ตลาดสินค้าอาหารฮาลาลในจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 9, 2011 11:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. โอกาสทางการตลาด

  • ชาวมุสลิมโลก จากการศึกษาพบว่า ในปี ๒๕๕๓ ประมาณว่ามีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวนระหว่าง ๑,๖๐๐-๒,๐๐๐ ล้านคนอาศัยอยู่ในกว่า ๑๑๐ ประเทศทั่วโลก คิดเป็นร้อยละ ๒๓-๒๖ ของจำนวนประชากรโลกโดยรวม (แผนแม่บทการพัฒนาอาหารฮาลาลของมาเลเซียประเมินว่า มีชาวมุสลิมทั่วโลกรวมสูงถึง ๓,๐๐๐ ล้านคน) ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก ชาวมุสลิมถือเป็นกลุ่มชนที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดเมื่อเทียบกับผู้นับถือศาสนาอื่น จำนวนชาวมุสลิมดังกล่าวมีอัตราการขยายตัวร้อยละ ๑.๘๔ เทียบกับร้อยละ ๑.๑๒ ของอัตราเฉลี่ยของประชากรโลก และประมาณว่าราวร้อยละ ๗๐ ของชาวมุสลิมมีอายุเฉลี่ยต่ำกว่า ๒๕ ปี

ชาวมุสลิมส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในทวีปเอเซีย โดยคาดว่ามีชาวมุสลิมอาศัยอยู่กว่า ๑,๓๐๐ ล้านคนในปัจจุบัน และขยายตัวในอัตราที่สูงถึงร้อยละ ๑๒ ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในจีนและอินเดีย นอกจากนี้ ชาวมุสลิมจำนวนมากยังอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในกลุ่มประเทศสมาชิกของสหภาพอาหรับ (Arab Union) จำนวน ๒๒ ประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งประชากรร้อยละ ๙๙.๙ นับถือศาสนาอิสลาม ในประเทศเหล่านี้ อาหารทั้งหมด (รวมทั้งสินค้านำเข้า) ที่จำหน่ายในตลาดนี้จึงเป็นอาหารฮาลาล เครื่องหมายฮาลาลจึงมีความหมายน้อยมาก ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเสียเวลาตรวจสอบเครื่องหมายฮาลาลดังกล่าว

ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก (๒๕๐ ล้านคน) โดยคิดเป็นเกือบร้อยละ ๙๐ ของประชากรของประเทศ อาหารที่จำหน่ายเกือบทั้งหมดจึงเป็นอาหารฮาลาลเช่นกัน ขณะที่มากกว่าร้อยละ ๖๐ ของประชากรในมาเลเซียนับถือศาสนาอิสลาม อาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องติดเครื่องหมายฮาลาล เพื่อประโยชน์ทางการตลาด นอกจากนี้ ยังพบว่า สินค้าที่ต้องการทำตลาดในบางประเทศในภูมิภาคนี้ อาทิ สิงคโปร์ (ร้อยละ ๑๕) ซึ่งเป็น Non-Muslim Countries ก็น่าจะได้รับประโยชน์ทางการค้าจากการติดเครื่องหมายฮาลาล และไม่เสียหายหากจะติดเครื่องหมายฮาลาลในการทำตลาดสินค้าอาหารในไทย (ร้อยละ ๕ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ)

ประการสำคัญ การขยายตัวในอัตราที่สูงของชาวมุสลิมยังเกิดขึ้นแม้กระทั่งในประเทศตะวันตก อาทิ อเมริกาเหนือ (มากกว่า ๑๐ ล้านคน) โดยเฉพาะสหรัฐฯ (๘ ล้านคน) และยุโรป (๕๐ ล้านคน) มีอัตราการขยายตัวของชาวมุสลิมถึงร้อยละ ๑๔๐ ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายประเทศมีจำนวนประชากรมุสลิมเป็นจำนวนมาก เช่น ในอังกฤษ ชนชั้นกลางที่นับถือศาสนาอิสลามเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุด ส่งผลให้จำนวนเด็กต่อครัวเรือนสูงถึง ๓.๔ คน เทียบกับค่าเฉลี่ยเพียง ๑.๙ ของทั้งประเทศ ขณะที่รัสเซียมีชาวมุสลิมมากกว่า ๓๐ ล้านคน และมีการจัดตั้งศูนย์ลอจิสติกส์สินค้าอาหารฮาลาลในเมืองคาซาน (Kazan) ขณะที่เมืองทาทรัสสถาน (Tatarstan) ซึ่งเคยถูกกีดกันมิให้นับถือศาสนาเมื่อครั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสหภาพโซเวียต ก็ค้นพบว่าเป็นแหล่งที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามอาศัยอยู่มาแต่โบราณกาล

ด้วยการขยายตัวของชาวมุสลิมในยุโรปในอัตราที่สูง ทำให้ประชากรมุสลิมในยุโรปมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะฝรั่งเศส (สัดส่วนร้อยละ ๑๐ ของทั้งหมด ส่วนใหญ่มาจากแอลจีเรีย โมร็อกโก และตูนิเซีย) เยอรมนี (ร้อยละ ๔ ส่วนใหญ่เป็นชาวตุรกี) และสหราชอาณาจักร (ร้อยละ ๓ ส่วนใหญ่เป็นคนจากเอเซียใต้) โดยประมาณ ๒ ใน ๓ ของชาวมุสลิมในยุโรปและสหรัฐฯ มีอายุเฉลี่ยต่ำกว่า ๓๐ ปี ประการสำคัญ ด้วยอัตราการขยายตัวของประชากรโลกที่นับถือศาสนาอิสลามในอัตราที่สูง จำนวนและสัดส่วนประชากรโลกที่นับถือศาสนาอิสลามจึงคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ประการสำคัญ ในเชิงโครงสร้าง ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์คาดว่าชาวมุสลิมจะมีสัดส่วนร้อยละ ๒๘ ในปี ๒๕๖๓ และเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ ๓๐ ของจำนวนประชากรโลกในปี ๒๕๖๘ หรือในอีกราว ๑๕ ปีข้างหน้า และมีสัดส่วนคิดเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลกในปี ๒๕๙๓

  • ขนาดของตลาดฮาลาลโลก ผลการวิจัยหนึ่งระบุว่า มากกว่าร้อยละ ๗๐ ของชาวมุสลิมบริโภคอาหารฮาลาลอย่างเคร่งครัด และประเมินว่าในปี ๒๕๕๓ การค้าระหว่างประเทศสินค้าอาหารฮาลาลและมิใช่อาหารฮาลาล (Halal Food and Non-Food Products) มีมูลค่ารวมปีละประมาณ ๒.๘ ล้านล้านเหรียญ สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ ๑๕ ของมูลค่าการค้าโลก โดยขยายตัวในอัตรากว่าร้อยละ ๑๐ ต่อปีและมีตลาดในตะวันออกกลางซึ่งมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่ราว ๖๐๐ ล้านคนเป็นตลาดหลัก และซาอุดิอาระเบียเป็นตลาดใหญ่ที่สุด (ประมาณ ๒๕ ล้านคน และนำเข้ามากกว่า ๕,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี)

