รายงานผลการสำรวจงานแสดงสินค้า 36th Winter Fancy Food Show

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 24, 2011 11:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รายงานผลการสำรวจงานแสดงสินค้า 36th Winter Fancy Food Show

ณ Moscone Center เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย

ระหว่างวันที่ 17-20 มกราคม 2554

ข้อมูลงานแสดงสินค้า

งานแสดงสินค้าและบริการ Winter Fancy Food Show (www.fancyfoodshows.com) จัดขึ้น ณ Moscone Center เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ระหว่างวันที่ 16 -18 มกราคม 2554 จัดโดยบริษัท The National Association For Specialty Food Trade Inc. (NASFT) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีๆละ 2 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 36 แล้ว โดยฤดูหนาวจัดที่เมืองซานฟรานซิสโก และฤดูร้อนจัดที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นงานแสดงสินค้าและบริการอาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์ที่ใช้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอาหาร ที่มีความพิเศษและน่าสนใจ (Specialty Food and Beverage) โดยสามารถแยกประเภทได้ดังนี้

1. อาหารประเภทต่างๆ ได้แก่ อาหารเด็ก ขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว ข้าว เมล็ดพืช นม เนยแข็ง น้ำมันมะกอก อาหารแช่แข็ง อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ซ๊อสปรุงรส เครื่องเทศ อาหารสุขภาพ เช่นอาหารออแกนิก น้ำมัน อาหารกระป๋อง แยม ผักผลไม้ เป็นต้น

2. เครื่องดื่ม ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ ไวน์ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชา กาแฟ โกโก้

3. ธุรกิจบริการด้านอาหาร ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ ตราสินค้า บริการที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การตลาด

4. สินค้าและบริการในอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ องค์กรการค้า หนังสือและนิตยสารอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง สื่อในอุตสาหกรรมอาหาร อุปกรณ์ทำอาหารและงานครัว

งานฯ นี้แยกพื้นที่เป็นส่วน North Hall และ South hall มีผู้เข้าร่วมงานฯกว่า 1,300 ราย และมีผู้เข้าเยี่ยมชมประมาณ 40,000 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า และผู้ผลิตสินค้า เป็นต้น สินค้าอาหารที่นำมาจัดแสดงในงานส่วนใหญ่มีรูปลักษณ์ ค่อนข้างแปลกตา เช่นขนมรสชาติใหม่และรูปลักษณ์ใหม่เช่นช๊อคโกแลตรูปสีเงินสะท้อนแสง บรรจุหีบห่อสวยงาม หรือเป็นสินค้าใหม่ๆที่บริษัทต้องการมาแนะนำในงานฯ นอกจากนี้บริษัทขนาดใหญ่ที่มีตราสินค้าติดตลาดแล้วจะใช้โอกาสในการออกงานเพื่อตอกย้ำการสร้างตราสินค้าอีกด้วย ภายในงานฯยังมีส่วนจัดแสดงพิเศษ 6 ส่วนที่แยกออกมาได้แก่

1. New Brands On the Shelf ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงตราสินค้าใหม่โดยเฉพาะเพื่อให้ผู้ผลิตรายใหม่ได้มีโอกาสมาแนะนำสินค้าของตนเอง

2. American Cheese Society ซึ่งจัดแสดงชีส และผลผลิตจากชีสโดยเฉพาะ

3. Natural & Organic Pavillion ซึ่งจัดแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มประเภทออแกนิกเพื่อสุขภาพ

4. What’s New, What’s hot! Showcase นำเสนอสินค้าใหม่ๆและสินค้าประเภทของขวัญที่น่าใสใจ

5. Sofi Awards Showcase นำเสนอสินค้าที่ได้รับรางวัล Sofi Awards

6. Business Building 1 to 1 เป็นส่วนจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ

นอกจากนี้ งานฯ นี้ยังมีผู้เข้าร่วมงานจากประเทศต่างๆที่เข้าร่วมในลักษณะคูหาของประเทศตัวเอง ได้แก่ ประเทศเม็กซิโก อังกฤษ ตุรกี เปรู แคนาดา อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน และอาเจนดิน่า และบริษัทจากประเทศต่างๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมในลักษณะคูหาประเทศ ได้แก่ คอสตาริกา ชิลี อิสราเอล กัวเตมาลา สาธารณรัฐเชค สวิสเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ปากีสถาน แอฟริกาใต้ ศรีลังกา

