รายงานตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในเดนมาร์ก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 10, 2011 14:36 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. ข้อมูลทั่วไป

แม้ว่าเดนมาร์กจะเป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรอยู่เพียงประมาณ ๔.๕ ล้านคน แต่สำหรับ ประเทศผู้สนใจส่งออกสินค้าอินทรีย์ (Organics Product) ตลาดเดนมาร์กนับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจมาก เนื่องจากคนเดนมาร์กเป็นคนที่ให้ความสำคัญในด้านการรักษ์สิ่งแวดล้อมและมีความกังวลห่วงใยรักษ์สุขภาพเป็นอันดับต้นของโลก เดนมาร์กจัดเป็นกลุ่มคนที่มีการบริโภคสินค้าอินทรีย์ (Organics Products)มากที่สุดในโลก เฉลี่ยคนละประมาณ ๑๐๖ ยูโรต่อปี เปรียบเทียบกับชาวสวิส ๑๐๕ ยูโรต่อปี ออสเตรีย ๘๙ ยูโร และ ในเยอรมนี ๖๔ ยูโร

ในปี ๒๕๕๐ ยอดจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในเดนมาร์กมีมูลค่ารวมประมาณ ๔๘๐ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๓ และเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า ๖๑๗ ล้านยูโร และ ๖๕๒ ล้านยูโร ขยายตัวร้อยละ ๒๙ และ ร้อยละ ๖ ในปี ๒๕๕๑ และ๒๕๕๒ ตามลำดับ แม้ว่าแนวโน้มการขยายตัวจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและเดนมาร์กมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์ (Organics Foods) ให้สูงร้อยละ๙๐ ของการบริโภคอาหารทั้งหมดของประเทศในปี ๒๐๑๕ แต่ส่วนแบ่งสินค้าอินทรีย์ในตลาดยังมีไม่มากนักในปี ๒๕๕๓ คิดเป็นส่วนแบ่งประมาณร้อยละ ๒๐ ของการบริโภคอาหารทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์นเดนมาร์กจึงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อีกมาก สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว กะทิ หรือผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว กาแฟ ชา เครื่องเทศ ผักและผลไม้สด โดยเฉพาะข้าวโพดอ่อน และหน่อไม้ฝรั่ง ผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ทั้งนี้ สินค้าที่จะส่งออกไปยังเดนมาร์กและกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป จำเป็นต้องเป็นไปมาตรฐานตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป (The EU organic agriculture regulations) รวมถึงข้อกำหนดพิเศษ (Special requirements) ของแต่ละประเทศสำหรับสินค้าเกษตรและอาหารอินทรีย์ และต้องสอดคล้องเป็นไปเช่นเดียวกับกฎระเบียบทั่วไปสำหรับเกษตรและอาหารทั่วไป เช่น ภาษีการนำเข้า และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับอาหารในด้านความปลอดภัยและคุณภาพ นอกจากนี้ ผู้บริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์เดนมาร์กไม่นิยมสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ที่มีการถนอมอาหารโดยใช้ส่วนผสมไนเตรต (E250) การผลิตผลไม้อินทรีย์จะต้องไม่มีสารที่มีส่วนประกอบทองแดงเจือปนหรือมามีส่วนเกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าอินทรีย์ บนบรรจุภัณฑ์จะต้องมีเครื่องหมายตรา Q-mark ประทับอยู่ เพื่อแสดงว่าสินค้านี้ได้ผ่านการตรวจสอบว่าเป็นสินค้าอินทรีย์จากรัฐบาลเดนมาร์ก และเครื่องหมายนี้สามารถใช้ได้ทั้งสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ หรือนำเข้าจากต่างประเทศที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานของรัฐบาลเดนมาร์กแล้ว ซึ่งเครื่องหมายสัญญลักษณ์วงกลมคาดแดง(Q-mark) ได้เริ่มนำมาใช้บนบรรจุภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ครั้งแรกในปี ๒๕๓๒

นอกจากนี้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเครื่องหมายสัญญลักษณ์เกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป EU OrganicsLabel ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่ผู้บริโภคเดนมาร์กเช่นกัน ผู้จำหน่ายจึงมักพิมพ์คู่กันบนบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีตราสัญญลักษณ์อื่นซึ่งได้รับความนิยมและบางครั้งก็พบพิมพ์ลงบรรจุภัณฑ์ เช่นกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และกระตุ้นการขาย ได้แก่ Soil Association, KRAV, SKAL และ Debio

