การท่องเที่ยวเพื่อรับบริการทางการแพทย์ในประเทศเม็กซิโกและอเมริกากลาง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 9, 2011 11:14 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การท่องเที่ยวเพื่อรับบริการทางการแพทย์ (medical tourism) เป็นภาคธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีประมาณ 50 ประเทศที่ได้ประกาศส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อบริการทางการแพทย์ เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป้าหมายสำคัญ

สมาคมการท่องเที่ยวเพื่อบริการการแพทย์แห่งสหรัฐฯ (Medical Tourism Association) ได้ร่วมมือทำการศึกษาธุรกิจดังกล่าวกับบริษัทที่ปรึกษา Deloitte และได้รายงานว่า มีผู้ที่เดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคละตินอเมริกาเพื่อรับบริการทางการแพทย์ ในปี .. 2007 มีจำนวนประมาณ 9 ล้านคน โดยขนาดของตลาดโลกสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อการแพทย์มีมูลค่าประมาณ 60 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2008 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าประมาณ 100 พันล้านเหรียญฯ ในปี ค.ศ. 2010

ผู้ที่เดินทางไปรับบริการทางการแพทย์ในต่างประเทศจากสหรัฐฯ มีประมาณ 750,000 คน ในปี ค.ศ. 2007 โดยบริษัทดีลอยท์คาดการณ์ว่า ผู้ที่เดินทางไปรับการบริการทางการแพทย์ในต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณเป็นหลายล้านคนภายในอนาคต เนื่องจากภาวะค่าบริการทางการแพทย์ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (ปีละ 8 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของดัชนีค่าครองชีพ) และประชากรสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมรับบริการประกันสุขภาพ จึงต้องแสวงหาค่าบริการที่ถูกกว่า โดยบริการทางการแพทย์ในต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับจะมีต้นทุนต่ำกว่าประมาณร้อยละ 30-40 ของค่าบริการฯ ในสหรัฐฯ ทั้งนี้ บริการทางการแพทย์ในต่างประเทศที่เป็นที่นิยม ได้แก่ การผ่าตัดศัลยกรรมพลาสติก ทันตกรรม การเปลี่ยนข้อหัวเข่า การผ่าตัดหัวใจ เป็นต้น

ประชาชนชาวอเมริกันนิยมเดินทางข้ามชายแดนไปรับบริการการแพทย์ในประเทศเม็กซิโกอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเพื่อการทำฟัน ซึ่งถูกกว่าเป็นหนึ่งในห้าของค่าทำฟันในสหรัฐฯ หรือการซื้อยาโดยใบสั่งแพทย์ซึ่งมีราคาครึ่งหนึ่งของราคาในสหรัฐฯ เมืองชายแดนที่มีบริการการแพทย์พื้นฐานสำหรับชาวอเมริกันในรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ได้แก่ เมือง Tijuana เมือง Mexicali และเมือง Laredo สำหรับการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง จะอยู่ในกรุงเม็กซิโก เมืองกัวดาราฮาร่า และมอนเตอเรย์

โรงพยาบาลในเม็กซิโกที่ได้รับการรับรองโดยองค์กรรับรองมาตรฐานการแพทย์ของสหรัฐฯ (JCI) ได้แก่ American British Cowdray Medical Center IAP ซึ่งมีสาขาอยู่ 2 แห่งในกรุงเม็กซิโก โรงพยาบาล Christus Muguerza Alta Especialidad เมือง Monterrey โรงพยาบาล Clinica Cumbres เมือง Chihuahua โรงพยาบาล CIMA ซึ่งมีสาขา อยู่ 2 แห่งคือเมือง Hermosillo รัฐโซโนรา และที่รัฐมอนเตอเรย์ โรงพยาบาล Mexico Americano เมือง Guadalajara รัฐ Jalisco โรงพยาบาล San Jose Tec de Monterrey และกลุ่ม OCA ในเมือง Monterrey รัฐ Nuevo Leon

