ประเทศ ชิลี และเขตพื้นที่ดูแลของ สคร. ณ กรุงซานติอาโก ได้แก่ เปรู โคลัมเบีย และเอกวาดอร์
ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้า ระหว่างวันที่ 16-31 ม.ค. 54
1. ภาวะการค้ากับประเทศไทย
1.1 ในช่วงเดือนมกราคม — ธันวาคม 2553 การส่งออกจากไทยไปตลาดชิลี โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู โดยรวมมีมูลค่า 1,518.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 133 เป็นอัตราเพิ่มที่ชลอตัวลงจากสภาวะการณ์การส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศดังกล่าวในเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2553 ซึ่งมีมูลค่า 1,403 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 145
1.2 ทุกตลาดมีสถานะการณ์การส่งออกของไทยในช่วงมกราคม-ธันวาคม 2553 ที่มีอัตราเพิ่มที่ชะลอตัวลงจากอัตราเพิ่มในช่วงมกราคม — พฤศจิกายน 2553 ดังนี้
- ชิลี มูลค่าการส่งออก 514 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 267 (มกราคม — พฤศจิกายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 293)
- โคลัมเบีย มูลค่าการส่งออก 381 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 71 (มกราคม - พฤศจิกายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 76)
- เอกวาดอร์ มูลค่าการส่งออก 314 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 64 (มกราคม — พฤศจิกายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 71)
- เปรู มูลค่าการส่งออก 309 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 221 (เดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 253)
1.3 ในปี 2553 สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นมากและมีศักยภาพการส่งออกสูงในทุกตลาดดังกล่าว ยังคงเป็น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกมากเป็นลำดับ 1 ไปยังทุกตลาด การส่งออกไปชิลีขยายตัว 780% ไปเปรูขยายตัว 418% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 115% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 77% ส่วนสินค้าส่งออกรายการสำคัญอื่นๆไปตลาดนี้ ได้แก่ เครื่องซักผ้า อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 60% ไปเปรูขยายตัว 43% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 18% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 23% ตู้เย็น อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 218% ไปเปรูขยายตัว 56% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 55% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 67% เครื่องยนต์สันดาปภายใน อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 147% ไปเปรูขยายตัว 231% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 166% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 28% ผลิตภัณฑ์ยาง อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 52% ไปเปรูขยายตัว 63% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 51% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 19% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 19% ไปเปรูขยายตัว 103% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 3% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 22% เม็ดพลาสติก อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 418% ไปโคลัมเบียขยายตัว 78% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 261% ไปเปรูขยายตัว 351% ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 94% ไปโคลัมเบียขยายตัว 24% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 24% ไปเปรูขยายตัว 8% ปูนซีเมนต์ อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 23% ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปโคลัมเบียลดลง -12% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 71% ไปเปรูขยายตัว 321% (- = ลดลง หรือ หดตัว)
2. ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
2.1 หลังจากที่การขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้ซึ่งมีการขยายตัวในอัตราที่สูงมากในช่วงต้นปี เมื่อ Momentum อ่อนตัวลง เนื่องจากตลาดอิ่มตัว การขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดดังกล่าวรายการสำคัญๆ รวมทั้งสินค้าในหมวดรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ จึงค่อยๆชะลอตัวลง ตามที่สำนักงานฯได้เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ยกเว้นสินค้ารายการปูนซีเมนต์ในตลาดชิลียังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากชิลียังคงมีความต้องการนำเข้าปูนซีเมนต์เพื่อใช้ในการบูรณะฟื้นฟูประเทศจากอุบัติภัยแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ตามที่สำนักงานฯ ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว สินค้ารายการเม็ดพลาสติกซึ่งตลาดเปรูกำลังมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น เพื่อขยายการผลิตสินค้าที่ใช้เม็ดพลาสติกเป็นวัสดุในการผลิตในประเทศเปรู อย่างต่อเนื่อง และสินค้าอาหารทะเลกระป๋องซึ่งตลาดชิลีมีอัตราการขยายตัวของการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมเชิญคณะผู้แทนการค้าระดับ VIP จากชิลีเป็นจำนวนกว่าสิบรายมาเยือนงาน Thaifex 2010 ยังผลให้การนำเข้าจากไทยขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น
2.2 สำนักงานฯ มีความเห็นว่า เศรษฐกิจของตลาดยังมีเสถียรภาพ ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาด แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2554 ค่าของเงินเหรียญสหรัฐในตลาดเงินของชิลีอยู่ที่ประมาณ 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 484 เปโซของชิลี แข็งค่าขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2553 เนื่องจากธนาคารกลางของชิลียังคงทำการแทรกแซงตลาดเงิน โดยการช้อนซื้อเงินเหรียญสหรัฐออกไปจากตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงมีอำนาจซื้อ เนื่องจากการแทรกแซงดังกล่าวยังไม่ถึงกับจะทำให้ค่าของเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นเช่นในช่วงที่ยังไม่เกิดวิกฤติสงครามการเงินของโลก ดังนั้น หากราคาสินค้าส่งออกของไทยคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก วิกฤติการเรื่องการอ่อนตัวของเงินเหรียญสหรัฐก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังชิลีมากนัก แต่หากราคาสินค้าส่งออกของไทยไปตลาดนี้ปรับราคาสูงขึ้นมาก การนำเข้าของตลาดก็มีแนวโน้มชลอตัว เนื่องจากสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่มิใช่สินค้าที่เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน (มี Price Elasticity of Demand ในระดับปานกลางถึงสูง) ยกเว้นสินค้าปูนซีเมนต์ ซึ่งชิลีมีความจำเป็นต้องใช้ในการบูรณะประเทศจากอุบัติภัยแผ่นดินไหว และสินค้าประเภทวัสดุในการผลิต เช่น เม็ดพลาสติก ซึ่งตลาดมีความต้องการนำเข้าเนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
2.3 สถานการณ์ที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก จะส่งผลกระทบในเชิงลบ ต่อศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี ตลาดนี้มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพอสมควร ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาดแข็งค่าขึ้นเช่นกัน ทำให้ตลาดยังคงมีอำนาจซื้อ ประกอบกับประเทศคู่แข่งขันรายสำคัญของไทยหลายประเทศก็ประสบปัญหามีค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตนแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐเช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น สำนักงานฯ จึงคาดว่า ผลกระทบจากการที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้น ที่จะมีต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้จะไม่ถึงขั้นรุนแรงมาก
