาฝั่งตะวันตก พบว่าปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารไทยขยายตัวได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควรจะเป็น ได้แก่

๑) ปัญหาเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงและขาดแหล่งทุนให้กู้ยืม ทำให้มีข้อจำกัดในการขยายกิจการและประชาสัมพันธ์ร้านในสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

๒) ปัญหาคู่แข่งขันร้านอาหารไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม ซึ่งมีจำนวนมากและได้รับความนิยมค่อนข้างสูงในแคนาดาฝั่งตะวันออก เนื่องจากเป็นร้านอาหารประเภท Fast food ที่มีราคาโดยรวมถูกกว่าอาหารไทย

๓) ปัญหาการนำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งพบว่าปัจจุบันต้องพึ่งพาผู้นำเข้าชาวจีน เวียดนาม และลาว เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ประสบกับปัญหาสินค้าคุณภาพต่ำและราคาแพง รวมทั้งขาดแคลนวัตถุดิบบางประเภท อาทิ กะทิ ใบกระเพราะ เครื่องแกง เป็นต้น

๔) ปัญหาขาดแคลนพ่อครัว/แม่ครัวที่มีทักษะและประสบการณ์จากสถาบันด้านอาหารของไทย ทั้งนี้ หากร้านอาหารใดต้องการนำเข้าพ่อครัว/แม่ครัวจาก จะต้องมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เอกสารมากมาย โดยต้องมีสัญญาจ้างที่ชัดเจน ซึ่งยังไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลแคนาดา เนื่องข้ออ้างที่ว่าสามารถหาแรงงานด้านนี้ได้จากภายในประเทศแคนาดา ซึ่งผ่านการเรียนรู้อบรมจากสถาบันอาหารในแคนาดา

๕) ปัญหาความชำนาญและประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทย เนื่องจากเจ้าของร้านอาหารไทย ส่วนใหญ่ไม่เคยประกอบธุรกิจร้านอาหารมาก่อน จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและขยายตัวตามกระแสเศรษฐกิจ

การส่งเสริมและสนับสนุนร้านอาหารไทย

ด้วยตระหนักถึงความหลากหลายและปัญหาอุปสรรคของร้านอาหารไทย กรมส่งเสริมการส่งออก โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโตรอนโต จึงได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจร้านอาหารไทยเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาสำนักงานฯ ได้พัฒนายกระดับมาตรฐานอาหารไทย โดยร่วมมือกับร้านอาหารที่ได้รับตรารับรอง Thai Select ในการปรับปรุงมาตรฐานรสชาดของอาหารให้มีความเป็นไทย (Authentic Thai) โดยเชิญพ่อครัวที่มีประสบการณ์สูงจากไทยเดินทางมาสาธิตและฝึกอบรมเทคนิคการปรุงอาหาร การจัดจานให้กับพ่อครัว-แม่ครัวร้านอาหารไทยดังกล่าว นอกจากนี้ สำนักงานฯ ยังได้จัดพิมพ์ Thai Select Directory เพื่อแจกจ่ายไปยังหน่วยงานองค์กร และลูกค้าสำนักงานฯ เพื่อประชาสัมพันธ์ร้านอาหาร Thai Select ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในแคนาดาฝั่งตะวันออก รวมทั้งยังประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ภัตตาคารและร้านอาหาร ได้แก่ นิตยสาร Ontario Restaurant โดย Ms. Colleen Isherwood, Ishcom Publications Ltd. โดยสื่อมวลชนรายนี้ได้มีการลงบทความเกี่ยวกับร้านอาหารไทย รวมทั้งมีการเชิญชวน เครือข่ายของสื่อมวลชนไปทดลองชิมอาหารที่ร้านอาหารไทย Thai Select

ภาคผนวก

********************

ขั้นตอนการดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทยในแคนาดา

๑) คัดเลือกชื่อ และจดทะเบียนชื่อบริษัท ห้างร้านนิติบุคคลในแคนาดานั้นสามารถทำได้บนระบบ อินเตอร์เนต ในการค้นหารายชื่อ เครื่องหมายสินค้ากับระบบCanada-biased NUANS report จากเวป ไซด์ www.nuans.com ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลแคนาดา เพื่อจะขอรับรายงาน การตรวจชื่อว่าไม่เคยถูกใช้จดทะเบียนมากัอน หรือซ้ำกับคนอื่น มาเป็นเอกสารในการยื่นขอจดทะเบียน ต่อหน่วยงาน Corporation Canada