สินค้าเกษตรอินทรีย์ในเดนมาร์กเริ่มเข้าสู่ตลาดจำหน่ายค้าปลีกครั้งแรกในปี ๒๕๒๕ โดยเริ่มจากแครรอทก่อน ซึ่งขณะนั้นผลผลิตยังมีน้อยมากและไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคนัก แต่ว่าความต้องการสำหรับผลิตภัณฑ์อินทรีย์ก็ยังมีน้อยมาก โดยเฉพาะในช่วงปี ๒๕๓๕/๒๕๓๖ ได้เกิดภาวะนมอินทรีย์ล้นตลาด ทำให้นมอินทรีย์ที่ผลิตได้ในเดนมาร์กมากกว่าร้อยละ ๕๐ ต้องจำหน่ายในราคาเท่านมธรรมดา แต่ภาวะวิกฤติได้กลับมาเป็นโอกาสโดยได้เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของ ๒๕๓๖ เมื่อกลุ่มเครือข่ายห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ชื่อ SuperBrugsen ซึ่งเป็นห้างสำหรับลูกค้าระดับกลางขึ้นไป ได้เข้ามาดำเนินการตลาดอย่างจริงจังโดยการลดราคานมเกษตรอินทรีย์ลงมา ( massive reductions ) และประชาสัมพันธ์ผ่านรายการโทรทัศน์ สื่อหนังสือพิมพ์ต่างๆ พร้อมมจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย อย่งจริงจัง ซึ่งทำให้กลุ่มห้างค้าปลีกอื่นๆก็เข้ามาแข่งขันโดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายด้วยเช่นกัน จนทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลง ภายในปีแรกยอดจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ขายดีจนไม่พอจำหน่ายจนเกิดการขาดแคลนของผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์

แผนการส่งเสริมการจำหน่ายได้ดำเนินต่อเนื่องมาอีกตั้งแต่ปี ๒๕๓๖-๒๕๔๐ โดยห้าง Dagli'Brugsen และ SuperBrugsen chains ได้ให้ส่วนลดเพิ่มอีกร้อยละ ๕ สำหรับผู้เป็นสมาชิกของห้างที่ซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์อินทรีย์ และห้างค้าปลีก Netto ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตสำหรับกลุ่มลูกค้าทั่วไป ได้จัดทำแคตาล็อกส่งเสริมสินค้าของห้างเฉพาะผลิตภัณฑ์อินทรีย์เท่านั้น

ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ — ๒๕๕๒ ส่วนแบ่งตลาดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และจากปี ๒๕๔๓ —๒๕๔๘ ตลาดกลับชะงักนิ่งไม่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ( stagnated ) ทั้งนี้เนื่องจากสินค้าและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ไม่มีการพัฒนา หรือการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า รวมทั้งการส่งเสริมประชาสัมพันธ์จากห้างค้าปลีก และสื่อสิ่งพิมพ์เท่าที่ควร

จนในปี ๒๕๔๘ ผู้บริโภคจึงได้เริ่มหันกลับมาบริโภคผลิตภัณฑ์อินทรีย์เพิ่มขึ้นอีก โดยในปี ๒๕๔๘ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓. ๙ และ ร้อยละ ๗.๒ ในปี ๒๕๕๒ ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญเริ่มจาก ในปี ๒๕๔๘ ที่กลุ่มห้างซูเปอร์มาร์เก็ต Netto ได้ขยายแผนกสินค้าผลิตภัณฑ์อินทรีย์ของตนเพิ่มขึ้น ประกอบกับการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและแคตาล้อก ของห้าง เพื่อให้เข้ามาซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์อินทรีย์ของตน ทำให้ห้างอื่นๆจึงต้องเร่งขยายสินค้าผลิตภัณฑ์อินทรีย์ตามไปด้วย จึงทำให้ช่วงอีก ๔ ปีต่อมา ห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตได้ขยายปริมาณและชนิดสินค้าผลิตภัณฑ์อินทรีย์เพิ่มขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงที่ผู้บริโภคได้เข้ามาสนใจและบริโภคอาหารสุขภาพกันมาก จึงทำให้ตลาดสินค้าอินทรีย์มีการเติบโตทั้งยอดจำหน่าย คุณภาพ และชนิดของสินค้าอย่างมาก

ในปี ๒๕๕๒ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวจากผลของวิกฤตทางการเงินแต่ตลาดเกษตรอินทรีย์ก็ยังมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากรายงานการค้าปลีกในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๓ รายงานว่า ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในช่วง ๓ ปีข้างหน้าจะขยายตัวประมาณ ร้อยละ ๑๒ —๑๘

๒. ส่วนแบ่งตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของ ๒๑ กลุ่มสินค้า

