“พาณิชย์” เตรียมรุกตลาดแขก พร้อมหารือความร่วมมือ FTA เพิ่มเติม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 2, 2011 10:10 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตามนโยบายแสวงหาลู่ทางการส่งออกสินค้าไทยในเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์ไปยังตลาดอินเดีย ดังนั้นในช่วงระหว่างวันที่ 1-4 มีนาคมนี้ นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเดินทางพร้อมนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก และคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์เยือนกรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เพื่อเข้าร่วมประชุมการค้าการลงทุนร่วมกับรัฐมนตรีพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดียและรัฐมนตรีในกลุ่มประเทศอาเซียน พร้อมทั้งเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมตรีอินเดีย (HE.Mr.Manmohan Singh) และเข้าร่วมพิธีเปิดงาน INDIA-ASEAN BUSINESS FAIR 2011

นางพรทิวา เผยว่า การเดินทางเข้าพบ HE.Mr.Manmohan Singh นายกรัฐมตรีอินเดียในครั้งนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่มีมานานกว่า 63 ปีในทุกๆ ด้าน ได้แก่ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะด้านการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากกรอบความร่วมมือFTA อินเดีย-ไทยซึ่งได้ลงนามกรอบความตกลงฯ ไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2546 และยกเลิกภาษีกลุ่ม Early Harvest Scheme (EHS) 82 รายการ ตั้งแต่กันยายน 2549 แต่ยังไม่สามารถสรุปผลการเจรจาเปิดเสรีสินค้าส่วนที่เหลือได้ ซึ่งล่าสุดทางไทยได้ย้ำให้ทางอินเดียเร่งผลักดันการเจรจาการข้อตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดียให้เสร็จภายในปี 2554 เพื่อให้สามารถมีผลใช้บังคับได้ในปี 2555 โดยข้อตกลงดังกล่าวจะมีขอบเขตครอบคลุมทั้งด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน ตลอดจนความร่วมมือทางเศรษฐกิจเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งหากทำได้สำเร็จเชื่อว่านี้จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการยกระดับความสัมพันธ์เศรษฐกิจและกระตุ้นให้การค้าและการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้นซึ่งคาดว่าการค้าสองฝ่ายน่าจะบรรลุเป้าหมาย 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2555 ตามที่ทั้งสองฝ่ายตั้งไว้

“ไทยและอินเดียได้เริ่มลดภาษีเข้าสินค้าจำนวน 82 รายการภายใต้โครงการเปิดเสรีนำร่อง (Early Harvest Scheme: EHS) ตามกรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดียเมื่อปี 2547 และยกเลิกภาษีสินค้าทั้งหมดเมื่อปี 2549 เป็นต้นมา ซึ่งการลดและยกเลิกภาษีนำเข้าของอินเดียส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเครื่องรับโทรทัศน์สีของไทยไปอินเดียเพิ่มสูงขึ้น โดยมีเงื่อนไขกำหนดให้สินค้าที่จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าตามความตกลงต้องเข้าข่ายการผลิตที่มีสัดส่วนต้นทุนภายในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของราคาสินค้าที่ส่งมอบ (F.O.B) และเปลี่ยนแปลงสภาพสินค้าในระดับพิกัดศุลกากร 6 หลัก (Change in Tariff Sub-Heading: CTSH) ซึ่งการยกเว้นภาษีนำเข้าดังกล่าวทำให้ไทยครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องรับโทรทัศน์สีมากเป็นอันดับ 1 หรือประมาณร้อยละ 49 ของมูลค่าการนำเข้าเครื่องรับโทรทัศน์สีทั้งหมดของอินเดีย รองลงมาได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งยังต้องเสียภาษีนำเข้าถึงร้อยละ 10

