๑. สถานการณ์ส่งออก
ในช่วง ๑ เดือนแรก (มกราคม) ของปี ๒๕๕๔ ไทยส่งออกสินค้ามายังอิตาลีทั้งสิ้น ๑๗๗.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๑๗๑.๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ ๓.๓๙ โดยมีสินค้าส่งออก ๕ อันดับแรก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ๔๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๔.๐๓%) ยางพารา ๑๗.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (๕๘.๗๔%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ๑๑.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๕๑.๖๑%) อาหารสัตว์เลี้ยง ๘.๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (๕๖.๓๔%) และปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง ๗.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (๑๓.๓๓%)
๒. การวิเคราะห์สถานการณ์โดยรวม
การส่งออกมาอิตาลีในช่วง ๑ เดือนแรก (มกราคม) ของปี ๒๕๕๔ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓.๓๙ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน วิเคราะห์ได้ดังนี้
๒.๑ ภาวะการค้าโดยรวมในตลาดอิตาลีในเดือนมกราคม ๕๔ ยังคงทรงตัวสืบเนื่องมาจากยอดจำหน่ายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่ต่ำกว่าประมาณการ แต่อยู่ในระดับเดียวกันกับปีก่อนหน้าคือ +๐.๔% ทำให้ผู้ประกอบการไม่สั่งซื้อสินค้าใหม่สำหรับการขายในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์
๒.๒ ศูนย์วิจัยบัตรเครดิต (Credit Card Research Center) ได้คาดการณ์ว่ายอดจำหน่ายในช่วง มกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ จะขยายตัวเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนคือ +๐.๕% ในด้านมูลค่า ส่วนในด้านปริมาณจะคงที่ที่ ๐% โดยเฉพาะสินค้าเสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นผลจากการที่ประชาชนยังคงระมัดระวังในการใช้จ่ายอันเนื่องมาจากเงินเดือนที่ลดลงและตลาดแรงงานที่ยังคงไม่มีเสถียรภาพ
๒.๓ อย่างไรก็ดี ในภาคการผลิตของอิตาลียังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยในเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น +๕.๔% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น ๑๗.๔% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และข้อมูลทั้งปี ๒๕๕๓ (มกราคม-ธันวาคม) การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น +๑๐.๑% เมื่อเทียบกับปีก่อน (ความต้องการจากต่างประเทศ +๑๖% และความต้องการในประเทศ +๗.๗%) นอกจากนี้ในด้านคำสั่งซื้อก็เพิ่มขึ้น +๑๓.๙% (คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ +๒๑.๒% และคำสั่งซื้อภายในประเทศ +๙.๙%) เมื่อเทียบกับปีก่อน
สินค้าหลักๆที่มีการผลิตและคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นได้แก่ เหล็ก เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ และเครื่องมือ/ อุปกรณ์ไฟฟ์า
๒.๔ ในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ภาวะเงินเฟ์อมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (+๒.๑% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และ ๐.๔% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น (สูงสุดนับตั้งแต่ ๒ ปีที่ผ่านมา) ถึง +๓๒.๒% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น +๓.๗% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ๕๓ โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นที่วัตถุดิบมีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฝ์ายและขนสัตว์ (+๑๔.๕% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ และ + ๘๐% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน) และสินค้าอาหารที่มีวัตถุดิบจำพวกธัญพืชและข้าวสาลีมีราคาเพิ่มสูงขึ้น (+๓.๖% เมื่อเทียบกับเดือน ธันวาคม ๒๕๕๓ และ ๔๔.๔% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน) ส่งผลให้ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายได้รับผลกำไรลดลงหรือต้องขายสินค้าในราคาที่สูงขึ้น