สินค้าขั้นพื้นฐานเช่น ข้าวโอ๊ต นม น้ำผลไม้ ไข่ พาสต้า และแป้ง มีส่วนแบ่งสูง มากกว่าร้อยละ๒๐ ซึ่งในปี ๒๕๕๒ มีเพียง หมู และไก่เท่านั้น ที่ยังมีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ ๑ ทั้งนี้ มีสาเหตุจากผู้บริโภคยังไม่เห็นความแตกต่างสำหรับการที่ต้องจ่ายเพิ่ม

๓. ช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์

ในปี ๒๕๕๒

๓.๑ การจำหน่ายอาหารเกษตรอินทรีย์ผ่านร้านค้าลด ( Discount Store ) ซูเปอร์/ไฮเปอร์มาร์เก็ต (supermarkets/Hypermarkets) และห้างสรรพสินค้า มีมูลค่าถึง ๔.๙ พันล้านเดนิชโครนหรือประมาณ ๒๖.๙๕ พันล้านบาท ( ๑ เดนิชโครน เท่ากับ ๕.๕๐ บาท) เพิ่มขึ้น ร้อยละ ๖ จากปี ๒๕๕๑

๓.๒ การจำหน่ายผ่านร้านค้าส่ง ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงอาหารและโรงครัว ( wholesalers/catering ) มีมูลค่าประมาณ ๐.๕ พันล้านเดนิชโครน และ

๓.๓ การจำหน่ายผ่านช่องทางอื่น เช่น อาหารกล่อง ร้านจำหน่ายหน้าฟาร์ม มีมูลค่า ๐.๖ พันล้านเดนิชโครน และผ่านช่องทางการจำหน่ายอื่นๆ เช่น ร้านค้าสะดวกซื้อ และสถานีจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง อีกประมาณ ๐.๒ พันล้านเดนิชโครน

การจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ชนิดต่างๆระหว่างปี ๒๕๔๙ -๒๕๕๒

ยอดจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในปี ๒๕๕๑ เปรียบเทียบ ๒๕๕๒ ในกลุ่มสินค้าต่างๆ ซึ่งจะเห็นว่า ในปี ๒๕๕๒ กลุ่มผักมีการเพิ่มมากที่สุด ๖๗.๗ ล้านเดนิชโครน ตามด้วยกลุ่มผลไม้เพิ่มขึ้น ๔๙.๓ ล้านเดนิชโครน เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส เพิ่มขึ้น ๓๗.๘ ล้านเดนิชโครน และหากแยกตามแต่ละประเภทสินค้าจะเห็นว่า เครื่องเทศ กล้วย แยม มีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๑ ร้อยละ ๕๕ ,๒๗ และ ๒๕ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ในปี ๒๕๕๒ ก็มีสินค้าบางชนิดที่มีอัตราการเจริญเติบโตต่ำ จนบางครั้งผู้จำหน่ายต้องหันมาตัดราคากัน โดยเฉพาะในสินค้าท้องถิ่น เช่น นม ไข่ เนยแข็งมีมูลค่าการขยายตัวเพียงร้อยละ ๑.๘ ในขณะที่ปริมาณขยายตัวประมาณร้อยละ ๑๐ ผลไม้ซึ่งมูลค่าเพิ่มร้อยละ ๑๕ แต่ปริมาณเพิ่มร้อยละ ๓๑.๑ ข้าว ขนมปัง เส้นทำจากแป้ง แป้ง ธัญญพืช ก็เช่นเดียวกัน ที่มูลค่าเพิ่มเพียงร้อยละ ๑.๓ แต่ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๒

สัดส่วนการจำหน่ายของสินค้าเกษตรอินทรีย์ชนิดต่างๆ

ในปี ๒๕๕๒ นมและผลิตภัณฑ์มีสัดส่วนมูลค่าจำหน่ายมากที่สุดร้อยละ ๓๔ มูลค่า ๑.๗ พันล้านเดนิชโครน ( เฉพาะนมอย่างเดียวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๒๖ นี่คือสาเหตุที่มักนิยมเรียกนมว่าเป็น Locomotive of Organic foods ) รองลงมาได้แก่ ผักและผลไม้ สัดส่วนร้อยละ ๒๒ อื่นๆ ร้อยละ ๑๗ สินค้าประเภทแป้ง ร้อยละ ๑๕ เนื่อสัตว์ร้อยละ ๗ และไข่ร้อยละ ๖ ยอดขายตามช่องทางการขาย

๔. การจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ผ่านช่องทางจำหน่ายต่างๆ

จากรายงานวิจัยตลาดของบริษัท GfK พบว่า ในปี ๒๕๕๒ สินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ในเดนมาร์กส่วนใหญ่จำหน่ายถึงผู้บริโภคโดยผ่าน ซูเปอร์มาร์เก็ต (supermarkets) ร้านค้าส่วนลด ( Discount Store ) และห้างสรรพสินค้า ( Department Store ) ถึงร้อยละ ๘๕ ที่เหลือผ่านช่องทางอื่น