หากพิจารณาในเชิงสัดส่วนของการค้าฯ สินค้าอาหารฮาลาลต่อมูลค่าตลาดอาหารฮาลาลโลกแล้ว ก็ยังนับว่าน้อยมาก สะท้อนว่า ตลาดอาหารฮาลาลส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ตัวอย่างเช่น เนื้อสัตว์ฮาลาล ซึ่งเป็นสินค้าอาหารฮาลาลอันดับต้น ๆ ที่ค้าขายระหว่างประเทศ ก็มีสัดส่วนเพียงร้อยละ ๒-๓ ของปริมาณการบริโภคโดยรวมของโลก และคิดเป็นร้อยละ ๑๘ ในเชิงมูลค่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแต่ละประเทศเริ่มให้ความสนใจกับตลาดสินค้าอาหารฮาลาลไม่นานนัก กฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้า และการขาดมาตรฐานและเครื่องหมายฮาลาลที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย

ตารางสรุปตัวเลขสำคัญที่เกี่ยวกับชาวมุสลิมและตลาดสินค้าฮาลาล

          จำนวนประชากรโลกที่นับถือศาสนาอิสลามในปี ๒๕๕๓               ๒,๐๐๐ ล้านคน
          จำนวนชาวมุสลิมในทวีปเอเซียในปี ๒๕๕๓                       ๑,๓๐๐ ล้านคน
          จำนวนชาวมุสลิมในจีนในปี ๒๕๕๓                             ๓๐ ล้านคน
          อายุเฉลี่ยของชาวมุสลิมโลกในปี ๒๕๕๓                         ต่ำกว่า ๒๕ ปี
          สัดส่วนจำนวนประชากรโลกที่นับถือศาสนาอิสลามในปี ๒๕๕๓          ร้อยละ ๒๖
          สัดส่วนจำนวนประชากรโลกที่นับถือศาสนาอิสลามในปี ๒๕๙๓          ร้อยละ ๕๐
          มูลค่าการค้าระหว่างประเทศสินค้าฮาลาลในปี ๒๕๕๓               ๒.๘ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
          มูลค่าการค้าระหว่างประเทศสินค้าอาหารฮาลาลในปี ๒๕๕๓          ๐.๖ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
          มูลค่าตลาดอาหารฮาลาลในจีนในปี ๒๕๕๓                       ๑๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ตลาดดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้อมูลในนิตยสารฮาลาล (Halal Journal) ตีพิมพ์ในกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระบุว่า ตลาดอาหารฮาลาลทั่วโลกมีมูลค่าถึงกว่า ๖๓๒,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ ๑๖ ของมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารโลก ซึ่งต่ำกว่าสัดส่วนของจำนวนประชากรมุสลิมต่อประชากรโลกมาก

ทั้งนี้ งานวิจัยหนึ่งระบุว่า ตลาดอาหารฮาลาลใน Non-Muslim Countries สำคัญ ได้แก่ ยุโรป (๖๖,๖๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ) อเมริกาเหนือ (๑๖,๑๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ) จีน (๒๐,๘๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และอินเดีย (๒๓,๖๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม มูลค่าตลาดดังกล่าวใหญ่กว่าของตลาดอาหารออร์แกนิก (Organic Food) อยู่มาก และยังขยายตัวในระดับสองหลักอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ยังพบว่าตลาดมีอัตราการขยายตัวของการบริโภคอาหารฮาลาลโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน งานวิจัยหนึ่งระบุว่า ผู้บริโภคชาวมุสลิมในฝรั่งเศสใช้เงินในการบริโภคอาหารฮาลาลคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ ๓๕ ของรายได้ครอบครัว ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศมาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องจากครอบครัวชาวมุสลิมมีขนาดใหญ่กว่าของศาสนาอื่น ขณะที่ชาวมุสลิมในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๕๐ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดอาหารฮาลาลในประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเช่นกัน ตลาดเนื้อฮาลาลในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๗๐ ในระหว่างปี ๒๕๔๐-๒๕๔๕ นอกจากนี้ การศึกษาของ Euromonitor International ยังระบุว่า ปริมาณการจำหน่ายเนื้อสัตว์เฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๑๕ ต่อปีในระหว่างปี ๒๕๔๗-๒๕๕๒ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางและแอฟริกาที่เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ ๑๗ โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ขยายตัวสูงที่สุดถึงร้อยละ ๓๒ จอร์แดน ร้อยละ ๒๗ อียิปต์ ร้อยละ ๒๒ และซาอุดิอารเบีย ร้อยละ ๒๑

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศมุสลิม โดยเฉพาะประเทศที่ส่งออกพลังงานเป็นสำคัญ และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของประชากรมุสลิมในประเทศพัฒนาแล้ว กอรปกับสัดส่วนของคนมุสลิมที่มีอายุเฉลี่ยค่อนข้างน้อย ซึ่งมีแนวโน้มการใช้จ่ายเงินต่อหัวสูงกว่าของคนสูงอายุ และซื้อหาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เช่น อาหารพร้อมรับประทาน และสินค้าที่มีแบรนด์ ทำให้อุปสงค์และการจับจ่ายใช้สอยของชาวมุสลิมมีกำลังเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งนั่นหมายถึง ตลาดและโอกาสทางธุรกิจในสินค้าอาหารฮาลาลและมิใช่อาหารฮาลาลขนาดมหึมาที่รออยู่ในอนาคต

  • พัฒนาการของศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมในจีน ศาสนาอิสลามและอาหารฮาลาลได้เข้าสู่ประเทศจีนอย่างเป็นทางการเมื่อราวปี ๑๑๙๔ ในสมัยราชวงศ์ถัง (Tang Dynasty) โดยมีพ่อค้าชาวมุสลิมแต่งงานกับหญิงสาวชาวจีน นับแต่นั้นศาสนาอิสลามก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนในของจีน อาหารฮาลาลแพร่หลายมากขึ้นในสมัยราชวงศ์หยวน (Yuan Dynasty) ระหว่างปี ๑๘๒๒-๑๙๑๑ เนื่องจากมีทหารมุสลิมประจำอยู่ในจีนเป็นจำนวนมาก และขนมขบเคี้ยวฮาลาลบางรายการยังเป็นพระกระยาหารของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ในสมัยราชวงศ์หยวนและราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) อย่างไรก็ดี ในช่วงของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของจีน ชาวจีนที่นับถือศาสนาอิสลามต้องปกปิดความเชื่อทางศาสนาและต่อสู้เพื่อรักษาวัฒนธรรมของตนไว้

ภายหลังการเปิดประเทศสู่สากลครั้งใหม่ของจีน ชาวจีนก็ได้รับอิสรภาพในการนับถือศาสนาและชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ ปัจจุบัน รัฐบาลจีนยึดหลักการพื้นฐานของความเสมอภาค (Equality) ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Unity) การช่วยเหลือระหว่างกัน (Mutual Help) และการเติบโตร่วมกัน (Common Prosperity) ในการปฏิบัติกับชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ ทั้งนี้ การสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ก็มิได้เลือกปฏิบัติกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ขณะที่รัฐบาลของชนกลุ่มน้อยดังกล่าวสามารถบริหารเขตปกครองของตนเองภายใต้นโยบายและการกำกับของรัฐบาลกลาง ตาม The National Minority Regional Autonomy Law ที่ผ่านความเห็นชอบของสภาประชาชนในปี ๒๔๒๗

จากการศึกษาพบว่า จีนมีชาวมุสลิมอยู่กว่า ๓๐ ล้านคนในปัจจุบัน คิดเป็นประมาณร้อยละ ๒.๓ ของจำนวนประชากรจีนโดยรวม โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มขยายตัวต่อไปในอนาคต

  • กลุ่มเป้าหมายในจีน ชาวมุสลิมในจีนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ด้านตอนในและซีกตะวันตกของประเทศ อาทิ เขตปกครองอิสระหนิงเซี่ยะ (Ningxia Hui Autonomous Region) มณฑลกานซู่ (Gansu) เขตปกครองอิสระมองโกเลียใน (Inner Mongolia Autonomous Region) และเขตปกครองอิสระซินเจียง (Xinjiang Uygur Autonomous Region)

