ตลาดผลไม้ในญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 21, 2011 15:04 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การผลิตและตลาด

ญี่ปุ่นเป็นตลาดผลไม้ที่สำคัญ แม้ผลิตผลไม้ได้เองภายในประเทศ ปีละ 3-4 ล้านตัน แต่ต้องนำเข้าปีละ 1.7- 2.0 ล้านตัน ผลไม้ที่ผลิตในประเทศมีหลายชนิด เกือบทั้งหมดเป็นผลไม้เมืองหนาว ผลไม้สำคัญที่ผลิตในประเทศ จำนวนมากที่สุด คือ ผลไม้สกุลส้ม ปริมาณผลผลิต กว่า 1 ล้านตัน รองลงมาคือ แอปเปิล มีปริมาณ 8-9 แสนตัน ผลไม้อื่นๆ ได้แก่ สาลี่ องุ่น สตรอเบอรรี่ melon แตงโม peach เชอรี่ และพลับ เป็นต้น

ผลไม้ที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอกับการบริโภคสัดส่วนเพียงร้อยละ 40-45 โดยน้ำหนัก การผลิตผลไม้ในญี่ปุ่นโดยรวมมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกลดลง จำนวนคนรุ่นใหม่ทำการเกษตรน้อยลงและต้นทุนการผลิตสูงกว่าผลไม้นำเข้า รวมทั้งผู้บริโภคคำนึงถึงราคามากขึ้น ดังนั้น แม้จำนวนประชากรของญี่ปุ่นลดลง แต่การนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศยังไม่มีแนวโน้มลดลง

2. ช่องทางการจำหน่าย

ผลไม้ที่จำหน่ายในตลาดทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าต้องปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง การค้าผลไม้ในญี่ปุ่น ส่วนใหญ่แต่ละพื้นที่จะมีสหกรณ์การเกษตรรวบรวมผลผลิตส่ง ผู้ค้าส่ง/ผู้ค้าปลีก การจัดเก็บ บรรจุ และการขนส่ง ดำเนินการอย่างพิถีพิถันเพื่อรักษาความสด และคุณภาพของสินค้า และมีข้อมูลผู้ผลิต แหล่งผลิตกำกับไว้ที่สินค้าทุกชิ้น ให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

ส่วนผลไม้จากต่างประเทศ บริษัทผู้นำเข้า จะทำหน้าที่ตั้งแต่คัดเลือก ประสานกับผู้ส่งออก/ผู้ผลิตที่เป็นคู่ค้า เจรจาสั่งซื้อ การตรวจสอบควบคุมคุณภาพ ก่อนการขนส่ง จัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อความมั่นใจในมาตรฐานคุณภาพสินค้า และความปลอดภัยด้านอาหาร บริษัทนำเข้าบางรายจึงมีบริษัทในเครือทำหน้าที่เป็นผู้ส่งออกจากประเทศต้นทางด้วย

3. การนำเข้า

ญี่ปุ่นนำเข้าผลไม้ปีละประมาณ 1.7-1.9 ล้านตัน ผลไม้ที่ญี่ปุ่นนำเข้ามาก ได้แก่ กล้วย นำเข้าปีละกว่า 1 ล้านตัน สับปะรดปีละประมาณ 1.5 แสนตัน เกรพฟุตปีละประมาณ 1.8 แสนตัน ส้มประมาณ 1 แสนตัน ผลไม้อื่นที่นำเข้า เช่น กีวีฟรุต อโวกาโด มะม่วง เบอรี่ต่างๆ องุ่น เป็นต้น

แหล่งนำเข้าผลไม้ที่สำคัญญี่ปุ่น ได้แก่

  • ฟิลิปปินส์ มีส่วนแบ่งกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าการนำเข้าผลไม้สดของญี่ปุ่น ผลไม้จากฟิลิปปินส์ คือ กล้วย สัปปะรด และผลไม้เมืองร้อนอื่นๆ เช่น มะม่วง มะพร้าวอ่อน
  • สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนมูลค่าประมาณร้อยละ 22 ผลไม้ที่ส่งมาญี่ปุ่น ได้แก่ ส้ม องุ่น เกรพฟรุตเบอรี่ต่างๆ
  • นิวซีแลนด์ มีสัดส่วนมูลค่าประมาณร้อยละ 10 ผลไม้สำคัญจากนิวซีแลนด์ คือ กีวีฟรุต
  • เม็กซิโก มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 7 ผลไม้ที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากเม็กซิโก เช่น มะม่วง อโวกาโด melon
  • สำหรับประเทศไทย มีสัดส่วนมูลค่า ประมาณ ร้อยละ 0.6 ผลไม้จากประเทศไทยที่ญี่ปุ่นนำเข้า คือ มะม่วง มังคุด ทุเรียน มะพร้าวอ่อน กล้วย และสับปะรด