2.4 ข้อเสนอแนะคือ ทางฝ่ายไทยจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขันในตลาดการเงินระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด และควรนำมาตรการทางการเงิน การคลัง มาช่วยรักษาค่าของเงินบาทไทยให้ปรับตัวอยู่ในระดับที่ไม่มากไปกว่าอัตราการแข็งค่าขึ้นของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขัน โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเซียด้วยกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการบรรเทาผลกระทบในทางลบต่อศักยภาพทางการแข่งขันทางการค้าของไทย นอกจากนี้ ไทยควรหาลู่ทางในการเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศในลักษณะ Internationalization ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้มีเงินทุนไหลออกไปนอกประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุในการผลิต จากต่างประเทศ เพื่อขยายกำลังการผลิตในช่วงนี้ เพื่อบรรเทาภาวะที่มีเงินทุนไหลเข้าประเทศมากจนเกินไป และในส่วนของมาตรการทางการค้า สำนักงานฯ เห็นว่า ควรเร่งรัดการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าในตลาดนี้ ให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมศักยภาพในการส่งออกของไทยสู่ตลาด รวมทั้งการจัด Business Summit Forum ระหว่างนักธุรกิจนักลงทุนของไทยและของตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ไทย
2.5 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตลาดและมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยที่สำคัญในช่วงครึ่งหลังของเดือนมกราคม 2554 ได้แก่
2.5.1 ธนาคารกลางชิลียังคงแทรกแซงตลาดเงินในประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อให้ค่าของเงินเหรียญสหรัฐในตลาดชิลีแข็งค่าขึ้น หลังจากที่ค่าของเงินเหรียญสหรัฐแตะระดับต่ำสุดในรอบ 32 เดือนที่ผ่านมา มาอยู่ที่ระดับประมาณ 460 เปโซของชิลี ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2554 นาย Felipe Larrain รัฐมนตรีคลังของชิลี ได้แถลงว่า ธนาคารกลางของชิลี ได้ตัดสินใจที่จะช้อนซื้อเงินเหรียญสหรัฐเป็นจำนวน 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดปี 2011 ซึ่งเป็นการตัดสินใจแทรกแซงค่าของเงินตราต่างประเทศในตลาดการเงินของชิลีครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของชิลี โดยให้เหตุผลว่า กิจกรรมการผลิตสำคัญของประเทศหลายกิจกรรมที่มีบทบาทต่อการจ้างงานเป็นจำนวนมาก ได้รับผลร้ายแรงจากประเด็นปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลท้องถิ่นแข็งตัว โดยพิจารณาเห็นว่า การแทรกแซงดังกล่าว จะสามารถให้การป้องกันการจ้างงานเหล่านี้ได้ การแทรกแซงดังกล่าวในช่วงที่เริ่มต้นแทรกแซง ยังผลให้ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม 2554 อัตราแลกเปลี่ยนเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 488-494 เปโซชิลี ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ แล่ะอมาในช่วงปลายเดือนมกราคม 2554 (ณ วันที่ 28 มกราคม 2554) อัตราแลกเปลี่ยนเงินเหรียญสหรัฐมาอยู่ที่ 484 เปดซชิลีต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ การแทรกแซงดังกล่าวจะมีผลในเชิงบวกต่อการส่งออกสินค้าของชิลี แต่จะมีผลในเชิงลบต่อการนำเข้าของชิลีด้วย เนื่องจากสินค้านำเข้าจะต้องมีราคาเป็นเงินตราสกุลท้องถิ่นที่สูงขึ้น
2.5.2 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดชิลีปรับตัวสูงขึ้นตามค่าของเงินเหรียญสหรัฐ ผลจากการที่ธนาคารกลางของชิลีแทรกแซงช้อนซื้อเงินเหรียญสหรัฐจากตลาดการเงินของชิลี ทำให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นอ่อนตัวลง ซึ่งทำให้ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2554 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดชิลีปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล และเชื้อเพลิงก๊าซ ปรับตัวสูงขึ้นลิตรละ 27 เปโซ 28 เปโซ 29 เปโซ และ 35 เปโซ ตามลำดับ ทำให้ปัจจุบัน ราคาน้ำมันเบนซิน 93-Octane, 95-Octane และ 97-Octane ปรับตัวไปอยู่ที่ลิตรละ 691 เปโซ 709 เปโซ และ 733 เปโซ หรือเท่ากับ 1.40 เหรียญสหรัฐ 1.44 เหรียญสหรัฐ และ 1.49 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ผลจากการที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดชิลีถูกปรับราคาสูงขึ้นดังกล่าว ยังผลให้ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ได้เกิดการชุมนุมประท้วงรัฐบาลอย่างรุนแรงในภูมิภาคตอนใต้ของชิลี
