สถานการณ์สินค้ายานยนต์และยางรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น เดือนกุมภาพันธ์ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 21, 2011 14:27 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญในตลาดรถยนต์ญี่ปุ่น ข้อมูลจาก Japan Automobile Manufacturer Association

รถยนต์โตโยต้า พรีอุส ได้สูญเสียตำแหน่งรถยนต์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศญี่ปุ่นให้กับ ฮอนด้า ฟิต แล้วโดยรวมระยะเวลาการครองตำแหน่งทั้งสิ้นนานถึง 19 เดือนติดต่อกัน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 รถยนต์รุ่นฟิตของฮอนด้า มอเตอร์สามารถทำยอดขายได้เป็นอันดับ 1 ในเดือนมกราคม 2554 ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นฟิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็นจำนวน 14,873 คัน หลังจากที่ได้มีการเปิดตัวรุ่นไฮบริดที่ราคา 1.59 ล้านเยนเมื่อเดือนตุลาคม 2553 ซึ่งถือเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในบรรดารถไฮบริดที่มีการจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ยอดขายรถโดยรวมในประเทศอ่อนตัวลง ขณะที่ รถอีโค้คาร์จากไดฮัทซุ รุ่น Move มียอดจำหน่ายเป็นอันดับ 2 จำนวนรวมทั้งเดือน 14,209 คัน สูงขึ้นจากเดือนธันวาคม 2553 (จำนวน 10,823 คัน) ขณะที่ยอดจำหน่ายของโตโยต้า พีอุสมีจำนวน 13,711 คัน

บริษัทไดฮัทซุ มอเตอร์ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครโอซากา กำลังพิจารณาการสร้างโรงงานแห่งใหม่ในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กราคาประหยัดเป็นการตอบสนองกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยโรงงานแห่งใหม่ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2013 จะผลิตชิ้นส่วนเพื่อป้อนให้กับโรงงานในญี่ปุ่นและการจำหน่ายในภูมิภาค เบื้องต้นคาดว่าโรงงานแห่งใหม่นี้จะมีกำลังการผลิตรถยนต์ขนาด 1,000 ซีซี ประมาณ 100,000 คันต่อปี ปัจจุบันไดฮัทซุได้ขยายกำลังผลิตในโรงงานแห่งเดิมจาก 280,000 คัน เป็น 330,000 คัน ต่อปีแล้ว แต่คาดว่าคงจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดจึงต้องเร่งสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้น จากนโยบายการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศของไดฮัทซุจะเห็นได้ว่าบริษัทฯมีรากฐานที่มั่นคงมากในมาเลเซียและอินโดนีเซีย

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในประเทศไทย

บริษัทโตโยต้าอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะย้ายฐานการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กที่มีการผลิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่นออกมาลงทุนนอกประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น หลังจากในช่วงที่ผ่านมา ญี่ปุ่นต้องเผชิญปัญหาแรงงานขาดแคลน รวมถึงปัญหาประชากรลดลงอีกทั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญภาวะเงินเยนแข็งค่า ส่วนโรงงานและแรงงานของโตโยต้าที่มีอยู่ในญี่ปุ่นจะถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น เช่น รถยนต์ไฮบริด รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นรถที่มีการเพิ่มมูลค่าและมีความซับซ้อนในการผลิต

ประเทศไทย อินเดีย และอินโดนีเซีย เป็น 3 ประเทศแรกที่โตโยต้าอาจย้ายการผลิตและเพิ่มการลงทุน โดยโตโยต้าจะพิจารณาจาก 3 องค์ประกอบหลักคือเรื่องแรงงาน อัตราภาษีและระบบโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในระยะยาว แต่จะไม่คิดถึงปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนซึ่งเป็นปัจจัยระยะสั้นแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน นโยบายของบริษัทนิสสันก็เริ่มมีการย้ายฐานการผลิตรถประหยัดพลังงานอย่างนิสสัน มาร์ช มายังประเทศไทยแล้วและประสบผลสำเร็จเมื่อตลาดญี่ปุ่นให้การตอบรับในเวลาไม่ถึง 1 ปี เนื่องจากมีราคาถูกกว่าที่ผลิตในญี่ปุ่น สอดคล้องกับสถานการณ์ในอีก 2-3 ปีจากนี้ไป รถอีโคคาร์จากญี่ปุ่นจะมีการผลิตในไทยมากขึ้นโดยค่ายฮอนด้าจะเปิดตัวในปี 2554 ค่ายมิตซูบิชิและซูซูกิ จะเปิดตัวในปี 2555 และปีถัดไปเป็นการเปิดตัวของรถ อีโคคาร์จากโตโยต้า

เดิมทีผู้บริโภคญี่ปุ่นก็ยังคงมีความกังวลในรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย แต่หลังจากการวางจำหน่ายนิสสันมาร์ชในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ด้วยคุณภาพและการวางแผนการตลาดที่ดีของนิสสันทำให้ มาร์ชกลายเป็นรถยนต์นำเข้าที่ขายดีที่สุดในประเทศญี่ปุ่นแล้วดังรายงานว่ายอดขายรถยนต์นำเข้าใหม่ในญี่ปุ่นซึ่งรวมถึงรถของบริษัทญี่ปุ่นที่ผลิตในต่างประเทศมีจำนวนสูงขึ้นร้อยละ 52.9ในเดือนมกราคม 2554 หรือมีจำนวน 14,849 คัน เนื่องจากยอดขายที่เพิ่มมากขึ้นของนิสสัน มาร์ช

สมาคมผู้นำเข้ายานยนต์แห่งญี่ปุ่นรายงานว่าว่า บริษัทนิสสันเป็นผู้นำเข้ารถยนต์อันดับที่ 1 ในเดือนมกราคม 2554 ซึ่งขยับจากอันดับที่ 4 ในเดือนธันวาคม 2553 โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 23.57 ของรถยนต์นำเข้าทั้งหมดหรือจำนวน 3,500 คัน โดย บริษัทโฟล์คสวาเกนมียอดนำเข้าเป็นอันดับที่ 2 ด้วยยอดจำหน่ายจำนวน 2,758 คัน และมีส่วนแบ่งในตลาดที่ร้อยละ 18.57 ขณะที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ มียอดนำเข้าเป็นอันดับ 3 โดยมียอดจำหน่ายที่ 1,576 คัน และส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 10.61 ส่วนบีเอ็มดับเบิลยู มียอดจำหน่ายในอันดับ 4 (จากอันดับ 2 ในเดือนธันวาคม 2553) โดยมียอดจำหน่าย 1,423 คัน และส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 9.58 ของตลาดทั้งหมด

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