รายงานลู่ทางการขยายตลาดสินค้าไทยในกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 11, 2011 17:37 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. มูลค่าการค้ารวมของไทยไปยังกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียน ๕ ประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ ในปี ๒๕๕๓ มีมูลค่ารวม ๓,๓๐๒.๓๑ ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๒ ร้อยละ ๓๖.๙๒ แยกเป็นการส่งออก มูลค่า ๑,๘๓๘.๖๔ ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า ๑,๔๖๓.๖๘ ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าในกลุ่มภูมิภาคนี้ ๓๗๔.๙๖ ล้านเหรียญสหรัฐ ( โดยได้เปรียบดุลการค้าเดนมาร์ก มากที่สุด มูลค่า ๔๙๓.๖๔ ล้านเหรียญสหรัฐ ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์ มูลค่า ๔๐.๐๙ และ ๐.๑๗ ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ และเสียเปรียบดุลการค้า นอร์เวย์ ๑๑๕.๗๗ ล้านเหรียญสหรัฐ เสียเปรียบดุลการค้าสวีเดน ๔๓.๑๗ ล้านเหรียญสหรัฐ ) รายละเอียดตามตารางที่แนบ

๒. การส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย มีมูลค่ารวม ๑,๘๓๘.๖๔ ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๔.๘๗ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๒ ซึ่งมีมูลค่า๑,๓๖๓.๓๐ ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกจากไทยไปยังประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียนมีการขยายตัวในทุกประเทศ แยกเป็นการส่งออกจากไทยไปยังกลุ่มภูมิภาคสแกนดิเนเวีย เรียงตามมูลค่าดังนี้

          เดนมาร์ก    ๗๒๓.๐๒     ล้านเหรียญสหรัฐ  ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๙.๓๖
          สวีเดน      ๕๗๒.๓๒     ล้านเหรียญสหรัฐ  ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๗.๘๓
          ฟินแลนด์     ๓๖๑.๔๗     ล้านเหรียญสหรัฐ  ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๒.๑๔
          นอร์เวย์     ๑๗๖.๔๐     ล้านเหรียญสหรัฐ  ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๘.๖๗
          ไอซ์แลนด์      ๕.๔๓     ล้านเหรียญสหรัฐ  ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๘.๓๙

ประเทศที่มีอัตราการขยายตัวการส่งออกจากประเทศไทยสูงสุดสูงสุด ได้แก่ นอร์เวย์ ขยายตัวร้อยละ ๔๘.๖๗ รองลงมาได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ สวีเดน และไอซ์แลนด์ตามลำดับ

๓. การนำเข้า ประเทศไทยนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย รวม ๑,๔๖๓.๖๘ ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๒ ร้อยละ ๓๙.๖๐ การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกประเทศเช่นกัน ประเทศที่ไทยมีการนำเข้าสูงสุดได้แก่ สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์กและไอซ์แลนด์ โดยนอร์เวย์มีการขยายตัวการนำเข้าสูงสุดในอัตราร้อยละ ๖๙.๙๗ รองลงมา ได้แก่ ไอซ์แลนด์ (๔๓.๘๕%) สวีเดน ( ๔๓.๘๓%) ฟินแลนด์( ๓๒.๓๖%) และเดนมาร์ก(๑๓.๔๓ %)

๔. สำหรับปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ ได้แก่ เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ มีการขยายตัวเกินกว่าที่คาด จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและพื้นฐานทางเศรษฐกิจการเงินที่มั่นคง โดยเฉพาะสวีเดน ซึ่งการส่งออกและการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุน มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากทำให้การจ้างงานขยายตามไปด้วย นอร์เวย์ที่มีการขยายการลงทุนด้านพลังงานน้ำมัน ฟินแลนด์ ที่ได้รับผลดีจากฟื้นตัวของตลาดส่งออกสำคัญ คือ เยอรมัน สวีเดน รัสเซีย ทำให้ความต้องการสินค้าประเภททุนจากฟินแลนด์เพิ่มขึ้น สำหรับปี ๒๕๕๔ คาดว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในนอร์ดิกส์ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จะมีอัตราที่เริ่มชะลอตัวลงเล็กน้อย ยกเว้นนอร์เวย์ ที่ยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก

ตารางแสดง อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ ๕ ประเทศ

หน่วย : ร้อยละ

ปี พ.ศ       เดนมาร์ก       สวีเดน        ฟินแลนด์      นอร์เวย์        ไอซ์แลนด์
๒๕๕๓          ๒.๑          ๕.๕          ๓.๑          ๒.๐          ๑.๐ (est.)
๒๕๕๔          ๑.๙          ๒.๖          ๒.๕          ๓.๔          n.a
ที่มา  www.danskerresearch

๕. ทั้งนี้ กลุ่มนอร์ดิกส์ ๕ ประเทศ ( รวมทั้งเขตดูแล) มีประชากรรวมประมาณ ๒๕ ล้านคน มีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมรัฐสวัสดิการ และมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี่ ประชากรได้รับการดูแลด้านการศึกษาและพยาบาลจากรัฐเป็นอย่างดี ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงอันดับต้นของโลก โดยผลการจัดอันดับของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี ๒๕๕๓ นอร์เวย์มีรายได้ประชากรต่อคนต่อปี สูงอันดับ ๒ ของโลก ประมาณ ๘๔,๕๔๓ เหรียญสหรัฐ เดนมาร์ก อันดับ ๕ (๕๕,๑๑๓ เหรียญสหรัฐ) สวีเดน อันดับ ๗ ( ๔๗,๖๖๗ เหรียญสหรัฐ) ฟินแลนด์อันดับ ๑๔ ( ๔๓,๑๓๔ เหรียญสหรัฐ) ไอซ์แลนด์ อันดับ ๒๐ ( ๓๙,๕๖๓ เหรียญสหรัฐ ) นอกจากนี้ ในปี ๒๕๔๔ นอร์เวย์ยังได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่ประชาชนมีความสุขที่สุดในโลกอันดับหนึ่ง ( ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ก็ได้รับการจัดอันดับอันดับหนึ่ง ปี ๒๕๕๓ และ ปี ๒๕๕๒ ตามลำดับ ) กลุ่มคนเหล่านี้ จึงเป็นกลุ่มที่มีมาตรฐานการครองชีพสูง มีรูปแบบเน้นความเรียบง่าย สะดวกสบาย แต่ดูมีสไตล์เฉพาะ และให้ความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อม รวมทั้งห่วงกังวลในสุขภาพของตัวเอง จะเห็นได้จาก กรุง โคเปนเฮเกนมีเป้าหมายที่จะเป็น เมืองหลวงสีเขียวของโลก ( Green Capital Copenhagen / The World leading environmental Capital ) และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COP ๑๕ ในปี ๒๕๕๒และในปี ๒๕๕๓ กรุงสตอกโฮล์ม ก็จัดโครงการ European Green capital ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยที่สนใจส่งออกสินค้าและบริการมายังกลุ่มประเทศเหล่านี้

นอกจากคุณภาพมาตรฐานสินค้าต้องเป็นไปตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป มีรูปแบบดีไซน์ที่ตรงกับรสนิยมแล้ว จะต้องคำนึงถึงการทำธุรกิจแบบยั่งยืน ( Sustainable business Development ) ซึ่งต้องนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม การใช้พลังงานทดแทน ลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก สินค้าที่มีการนำวัสดุเหลือใช้นำกลับมาใช้ใหม่ และ การดูแลสุขภาพ เข้ามาประกอบด้วย

๖. สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ส่งออกไปยังเดนมาร์กที่สำคัญในปี ๒๕๕๓ ได้แก่ กลุ่มสินค้าแฟชั่น ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่า ๓๒๒.๗๔ ล้านเหรียญสหรัฐ ( เดนมาร์กเป็นตลาดสำคัญอันดับ ๕ รองจาก สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ) รองเท้าและชิ้นส่วนมูลค่า ๑๒๕.๔๐ ล้านเหรียญสหรัฐ (ซึ่งเดนมาร์กเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย) ซึ่ง สินค้าสำคัญ ๒ รายการนี้มีสัดส่วนกว่าร้อยละ ๖๐ ของมูลค่าส่งออกของไทยไปยังเดนมาร์ก

สำหรับสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังสวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ จะเป็นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ในขณะที่สินค้าไทยส่งออกไปไอซ์แลนด์ที่สำคัญได้แก่ สินค้าในกลุ่มอาหาร เช่น ไขมันพืช อาหารทะเลแปรรูป ข้าว เป็นต้น นอกจากนี้ ธุรกิจภัตตาคารอาหารไทย สปา และสินค้าอาหาร ของประดับตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนฯลฯ ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