ขณะเดียวกัน ชาวจีนที่นับถือศาสนาอิสลามก็ยังกระจายตัวไปตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น กรุงปักกิ่ง (Beijing) มีชาวมุสลิมประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน เมืองเซินเจิ้น (Shenzhen) มีชาวมุสลิม ๑๒๐,๐๐๐ คน นครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai) มีชาวมุสลิมราว ๗๐,๐๐๐ คน นครกวางโจว (Guangzhou) มีชาวมุสลิม ๖๐,๐๐๐ คน และนครซีอาน (Xian) มีชาวมุสลิมกว่า ๕๐,๐๐๐ คน ดังนั้น พื้นที่ดังกล่าวจึงนับเป็นตลาดอาหารฮาลาลใหญ่ในจีน และกระจายไปยังอีกหลายเมืองรองในจีน ดังจะเห็นได้ว่า หากเราเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าว ก็จะพบเห็นร้านอาหารอิสลามเปิดให้บริการอย่างดาษดื่น

  • ขนาดของตลาดอาหารฮาลาลในจีน หากพิจารณาจากรายได้เฉลี่ยของเขตปกครองที่ชาวมุสลิมอาศัยอยู่ อาทิ หนิงเซี่ยะ กานซู่ มองโกเลียใน และซินเจียง ก็พบว่า ผู้บริโภคชาวมุสลิมในจีนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ดี ด้วยความสำเร็จในการพัฒนาประเทศและความพยายามในการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ตอนในของรัฐบาลจีน ทำให้ชาวมุสลิมในจีนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กอรปกับอัตราการขยายตัวของจำนวนประชากร (เนื่องจากชาวจีนมุสลิมได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามนโยบายลูกคนเดียว (One-Child Policy) ของรัฐบาลจีนที่กำหนดใช้ถึงกว่า ๓๐ ปีนับแต่เปิดประเทศครั้งใหม่ ทำให้ตลาดสินค้าฮาลาลกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ปัจจุบัน ตลาดอาหารฮาลาลในจีนมีมูลค่าประมาณ ๑๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ ๐.๕ ของตลาดอาหารฮาลาลโลก แต่เติบโตในอัตราที่รวดเร็ว จนนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตที่สดใส
  • พฤติกรรมผู้บริโภคในจีน ชาวจีนนิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน โดยประเมินว่า ชาวจีนรับประทานอาหารนอกบ้านกว่าร้อยละ ๖๐ ของจำนวนมื้อในแต่ละสัปดาห์ เนื่องจากชาวจีนนิยมสังสรรค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และหารือธุรกิจในระหว่างมื้อ กอรปกับวัฒนธรรมจีนให้ความสำคัญกับเรื่องหน้าตา ผู้บริโภคชาวจีนจึงนิยมเลือกร้านอาหารที่ตกแต่งสวยงามและมีห้องรับรองเพื่อความเป็นส่วนตัว

ผู้ประกอบการร้านอาหารฮาลาลในจีนต้องได้รับเครื่องหมายฮาลาลรับรอง ขณะที่อาหารจานด่วน (Fast Food) ของชาติตะวันตกที่จำหน่ายอย่างดาษดื่นในหลายมณฑลของจีนก็เป็นอาหารฮาลาล เพื่อความสะดวกในด้านการตลาด แต่ทั้งนี้ ชาวมุสลิมในจีนโดยรวมมีระดับความเคร่งครัดทางศาสนาที่น้อย เมื่อเทียบกับของประเทศในตะวันออกกลาง และชาวมุสลิมในพื้นที่ตอนในของจีน ซึ่งมีชาวมุสลิมอยู่หนาแน่น ก็เคร่งครัดทางศาสนามากกว่าของด้านซีกตะวันออกและพื้นที่อื่น ดังนั้น ร้านอาหารฮาลาลในพื้นที่ตอนในจะไม่มีเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้บริการ ขณะที่ร้านอาหารฮาลาลด้านซีกตะวันออกมีบริการหรือยอมให้ลูกค้านำเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้าขาว ไวน์ และเบียร์ เข้ามาในร้านได้

อาหารฮาลาลในพื้นที่ตอนในของจีนมีรสชาติคล้ายของตะวันออกกลาง ขณะที่อาหารฮาลาลในด้านซีกตะวันออกของจีนมีรสชาติคล้ายอาหารจีนทั่วไป โดยร้านอาหารจีนในพื้นที่แถบนี้จำนวนมากนิยมเปลี่ยนส่วนประกอบอาหารโดยใช้เนื้อแพะหรือเนื้อวัวแทนเนื้อหมูเพื่อให้บริการแก่ชาวมุสลิม ทั้งนี้ คาบาบ (Kabab) และก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัวนับเป็นอาหารยอดนิยมในเขตปกครองที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่หนาแน่น ในขณะที่อุปสงค์อาหารฮาลาลเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ธุรกิจร้านอาหารฮาลาลจึงนับว่ามีโอกาสทางการตลาดดี โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ชาวมุสลิมในจีนอาศัยอยู่ค่อนข้างหนาแน่น

ขณะเดียวกันชาวจีนก็ค่อนข้างมือเติบกับการจับจ่ายใช้สอย และนิยมมอบของขวัญของที่ระลึกในโอกาสและเทศกาลต่าง ๆ ผนวกกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การเลือกซื้อหาสินค้าที่มีคุณภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่มียี่ห้อดี ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การค้าปลีกของจีนขยายตัวสูงถึงร้อยละ ๑๕-๒๐ ต่อปี และมีแนวโน้มจะขยายตัวในอัตราที่สูงต่อไป ประการสำคัญ ยังพบว่า ในการเลือกซื้อสินค้าและบริการร้านอาหาร ผู้บริโภคจีน โดยเฉพาะชาวมุสลิมในพื้นที่ตอนใน ให้ความสำคัญกับเครื่องหมายฮาลาลมากกว่าปัจจัยราคา

  • มูลค่าการค้าระหว่างประเทศสินค้าอาหารฮาลาล เช่นเดียวกับโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศสินค้าอาหารฮาลาลต่อการบริโภครวมของโลก ตลาดสินค้าอาหารฮาลาลของจีนกระจุกตัวอยู่ภายในประเทศในสัดส่วนค่อนข้างสูง ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสินค้าอาหารฮาลาลของจีนเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดภายในประเทศยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยมาก จีนนำเข้าและส่งออกอาหารฮาลาลในมูลค่าค่อนข้างน้อยในแต่ละปี ทั้งนี้ส่วนสำคัญเนื่องจากปัจจัยทางการเมือง ภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจที่เขตปกครองฯ ที่เป็นตลาดอาหารฮาลาลหลักของจีนอยู่ในพื้นที่ตอนใน ได้รับการพัฒนาล่าช้ากว่าด้านซีกตะวันออก และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวค่อนข้างต่ำ ด้วยหลายปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้สินค้าอาหารฮาลาลมีต้นทุนด้านลอจิสติกส์สูง และมีอุปสงค์จำกัด อย่างไรก็ดี มูลค่าการค้าดังกล่าวมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง

