ผักสด และผลไม้ไทยในตลาด EU กับงานแสดงสินค้า Fruit Logistica 2011

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 17, 2011 15:07 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ ณ กรุงเบอร์ลิน (Messe Berlin) ได้จัดงานแสดงสินค้า Fruit Logistica 2011 ขึ้นระหว่างวันที่ ๙—๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ และในงานนี้มีผู้ประกอบการส่งออกสินค้าและบริการของไทย เข้าร่วมแสดงสินค้า/บริการ ภายในงาน จำนวน ๙ ราย ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ได้เชิญผู้ประกอบการไทยร่วมเลี้ยงรับรอง พร้อมทั้งสนทนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ในค่ำวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา

การเข้าเยี่ยมชมงาน Fruit Logistica 2011 และผลการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้ประกอบการส่งออกสินค้าผักสด ดอกไม้สด และผลไม้ของไทย ดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

๑. Fruit Logistica เป็นงานแสดงสินค้า Fresh Produce นานาชาติ มีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง และผู้เข้าชมงานจากภาคธุรกิจการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรจากทั่วโลก โดยงานในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า ๕๖,๐๐๐ คน จาก ๑๓๒ ประเทศทั่วโลก และมีผู้ประกอบการร่วมแสดงสินค้าและบริการของตนจำนวน ๒,๔๕๒ บริษัท จาก ๘๔ ประเทศ ผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดแสดงในงาน อาทิ ผักสดและผลไม้สด ผลไม้แห้ง ถั่วต่างๆ สมุนไพร และเครื่องเทศ สินค้าเกษตรอินทรีย์ ดอกไม้และต้นไม้ประดับ รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ (Packaging & Labelling) บริการด้านการขนส่งสินค้า และระบบ Logistic, Warehouse และบริการด้าน IT ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดสัมมนาให้ความรู้ด้านการตลาดให้แก่ผู้สนใจในวงการ Fresh Produce ที่เข้าชมงาน อาทิ การสร้าง Brand สินค้ากลุ่ม Fresh Produce จากประสบการณ์ของกลุ่มธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมดังกล่าว และแนวโน้ม การตลาดในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น แนวโน้มและการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรม HoReCa (Hotel, Restaurant, and Catering) ในตลาดเยอรมนี และตลาดยุโรป รวมถึงการสัมมนานำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆที่เกี่ยวข้องจากบริษัทต่างๆ ที่มาเข้าร่วมเป็น Exhibitors ภายในงาน เป็นต้น ตลอดจนการมอบรางวัล Fruit Logistica Innovation Awards 2011 โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ได้แก่ “Citrus Caviar” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้รสเปรี้ยวเช่นเดียวกับมะนาว มีรูปลักษณ์เหมือน Caviar หลากสีสันอยู่ในฝักเปลือกแข็งขนาดเท่านิ้วมือ คิดค้นขึ้นโดยบริษัท Finger Liming Good Pty Ltd จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถึง ๑๕ ปี (ภาพบรรยากาศภายในงาน Fruit Logistica 2011 ตามเอกสารแนบ)

๒. ผู้ประกอบการไทย จำนวน ๙ ราย ที่เข้าร่วมแสดงสินค้า Fresh Produce, Packaging และบริการด้าน Logistics ภายในงาน ประกอบด้วย (๑) บริษัท Koener Agro Export Center Co.,Ltd. (๒) บริษัท Boonmee International Co.,Ltd. และ Asia Exotic Corporation Ltd. (๓) บริษัท Agrifresh Co.,Ltd. (๔) บริษัท Blue River Products Limited (๕) บริษัท Siam Jumbo International Co.,Ltd. (๖) บริษัท Royal Inter Pack Co.,Ltd. (๗) บริษัท Thai Airways International PCL (Thai Cargo) ซึ่งในจำนวนนี้มี ๒ บริษัท ที่เข้าร่วมแสดงสินค้าโดยรับการสนับสนุนจาก CBI Programm (Center for the Promotion of Imports from developing countries, the Netherlands) คือ (๘) บริษัท Chatchawal Orchid Co., Ltd. และ (๙) บริษัท Swift Co.,Ltd.