๕. การจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ผ่านช่องทางกลุ่มค้าปลีก

ห้างกลุ่มเครื่อข่าย Netto ( NETTO Chain Store ) เป็นกลุ่มที่มีส่วนแบ่งยอดจำหน่ายของอาหารและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในปี ๒๕๕๒ คิดเป็นร้อยละ ๑๔.๗ ซึ่งใกล้เคียงกับกลุ่มรองลงมาได้แก่ กลุ่ม SuperBrugsen ซึ่งมีส่วนแบ่งคิดเป็นร้อยละ ๑๔.๕ น้อยกว่าเพียงร้อยละ ๐.๒ และ Kvickly ร้อยละ ๘.๖

แต่เมือพิจารณากลุ่มห้างเครือข่าย โดยไม่พิจารณามูลค่าการจำหน่ายอาหารรวมทั้งหมด แต่เลือกพิจารณาเฉพาะภายในกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือก ( only products group offering organics varieties ) ข้อมูลที่ได้จะแตกต่าง คือกลุ่มเครือข่าย Irma จะมียอดจำหน่ายอาหารเกษตรอินทรีย์คิดเป็นร้อยละ ๒๗.๗ ของยอดจำหน่ายของกลุ่มผู้ค้าปลีก ( retail Chain’s food sale ) รองลงมาจากกลุ่ม Irma ตาม ด้วย SuperBrugsen ๙.๗ % Kvickly ๙.๔ % และ Netto ๘.๘ % ตามลำดับ ทั้งนี้สาเหตุเนื่องจากความแตกต่างของแต่ละกลุ่มค้าปลีก ( Chain ) ขนาดใหญ่ ในแง่ของจำนวนร้านค้า ขนาดของร้าน ตำแหน่งที่ตั้ง และ ปริมาณ จำนวนและชนิดของสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่นำเสนอในแต่ละห้าง ซึ่งห้างในกลุ่ม Irma จะมีจำนวนชนิดสินค้าอินทรีย์ให้เลือกมากที่สุดประมาณ ๑,๐๐๐ กว่าชนิด เปรียบเทียบกับห้าง Netto ซึ่งมีชั้นวางผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์แบบถาวรรวมประมาณ ๑๐๐ รายการ

๖. กลุ่มผู้บริโภคสินค้าอินทรีย์ ( Organics Consumer )

ประชากรผู้อาศัยอยู่ในกรุงโคเปนเฮเกน มีแนวโน้มชัดเจนว่าประชากรว่า มีสัดส่วนในการบริโภคสินค้าอินทรีย์สูงกว่าประชากรจากแหล่งอาศัยอื่น คิดเป็นร้อยละ ๑๒.๘ ทั้งนี้ เนื่องจากจำนวนประชากรจะอาศัยอยู่ในกรุงโคเปนเฮเกนประมาณ ๑ใน ๔ ของประชากรทั้งหมด ประชากรกลุ่มนี้ยังมีรายได้ และการศึกษา และมีโอกาสจับจ่ายใช้สอยมากกว่าประชากรแหล่งอื่น รองลงมาได้แก่ กลุ่มที่อาศัยอยู่บนเกาะจัตแลนด์ทางตะวันออก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๘ เพิ่มขึ้น จากปี ๒๕๕๑ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ ๗.๒ ทำให้จัตแลนด์เป็นกลุ่มประชากรที่ซื้อสินค้าอาหารอินทรีย์ประเภทของชำมากเป็นอันดับสอง ( Organic Share in term of total grocery purchases in Denmark )

เมื่อพิจารณาตามสถานะครอบครัว ส่วนแบ่งการจำหน่ายสินค้าอินทรีย์ประเภทของชำ ได้แก่กลุ่มประชากรที่มีบุตร ๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๙.๓ และหากพิจารณษตามกลุ่มอายุ กลุ่มประชากรอายุ ๔๐ ข๔๙ ปี จะเป็นกลุ่มที่ซื้อสินค้าอินทรีย์ประเภทของชำสูงสุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๙ ซึ่งแสดงว่าปัจจัยสำคัญในการสร้างจิตสำนึก ในการเลือกซื้อหรือ บริโภคผลิตภัณฑ์อินทรีย์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อประชากรเริ่มมีอายุมากขึ้นและหรือเริ่มมีบุตรหลานในครอบครัว

นอกจากนี้ การศึกษายังเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง จากตารางจะเห็นว่ากลุ่มประชากรที่มีการศึกษาสูงมีการบริโภคสินค้าอินทรีย์สูงถึงร้อยละ ๒๑.๓

ที่มา Organic Market Memo — June 2010 จัดทำโดย GfK ConsumerScan

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