ในด้านการส่งออกของจีน หลายพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในจีนก็เริ่มหันมาให้ความสนใจกับการส่งออกอาหารฮาลาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนิงเซี่ยะสู่ตลาดตะวันออกกลาง เอเซียกลางและอาเซียน ขณะที่จีนนำเข้าสินค้าอาหารมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอาหารฮาลาล กอรปกับรายได้เฉลี่ยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงคาดว่าภายในปี ๒๕๖๘ จีนจะกลายเป็นผู้นำเข้าอาหารฮาลาลสุทธิ (Net Importer of Halal Food Products)

๒. ช่องทางการตลาด/การกระจายสินค้า

  • ช่องทางการกระจายสินค้า เนื่องจากแหล่งผลิตและแหล่งบริโภคอาหารฮาลาลกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ กอรปกับพฤติกรรมการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการจีนที่อาศัยความสัมพันธ์ในการขยายโอกาสทางธุรกิจ ทำให้โครงสร้างการจัดจำหน่ายสินค้าอาหารฮาลาลมีลักษณะค่อนข้างปิด กล่าวคือ การกระจาย สินค้าอาหารฮาลาลในจีนส่วนใหญ่นิยมกระทำผ่านเครือข่ายธุรกิจที่มีชาวมุสลิมเป็นเจ้าของและกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เกี่ยวข้อง เพื่อความสะดวกและสบายใจในความเป็น “ฮาลาล” ของผู้บริโภค โดยเฉพาะการจำหน่ายเนื้อสัตว์ แต่ในพื้นที่อื่น ๆ การนำเข้าและช่องทางการกระจายสินค้าจะเปิดกว้างมากกว่า

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากมีองค์กรกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านศาสนาอิสลามและองค์กรที่เกี่ยวข้องเปิดให้บริการอยู่ เช่น สุเหร่า สถาบันการศึกษา สมาคมและร้านอาหารมุสลิม

จากสถิติของสมาคมอิสลามแห่งประเทศจีน (Chinese Islamic Association) ระบุว่า ประเทศจีนมีโต๊ะอิหม่ามแบบเต็มเวลา (ที่ได้รับเงินเดือน) จำนวนกว่า ๔๐,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ (Sunni) และมีสุเหร่า (Mosque) กระจายตัวในหัวเมืองต่าง ๆ เป็นจำนวนรวมกว่า ๒๓,๐๐๐ แห่ง ในจำนวนนี้มีสุเหร่าเก่าแก่ที่สำคัญเป็นจำนวนมาก อาทิ ปักกิ่งมี ๓๒ แห่ง ซีอานมี ๑๑ แห่ง เฉิงตู (Chengdu) และอูหลู่มู่ฉี (Ulumqi) มีเมืองละ ๙ แห่ง เซี่ยงไฮ้มี ๗ แห่ง ขณะที่กวางโจว คุนหมิง (Kunming) และกุ้ยหลิน (Guilin) มี ๖ แห่ง นอกจากนี้ ลาซ่า (Lhasa) ยังมีสุเหร่า ๓ แห่ง และเซินเจิ้นมี ๑ แห่ง

ขณะเดียวกันสมาคมอิสลามแห่งประเทศจีน ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 103 ถนนหนานเหิง (Nan Heng Street) เขตซวนหวู่ (Xuanwu District) กรุงปักกิ่ง ก็เป็นสมาคมหลักของชาวมุสลิมในจีน เชื่อมโยงกับสมาคมในระดับมณฑล เช่น Shandong Islamic Association และ Islamic Association of Henan บุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องเหล่านี้เป็นช่องทางในการสร้างสายสัมพันธ์และใช้ประโยชน์ในการเจาะตลาดสินค้าอาหารฮาลาลเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกันช่องทางจัดจำหน่ายสมัยใหม่ (Modern Trade) ในจีนก็ได้รับความนิยมมากขึ้นโดยลำดับ ช่องทางจัดจำหน่ายสมัยใหม่ที่มีรูปแบบทางธุรกิจที่ง่ายต่อการขยายสาขา (Chain Store) อย่างเช่น ดิสเค้าท์สโตร์ (Discount Store) ไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) ร้านขายสินค้าเฉพาะด้าน (Specialized Shop) ร้านค้าส่งสำหรับสมาชิก (Membership Store) หรือแม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) กำลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทุกหัวระแหงในเมืองใหญ่ของจีน และขยายตัวไปยังเมืองรองด้านซีกตะวันตกของจีนอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น สินค้าอาหารเกือบทั้งหมดที่จำหน่ายเป็นอาหารฮาลาล ช่องทางจัดจำหน่ายสมัยใหม่หลายแห่ง อาทิ คาร์ฟูร์ และวอล-มาร์ท โดยเฉพาะในสาขาที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ ต่างนำเอาอาหารแช่แข็งและกระป๋องที่ติดฉลากเครื่องหมายฮาลาลขึ้นจำหน่ายอย่างแพร่หลายมากขึ้น หรือจัดมุมหรือชั้นวางสินค้าอาหารฮาลาลเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าจะมีการจัดเทศกาลอาหารฮาลาลในช่องทางจัดจำหน่ายเหล่านี้ในอนาคตอันใกล้ ขณะที่ศูนย์ค้าส่งสินค้าเกษตรในหลายเมือง อาทิ เซี่ยงไฮ้ และอี้อู (Yiwu) ก็มีชาวมุสลิมแวะเวียนไปซื้อหาสินค้าฮาลาลเป็นจำนวนหลายล้านคนในแต่ละปี

อีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจมากได้แก่ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พลเมืองเน็ตในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี ๒๕๕๓ ประเมินว่ามีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในจีนอยู่ประมาณ ๔๕๐ ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ ๓๕ ของจำนวนประชากรจีนโดยรวม พลเมืองเน็ต (Netizen) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นกลางและอยู่ในช่วงวัยรุ่นและวัยทำงาน และพบว่ากลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทก็มีการขยายตัวของการใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น

ประการสำคัญ สัดส่วนของคนเหล่านี้ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทำให้การขายสินค้าอาหารฮาลาลผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เว็บไซต์สินค้าฮาลาลที่นำเสนอในรูปภาษาอังกฤษ อารบิค และจีน อาทิ halal-food.cn ก็นับว่าเป็นหนึ่งในช่องทางการตลาดที่ดีของสินค้าอาหารฮาลาลในตลาดจีน นอกจากนี้ เรายังพบว่าพลเมืองเน็ตชาวจีนเหล่านี้ตัดสินใจซื้อหาสินค้าและบริการโดยได้รับอิทธิพลจากความคิดเห็นและคำแนะนำของคนที่ติดต่อกันผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังคาดว่าในอีก ๕ ปีข้างหน้า เราจะได้เห็นพลเมืองเน็ตชาวจีนเพิ่มขึ้นไปเฉียด ๑,๐๐๐ ล้านคน ประการสำคัญ คนเหล่านี้จะใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการซื้อหาสินค้าในสัดส่วนที่มากขึ้น ช่องทางดังกล่าวนี้จะช่วยให้สินค้าอาหารฮาลาลของไทยสามารถเข้าถึงตลาด ๑ ใน ๓ ของจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จึงนับว่ามีศักยภาพสูงมากในการเป็นช่องทางสื่อสารและจัดจำหน่ายสินค้าอาหารฮาลาลและมิใช่ฮาลาลของไทยในตลาดจีนในระยะยาว

โดยสรุป องค์กรกลางของรัฐและเอกชน เช่น สุเหร่า สถาบันการศึกษา และสมาคม สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ช่องทางจัดจำหน่ายสมัยใหม่ ตลาดค้าส่ง-ค้าปลีก และร้านอาหาร รวมทั้งพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จึงมีศักยภาพสูงในการเป็นช่องทางสื่อสารและจัดจำหน่ายสินค้าอาหารฮาลาล หรือเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ของสินค้าและบริการอื่นของไทยเพื่อเข้าสู่ตลาดจีนได้ในระยะยาว

