สถานการณ์ทางเศรษฐกิจประเทศอิตาลีระหว่างวันที่ 16-28 กุมภาพันธ์ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 2, 2011 10:38 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศอิตาลี

จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศแอฟริกาตอนเหนือได้แก่ ตูนีเซีย อียิปต์ ลีเบีย นั้น ซึ่งประเทศเหล่านี้ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศอิตาลี โดยเฉพาะลีเบียที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของอิตาลีในอดีต ในปัจจุบันอิตาลีมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่สำคัญกับลีเบีย ซึ่งลีเบียเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับ 10 ของอิตาลี โดยสินค้าที่อิตาลีนำเข้าหลักจากลีเบียคือ ก๊าซ น้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ปีที่แล้วรัฐบาลอิตาลีได้มีการเซ็นต์สัญญาทางการค้ากับลีเบีย ทั้งนี้ รัฐบาลอิตาลีคาดว่าจะมีผู้อพยพจากลีเบียทะลักเข้าสู่อิตาลีไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน

หน่วยงานต่าง ๆ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอิตาลีในปี 2554 จะเติบโตใกล้เคียงกับปี 2553 คืออยู่ที่ประมาณ 0.9-1.1% ธนาคารแห่งชาติอิตาลี เปิดเผยว่า ในปี 2553 หนี้สาธารณะอิตาลีมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เปรียบเทียบกับปี 2552 สำหรับเดือนธันวาคม 2553 หนี้สาธารณะมีมูลค่า 1,843.2 พันล้านยูโร (แต่ยังถือว่ามีมูลค่าต่ำกว่าเดือนพฤศจิกายน 2553 มูลค่า 1,868.7 พันล้านยูโร) นอกจากนี้ รายได้จากเก็บภาษีของรัฐบาลในปี 2553 มีมูลค่าทั้งหมด 397,541 พันล้านยูโร ซึ่งมีอัตราลดลงร้อยละ 0.97 เปรียบเทียบกับปี 2552 ที่มีมูลค่า 401,454 พันล้านยูโร ซึ่งเฉพาะเดือนธันวาคม 2553 รายได้จากเก็บภาษีมีมูลค่า 70,780 พันล้านยูโร (ลดลงร้อยละ 0.5 ) เปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2552 มูลค่า 71,139 พันล้านยูโร

1) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อิตาลี ในไตรมาส 4 มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ภาพรวมของปี 2553 พบว่ามีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เปรียบเทียบจากไตรมาส 3 ปี 2553 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เปรียบเทียบจากไตรมาส 4 ปี 2552 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการเกษตรและการบริการที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่ภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าลดลง โดย GDP ไตรมาส 4 ของปี 2553 ใน Euro Area และ Eu 27 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และ 2.1 ตามลาดับ เปรียบเทียบกับไตรมาส 3 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และ 0.2 ตามลำดับ เปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า

2) การผลิตภาคอุตสาหกรรมอิตาลี เดือนธันวาคม 2553 มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมใน Euro Area และ EU 27 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และ 7.7 ตามลาดับ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมอิตาลีเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2553 แต่ใน Euro Area และ EU 27 กลับลดลงร้อยละ 0.1

3) คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือนธันวาคม 2553 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้ามีอัตราเพิ่มขึ้น 5.4 % (+5.9% จากตลาดภายในประเทศและ +4.6% จากตลาดต่างประเทศ) และเปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้ามีอัตราเพิ่มขึ้น 7.4% (+18.7% จากตลาดภายในประเทศและ +15.1% จากตลาดต่างประเทศ) ปัจจัยมาจากการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูง

4) ดัชนีความเชื่อมันของบริษัทผู้ผลิตอิตาลี เดือนมกราคม 2554 ยังคงปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจาก 103.1 จุด เป็น 103.6 จุด ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการผลิตที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

5) การส่งออกและการนำเข้าของอิตาลี การส่งออกและนำเข้าเดือนธันวาคม 2553 มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 และ 31.5 ตามลำดับ ซึ่งมีผลขาดดุลการค้าจำนวน 2,7 พันล้านยูโร

6) อัตราการจ้างงาน เดือนธันวาคม 2553 มีอัตราร้อยละ 57 ลดลง 0.1 จุด เปรียบเทียบ จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจอิตาลียังคงต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่างที่ส่งผลให้เศรษฐกิจอิตาลีเจริญเติบโตช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในยุโรป โดยมีสาเหตุดังนี้ ได้แก่

1) ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนมกราคม 2554 มีการปรับตัวลดลงจาก 109.1 จุด เป็น 105.9 จุด สาเหตุมาจากความไม่แน่นอนทางสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศและครอบครัวอิตาลี

2) ผลประกอบการภาคอุตสาหกรรมอิตาลีเดือนพฤศจิกายน 2553 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้ามีอัตราลดลง 0.3% (-0.2% จากตลาดภายในประเทศและ-0.4% จากตลาดต่างประเทศ) และเปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้ามีอัตราเพิ่มขึ้น 1.4% (+9.5% จากตลาดภายในประเทศและ +17% จากตลาดต่างประเทศ)

3) อัตราการว่างงาน เดือนธันวาคม 2553 มีอัตราร้อยละ 8.6 ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.2 จุดเปรียบเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าแต่ยังคงถือเป็นอัตราที่ต่ำกว่ามาตรฐานของ EU 27 อยู่ 1 จุด โดยอัตราการว่างงานของ EU 27 อยู่ที่ร้อยละ 9.6

4) การลดชั่วโมงการทำงาน ระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2553 มีจำนวน 925,7 ล้านชั่วโมง เพิ่มขึ้น 50.5% (614,9 ล้านชั่วโมงระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2552)

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองมิลาน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