จากการสำรวจงาน ทำให้ทราบว่า มีบริษัทจากประเทศในเอเชียมาออกหลายบริษัทด้วยกัน แต่ไม่ได้เข้าร่วมในลักษณะคูหาประเทศ เช่นจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม เป็นต้น

งานฯ นี้มีบริษัทจากประเทศไทยมาออกงานฯ 7 บริษัทด้วยกัน ได้แก่

1. บริษัท Bangkok Food System ผลิตอาหารประเภทเครื่องแกง เช่นแกงเขียวหวานซอสปรุงรส เส้นบะหมี่แบบญี่ปุ่นและแบบจีน อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่นผัดไทย ต้มยำ บรรจุในกล่องกระดาษ และถุงฟอยล์เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถนำไปประกอบอาหารได้อย่างง่าย

2. บริษัท Lily Tobeka หรือบริษัทเขาช่อง จำหน่ายอาหารว่างประเภทถั่ว เช่นถั่วอบกาแฟ ถั่วรสซอสพริกศรีราชา เป็นต้น

3. บริษัทพิบูลย์ชัยน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอม จำหน่ายน้ำพริกเผา และน้ำจิ้มไก่

4. บริษัท S&P Syndicate จำหน่ายอาหารประเภท Ready to eat และขนมไหว้พระจันทร์ เป็นต้น

5. บริษัทสหพัฒนพิบูลย์ จำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยใช้ตราสินค้า I-Mee

6. บริษัท Natural Coco Water จำหน่ายน้ำมะพร้าว

7. บริษัทพันท้ายนรสิงห์ จำหน่ายน้ำมันมะพร้าวตรา Nirvane

นอกจากนี้ ภายในงานฯ ยังได้มีบริษัทต่างชาติที่จำหน่ายอาหารที่ผลิตในประเทศไทยอีกด้วย เช่นน้ำผลไม้กระป๋อง เครื่องแกง ชุดปรุงอาหารไทยสำเร็จรูป และน้ำมะพร้าว เป็นต้น และในงานยังได้มีผู้ประกอบการไทยบางกลุ่ม เช่นกลุ่มบริษัทโอสถสภา เข้าสำรวจงานฯ เพื่อวางแผนการเข้าร่วมงานฯ ในครั้งต่อไปด้วย

งานฯ นี้ การจัดสัมมนาให้ความรู้และสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ โดยสัมมนาที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์เช่น หัวข้อ “The Business of Specialty Foods” หัวข้อ “Today’s Specialty Food Consumer 2010” และ “Going Organic: Becoming Certified” เป็นต้น

สคร. ลอสแอนเจลีส ได้มีโอกาสพบปะและรับทราบข้อมูลเบื้องต้นเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมงานฯ ไทย ทำให้ทราบว่าสินค้าที่ประเทศไทยน่าจะมีศักยภาพได้แก่ อาหารเพื่อสุขภาพ อาหาร กล่องสำเร็จรูปประเภท Ready to eat ข้าวและธัญพืช ถั่วประเภทต่างๆ เครื่องดื่มน้ำผลไม้เช่น น้ำสัปปะรด น้ำมะพร้าว เป็นต้น