  • งานแสดงสินค้าและกิจกรรมสำคัญ เนื่องจากในด้านซีกตะวันออกของจีนมีชาวมุสลิมอยู่จำกัด ทำให้งานแสดงสินค้าในมณฑลด้านซีกตะวันออกไล่ไปจนถึงอีสานจีนส่วนใหญ่เป็นงานสินค้าอาหารทั่วไป ที่มีการนำเสนอสินค้าอาหารฮาลาลปะปนอยู่

เซี่ยงไฮ้นับเป็นศูนย์กลางของงานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติในจีน โดยมีงานแสดงสินค้าประจำปีที่ดำเนินการโดยบริษัทเอกชนที่สำคัญได้แก่ SIAL, HOTELEX และ FHC รวมทั้งงาน China International Import Food Trade Fair ณ กรุงปักกิ่ง เนื่องจากงานแสดงสินค้าดังกล่าวจะมีผู้ซื้อ ผู้ผลิต และผู้ที่ทำตลาดสินค้าฮาลาลจากหลายมณฑลในจีนและจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาเยี่ยมชมงานดังกล่าว ทำให้ผู้จัดงานนิยมจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งนำเสนออาหารฮาลาลภายในงานแสดงสินค้าของตนขึ้นเป็นการเฉพาะ ขณะเดียวกัน ยังมีงานแสดงสินค้าอาหารฮาลาลที่จัดโดยรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ร่วมกับรัฐบาลของมณฑลที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มาก แต่ตลาดส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นในนครเซี่ยงไฮ้และมณฑลใกล้เคียงเท่านั้น

งานแสดงสินค้าอาหารฮาลาลส่วนใหญ่จัดขึ้นในพื้นที่ตอนในของจีนซึ่งมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก งานแสดงสินค้าที่สำคัญ อาทิ งานแสดงสินค้า China (Qinghai) International Halal Food and Products Fair (CIHFP) ณ ชิงไห่ และงานแสดงสินค้า China (Ningxia) International Festival for Halal Food and Muslim Commodities ณ หนิงเซี่ยะ

๓. ขั้นตอนการนำเข้าสินค้าและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

  • กฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้า ในการนำเข้าสินค้าอาหารฮาลาลสู่จีนนั้น สินค้าเหล่านั้นจะต้องมีเอกสารยืนยันผ่านการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านอาหารของ CIQ ดังเช่นสินค้าอาหารทั่วไป เครื่องหมายฮาลาลจึงเป็นสัญลักษณ์เพื่อประโยชน์ในเชิงการตลาดเท่านั้น ดังนั้น ผู้ประกอบการของไทยอาจใช้เครื่องหมายฮาลาลที่รับรองโดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ ขณะที่สินค้าอาหารฮาลาลส่งออกของจีนนิยมขอเครื่องหมายฮาลาลที่หนิงเซี่ยะ ขณะที่บางรายนิยมขอเครื่องหมายดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของมาเลเซีย เช่น Department of Islamic Development เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในต่างประเทศ
  • กฎระเบียบเกี่ยวกับการขอเครื่องหมายฮาลาล เนื่องจากยังไม่มีการจัดระเบียบมาตรฐานเครื่องหมายฮาลาลในจีน ทำให้สินค้าอาหารฮาลาลที่ผลิตขึ้นและร้านอาหารฮาลาลในจีนสามารถยื่นขอเครื่องหมายฮาลาลได้จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น สำนักงานการศาสนาและชนกลุ่มน้อย (Ethnic and Religious Affair’s Office) รัฐบาล สมาคมมุสลิม และสุเหร่าในแต่ละเมือง ประการสำคัญ เงื่อนไขข้อกำหนดและค่าบริการในการยื่นขอเครื่องหมายดังกล่าวดูเหมือนจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละหน่วยงานและพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่กำหนดให้เครื่องหมายฮาลาลมีอายุ ๑-๓ ปี และกำหนดให้มีการตรวจสอบสถานที่และกระบวนการผลิตทุกปี

สำหรับตลาดค้าส่ง-ค้าปลีกสินค้าเกษตรและสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ต้องการขอรับเครื่องหมายฮาลาลรับรอง ต้องแยกพื้นที่จำหน่ายสินค้าฮาลาลเป็นสัดส่วน และต้องกำหนดจุดฆ่าสัตว์อย่างชัดเจน โดยผู้ที่ฆ่าจะต้องมีใบอนุญาตจากสมาคมอิสลามในระดับเมืองขึ้นไป ขณะที่ร้านอาหารฮาลาลนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดให้ผู้ยื่นต้องเป็นชาวมุสลิม (ชนกลุ่มน้อยที่บริโภคอาหารฮาลาลเป็นหลัก) อย่างน้อย ๑ คน และต้องมีผู้รับผิดชอบด้านการจัดซื้อ การฆ่า การจัดเก็บ การปรุงอาหารเป็นชาวมุสลิม ขณะที่ในการตรวจสอบเพื่อออกเครื่องหมายฮาลาลรับรองนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาสถานประกอบการ อุปกรณ์ประกอบอาหาร ภาชนะเก็บรักษา และพาหนะขนส่งเป็นสำคัญ และต้องเขียนหลักการและระบบการจัดการอาหาร ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาหารฮาลาลในจีนจากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องได้ เช่น www.chinahalal.com, www.islamichina.com, www.midas.com, www.halalfocus.net และ www.travelchinaguide.com

  • ข้อสังเกตและปัญหาอุปสรรคในการนำเข้าสินค้า สินค้าอาหารฮาลาลของไทยเข้ามาทำตลาดในจีนค่อนข้างน้อย ขณะที่ปัญหาอุปสรรคในการนำเข้าสินค้าที่พบเห็นบ่อยได้แก่ การไม่ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานคุณภาพสินค้าของรัฐบาลจีน และระยะเวลาในการตรวจสอบที่ล่าช้า

๔. อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในประเทศจีน

  • ศักยภาพการผลิต รัฐบาลและผู้ประกอบการของจีนเองก็ให้ความสำคัญอย่างมากกับตลาดอาหารฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ เฉพาะในมณฑลหนิงเซี่ยะซึ่งมีชาวมุสลิมคิดเป็นราวร้อยละ ๑๐ ของชาวมุสลิมทั้งหมดในจีน ก็คาดว่ามีผู้ผลิตสินค้าอาหารฮาลาลจำนวนมากกว่า ๑๐,๐๐๐ รายในปัจจุบัน ผู้ผลิตดังกล่าวครองสัดส่วนทางการตลาดอาหารฮาลาลถึงร้อยละ ๘๐ ของตลาดทั้งหมด และรัฐบาลมาเลเซียได้ให้ความเห็นชอบและยอมรับในมาตรฐานการออกเครื่องหมายฮาลาลของศูนย์รับรองเครื่องหมายฮาลาล (Halal Certification Center) ณ นครอิ้นชวนเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา นอกจากนี้ รัฐบาลหนิงเซี่ยะยังได้จัดผู้ปรุงอาหารฮาลาลจำนวน ๗๐ คนไปประกอบอาหารฮาลาลแก่นักกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้สื่อข่าว และผู้ที่เกี่ยวข้องในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่นครกวางโจว เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้หนิงเซี่ยะได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตและการจำหน่ายอาหารฮาลาลสำคัญของจีน โดยเฉพาะในเมืองหวู๋จง (Wuzhong) และเมืองเหอหลาน (Helan) ทั้งนี้ จากการศึกษายังพบว่า เมืองหวู๋จงนับเป็นตลาดค้าส่งเนื้อวัวและแกะฮาลาลที่ใหญ่ที่สุดของจีน