แต่ในช่วงตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาส่วนแบ่งตลาดเครื่องรับโทรทัศน์สีของไทยในอินเดียลดลงอย่างมาก ในขณะที่จีนและมาเลเซียมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น โดยในปี 2552 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 27.9 จีนร้อยละ 26.9 ฮ่องกงร้อยละ 20.9 และมาเลเซียร้อยละ 10.4 โดยมีสาเหตุสำคัญเนื่องจากปัจจุบันการผลิตโทรทัศน์สีของไทยได้เปลี่ยนจากโทรทัศน์สีแบบหลอดภาพแคโทด (Cathode ray tube: CRT) ซึ่งเป็นวัสดุหลักและผลิตได้ในประเทศไปเป็นการผลิตโทรทัศน์จอ LCD ตามความนิยมของผู้บริโภค แต่ไทยไม่มีวัตถุดิบหลักคือจอภาพ LCD ทำให้ต้องนำเข้าจากประเทศที่ไม่ใช่ภาคีเช่นเกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งทำให้โทรทัศน์สีแบบจอภาพ LCD ของไทยไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีจากอินเดียเนื่องจากมีสัดส่วนต้นทุนในประเทศไม่ถึงร้อยละ 40 ตามที่กำหนดจึงไม่ถือว่ามีถิ่นกำเนิดในไทยและไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษี

อย่างไรก็ตาม ทางไทยได้เสนอให้ฝ่ายอินเดียพิจารณาผ่อนคลายเงื่อนไขกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเครื่องรับโทรทัศน์สีโดยเปลี่ยนเป็นการใช้เกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดศุลกากรในระดับ 4 หลักแทนเงื่อนไขเดิม เพื่อปรับปรุงให้การเปิดเสรีการค้าสินค้าตามโครงการ Early Harvest Scheme มีประสิทธิภาพในการขยายมูลค่าการค้าระหว่างกัน” นางพรทิวา กล่าวเพิ่มเติม

นางพรทิวา ยังกล่าวต่อว่า การเดินทางเยือนกรุงนิวเดลีในครั้งนี้นอกจากการเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีอินเดียแล้ว ยังได้เข้าร่วมพิธีเปิดงาน INDIA-ASEAN BUSINESS FAIR 2011 ซึ่งจะมีระหว่างวันที่ 2-6 มีนาคม 2554 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกของอินเดีย และเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอาเซียนและอินเดียได้แสดงศักยภาพของภาคธุรกิจแต่ละสาขาโดยเน้นธุรกิจในสาขาสำคัญๆ กว่า 25 สาขาซึ่งเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่จะนำหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน ซึ่งคาดว่าจะมีภาคเอกชนจากแต่ละประเทศสมาชิกฯ เข้าร่วมงานกว่า 350 รายที่จะใช้โอกาสนี้สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ การค้า การลงทุนระหว่างกัน และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกว่า 60,000 คน งานนี้ยังเป็นการสะท้อนถึงความตื่นตัวของภาคเอกชนอาเซียนโดยเฉพาะไทยในการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับอินเดีย และในงานนี้กรมส่งเสริมการส่งออกซึ่งเป็นแม่งานหลักในการจัด Business Matching ระหว่างวันที่ 3-5 มีนาคม 2554 มีผู้ส่งออกสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 12 บริษัทจากสินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง สุขภาพ และความงาม อาหารกระป๋อง อาหารสัตว์ อาหาร Ready to eat อุปกรณ์สำนักงาน อัญมณีและเครื่องประดับ และบริษัท SCG

อินเดียเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 11 ของไทย โดยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ เป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน โดยมีผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อปานกลาง-สูงรวมถึงกว่า 350 ล้านคน ในปี 2553 ประเทศอินเดียมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 9.7 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่ง IMF คาดว่าอินเดียจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 8.4 โดยร้อยละ 54 ของ GDP มาจากภาคบริการ ซึ่งขยายตัวเร็วและดึงดูดการลงทุนมากที่สุด อาทิ IT การเงินและการธนาคาร R&D โทรคมนาคม และการก่อสร้าง เป็นต้น

โดยในปี 2553 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปอินเดียถึง 4,393.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ถึงร้อยละ 36.69 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