ปัญหาและอุปสรรค และข้อเสนอแนะ

1. งานแสดงสินค้า Fancy Food Show เป็นงานที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าไทยประเภทอาหาร โดยสคร. ได้ประชุมกลุ่มย่อยกับผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมงานฯ และที่มาสำรวจงานฯ ทำให้ทราบว่าผู้ประกอบการเห็นว่าตลาดฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ยังมีโอกาสอีกมาก และต้องการเข้าร่วมงานฯ นี้อย่างต่อเนื่อง และมีความสนใจจะรับการสนับสนุนจากกรมฯ โดยสคร.เห็นว่ากรมฯ อาจเข้าร่วมงานฯ ในลักษณะคูหาประเทศไทย โดยอาจเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ไม่จำเป็นต้องมีฉากกั้นระหว่างบริษัทเหมือนการเข้าร่วมงานฯ อื่น แต่ใช้วิธีการตั้งโต๊ะสาธิต และแนะนำสินค้า วิธีการนี้จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างคูหาได้มาก ซึ่งในงานฯ มีกลุ่มผู้ประกอบการ SavorCalifornia (www.savorcalifornia.com) ก็เข้าร่วมงานฯ ในลักษณะนี้ โดยเช่าเพียงพื้นที่และติดแบนเนอร์ขนาดใหญ่ไว้เหนือพื้นที่ ส่วนแต่ละผู้ประกอบการแต่ละบริษัทก็จัดแสดงสินค้าของตนเองบนโต๊ะขนาดประมาณ 2x5 ตารางฟุต

2. ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมงานฯ อาจต้องมีการปรับรสชาติของอาหารไทย เช่นบริษัท S&P แจ้งว่าจะแปลงสูตรไส้ขนมไหว้พระจันทร์ให้สามารถขายได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่ขายเฉพาะหน้าเทศกาล โดยปัจจุบันได้ใช้เทคโนโลยีทำให้ไส้ทุเรียนไม่มีกลิ่นได้แล้ว และกำลังคิดค้นสูตรใหม่ๆ และให้ความเห็นว่าอาหารไทยได้เปรียบที่ส่วนผสมมีความเป็นธรรมชาติสูง และปราศจากสาร Gluten ซึ่งมีผู้บริโภคชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งแพ้ จึงได้เปรียบอาหารชาติอื่นๆ

3. ผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมงานฯ ส่วนหนึ่งมีตัวแทนจำหน่ายแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังไม่มีตัวแทนฯ และต้องการขยายตลาดมายังสหรัฐฯ จึงมาออกงานฯ นี้เพื่อเป็นช่องทางในการแนะนำสินค้า และพบปะกับตัวแทนจำหน่ายรายใหม่ ดังนั้นผู้ประกอบการที่คิดจะเจาะตลาดนี้ควรตกลงกับตัวแทนจำหน่ายให้ชัดเจนถึงเรื่องบทบาท และหน้าที่ในการทำการตลาด เพื่อให้ประสบความสำเร็จด้านยอดขายได้

4. สินค้าที่นำมาจัดแสดงในงานฯ ควรมีการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ และหีบห่อเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ เนื่องจากงานฯ นี้เป็นงานแสดงสินค้าที่สินค้าต้องแสดงความน่าสนใจให้ผู้บริโภคได้ไม่ว่าจะเป็นทางด้านรสชาติ หรือบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจ แม้แต่สินค้าทั่วไปในงานฯ นี้บางประเภทที่ ไม่สามารถเน้นเรื่องรสชาติ หรือบรรจุภัณฑ์ได้ ก็มีวิธีการทำการตลาดและนำเสนออย่างน่าสนใจ เช่นข้าวสาร โดยมีการนำเอาเรื่องราวประวัติและสารอาหารในข้าวมานำเสนอให้ผู้บริโภครับทราบ พร้อมให้ชิม ภายในงานฯ จึงได้มีบริษัทที่รับปรึกษาด้านการสร้างตราสินค้า (Brand) สำหรับสินค้า อาหารโดยเฉพาะ เพื่อพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ และการทำการตลาดให้สอดคล้องกับสินค้าผู้ประกอบการไทยจึงควรวางแผนในการประชาสัมพันธ์สินค้าในงาน และกลยุทธ์การตลาดสำหรับสินค้าของตนเองในรอบด้านก่อนมางานฯ นี้

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก the nation   ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