ปี 2552 ญี่ปุ่นนำเข้าผลไม้โดยรวม ปริมาณ 1.79 ล้านตัน มูลค่า 1,988 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อยจากปี 2552 เนื่องจากการนำเข้ากล้วยชลอตัวลงหลังจากที่กระแสความนิยมสูงขึ้นมากตั้งแต่ปลายปี 2551 สืบเนื่องจากกการเผยแพร่ข่าวว่าการรับประทานกล้วยส่งผลดีต่อสุขภาพ และการลดน้ำหนักส่วนการนำเข้าสับปะรด และเกรฟฟรตลดลงเล็กน้อยเช่นกัน ขณะที่ญี่ปุ่นนำเข้าผลไม้อื่น เช่น องุ่น ส้ม มะม่วง มูลค่าเพิ่มขึ้น

ผลไม้จากไทยที่ส่งไปญี่ปุ่น ในปี 2553 โดยรวมมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ทั้งปริมาณและมูลค่าผลไม้ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ มะม่วง มังคุด ทุเรียน และมะพร้าวอ่อน ยกเว้น กล้วย และสับปะรดที่ลดลงจากปี 2552 เล็กน้อย รายละเอียดสถิติการนำเข้าผลไม้ของญี่ปุ่นปรากฏตามตารางที่แนบ

4. การค้าในประเทศ และ ระดับราคา

สถานที่จำหน่ายปลีกผลไม้ในญี่ปุ่น มีทั้ง ซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีผลไม้หลากหลายชนิดจำหน่ายทั้งผลไม้สดทั้งผล และผลไม้แบ่ง/หั่นชิ้น นอกจากนี้มีร้านจำหน่ายผัก-ผลไม้โดยเฉพาะ รวมทั้งร้านสะดวกซื้อบางแห่ง นอกจากจำหน่ายผลไม้หั่นชิ้นพร้อมรับประทาน มีผลไม้บางชนิดเช่น กล้วย ส้ม แอปเปิล เป็นต้น วางจำหน่ายด้วย

ราคาขายปลีกผลไม้โดยทั่วไปเป็น ดังนี้

  • มะม่วง ฟิลิปปินส์ และเม็กซิโก ราคา 200-400 เยน ต่อผล มะม่วงไทย ราคา 290-500 เยนต่อผล
  • มังคุด ราคา 80-150 เยนต่อผล
  • ทุเรียน ราคา 2,500 — 4,000 เยน ต่อผล
  • มะพร้าว มะพร้าวอ่อนที่มีเปลือกชั้นใน ราคา 300-500 เยนต่อผล ขณะที่มะพร้าวเผาซึ่งปลอกเปลือก จนถึงกะลา ราคา 100-200 เยนต่อผล
  • กล้วย ราคาผลละ 30-100 เยน
  • องุ่น บรรจุเพค ราคาประมาณ 1,000-1,500 เยนต่อกก.
  • ส้ม ราคา 200- 1,000 เยนต่อกก.
  • สตรอเบอรรี่ ราคา 400-800 เยนต่อแพค(ประมาณ 300 กรัม)

5. มาตรการด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี

ญี่ปุ่นใช้มาตรการทางการค้าสำหรับผลไม้ ทั้งด้านภาษี และมิใช่ภาษี โดยมาตรการมิใช่ภาษีนับเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการนำเข้าผลไม้ของญี่ปุ่น ซึ่งเข้มงวดด้านสุขอนามัย ห้ามนำเข้าผลไม้ที่เสี่ยงต่อ โรคพืช แมลงศัตรูพืช และสารเคมีที่ตกค้างในผลไม้ ญี่ปุ่นกำหนดประเภทผลไม้จากแต่ประเทศที่อยู่ในข่ายจะอนุญาตให้นำเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นแตกต่างรายการกันไป โดยจะกำหนดให้นำเข้าได้เฉพาะรายการที่ทางการญี่ปุ่นได้ตรวจสอบและตก ลงกับประเทศผู้ส่งออกแล้วเท่านั้น