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการของหนิงเซี่ยะที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงต่างได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้โบยบินออกไปบุกตลาดต่างประเทศกันมากขึ้น ปัจจุบัน หนิงเซี่ยะส่งออกอาหารฮาลาลในมูลค่าปีละกว่า ๑๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ และผลจากการส่งเสริมของภาครัฐในระยะหลังอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่ามูลค่าส่งออกดังกล่าวจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง ๕ ปีข้างหน้า

ขณะที่ในพื้นที่อื่น ๆ ของจีนก็มีการพัฒนาเขตผลิตอาหารฮาลาลขนาดใหญ่และมีผู้ประกอบการชั้นนำเป็นจำนวนมาก เช่น มณฑลกานซู่พัฒนาสวนอุตสาหกรรมฮาลาล (Halal Food Industrial Park) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเนื้อสัตว์ฮาลาลที่ใหญ่ที่สุดของมณฑล ณ เมืองหลินเซี่ยะ (Linxia) ทั้งนี้ ในแต่ละพื้นที่มีมีกิจการอาหารฮาลาลชั้นนำจำนวนมากตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว อาทิ

หนิงเซี่ยะ
  • Laohe Qiao Halal Beef and Mutton Manufacturing Co., Ltd. ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองนับเป็นหนึ่งในโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ฮาลาลที่ใหญ่ที่สุดในจีนตะวันตก โดยชำแหละเนื้อแกะปีละกว่า ๑ ล้านตัว วัว ๘๐,๐๐๐ ตัว และอูฐ ๑๐,๐๐๐ ตัว
  • Ningxia Ghani Muslim Products Trading Co., Ltd. เป็นกิจการค้าระหว่างประเทศของมาเลเซียที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ โดยเน้นการซื้อขายสินค้าระหว่างหนิงเซี่ยะ-มาเลเซีย-ไทย
  • Ningxia Yinchuan Famous and Local Products Co., Ltd. ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๓๘ โดบยมีแปลงเพาะปลูกขนาดใหญ่ของตนเอง และผลิตและแปรรูปผัก ผลไม้ และชา มากกว่า ๒๐๐ ตันต่อปี และจัดจำหน่ายภายใต้ยี่ห้อ “Ningji” และ “Baiyi” ของตนเอง ซึ่งได้รับรางวัลสินค้าคุณภาพดีเด่นมากมาย
  • Ningxia Yishunyuan Agriculture & Industry Co., Ltd.
  • Ningxia Wolfberry Biological Food Engineering Co., Ltd. ก่อตั้งนับแต่ปี ๒๕๔๓ ด้วยทุนจดทะเบียน ๑๖.๘ ล้านหยวน โดยมีประสบการณ์และเทคโนโลยีสูงในการออกแบบ วิจัยและพัฒนา ผลิต และทำการตลาดสินค้าลูกเก๋ากี้ (Wolfberry)
  • Ningxia A-La-Ding Trade Co., Ltd. หนึ่งในผู้ผลิตเนื้อสัตว์ฮาลาล โดยเฉพาะเนื้อแพะทอด เนื้อวัวทอด เนื้อวัวทอดราดซอส และเนื้อแกะตุ๋น
  • Ningxia Asso Halal Food Co., Ltd. ผลิตบะหมี่สำเร็จรูปรสชาติต่าง ๆ จำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตในตลาดจีน และตลาดตะวันออกกลางและเอเซียใต้
กานซู่
  • Gansu Linxia Alifu Halal Food Co., Ltd. ผลิตลูกกวาด ภายใต้แบรนด์ “Alifu”
  • Gansu Hualing Casein Co., Ltd. ผลิตนมวัวทิเบต (Yak Milk) ซึ่งใช้ในการผลิต กาว หนัง กระดาษ สารเสริมอาหาร นมเทียม ยา วัสดุก่อสร้าง เครื่องประดับ และอื่น ๆ โดย ส่งออกไปยังตลาดอเมริกาเหนือ ยุโรป และตะวันออกกลาง รวมเกือบ ๙๐ ประเทศทั่วโลก
  • Gansu Huaxia Diary Products Co., Ltd. ทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นม
  • ลักษณะการแข่งขัน ในมิติหนึ่ง อุปสงค์สินค้าอาหารฮาลาลในจีนกำลังขยายตัว และในอีกด้านหนึ่ง ก็พบว่า อุปทานทั้งจากภายในและต่างประเทศกำลังถาโถมเข้าจีนมากขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการของจีนบางส่วนก็ทยอยออกไปขยายตลาดอาหารฮาลาลในตลาดโลกกันมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลเชิงลบต่อตลาดสินค้าฮาลาลที่ไทยเคยจับอยู่
  • การโฆษณาและราคา มีความหลากหลายทุกประเภทและระดับตลาด แต่ไม่สังเกตเห็นการโฆษณาความเป็น “สินค้าอาหารฮาลาล” ผ่านสื่อระดับประเทศ ซึ่งอาจเป็นเพราะตลาดมีลักษณะที่กระจุกตัวหนาแน่นอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น จึงไม่คุ้มที่จะโฆษณาประชาสัมพันธ์ในระดับประเทศ
  • การตอบสนองของกลุ่มผู้บริโภค ท่ามกลางการเปิดรับต่อสินค้านำเข้าของผู้บริโภคจีน ทำให้การตอบสนองต่ออาหารฮาลาลมีทิศทางในเชิงบวก อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการติดเครื่องหมายฮาลาล โดยเฉพาะการทำตลาดสินค้าในพื้นที่ตอนใน และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ (สีและภาษา) และการสื่อสารเครื่องหมายดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้าง
  • กิจการที่เป็นผู้นำตลาด นอกเหนือจากเมืองในด้านตอนในที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นแล้ว ในพื้นที่ด้านซีกตะวันออกของจีนมีร้านอาหารมุสลิมเปิดให้บริการอยู่หลายแห่งกระจายในหลายเมือง เช่น นครคุณหมิงมีร้านอาหารมุสลิมถึง ๑,๒๐๐ แห่ง ทั้งนี้ ร้านอาหารมุสลิมชื่อดังในจีนมีเป็นจำนวนมาก อาทิ ร้านสุกี้ตงไกลชุน (Donglaishun Hot Pot) ซึ่งเปิดแห่งแรกที่ปรุงปักกิ่ง ก็นับเป็นร้านอาหารมุสลิมชั้นนำที่มีสาขามากมายในหลายเมืองของจีน ร้านหงปิงหลัว (Hongbinlou) และร้านอี้จินหยวน (Yijinyaun) ณ กรุงปักกิ่ง นอกจากนี้ ในนครซีอานก็มีร้านเหลาชุนเจี๋ย (Laosunjia) และทงเซิงเสียง (Tongshengxiang) ร้านหงฉางซิง (Hongchangxing) ในนครเซี่ยงไฮ้ และร้านหวู๋หยาง (Wuyang) และร้านหุยหมิน (Hui Min) ในนครกวางโจว

ทั้งนี้ หนึ่งในแบรนด์อาหารฮาลาลชั้นนำของจีนได้แก่ “Yueshengzhai” (เยว่เซิงไจ่) ซึ่งเปิดกิจการนับแต่ปี ๒๓๑๘ ณ กรุงปักกิ่ง โดยในยุคแรกจำหน่ายเนื้อวัวและแพะหมักเป็นหลัก โดยมีสูตรลับที่ปรุงแต่งรสชาติด้วยเครื่องเทศของจีนและเน้นเรื่องการถูกสุขอนามัย