ทั้งนี้ สคร.เบอร์ลิน ได้ประสานขอความร่วมมือไปยังหอการค้าและอุตสาหกรรมเบอร์ลิน (IHK Berlin) หอการค้าฯ พอตส์ดัมและบรานเด้นบัวร์ก (IHK Potsdam) สภาการค้าส่ง การค้าต่างประเทศ และการค้าบริการ (BGA: Bundesverband Grosshandel, Aussenhandel, Deinstleistungen, e.V.) ตลอดจนบริษัทผู้นำเข้ารายใหญ่ ในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลบริษัทผู้ส่งออกไทยที่เข้าร่วมแสดงสินค้าภายในงานด้วย

๓. สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน โดยนายเชิดชู รักตะบุตร อัครราชทูตได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงรับรองผู้ประกอบการไทยที่เดินทางมาเข้าร่วมงาน Fruit Logistica 2011 ในครั้งนี้ โดย สคร.เบอร์ลินได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้ประกอบการดังกล่าว ถึงสถานการณ์การส่งออกสินค้าผักสด ดอกไม้สด และผลไม้จากประเทศไทย ตลอดจนผลกระทบต่อผู้ส่งออกที่อาจเกิดจากการใช้มาตรการทางเลือกระหว่างการตรวจเข้ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และการทำ Self ban ของรัฐบาล เพื่อป้องกันการถูกระงับการนำเข้าสินค้าผักสดจากไทย จำนวน ๕ กลุ่ม ของสหภาพยุโรป สรุปข้อคิดเห็นของผู้ส่งออก ที่สำคัญมีดังนี้

๓.๑ การเลือกใช้มาตรการตรวจเข้ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แทนมาตรการ Self ban จะยังคงส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกที่ปฏิบัติตาม GAP: Good Agricultural Practice อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในเรื่องของ (๑) ระยะเวลาในการส่งออกสินค้าผักสด ซึ่งต้องเผื่อระยะเวลาสำหรับการตรวจเข้มไว้ถึงกว่า ๖ ชั่วโมง จึงมีผลกระทบต่อระบบ Cool chain ของสินค้าเน่าเปื่อยเสียหายง่าย (Perishable goods) (๒) ในทางปฏิบัติ เมื่อมีการเปิดบรรจุภัณฑ์สินค้าผักสดพร้อมๆกัน เพื่อทำการตรวจเข้ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ในทุกๆ Shipment นั้น อาจเกิดปัญหาแมลงศัตรูพืชจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หลุดแพร่กระจายเข้าไปยังสินค้าที่ได้มาตรฐานอื่นๆได้ในเวลาเดียวกัน และทำให้เกิดปัญหา Contamination ตามมาได้ และ (๓) หากใช้มาตรการตรวจเข้ม จะทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนจากการตรวจเข้ม เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายในการสุ่มตรวจสินค้าผักสดในแต่ละ Shipment ของผู้ส่งออกไทย อยู่ที่ประมาณ ๓,๕๐๐-๕,๐๐๐ บาท ต่อสินค้าผักสด ๓-๔ กลุ่ม (หรือคิดเป็นต่อสินค้า ๑๐๐ กิโลกรัม) เนื่องจากเครื่องมือ/อุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจสอบมีราคาสูง ขณะเดียวกันกระบวนการตรวจสอบของประเทศไทยเอง ที่มีรายการสารเคมีขึ้นทะเบียนให้มีการตรวจสอบไว้มากถึงกว่า ๒,๐๐๐ รายการ และไม่สามารถตรวจสอบสารเคมีบางตัวที่ EU มีการตรวจสอบและกำหนดค่า MRLs ไว้ต่ำมาก จำนวนและมาตรฐานห้อง Lab ที่มีอยู่ในประเทศไทย ไม่เพียงพอสำหรับการตรวจเข้ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากในทางปฏิบัติเทคนิคการตรวจที่ใช้จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละกลุ่มสินค้า ซึ่งในความเห็นของผู้ส่งออก รัฐบาลควรต้องเร่งปรับมาตรฐานในเรื่องดังกล่าวนี้เสียก่อน ที่จะประกาศใช้มาตรการตรวจเข้ม