ซึ่งตั้งอยู่ที่

เลขที่ ๙th Floor, Jean Edmonds Towers South

๓๖๕ Laurier Avenue West, Ottawa ON K๑A ๐C8๘

โทรศัพท์: +๑-๖๑๓-๙๔๑-๙๐๔๒

โทรสาร: +๑-๖๑๓-๙๔๑-๐๖๐๑

๒) สมัครหมายเลขทะเบียนธุรกิจ Business Number (BN) ซึ่งเสมือนการเปิดบัญชีภาษีของบริษัท ที่จะ เชื่องโยงธุรกรรมตางๆ ของบริษัทนิติบุคคลกบกรมสรรพากรแคนาดา หรือ Canada Revenue Agency (CRA) ที่เป็นหน่วยงานรัฐบาลกลาง Federal Government เพื่อจะเรียกเก็บภาษีดังนี้

  • GST/HST (goods and services tax/harmonized sales tax) เป็นบัญชีภาษีที่ผู้ประกอบการ จะเรียกเก็บจากลูกค้าจากการให้บริการหรือจำหนายสินค้า โดยปัจจุบันอยูที่อัตรา5% (เป็นภาษีที่ ส่งให้กับภาครัฐฯ ส่วนกลาง)
  • Payroll Deductions เป็นบัญชีภาษีที่นายจ้าง/ผู้ประกอบการ เรียกเก็บจากลูกจ้าง/พนักงานของ บริษัทได้แก่ CPP (Canada Pension Plan), EI (Employment Insurance) และภาษีรายได้ของ พนักงาน โดยจะส่งไปยังรัฐฯ ส่วนกลาง
  • Import/Export เป็นบัญชีที่ใช้สำหรับการเกบภาษีจากการนำเข้า/ส่งออกของบริษัท
  • Corporate Income Tax Account เป็นบัญชีภาษีรายได้ของบริษัทนิติบุคคลที่จะสงให้กับรัฐ ฯ ส่วนกลาง ทั้งนี้ บริษัทจะต้องเสียภาษีให้กบรัฐบาลท้องถิ่นอีกด้วยโดยในระดับมณฑล (Provincial Government) บริษัทจะต้องยื่นคำร้องขอใบอนุญาติและเปิดบัญชีผู้เสียภาษีของ บริษัทนิติบุคคลกับหน่วยงาน

International Tax Services Office

๒๒๐๔ Walkley Road, Ottawa ON K1A 1A8

โทรศัพท์: +๑-๖๑๓-๙๕๔-๙๖๘๑

โทรสาร: +๑-๖๑๓-๙๕๒-๓๘๔๕

เวปไซด์: www.cra-arc.gc.ca

เวลาทำการ: จันทร์-ศุกร์ ๘.๓๐ น. — ๑๗.๐๐ น.

๓) ขอใบอนุญาตธุรกิจ (Vender Permit) - ในการเปิด กิจการธุรกิจทุกประเภทจะต้องมีการจดทะเบียนขอใบอนุญาต Vender ในระดับรัฐบาลท้องถิ่น (Provincial Government) เพื่อขอรับหมายเลข Provincial Sale Tax (PST) โดยสามารถติดต่อหนวยงานในรัฐบาลท้องถิ่น อาทิเช่น ในมณฑล Ontario ผู้ประกอบการสามารถติดต่อเพื่อจดทะเบียนหมายเลขภาษี PST number ของผู้ประกอบกิจการ ได้ที่ www.serviceontario.ca

๔) ขอใบอนญาตการประกอบธรกิจร้านอาหาร (Business License) - การดำเนินธุรกิจบางประเภทในแคนาดาจะต้องได้รับ Business License นอกเหนือจาก Vender Permit อาทิเช่น ธุรกิจร้านอาหาร ในแต่ละ มณฑลในแคนาดาจะมีกฎระเบียบในการขอใบอนุญาตดังกลาวที่แตกต่างกัน ที่ออกเป็นข้อกำหนด บังคับ โดยรัฐบาลท้องถิ่น ระดับ Provincial หรือ Municipal government ซึ่งข้อกำหนดนั้นส่วนใหญ่จะพิจารณาจาก ขนาดของสถานที่ให้บริการ และบริเวณที่ตั้ง (Zoning Law) รวมทั้งผลกระทบต่างๆ เป็นต้น ในมณฑล Ontario สามารถติดต่อได้ที่

Municipal Licensing and Standards License Application and Renewal

East York Civic Centre ๘๕๐ Coxwell Avenue ๓ rd Fl.,

Toronto, ON M4C 5R1

โทรศัพท์: +๑-๔๑๖-๓๙๒-๖๗๐๐

โทรสาร: +๑-๔๑๖-๓๙๒-๓๑๙๖

เวลาทำการ: จันทร์-ศุกร์ ๘.๓๐ น. — ๑๖.๐๐ น.