  • การนำเข้าสินค้าจากไทย และสัดส่วนทางการตลาด ที่ผ่านมา สินค้าอาหารฮาลาลของไทยเข้ามาทำตลาดในจีนน้อย ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ กอรปกับธรรมชาติของการค้าสินค้าอาหารฮาลาลต่อตลาดภายในประเทศที่ค่อนข้างจำกัด จึงทำให้สินค้าอาหารฮาลาลของไทยมีสัดส่วนทางการตลาดน้อยมากในตลาดจีน แต่ทั้งนี้ หากมองในอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนว่า สินค้าอาหารฮาลาลของไทยมีโอกาสและศักยภาพทางธุรกิจสูงในตลาดจีน
  • การสนับสนุนส่งเสริมของภาครัฐ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐและเอกชนของหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ อิหร่าน ตุรกี อียิปต์ และบราซิล จึงต่างหันมาให้ความสนใจในการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือด้านการผลิตและทำตลาดสินค้าอาหารฮาลาลในจีนกันมากขึ้น รัฐบาลของหลายประเทศถึงขนาดตั้งงบประมาณสนับสนุนจำนวนมหาศาลและยกเครื่องอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของตนอย่างจริงจัง
ตัวอย่างเช่น มาเลเซียซึ่งดูเหมือนจะเป็นประเทศต้นแบบที่ดำเนินการเรื่องนี้ในเชิงรุกอย่างจริงจัง ได้จัดตั้ง Halal Industry Development Corporation (HDC) เพื่อเป็นองค์กรกลางในการประสานงานการพัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าฮาลาลเป็นการเฉพาะ และลงทุนจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลจำนวนหลายแห่งในประเทศ เช่น Pulau Indah ในซลังงอ (Selangor) Serkam Pantai ในมะละกา (Melaka) Paya Pahlawan ในรัฐเคดาห์ (Kedah) Pantai Remis ในรัฐเปรัค (Perak) และ Gambang ในปาหัง (Pahang) ศูนย์ออกเอกสารรับรองเครื่องหมายฮาลาลแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว รวมทั้งจัดกิจกรรมระดับระหว่างประเทศ อาทิ Malaysia International Halal Showcase (MIHAS) และ World Halal Forum (WHF) รวมทั้งตีพิมพ์นิตยสารรายเดือนที่มีคุณภาพดีชื่อ “Halal Journal” เพื่อพัฒนาและตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลโลก

รัฐบาลออสเตรเลียอนุมัติเงินงบประมาณ ๑๐๐ ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ ๓,๐๐๐ ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาล ขณะที่นิวซีแลนด์ปรับให้ ๙๕% ของเนื้อแกะส่งออกทั้งหมดเป็น “ฮาลาล” และจะให้สมบูรณ์ทั้ง ๑๐๐% ในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ ท่าเรือร็อตเตอร์ดัม (Port of Rotterdam) ก็จัดสรร “Halal DistriPark” สำหรับให้บริการสินค้าฮาลาลขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อรองรับตลาดสินค้าฮาลาลขนาดใหญ่ในยุโรป

ในส่วนรัฐบาลจีน เขตปกครองอิสระหนิงเซี่ยะ ซึ่งแม้จะมีชาวมุสลิมอยู่ไม่ถึง ๓ ล้านคน และคิดเป็นเพียง ๑ ใน ๓ ของประชากรโดยรวม แต่ดูจะพัฒนาเป็นต้นแบบการส่งเสริมการตลาดอาหารฮาลาลออกสู่ตลาดต่างประเทศในเชิงรุก โดยเมื่อปลายเดือนกันยายน ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัด China-Arab States Economic and Trade Forum ที่นครอิ้นชวน (Yinchuan) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งนับว่างานดังกล่าวช่วยให้เกิดผลทางการค้าและการลงทุนที่เป็นรูปธรรม โดยจนถึงปัจจุบัน มีกิจการในตะวันออกกลางมากกว่า ๓๐๐ รายส่งผู้แทนเข้ามาเยี่ยมและศึกษาตลาดแล้ว ผลจากความสำเร็จดังกล่าวทำให้รัฐบาลวางแผนที่จะจัดกิจกรรมนี้ขึ้นเป็นประจำทุกปีคู่ขนานกับงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขยายการดำเนินการไปยังตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพอื่นในเอเซียกลางและอาเซียน

๕. ข้อเสนอแนะ

  • แนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์สินค้าฮาลาล ในการพัฒนาตลาดสินค้าฮาลาลในจีน ประเทศไทยควรพิจารณาให้ครอบคลุมทั้งสินค้าอาหารฮาลาลและมิใช่อาหารฮาลาล และเนื่องจากจีนมิใช่ตลาดหลักที่จะสามารถใช้ประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ความเป็นผู้นำในตลาดสินค้าอาหารฮาลาลได้ เราจึงควรมองไกลออกไปยังตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดประเทศพัฒนาแล้วและตะวันออกกลาง ซึ่งมีขนาดใหญ่ทั้งเชิงปริมาณและเพิ่มขึ้นในเชิงคุณภาพ

สิ่งแรกที่ประเทศไทยจะต้องเร่งสร้างคือ “ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่น” ของความเป็นแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลของไทยในตลาดประเทศมุสลิมหรือสหภาพยุโรป และนำกลับมาขยายผลในตลาดจีน โดยไทยควรพัฒนาต่อยอดจากวิสัยทัศน์ “Kitchen to the World” ที่มีอยู่เดิม การจะพัฒนาไทยเป็นครัวของโลกจึงไม่สามารถมองข้ามการพัฒนาตลาดอาหารฮาลาลได้ นอกจากนี้ การที่มุสลิมส่วนใหญ่ยังใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจระหว่างกัน ก็ทำให้ภาครัฐและเอกชนของไทยต้องเร่งศึกษาวิเคราะห์และสนับสนุนส่งเสริมการทำตลาดสินค้านี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะตลาดนี้นับว่า “สร้างยาก” แต่เมื่อสร้างขึ้นมาได้แล้ว ก็ “ง่ายต่อการขยาย” ตลาด ในทางกลับกัน หากเราสูญเสียตลาดนี้ให้คู่แข่งขัน ก็จะเป็นการ “ยากที่จะเรียกคืนกลับมา” รัฐบาลและเอกชนของไทยจึงควรให้ความสนใจและร่วมมือกันให้การสนับสนุนส่งเสริมการผลิตและทำตลาดสินค้าอาหารฮาลาลในต่างประเทศอย่างจริงจัง เฉกเช่นเดียวกับของประเทศอื่น

ในการนี้ การพัฒนาฐานการผลิต การสร้างฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และการส่งเสริมการตลาดสินค้าอาหารฮาลาลและการประกอบการธุรกิจร้านอาหารฮาลาลเข้าสู่ตลาดเป้าหมาย โดยเฉพาะวัยรุ่นจีนซึ่งเปิดรับและนิยมสินค้าต่างประเทศมากกว่าคนกลุ่มอื่น รวมทั้งการเข้าสู่ตลาดผ่านช่องทางจัดจำหน่ายสมัยใหม่เป็นสิ่งจำเป็นที่ไทยควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ การกำหนดมาตรการส่งเสริมด้านการตลาดสินค้าอาหารฮาลาล และกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดจีนที่หลากหลายและเป็นระบบจึงนับเป็นการบ้านใหญ่ของไทย ทั้งนี้ โดยมีข้อคิดเห็นเพื่อประกอบการกำหนดยุทธศาสตร์และกิจกรรม/โครงการ ดังนี้

