จากผลการวิจัยล่าสุดของสภาธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development) รายงานว่า ตลาดในอนาคตตั้งแต่ปี ๒๕๙๓ จะมีแต่สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ส่วนผลการวิจัยขององค์กรว่าด้วยสิ่งแวดล้อมแห่งสหภาพยุโรป (European Environment Agency : EEA) เรื่อง สิ่งแวดล้อมใน"สหภาพยุโรปและภาพรวมปี ๒๕๕๓" รายงานว่า ความต้องการทรัพยากรธรรมชาติและสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ๕ ปีหลังมานี้ ซึ่งได้แก่สินค้าอาหาร เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และยานพาหนะ เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นและราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มของสินค้าที่ช่วยลดพลังงาน นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยของศูนย์ธุรกิจค้าปลีกในสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับการวิจัยด้านการค้าปลีก พบว่า การเจริญเติบโตของตลาดสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในสหภาพยุโรปมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๐๐ ในช่วงระหว่างปี ๒๕๔๓-๒๕๕๒ (จาก ๑๐.๓ พันล้านยูโรเป็น ๕๖ พันล้านยูโร) และจะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐๔ ในปี ๒๕๕๘ โดยมีมูลค่าถึง ๑๑๔ พันล้านยูโร ในปี ๒๕๕๒ ครอบครัวในสหภาพยุโรปใช้เงินซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉลี่ย ๓๘๖ ยูโร กล่าวคือ สวิสเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก (๕๕๕ ยูโร) ในขณะที่สเปนเป็นประเทศอันดับสุดท้าย (๓๑๕ ยูโร) ในปี ๒๕๕๘ โดยเฉลี่ยครอบครัวในสหภาพยุโรปจะใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีมูลค่าถึง ๗๕๑ ยูโร
ในอิตาลี คาดว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดของสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากปัจจุบันที่ร้อยละ ๒.๕ เป็นร้อยละ ๕ ในปี ๒๕๕๘ จะเห็นได้ว่ามีส่วนแบ่งตลาดต่ำเนื่องจาก ราคาของสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีราคาสูงเมื่อเทียบกับสินค้าทั่วไป (ถ้าราคาในปัจจุบันสูงกว่าทั่วไปร้อยละ ๔๖ ในปี ๒๕๕๘ จะมีราคามากกว่าร้อยละ ๔๐.๕) ทั้งนี้จ่าเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์และโฆษณาเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม (โดยเฉพาะสุขภาพ) และสินค้าบางชนิดจะสามารถช่วยประหยัดพลังงานและการบริโภคพลังงานลดลงรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย
นอกจากนี้ภาครัฐได้ออกนโยบายสำคัญในการนำแนวทางดำเนินการเรื่องการติดฉลากสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเลือกใช้สินค้าของใช้ในครัวเรือนที่ช่วยประหยัดพลังงาน และประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย ในขณะที่ให้การสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาและลงทุนในการผลิต และออกแบบสินค้าที่ช่วยให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ทั้งนี้มาตรการติดฉลากด้านพลังงาน เช่น eco-design ถือเป็นมาตรการบังคับ (Mandatory) ส่วนมาตรการติดฉลากด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถือเป็นมาตรการโดยสมัครใจ (Voluntary)
ทั้งนี้พบว่าในอิตาลีประชากรทางภาคเหนือมีความใส่ใจในเรื่องสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า (โดยเฉพาะสินค้าอาหาร)
สำหรับสินค้าที่มีแนวโน้มในการผลิตเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้แก่ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เสื้อผ้าและสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ สีทาอาคารและสีเคลือบ ปุ๋ย เครื่องสำอางค์และผงซักฟอก
การออกระเบียบของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต
- ตามข้อตกลงพิธีสารเกียวโตเรื่องสภาวะโลกร้อน ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ ๒๐ ภายในปี ๒๕๖๓
- การพัฒนาพลังงานทดแทน (เพื่อประหยัดพลังงาน) ให้เพิ่มการผลิตพลังงานทดแทนร้อยละ ๒๐ ภายในปี ๒๕๖๓
- นโยบายด้าน Life Cycle Thinking (LCT) and Assessment (LCA) ซึ่งเป็นข้อเสนอของสหภาพยุโรปในการรวบรวมแนวคิดของวงจรชีวิตเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบต่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (โดยเฉพาะสินค้าของใช้ในครัวเรือนที่ไม่คงทน เช่น ของใช้ในการทำความสะอาด และสินค้าคงทน เช่น เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ ฯลฯ) ทั้งนี้รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์และการติดฉลากด้วย
มาตรการด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- มาตรการติดฉลากพลังงานใหม่ (New Energy Label) สำหรับโทรทัศน์ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปได้เสนอมาตรการการติดฉลากพลังงานใหม่ส่าหรับสินค้าโทรทัศน์ ตามระเบียบ EU Regulation no. ๑๐๖๒/๒๐๑๐ ซึ่งเป็นมาตรการบังคับ เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๓๐
- การปรับเปลี่ยนฉลากพลังงานสำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนอื่นๆ (เช่น เครื่องล้างจาน เครื่องซักผ้า และตู้เย็น) คณะกรรมการสหภาพยุโรปได้เสนอให้มีการเปลี่ยนฉลากพลังงานที่ส่งผลต่อการพัฒนา ด้านเทคนิคการผลิต ตามระเบียบ EU Regulation no. ๑๐๕๙/๒๐๑๐ (สำหรับเครื่องล้างจาน เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๔ และการติดฉลากในวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕) ตามระเบียบ EU Regulation no.๑๐๖๑/๒๐๑๐ (สำหรับเครื่องซักผ้า เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๔ และการติดฉลากวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕) และตามระเบียบ EU Regulation no. ๑๐๖๐/๒๐๑๐ (สำหรับตู้เย็น เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ และการติดฉลากวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๕)
สำหรับตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เครื่องล้างจานและเครื่องซักผ้า พบว่ามีปัญหาคือฉลากที่มีอยู่ล้าสมัย โดยประมาณร้อยละ ๙๐ ของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขายอยู่ในสหภาพยุโรปขณะนี้จัดอยู่ในเกรด A โดยเป็นผลจากการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต แต่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้ลดการใช้พลังงานลงครั้งหนึ่งทำให้สินค้ายังจัดอยู่ในเกรด A อยู่ แต่การเพิ่มเกรดเป็น A+ A++ และ A+++ จะทำให้สามารถแยกกลุ่มสินค้าเหล่านี้ได้ดีขึ้นสินค้าเกรด A+++ เป็นสินค้าที่มีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด การประหยัดพลังงานขึ้นอยู่กับแต่ละผลิตภัณฑ์ ตู้เย็นเกรด A+++ ใช้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยน้อยกว่า ๖๐% เมื่อเทียบกับตู้เย็นเกรด A ในขณะที่เครื่องซักผ้าและเครื่องล้างจานจะช่วยลดการใช้พลังงานลงไปครึ่งหนึ่ง สินค้าของใช้ในครัวเรือนตามแนวทางนี้จะช่วยลดค่าไฟฟ้าในครัวเรือนได้ถึงหนึ่งในสามและช่วยประหยัดพลังงานได้อย่างมีนัยสำคัญ
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม
ที่มา: http://www.depthai.go.th