๕) ขอใบอนญาตในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ (Liquor Sales License) - ร้านอาหารที่ความประสงค์ ในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์จะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนที่จำหน่ายหรือให้ บริการ ทังนี้ ใบอนุญาตอาจมีข้อจำกัดอาทิเช่น บริเวณที่ให้บริการเครื่องดื่มเฉพาะในร้านอาหารเท่านั้น ในกรณีการ ให้บริการจัดงานนอกสถานที่ (Catering Service) จะต้องขอใบอนุญาตประเภทอื่น และมีค่าใช้จ่ายที่ ต่างกันในมณฑล Ontario สามารถติดต่อสมัครได้ที่ Alcohol and Gaming Commission Licensing & Registration

๙๐ Sheppard Avenue East, Suite ๒๐๐ Toronto, Ontario M๒N ๐A๔

เวปไซด์ : www.agco.on.ca/en/b.alcohol/b2.1.salesLicences.html

๖) ขอใบอนุญาตในการติดตั้งป้ายโฆษณา (Commercial Sign Permit) - ในกรณีที่บริษัทห้างร้านมีความ ประสงค์ติดตั้งป้ายโฆษณาในเชิงพาณิชย์ ที่ตั้งอยูใกล้ทางดวน (Highway) ที่มีระยะใกล้กว่า ๔๐๐ เมตร ในมณฑล Ontario สามารถติดต่อได้ที่

Corridor Management and Property Section

๓๐๑ St. Paul Street, ๒ nd Floor,

St. Catharines, Ontario L๒R ๗R๔

โทรศัพท์ : +๑-๙๐๕-๗๐๔-๒๙๘๙

โทรสาร : +๑-๙๐๕-๗๐๔-๒๗๗๗

๗) ขอใบรับรอง Food Handler Certification — ตั้งแตวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๙ รัฐบาลท้องถิ่นในเมืองโตรอนโต (City of Toronto) ได้ออกกฎหมายบังคับว่า ผู้ประกอบการร้านอาหาร ณ เมืองโตรอนโต จะต้องมี พนักงานในเวลาทำงานในร้านอาหารอยางน้อย ๑ คนที่ผานการอบรมและสอบได้รับใบประกาศนียบัตร Food Handler Certification ซึ่งการอบรมโครงการนี้จะทำให้ผู้รับการอบรมทราบว่าของสดแต่ละชนิดต้องดูแลเก็บรักษาอย่างไรก่อนนำมาประกอบอาหาร เมื่อประกอบอาหารเสร็จแล้ว ต้องเสิร์ฟอย่างไร การดูแลเรื่องความสะอาดของภาชนะและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ รวมไปถึงการดูแลความสะอาดของผู้รับการอบรมในระหว่างการทำงานให้กับร้านอาหารนั้นๆ ทั้งนี้ สามารถหาข้อมูล/สมัครการอบรมหลักสูตรโปรแกรมเพิ่มเติม ได้ที่ http://www.toronto.ca/health/foodhandler/about.htm

ใบประกาศนียบัตร Food Handler (หน่วย:เหรียญแคนาดา)

ตามกฎหมายของรัฐบาลท้องถิ่นนครโตรอนโต ร้านอาหารในเขตพื้นที่และเมืองบริวาร ต้องมีพนักงานอย่างน้อย ๑ คน ที่มีใบประกาศนียบัตรผ่านการอบรมหลักสูตร Food Handler ของ Toronto Public Health หรือเทียบเท่ารับรองโดย Toronto Public Health ประจำที่ร้าน

การสมัคร อบรมในห้องเรียน และสอบ ใช้ระยะเวลาเพียง ๑ วัน แต่ต้องระบุในขั้นตอนการสมัคร เพื่อระบุวัน-เวลาในการเข้าอบรมและสอบ เนื้อหาการอบรมประกอบด้วย โรคสำคัญที่เกิดจากอาหารและอาหารที่ประกอบผิดสุขอนามัย การเตรียมตัวและดูแลรักษาความสะอาดก่อน ระหว่าง และหลังการประกอบอาหาร การเก็บรักษาอาหารสดที่ถูกวิธีและไม่ทำให้เกิดพิษ เป็นต้น ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครได้ที่ http://www.toronto.ca/health/foodhandler /about.htm

ค่าธรรมเนียม

          กรณีเข้าอบรมในห้องเรียนและสอบ                     $๗๙.๑๐
          กรณีสอบอย่างเดียว                                $๓๓.๙๐
          เอกสารสำหรับศึกษาเองที่บ้าน                        $๓๓.๙๐

(หากต้องการให้ส่งทางไปรษณีย์ เพิ่มค่าส่ง $๑๑.๓๐)

ค่าประกาศนียบัตรตามระเบียบของ Toronto Public Health $๕.๖๕ ต่อคน

กรณีได้รับการอบรมจากสถาบันอื่นๆ และต้องการเทียบ

          ประกาศนียบัตร จาก Toronto Public Health          $๓๓๙.๐๐ ต่อคน

สามารถิดต่อได้ที่

Food Handler Certification Program

๒๓๔๐ Dundas Street West

Toronto ON M๖P ๔A๙

สำนักงานฯ โตรอนโต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