นอกจากเม็กซิโกแล้ว ประเทศกลุ่มอเมริกากลางซึ่งมีทำเลที่ตั้งใกล้ชิดกับสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีประชากรส่วนหนึ่งของทั้งสองประเทศที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยในทั้งสองแห่ง กำลังรณรงค์ปรับปรุงและส่งเสริมบริการทางการแพทย์สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเข้มแข็ง โดยประเทศคอสตาริกาเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มนี้ มีสถาบันที่ได้รับการรับรองบริการการแพทย์โดยองค์กรฯ ในสหรัฐฯ (JCI) รวม 3 แห่ง คือ โรงพยาบาล CIMA คลีนิค Biblica และโรงพยาบาล La Catolica

ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอเมริกากลาง เช่น กัวเตมาลา ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อรับนักท่องเที่ยว เพื่อการแพทย์ในปี ค.ศ. 2012 จำนวน 5,000 ราย โดยคาดคะเนว่า นักท่องเที่ยวเพื่อการแพทย์จำนวนนี้ จะทำรายได้ให้กับประเทศกัวเตมาลาได้ 464 ล้านคินตัล ประเทศนิคารากัว มีโรงพยาบาลทีได้รับการรับรองโดย JCI หนึ่งแห่ง ได้แก่ Hospital Metropolitano และโรงพยาบาล Vivian Pellas

นอกจากนี้แล้ว ประเทศคิวบายังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการแพทย์ที่มีประวัติการให้บริการ สำหรับคนไข้ในภูมิภาคละตินอเมริกามาเป็นเวลา 40 กว่าปี มีราคาค่าบริการการแพทย์ที่ถูกกว่าค่าบริการในสหรัฐฯ กว่าครึ่งราคา มีบริการรักษาโรคมะเร็ง การผ่าตัดตา และการรักษาการติดยา เป็นต้น

ปัจจัยสำคัญที่ประเทศอเมริกากลางคาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้รองรับนักท่องเที่ยวทางการแพทย์ได้มากขึ้น ได้แก่ การขอการรับรองมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์โดยสถาบันผุ้ให้การรับรองในสหรัฐฯ ในประเทศคอสตาริกา ได้มีคลินิคที่ให้บริการการแพทย์แก่ชาวต่างชาติที่ได้รับการรับรองจาก Aaaasf (American Association for Accreditation of Ambulatory Surgery Facilities) 3 แห่งคือ คลินิค Unibe ที่ให้บริการผ่าตัด คลินิค Sonrisa para Todos ที่ให้บริการทันตกรรม และคลินิค Pino ที่เน้นให้บริการด้านศัลยกรรมตกแต่ง ทั้งนี้ ได้มีการคาดว่าคลินิคทั้งสามแห่งนี้ ให้บริการทางการแพทย์แก่ต่างชาติราว ๆ 25,000 คน และคาดว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเพื่อรับบริการทางการแพทย์ ใช้จ่ายประมาณ 400-500 เหรียญฯ ต่อคนต่อวัน ซึ่งเป็น 4-5 เท่าของนักท่องเที่ยวธรรมดา

ซึ่งตลาดเหล่านี้ถือเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย และเป็นแนวทางเลือกของคนไข้จากต่างประเทศซึ่งมีการพัฒนาด้านการบริการและความสะดวกของการเดินทางของคนไข้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

http://www.deloitte.com/assets/Dcom-UnitedStates/Local%20Assets/Documents/us_chs_MedicalTourismStudy(3).pdf

http://www.prensalibre.com/economia/Turismo-salud-genera-expectativas_0_348565150.html

http://wvw.nacion.com/ln_ee/2009/octubre/02/economia2109776.html

http://www.health-tourism.com/medical-tourism/industry-certifications/

http://www.centralamericadata.com/en/article/home/Guatemala_Commits_to_US_Medical_Tourism

http://en.wikipedia.org/wiki/International_healthcare_accreditation

http://en.wikipedia.org/wiki/Medical_tourism

http://www.medicaltourismassociation.com/en/about-the-mta.html

http://www.aaaasf.org/

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