2.5.3 หอการค้าแห่งกรุงซานติอาโก รายงานว่า ในปี 2010 บริษัทต่างๆในชิลี ทำการลงทุนในต่างประเทศเป็นมูลค่า 6.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา ประเทศปลายทางการลงทุนสำคัญ ได้แก่ บราซิล (ร้อยละ 45 หรือ 2.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เปรู (ร้อยละ 32หรือ 1.95 พันล้านเหรียญสหรัฐ) โคลอมเบีย (ร้อยละ 16) และอาร์เจนตินา (ร้อยละ 4) โดยสาขาที่มีการลงทุนมาก ได้แก่ การค้าปลีก (ร้อยละ 45) การขนส่งทางอากาศ (ร้อยละ 19) ซึ่งส่วนใหญ่ของการลงทุนในต่างประเทศ เกิดจากการขยายสาขาไปในต่างประเทศ และการซื้อธุรกิจ (Acquisitions) ในต่างประเทศ ทั้งนี้ หอการค้าแห่งกรุงซานติอาโก ยังได้คาดการณ์ว่า จะยังคงมีพลวัตดังกล่าวต่อไปในปี 2011
2.5.4 สำนักงานศุลกากรของชิลีเปิดเผยว่า การค้าระหว่างชิลีกับโลก ในปี 2010 ขยายตัวร้อยละ 32 คิดเป็นมูลค่า 121 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกของชิลีไปยังตลาดญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 40 ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นตลาดส่งออกสำคัญเป็นลำดับ 2 ของชิลี แทนที่สหรัฐอเมริกา ในปี 2010 การส่งออกของชิลีขยายตัวร้อยละ 28 โดยมีเอเซียเป็นตลาดสำคัญที่สุดของสินค้าส่งออกของชิลี (คิดเป็นร้อยละ 49 ของการส่งออกของชิลี) ตลาดส่งออกรองลงไปคือ ตลาดละตินอเมริกา (ร้อยละ 29) และตลาดยุโรป (ร้อยละ 20) จีนเป็นตลาดส่งออกของชิลีที่มีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นลำดับ 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งออกสินแร่ทองแดงและเหล็ก ซึ่งในปีที่แล้ว จีนเป็นผู้ซื้อสินแร่เหล็กที่ชิลีส่งออกไปกว่าร้อยละ 76 และซื้อสินค้าทองแดงส่งออกของชิลีกว่าร้อยละ 65 ในส่วนของการนำเข้า ในปี 2010 ชิลีนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 สินค้านำเข้ารายการสำคัญได้แก่ น้ำมันดิบ (การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 9) ส่วนสินค้านำเข้ารายการที่การนำเข้าในปี 2010 มีการขยายตัวมากที่สุด คือ รถยนต์ การนำเข้าขยายตัวถึงร้อยละ 125 โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นการนำเข้ารถยนต์จากเกาหลีใต้ การนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่นคิดเป็นร้อยละ 28 ของการนำเข้าทั้งหมด ในขณะที่การนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐ และเยอรมนี คิดเป็นร้อยละ 8
2.5.5 สมาคม Professional Association of Supply Industries (AGIP) รายงานว่า ปัจจุบันยอดขายสินค้าในกลุ่มอาหารและของอุปโภคเพื่อรักษาความสะอาดส่วนบุคคลของซูเปอร์มาร์เก็ตในตลาดชิลี สูงขึ้นมากถึง 16 พันล้านเหรียญสหรัฐ และการค้าสินค้ากลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะตกอยู่ในมือของกลุ่มบริษัทซูเปอร์มาร์เก็ตไม่กี่กลุ่ม ทั้งนี้ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 62.4 ถูกแบ่งกันอยู่ในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตกลุ่มใหญ่ ได้แก่ Lider (เป็นส่วนหนึ่งของห้าง Wal-mart Chile) มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 20.84 Jumbo และ Santa Isabel (ในเครือของ Cencosud) มีส่วนแบ่งร้อยละ 18.72 Unimarc (กลุ่ม Saich group) ครองส่วนแบ่งร้อยละ 10.48 Bigger (กลุ่ม Supermercados del Sur) ครองส่วนแบ่งร้อยละ 4.43 Tottus (กลุ่ม Falabella) ครองสัดส่วนตลาดร้อยละ 3.93 