๓.๒ ผู้ประกอบการส่งออกไทยที่มาเข้าร่วมแสดงสินค้าในครั้งนี้ ส่วนมากเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ถือปฏิบัติตาม Good Agricultural Practice ด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ทั้งในหลักการ เหตุผล และแนวทางปฏิบัติ จึงมองสาเหตุของปัญหาดังกล่าวว่า มาจากการที่ระบบการผลิตสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งส่วนมากประกอบด้วยเกษตรกรรายย่อย ที่ยังไม่ถือปฏิบัติตาม GAP ด้วยความเข้าใจ ขาดทุนทรัพย์และความรู้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอย่างเป็นระบบ อาทิ ขาดระบบชั่ง ตวง วัด ที่มีมาตรฐาน และขาดการ Record ปริมาณสารเคมีที่ใช้ในแต่ละครั้ง เพราะส่วนมากนิยมใช้สารเคมีกันตามความรู้พื้นฐานที่มีอยู่เดิม/ปฏิบัติอย่างเดิมที่เคยยึดถือกันต่อๆมา จึงมักไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเมื่อถูกตรวจสอบก่อนส่งออกและนำเข้า นอกจากนี้ จำนวนผู้ประกอบการส่งออกสินค้าผักสดมายังตลาด EU ประกอบด้วยผู้ส่งออกรายย่อยๆ ที่มักไม่ปฏิบัติตามกฏ กติกาสากลอย่างเคร่งครัด เป็นต้น

๓.๓ แนวทางที่ถูกต้อง ที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาว ในความเห็นของผู้ส่งออก ได้แก่ (๑) ควบคุมการนำเข้าสารเคมี (๒) จัดทำ List ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าผักสด และทำ Grading & Ranking ผู้ส่งออกชั้นดี แยกออกจากผู้ส่งออกสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และใช้มาตรการที่มีระดับความเข้มงวดแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ ในการจัด Grade ผู้ประกอบการ ควรต้องใช้ชื่อบุคคลเจ้าของกิจการเป็นหลัก เพื่อเป็นการป้องกันผู้กระทำผิดลักลอบส่งออกสินค้าโดยอาศัยการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ (๓) สนับสนุนภาคการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อสร้างให้เกิดมาตรฐานในระยะยาว และ (๔) มีแผนปฏิบัติการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบ

๓.๔ ผู้ส่งออกยังคงมองว่า EU เป็นตลาดนำเข้าผักสด ดอกไม้ และผลไม้จากประเทศไทย ที่มีศักยภาพ และมีผู้ประกอบการบางราย (บ. Chatchawal Orchid ในฐานะอุปนายกสมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย และเคยให้ความสนใจร่วมลงทุนใน Thai Perishable Distribution Center Munich Airport: TPM) ได้เสนอข้อคิดเห็นให้รัฐบาลไทยสนับสนุนด้านการลงทุนในเรื่องของศูนย์กระจายสินค้าในตลาด EU ซึ่งอาจดำเนินการในรูปแบบการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน และให้มีทีมนักการตลาดที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้บริหารจัดการ เช่นเดียวกันกับที่รัฐบาลจีนให้การส่งเสริมจัดตั้ง China Center เป็นศูนย์กระจายสินค้าในตลาดสำคัญต่างๆ หรืออาจเป็นในรูปแบบของ Perishable Center ณ สนามบิน Charles de Gaulle ของกรุงปารีส ทั้งนี้ การมีศูนย์กลางการกระจายสินค้า Perishables ของไทยในตลาดยุโรป ผู้ส่งออกรายดังกล่าว มีความเห็นว่าจะเป็นการช่วยลดการแข่งขันกันเองในเรื่องของราคาได้

อนึ่ง ต่อข้อซักถามถึงอุปสรรคที่ทำให้การดำเนินการลงทุนใน TPM ไม่มีความคืบหน้านั้น ผู้ประกอบการรายดังกล่าว ให้ข้อคิดเห็นว่าสาเหตุสำคัญอาจมาจาก (๑) การมีค่าใช้จ่ายในช่วงระหว่างการเจรจาต่อรองในเงื่อนไขต่างๆก่อนการก่อตั้งสูง ซึ่งผู้ประกอบการไทยยังไม่พร้อมที่จะใช้จ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้ด้วยต้นทุนของตนเอง (ต้องการ Subsidies จากภาครัฐ) และ (๒) วัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง TPM ไม่ต้องตรงกันระหว่างผู้ประกอบการไทย และสนามบินมิวนิค เนื่องจากผู้ส่งออกไทยประสงค์ที่จะมีศูนย์แสดงสินค้า/Shop ของตนเองตั้งภายในสนามบิน ซึ่งไม่ตรงกับ เป้าหมายในการจัดตั้ง TPM ของฝ่ายสนามบินมิวนิคที่ต้องการให้เป็นเพียงศูนย์กระจายสินค้า Perishables เท่านั้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