ผลไม้สดจากประเทศไทยที่อนุญาตให้นำเข้า มีเพียง 8 ชนิด คือ มะม่วง (อนุญาตเฉพาะพันธุ์หนังกลางวัน พิมเสน น้ำดอกไม้ มหาชนก และแรด) มังคุด ทุเรียน สับปะรด มะพร้าว กล้วย สละ และมะขามหวาน

5.1 มาตรการด้านภาษี

ญี่ปุ่นเก็บภาษีผลไม้แตกต่างกันไปตามชนิด อัตราที่เรียกเก็บอยู่ระหว่างร้อยละ 0- 32

  • อัตราภาษีนำเข้าผลไม้จากประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไป มีอัตราร้อยละ 5-17 ส่วนภาษีนำเข้าส้มช่วงเดือธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคม มีอัตราสูงถึงร้อยละ 32
  • อัตราภาษีนำเข้าผลไม้ที่ได้รับอนุญาตจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุดมีอัตรา เป็นศูนย์(0)
  • ผลจากความตกลง JTEPA ญี่ปุ่นได้เปิดตลาดผลไม้ให้แก่ไทย คือ

-- ยกเลิกภาษีทันทีตั้งแต่ความตกลงมีผลใช้บังคับ เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2552 แก่ ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง ทุเรียน มะม่วง มังคุด

มะพร้าว

-- ให้โควตาปลอดภาษีสำหรับ กล้วย ปีแรก 4,000 ตัน ทยอยเพิ่มเป็น 8,000 ตันในปีที่ 5 ภาษีนอกโควตาอัตราร้อยละ 10 กรณี

นำเข้าช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน อัตราร้อยละ 20 กรณีนำเข้าช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคม

-- ให้โควตาปลอดภาษีสำหรับสับปะรดจากไทย(จำกัดน้ำหนักผลละไม่เกิน 900 กรัม) 100 ตัน ในปีที่ 1 และเพิ่มเป็น 500 ตันในปี

ที่ 5 อัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 17

5.2 มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี

ญี่ปุ่นมีกฎหมายควบคุมการนำเข้าผลไม้สด คือ กฎหมายป้องกันโรคพืช (Plant Protection Law) กฎหมายสุขอนามัยของอาหาร (Food Sanitation Law) และกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานและการปิดฉลากของสินค้าเกษตร และป่าไม้ (The Law Concerning Standardization and Proper Labeling of Agriculture and Forestry Product) สรุปข้อกำหนดสำคัญในการนำเข้า ดังนี้

1) มาตรการการป้องกันโรคระบาดในพืช

  • ไม่อนุญาตให้มีการนำเข้า ผลไม้ และผลิตภัณฑ์ จากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค แมลงที่มีพิษหรือมีอันตราย การนำเข้าผลไม้ชนิดที่มี

การระบาดของแมลงที่มีพิษหรือมีอันตรายจะต้องผ่านการพิจารณาและตรวจสอบที่ด่านกักกันพืช ภายใต้ Plant Protection Law

  • ผู้นำเข้าสินค้าผักและผลไม้ ต้องยื่นคำร้องขอรับการตรวจสอบสินค้านำเข้า (Plant Import Inspection Application)

ต่อด่านกักกันพืช โดยต้องแสดงใบรับรอง อาทิ Plant Epidemic Prevention Certificate จากหน่วยงานรับผิดชอบของ

ไทยคือ กรมวิชาการเกษตร หากสินค้าไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบที่ด่านกักกัน เช่น มีการพบสิ่งเจือปนที่ติดมากับสินค้า หรือความ

เสียหายจากแมลงที่มีพิษหรือมีอันตราย ก็จะต้องนำไปผ่านการกำจัดการติดเชื้อโรค (Disinfection) หรือ กำจัดแมลงด้วย

กระบวนการรมควัน (Fumigation)

  • การกำจัดแมลงด้วยกระบวนการรมควัน (Fumigation) จะต้องได้รับการดำเนินการโดยหน่วยงานพิเศษในการป้องกันโรค

ระบาด ณ จุดรับตรวจสินค้านำเข้า โดยผู้นำเข้าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่าย

2) การตรวจสอบภายใต้กฎหมายสุขอนามัยของอาหาร (Food Sanitation Law)

  • ภายหลังการตรวจสอบมาตรการการป้องกันพืช ผู้นำเข้าจะต้องยื่นเอกสารแสดงความประสงค์นำเข้าอาหาร (Food Import

Notification) จำนวน 2 ฉบับ ต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบการตรวจสอบอาหารภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงสุขภาพ แรง

งาน และสวัสดิการ ณ ด่านกักกัน หากผ่านการตรวจสอบตามที่กำหนดใน Food Sanitation Law แล้ว จะมีการประทับตรา