และห้างซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กในตลาดส่วนภูมิภาค ครองตลาดร้อยละ 3.68 ในอดีตที่ผ่านมา ในช่วงปี 1995 ห้างซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กต่างๆในส่วนภูมิภาค เคยครองส่วนแบ่งตลาดของการค้าสินค้าดังกล่าวในมือของกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ถึงร้อยละ 53 (ปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ 5.9) ในขณะที่ในปี 1995 Lider เคยครองส่วนแบ่งตลาดของการค้าสินค้าดังกล่าวในมือของกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตเพียงร้อยละ 19 (ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 33.4)
ส่วนแบ่งตลาดขายปลีกสินค้าอาหารและของอุปโภคเพื่อรักษาความสะอาดส่วนบุคคลส่วนที่เหลือ ร้อยละ 12.8 ถูกครองโดยร้านขายของชำใกล้บ้าน ร้อยละ 12.4 ถูกครองโดยตลาดสด และร้อยละ 12.4 ถูกครองโดยผู้จัดจำหน่ายสินค้าในราคาขายส่ง
ทั้งนี้ กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต จะได้เปรียบร้านขายของชำ พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด ในด้านต้นทุนที่สามารถซื้อสินค้ามาด้วยราคาขายส่งที่ถูกกว่า และได้รับเครดิตในเรื่องกำหนดระยะเวลาการชำระเงินค่าสินค้าที่ยาวนานกว่า
กิจกรรมที่ดำเนินการ ระหว่างวันที่ 16-31 ม.ค. 54 (ไม่รวมงานด้านบุคลากร งานการเงิน ของสำนักงานฯ)
1. ประสานงานในการจัดเตรียมการนัดหมายขอเข้าเยี่ยมคารวะและจับคู่เจรจาธุรกิจให้คณะผู้แทนระดับสูงของไทยนำโดย ฯพณฯ รมช. พาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) เยือนเปรูและชิลี ระหว่างวันที่ ๑-๑๐ มีนาคม ๒๕๕๔
2. ประสานงานเจ้าหน้าที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เรื่องการจัดทำข้อมูลโอกาสทางการลงทุนในชิลี โดยส่งข้อมูลเพื่อสนับสนุนการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในประเทศชิลี และข้อมูลเชิงลึกในการสนับสนุนการลงทุนที่ประเทศชิลีให้การสนับสนุนนักลงทุนของประเทศตนเอง ให้เจ้าหน้าที่กรมเจรจาการค้าใช้ในการกำหนดกรอบการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี
3. ส่งข้อมูลเชิงลึกในการสนับสนุนการลงทุนที่ประเทศชิลีและเปรูให้การสนับสนุนนักลงทุนของประเทศตนเอง ในรูปแบบ Microsoft Word มาให้กลุ่มงานอเมริกา
4. เสนอรายชื่อแขกนักธุรกิจสำคัญและผู้นำเข้าสำคัญในเมืองบัลปาไรยโซและเมืองบิญา เดล มาร์ ให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก เชิญร่วมกิจกรรมจัดสาธิตการประกอบอาหารไทยและเชิญเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองพบปะนักธุรกิจจัดโดยสถานเอกอัครราชทูต ที่เมืองบิญา เดล มาร์
5. ประสานงานสำนักงานส่งเสริมการส่งออกและการท่องเที่ยวของชิลี (ProChile) ณ กรุงเทพฯ และประสานงานผู้นำเข้าไทย เพื่อแก้ปัญหาทางการค้าให้ผู้นำเข้าไทยที่จ่ายเงินค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ปลาทะเลให้ผู้ส่งออกชิลีแล้วยังไม่ได้รับสินค้า
6. จับคู่เจรจาธุรกิจให้นักธุรกิจชิลีราย Ms. Claudia Perez, ตำแหน่ง Commercial Chief, บริษัท Repuestosexpress S.A. กับบริษัท Exedy ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าอะไหล่รถยนต์ของไทย
7. ให้บริการนักธุรกิจชิลี 5 ราย/ครั้ง ที่ติดต่อขอรับบริการข้อสนเทศทางการค้าจากสำนักงานฯ สินค้า เบียร์ ยางรถยนต์ ปลากระป๋อง
8. ให้บริการนักธุรกิจไทย 4 ราย ที่ติดต่อขอรับบริการข้อสนเทศทางการค้าจากสำนักงานฯ สินค้า อาหาร เครื่องประดับเงิน ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เฟอร์นิเจอร์
9. รักษาลูกค้าเดิมและแสวงหาลูกค้าใหม่ โดยการเชิญนักธุรกิจผู้นำเข้าจำนวน 2 ราย เข้าร่วมเป็นคณะผู้แทนการค้าของสำนักงานฯ เดินทางมาเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า Bangkok Gems & jewelry Fair, February 2011 ที่กรุงเทพฯ
10. ส่งข้อมูลสถานการณ์การค้าในภาพรวมกลุ่มสินค้าสำคัญ 10 รายการ ประจำเดือน มกราคม 2554
ที่มา: http://www.depthai.go.th