นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้การต้อนรับ Mr. Hiromasa Yonekura ประธานของ Sumitomo Chemical Co. Ltd และประธาน Nippon Keidanren พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงในองค์กร Nippon Keidanren เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หารือแนวทางความร่วมมือ และส่งสริมการใช้สิทธิประโยชน์ตาม JTEPA ส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน และหารือความร่วมมือระหว่างกันในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
องค์กร Nippon Keidanren (Japan Business Federation) ก่อตั้งในปี 1946 เป็นองค์กรที่มีบทบาทสูงมากในโลกธุรกิจญี่ปุ่น ประกอบไปด้วยองค์กรธุรกิจจำนวน 1,295 บริษัทใน 129 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ผ่านมา Nippon Keidanren ทำหน้าที่เป็นปากเสียงของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ โดยประเด็นที่ Nippon Keidanren ผลักดันจะเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปโครงสร้างประเทศ กฎหมาย ระบบภาษี ตลอดจนนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีที่มาจากความต้องการลดต้นทุนและการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจของสมาชิก รวมถึงท่าทีในการดำเนินความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA) ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นในแต่ละยุคนำไปผนวกเป็นนโยบายของ ภาครัฐเป็นส่วนใหญ่
นางพรทิวา เผยว่า การเข้าพบในครั้งนี้เพื่อต้องการที่จะหารือเรื่องการใช้สิทธิประโยชน์จาก JTEPA กับประเทศไทย ตลอดจนเจรจาส่งเสริมให้ไทยขยายการเจรจาเขตการค้าเสรี ASEAN — India และ BIMSTEC โดยทางฝ่ายไทยเองเตรียมที่จะเจรจาในด้านการผลักดันการจัดประชุม Joint Committee:JC ภายใต้กรอบ JTEPA ความพร้อมด้านสิ่งแวดล้อมการลงทุนในประเทศไทย และนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก Tran Pacific Partnership : TPP
ด้านนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2553 (ม.ค.-พ.ย.) ที่ผ่านมาการส่งออกไทยไปญีปุ่นภายใต้ความตกลง JTEPPA มีมูลค่า 4,298 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.00 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 66.11 ของมูลค่าการส่งออกเฉพาะรายการที่ได้รับสิทธิฯ โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่มีการใช้สิทธิ JTEPA ได้แก่ เนื้อไก่และเครื่องในไก่ที่ปรุงแต่ง หรือทำไว้ไม่ให้เสีย กุ้งกุลาดำ กุ้งก้ามกรามแช่แข็ง กุ้งที่ปรุงแต่งหรือทำไม่ให้เสีย แหนบรถยนต์ เป็นต้น
และล่าสุดในปี 2553 (ม.ค.-พ.ย.) ญี่ปุ่นมีการขอใช้สิทธิ JTEPA นำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่า 3,553 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่า 1,847 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 92.33 คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 10.14 ของมูลค่าการนำเข้าทั่วไป สำหรับสินค้าที่ใช้สิทธิฯ สูง ได้แก่ วงจรอื่นๆ นอกจากตัวประมวลผลของวงจรรวม กระปุกเกียร์และส่วนประกอบของกระปุกเกียร์ ผลิตภัณฑ์แผ่นรีดทำด้วยเหล็กที่มีความหนาน้อยกว่า 0.5 มม. ยานยนต์สำหรับขนส่งบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเครื่องยนต์ดีเซล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น อาจทำให้ไทยเสียเปรียบบ้างในบางข้อตกลง แต่การทำ FTA ทำให้ญี่ปุ่นเห็นประโยชน์ในการย้ายฐานการผลิตเข้ามายังอาเซียน ทำให้ญี่ปุ่นสามารถลดต้นทุนด้านภาษี ค่าแรงงานขั้นต่ำ ตลอดจนค่าใช่จ่ายขนส่ง ประเทศไทยจึงเป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะมีความพร้อมทั้งด้านศักยภาพทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจการเมือง และวัฒนธรรม ฯลฯ ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีศักยภาพความพร้อมทั้งด้านทุน และเทคโนโลยีขั้นสูง ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองโลก จึงนับเป็นจังหวะก้าวที่สำคัญของประเทศไทยที่จะช่วงชิงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัฒน์
ที่มา: http://www.depthai.go.th