รับรอง “notified” ที่เอกสาร Food Import Notification และคืนเอกสารนั้นให้แก่ผู้นำเข้า

  • ประเทศญี่ปุ่นมีมาตรฐานการควบคุมระดับสารเคมีตกค้างในสินค้าผักและผลไม้ ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวสามารถอ้างอิงได้จาก Food

Sanitation Law และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

3) ระบบการควบคุมของกฎหมายเกี่ยวเนื่องกับมาตรฐานและฉลากของสินค้าเกษตรและป่าไม้ (The Law Concerning Standardization and Proper Labeling of Agriculture and Forestry Products หรือ JAS Law)

  • ตามข้อกำหนดใน JAS Law ผักและผลไม้สดจะต้องมีการติดฉลากแสดงชื่ออาหารและประเทศที่ผลิต ส่วนอาหารที่ผ่านการแปรรูป

ต้องมีฉลากแสดงชื่อของอาหาร ส่วนประกอบ ปริมาตรสุทธิ ผู้ผลิต วันที่หมดอายุ วิธีการเก็บรักษา และ อื่นๆ

  • ในการประทับตราสัญลักษณ์ JAS ผู้นำเข้าสามารถยื่นใบสมัครต่อหน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนให้การตรวจรับรองมาตรฐาน JAS Law

(JAS Grading Organization) เพื่อนำตราสัญลักษณ์ JAS มาแสดงในสินค้า แต่การนำตราสัญลักษณ์ JAS มาแสดงในสินค้า

นั้นไม่ใช่ข้อบังคับ

  • สำหรับผักและผลไม้อินทรีย์ (Organic) ในการนำเข้าและจำหน่ายจะต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐาน Organic JAS

Standard และต้องแสดงตรา Organic JAS ที่ผลิตภัณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

6 . โอกาสสำหรับผลไม้ไทยในตลาดญี่ปุ่น

  • ในบรรดาผลไม้ไทยที่ได้รับการอนุญาตให้เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น มะม่วงเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมและสร้างรายได้มากที่สุด แม้มะม่วงไทยมีราคาสูงกว่ามะม่วงจากเม็กซิโก และฟิลิปินส์ แต่ผู้บริโภคที่รู้จักและเคยรับประทานมะม่วงไทย จะรับรู้ความแตกต่างของรสชาติมะม่วงไทย โดยเฉพาะ ผู้บริโภคในเมืองใหญ่ ผู้ที่เคยเดินทางมาเมืองไทย รวมทั้งลูกค้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตที่นำผลไม้/มะม่วงไทยวางจำหน่าย

ดังนั้น การร่วมมือกับผู้นำเข้า ผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจค้าปลีก จัดกิจกรรม กระตุ้นให้ผู้บริโภคทดลองรับประทาน จึงเป็นโอกาสในการขยายตลาดมะม่วง และผลไม้ไทยในญี่ปุ่นได้ดี

  • สำหรับสับปะรดจากไทย ขนาดไม่เกิน 900 กรัม จะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ JTEPA นั้น ขณะนี้ สับปะรดภูแลได้รับความสนใจจากผู้นำเข้า และผู้ค้าปลีกรายใหญ่ เช่น AEON JUSCO เนื่องจากผลมีขนาดเล็กสามารถจำหน่ายทั้งผลในราคาไม่แพง และรสชาติเป็นที่พอใจ จึงเป็นผลไม้อีกประเภทที่มีโอกาสขยายตลาดได้มากในญี่ปุ่น
  • อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนัก คือ ทั้งทางการและผู้บริโภคญี่ปุ่น เคร่งครัดเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร เข้มงวดในการการตรวจสอบสารเคมีตกค้าง ผลไม้ไทยที่จะเข้าตลาดญี่ปุ่น จึงต้องรักษาคุณภาพ ควบคุมสารเคมีตั้งแต่การผลิตในสวน ผู้บริโภคญี่ปุ่นเองก็ต้องการความมั่นใจ ความปลอดภัย คุณภาพความสดและสวยงามของสินค้า การบรรจุ และการขนส่งจึงต้องพิถีพิถัน และควรระบุแหล่งผลิตกำกับไว้เป็นข้อมูลสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ ที่จะสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ความสม่ำเสมอในปริมาณ และคุณภาพที่ส่งมอบสินค้าได้ตามแผนที่ตกลงไว้ ก็เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้ประกอบการค้าในญี่ปุ่น

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