ตลาดขิงสดในเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 16, 2011 17:28 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (2550 — 2552) เยอรมนีนำเข้าขิงสด พิกัดฮาร์โมไนซ์หมายเลข 0910 10 00 เป็นปริมาณเฉลี่ยปีละ 5,787 ตัน มูลค่า 14.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในช่วง 9 เดือนแรกปี 2553 มีการนำเข้าแล้ว 6,131 ตัน มูลค่า 19.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.8 และ 74.8 ตามลำดับ

แหล่งนำเข้าที่สำคัญของเยอรมนีจะเป็นเนเธอร์แลนด์ มีการนำเข้าในปี 2553 (ม.ค.-ก.ย.) เป็นปริมาณ 3,354 ตันมูลค่า 10.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดด้านปริมาณร้อยละ 54.7 ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.4 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 87.2 รองลงมาเป็นจีน มีการนำเข้าเป็นปริมาณ 1,852 ตันมูลค่า 4.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดด้านปริมาณร้อยละ 30.2 ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.2 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 87.9 จากไนจีเรียมีการนำเข้าเป็นปริมาณ 232 ตันมูลค่า 0.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดด้านปริมาณร้อยละ 3.8 ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 87.1 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 331.3 จากไทยมีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 5 เป็นจำนวน 131 ตัน มูลค่า 0.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดด้านปริมาณร้อยละ 2.1 ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 219.5 และ 60.7 ตามลำดับ แต่ทั้งนี้ เนเธอร์แลนด์ก็นำเข้าขิงจากจีนและไทยเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะมีการส่งออกต่อไปในตลาดเยอรมนีและประเทศอื่นๆ ในยุโรป

ในด้านการส่งออกแต่ละปีเยอรมนีจะมีส่งออกขิงสดประมาณ 800 ตัน มูลค่า 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป ได้แก่ สหราชอาณาจักร โปแลนด์ และออสเตรีย มีส่วนแบ่งตลาดของการส่งออกร้อยละ 21, 12 และ 10 ตามลำดับ

ขิงสดที่นำเข้าจากไทยส่วนใหญ่จะนำเข้าโดยผู้นำเข้าอาหารเอเชีย โดยนำเข้าพร้อมกับผักผลไม้สดอื่นๆ ของไทย วางจำหน่ายตามร้านค้าของชำชาวเอเชียในราคาประมาณกิโลกรัมละ 6 — 8 ยูโร สำหรับขิงที่วางขายตามห้างสรรพสินค้าหรือ Supermarket ของชาวเยอรมัน นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้านำเข้าจากแหล่งอื่นๆ ได้แก่จีน และเนเธอร์แลนด์ เสนอขายในราคากิโลกรัมละ 4 — 6 ยูโร ปัจจุบันขิงที่นำเข้าสู่ตลาดเยอรมนีไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าแต่อย่างใด จะเสียแต่ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้า ในการนำเข้าจะต้องมีเอกสาร Phytosanitary รับรองสุขอนามัยพืชปราศจากเชื้อโรค เชื้อรา การปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง สารเคมีตกค้าง เป็นต้น ออกให้โดยทางการของไทย คือ กรมวิชาการเกษตร ทำนองเดียวกันกับสินค้าผักผลไม้อื่นๆ บางชนิดของไทยที่ต้องการจะส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

ความต้องการขิงของตลาดในเยอรมนีมีสูงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพื่อป้อนโรงงานแปรรูปอาหารและจำนวนเล็กน้อยสำหรับสกัดทำเป็นส่วนผสมในการผลิตยา ที่มีกระแสนิยมการใช้ยาจากสมุนไพรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยมา แต่เนื่องจากที่ผ่านมาราคาของสินค้าเพิ่มสูงขึ้นมากจึงทำให้การใช้ขิงในอุตสาหกรรมยาสมุนไพร ลดน้อยลง

ปัญหาขิงสดของไทย คือ มีราคาที่สูงกว่าขิงนำเข้าจากแหล่งอื่นๆ เนเธอร์แลนด์ และจีน ที่มีราคานำเข้าเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3 เหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ของไทยมีราคา 4.4 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนในด้านการปนเปื้อนของสารเคมี ยาฆ่าแมลง ที่ผ่านมายังไม่มีการตรวจพบใดๆ แต่เนื่องจากตามการซื้อ เพื่อใช้ปรุงอาหารแต่ละครั้งมีจำนวนน้อย ในด้านราคาจึงยังไม่เป็นอุปสรรคเท่าใด โอกาสการขยายตลาดที่ควรจะทำ คือ การผลิตเพื่อส่งมอบโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องเทศซึ่งมีการใช้ปริมาณมาก และหากเสนอขายในราคาที่ใกล้เคียงกับขิงจากแหล่งอื่นๆ ได้ด้วย คาดว่าผู้นำเข้าเยอรมันคงจะให้ความสนใจขิงสดจากประเทศไทยมากขึ้นอย่างแน่นอน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศฯ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