๕.๑ “Beyond Two-Way Trade and Economic Purposes” เนื่องจากชาวมุสลิมและตลาดอาหารฮาลาลหลักของจีนกระจุกตัวอยู่ทางตอนในของประเทศ ซึ่งอยู่ไกลจากชายฝั่งทะเล ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านลอจิสติกส์สินค้าอาหารฮาลาลของไทยมายังตลาดจีนมีสัดส่วนค่อนข้างสูง กอรปกับข้อจำกัดในเรื่องภาพลักษณ์ของความเป็นศูนย์กลางด้านสินค้าอาหารฮาลาลของไทย ก็อาจเป็นอุปสรรคในการส่งออกอาหารฮาลาลสู่ตลาดจีน ในทางกลับกัน จีนมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสำหรับการผลิตเนื้อสัตว์และวัตถุดิบอื่น กอรปกับการทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีของไทยกับจีนและอีกหลายประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการของไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตและทำตลาดสินค้าฮาลาลในจีน หรืออาจนำเข้าวัตถุดิบมาสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศเพื่อส่งต่อไปยังตลาดที่ ๓ เพื่อเอาประโยชน์จากปัจจัยเสริมในการสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่กิจการและเศรษฐกิจของไทยโดยรวม

ขณะเดียวกันการสนับสนุนส่งเสริมให้ชาวมุสลิมของไทยออกมาประกอบการในจีนยังจะช่วยสร้างแนวร่วมและลดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงทางการเมืองในระยะยาว จึงไม่ควรใช้ปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นเป็นชี้วัดความสำเร็จของกิจกรรม/โครงการ

๕.๒ “Natural Halal” สินค้าอาหารจำนวนมากที่ไทยเราสามารถผลิตได้และมิได้มีองค์ประกอบของสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เรียกว่าเป็นอาหารฮาลาล “โดยธรรมชาติ” (ซึ่งไม่จำเป็นต้องติดเครื่องหมายฮาลาล) แต่สามารถจับตลาดคนมุสลิมในจีนที่มีกำลังซื้อสูงได้ อาทิ ข้าว น้ำตาล ผักและผลไม้สด และน้ำดื่ม (แม้ว่าในทางปฏิบัติ ผู้ผลิตผู้ส่งออกอาหารดังกล่าวพยายามหาเครื่องหมายฮาลาลมาติดไว้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและประโยชน์ทางการตลาดก็ตาม)

๕.๓ “More than Muslim” นอกเหนือจากตลาดประเทศมุสลิมทั่วโลกแล้ว ประเทศไทยควรพิจารณาตลาดสินค้าฮาลาลในมุมกว้าง โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะประเทศหรือมณฑลที่มีชาวมุสลิมอาศัยเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น เพราะในหลายภูมิภาคก็มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่แทบทั้งสิ้น เช่น อเมริกาเหนือมีชาวมุสลิมกว่า ๑๐ ล้านคน และยุโรปมีประมาณ ๕๐ ล้านคน ขณะที่หลายประเทศ ซึ่งแม้ว่าจะมีสัดส่วนของจำนวนประชากรชาวมุสลิมไม่มากนัก แต่ก็เป็นตลาดอาหารฮาลาลที่มีขนาดใหญ่ เช่น สิงคโปร์มีชาวมุสลิมร้อยละ ๑๖ ของจำนวนประชากรโดยรวม แต่ธุรกิจอาหารจานด่วนอย่างแมคโดนัลด์และเคเอฟซี ต่างก็ใช้เนื้อฮาลาลทั้งสิ้นเพื่อลดความยุ่งยากในการให้บริการอาหารต่อลูกค้าโดยรวม

เนื่องจากอาหาร “ฮาลาล” เป็นอาหารปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความต้องการด้านอาหารของโลก จึงประเมินว่ากว่าร้อยละ ๒๐ ของตลาดสินค้าอาหารฮาลาลในปัจจุบันเป็นผู้คนที่มิได้นับถือศาสนาอิสลาม (Non-Muslim) ว่าง่าย ๆ คนกลุ่มหลังนี้อาจอยู่ในประเทศมุสลิม ซึ่งอาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารฮาลาล ก็เลยเป็นส่วนหนึ่งของตลาดอาหารฮาลาลในทางอ้อมด้วยเช่นกัน

๕.๔ “Beyond China” แม้ว่าจีนจะเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ ๑ ของไทยในปัจจุบัน แต่การส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลของไทยสู่ตลาดจีนยังนับว่าน้อยมากในปัจจุบัน ขณะเดียวกันไทยนับว่ามีความสามารถในการผลิตอาหารฮาลาล (โดยธรรมชาติ) ป้อนตลาดโลก หลากหลายประเภท อาทิ ผลไม้สดและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป น้ำผลไม้ น้ำตาล เครื่องแกงและเครื่องปรุงรส ดังนั้น ไทยจึงควรต่อยอดจากวิสัยทัศน์ “Kitchen to the World โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านการผลิตและเครือข่ายการตลาดที่มีอยู่เดิม และต่อยอดเข้าสู่ตลาดอาหารฮาลาลประเภทอื่น โดยเฉพาะตลาดในอาเซียน เอเซียใต้ และตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการของไทยยังอาจใช้ตลาดจีนเป็นกระดานดีด (Springboard) ส่งสินค้าต่อไปจำหน่ายยังตลาดประเทศที่ทำความตกลงการค้าเสรีกับจีนและประเทศเพื่อนบ้านของจีนที่สินค้าของไทยเข้าถึงลำบากแต่แฝงไว้ด้วยศักยภาพทางการตลาด อาทิ ปากีสถาน คาซักสถาน คีร์กิซสถาน มองโกเลีย และรัสเซีย หรือแม้กระทั่งใช้ประโยชน์ในการทดสอบวิจัยและพัฒนาสินค้าในตลาดจีนจนได้ที่แล้วจึงค่อยขยับไปยังตลาดประเทศอื่น

๕.๕ “Super Halal” ด้วยขนาดของตลาดสินค้าอาหารฮาลาลที่กำลังขยายตัวและสลับซับซ้อนมากขึ้นในหลายเมืองใหญ่ในจีน ก็สะท้อนถึงโอกาสทางธุรกิจสำหรับสินค้าอาหารฮาลาลในเชิงคุณภาพ เช่น อาหารฮาลาลสุขภาพ (Healthy Halal Food) และอาหารฮาลาลอินทรีย์ (Organic Halal Food)

นอกจากนี้ ยังควรขยายโอกาสทางธุรกิจไปยังสินค้าและธุรกิจบริการที่มีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน เช่น สินค้าฮาลาลอื่นที่มิใช่อาหาร (เช่น เครื่องดื่ม ยาและเครื่องประทินผิว เครื่องแต่งกาย งานศิลป์ ของที่ระลึก และของขวัญของตกแต่งบ้าน) รวมทั้งการเปิดธุรกิจร้านอาหารฮาลาล โรงแรมฮาลาล (เช่น อาหาร เครื่องนอน ของใช้ในห้อง และเฟอร์นิเจอร์ฮาลาล) สถาบันการเงิน ทัวร์ฮาลาล โรงพยาบาลฮาลาล และแม้กระทั่งบริการด้านลอจิสติกส์สินค้าฮาลาล

รวบรวมและเรียบเรียงโดย

ดร. ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ผอ. สคร. ณ นครเซี่ยงไฮ้

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