สิงคโปร์คิดค้นนวัตกรรมใหม่สำหรับใช้ในการปลูกผัก เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่จำกัด โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างบริษัทวิศวกรเอกชน D.J. Engineering และหน่วยงาน Agri-Food and Veterinary Authority (AVA) คิดประดิษฐ์อุปกรณ์แบบใหม่สำหรับใช้ในการปลูกผัก ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าการปลูกผักโดยวิธีแบบเดิมอย่างน้อยถึง 5 เท่า ในพื้นที่ขนาดเดียวกัน
โครงการนี้ได้เริ่มมา 1 ปีแล้ว โดยใช้พื้นที่ขนาด 1,000 ตารางเมตร ของศูนย์วิจัยของหน่วยงาน AVA ที่ Sembawang (AVA’s Sembawang Research Centre) และเงินทุนจำนวน 1 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ซึ่งบริษัท D.J. Engineering เป็นผู้รับผิดชอบทุนจำนวนนี้ทั้งหมด และได้จัดตั้งบริษัท Sky Green ขึ้นมาเพื่อดำเนินการโครงการนี้ โดยบริษัท D.J. Engineering ได้ประดิษฐ์อุปกรณ์พิเศษขึ้นมาเพื่อใช้ในการปลูกผัก อุปกรณ์ดังกล่าวทำด้วยโครงอลูมิเนียมวางเป็นแนวตั้ง สูง 6 เมตร มีรางสำหรับปลูกผักเป็นชั้นๆล้อมรอบโครงอลูมีเนียมนั้น เพื่อให้ผักได้รับแสงอาทิตย์โดยทั่วถึง และมีระบบรางน้ำซึ่งใช้น้ำฝนจากที่เก็บน้ำที่อยู่ด้านบนเหนือศีรษะ อุปกรณ์นี้มีอยู่จำนวนทั้งหมด 19 ชิ้น และได้มีการผลิตผักชนิดใบ เช่น ผักกวางตุ้ง และผักกาดจีน (Xiao Bai Cai) แต่ยังไม่มีการจำหน่ายให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านอาหาร เพียงแต่ได้ส่งตัวอย่างผักไปให้ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารทดลองชิม ซี่งผลตอบรับดีมาก และคาดว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ก็จะสามารถวางจำหน่ายได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งผักเหล่านี้จะมีราคาเท่ากับผักชนิดอื่นๆที่ปลูกโดยวิธีแบบเดิม เนื่องจากสามารถผลิตได้มากกว่าเดิม และใช้ต้นทุนไม่มาก ต้นทุนดังกล่าวได้แก่ ค่าวัสดุอุปกรณ์ เช่น ดินและเมล็ดผักที่ใช้ปลูก และค่าไฟฟ้าสำหรับใช้ในการปั๊มน้ำ ประมาณ 3.50 เหรียญสิงคโปร์ต่ออุปกรณ์ 1 ชิ้นต่อเดือน นอกจากนี้ บริษัท Sky Green ยังมีแผนการที่จะเพิ่มพื้นที่การปลูกผักแบบวิธีใหม่นี้ โดยจะใช้เนื้อที่ฟาร์มขนาด 35,000 ตร.ม. ในเขต Lim Chu Kang อีกทั้งยังมีแผนการตลาดเพื่อจำหน่ายอุปกรณ์ปลูกผักแบบใหม่นี้ ให้แก่เจ้าของฟาร์มผักอื่นๆ ซึ่งได้มีผู้สนใจที่จะสั่งซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวบ้างแล้ว
โดยปกติแล้ว การปลูกผักจำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ ดังนั้น การนำนวัตกรรมใหม่มาใช้ในการปลูกแบบนี้ จะช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้ฟาร์มผักจำนวนทั้งหมด 37 แห่งในสิงคโปร์ สามารถผลิตผักได้ในปริมาณร้อยละ 10 ของความต้องการบริโภคผักในสิงคโปร์ โดยในปี 2553 สิงคโปร์สามารถผลิตผักได้จำนวน 9,800 ตัน ซึ่งคิดเป็นปริมาณร้อยละ 7
ปัจจุบันนี้ สิงคโปร์มีการนำเข้าสินค้าอาหารจาก 30 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นปริมาณการนำเข้ากว่าร้อยละ 90 แต่คาดว่าโครงการนี้ จะสามารถแก้ปัญหาความไม่แน่นอนของแหล่งนำเข้าผัก ทั้งในด้านปริมาณและด้านราคา ซึ่งสิงคโปร์เคยประสบมาแล้วเมื่อไม่นานมานี้ และในอนาคต สิงคโปร์อาจจะมีการนำเข้าผักจากต่างประเทศน้อยลง
ที่มา : The Straits Times
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์
ที่มา: http://www.depthai.go.th