๒.๕ ISTAT ได้คาดการณ์การค้าระหว่างอิตาลีและประเทศนอกสหภาพยุโรปในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ว่าอิตาลีจะนำเข้าเพิ่มขึ้น +๔๖.๒% (ร้อยละ ๗๕ เป็นการนำเข้าพลังงาน) และส่งออกเพิ่มขึ้น +๓๔.๙% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ทำให้อิตาลีขาดดุลการค้า ๕.๘ พันล้านยูโร
๒.๖ ข้อมูลการนำเข้าล่าสุดจาก EUROSTAT (มกราคม-พฤศจิกายน ๒๕๕๓) ปรากฎว่าอิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น +๑๖.๔๔% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นจากแทบทุกประเทศ ประเทศที่อิตาลีนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ อาเซอร์ไบจัน (+๕๔.๙๒%) อิหร่าน (+๑๒๘.๒๒%) จีน (อันดับที่ ๓ และเพิ่มขึ้น +๓๗.๘๙%) ซาอุดิอาระเบีย (+๔๘.๑๙%) และไต้หวัน (+๓๕.๕๙%)
ประเทศที่อิตาลีนำเข้าและเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยได้แก่ ญี่ปุ่น (อันดับที่ ๒๐ มูลค่านำเข้า ๕,๓๐๘.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ) อินเดีย (อันดับที่ ๒๑ มูลค่านำเข้า ๔,๖๔๕.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เกาหลีใต้ (อันดับที่ ๒๗ มูลค่านำเข้า ๓,๖๔๔.๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ) อินโดนีเซีย (อันดับที่ ๓๕ มูลค่านำเข้า ๒,๔๖๐.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และไต้หวัน (อันดับที่ ๓๖ มูลค่านำเข้า ๒,๔๒๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยไทยอยู่ในอันดับที่ ๔๘ มูลค่านำเข้า ๑,๕๗๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเพียง ๐.๓๖%
๓. ทั้งนี้ วิเคราะห์แยกรายสินค้าที่มีการส่งออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้ดังนี้
๓.๑ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
การส่งออกในช่วง ๑ เดือน (มกราคม) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๑๑.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๒๓.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -๕๑.๖๑ เนื่องจาก
(๑.) ผู้จัดจำหน่าย เช่น ห้างสรรพสินค้าและเชนสโตร์ต่างๆ ได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะในช่วงคริสต์มาสที่ผ่านมาแล้ว ประกอบกับเครื่องปรับอากาศเป็นสินค้าคงทนที่ผู้บริโภคไม่นิยมซื้อบ่อยๆ ทำให้ผู้ประกอบการมักจะขายสินค้าในสต็อกออกไปก่อนจึงจะทำการสั่งซื้อใหม่
(๒.) ผู้นำเข้าได้มีการสั่งซื้อสินค้าก่อนหน้าเพื่อเตรียมไว้ขายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสแล้ว โดยจะเห็นได้จากการส่งออกเครื่องปรับอากาศในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ ถึง ๑๔๐.๕๙%
(๓.) อย่างไรก็ดี คาดว่าการนำเข้าเครื่องปรับอากาศในเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิและต่อเนื่องฤดูร้อน (กรกฎาคม - สิงหาคม) ของอิตาลี จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคและอุตสาหกรรมในช่วงดังกล่าว
(๔.) สินค้าไทยที่ส่งออกมายังอิตาลีส่วนใหญ่ (๕๔%) เป็นเครื่องปรับอากาศ Split type และแขวนติดผนัง ตามด้วยส่วนประกอบ (๒๖%) เครื่องปรับอากาศชนิดมี Inverter เพื่อปรับความคงที่ของอุณหภูมิและประหยัดพลังงาน (๑๒%) และแบบเปิด-ปิด (๔.๓๗%) ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มตลาดในเรื่องการประหยัดพลังงานและรักษ์สิ่งแสดล้อม แต่มีราคาแพงกว่าเครื่องปรับอากาศที่มีระบบเปิด-ปิด ในขณะที่สินค้านำเข้าจากจีนก็เป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับไทยคือ แบบ Split type (๕๕.๔๓%) แบบ on-off (๑๘%) และแบบมีตัว Inverter (๑๒%) ซึ่งในสภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซบเซาอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกกว่า โดยหากเปรียบเทียบราคานำเข้าเฉลี่ยต่อตันของสินค้าเครื่องปรับอากาศ (พิกัด ๘๔๑๕๑๐) แบบแขวนติดผนังแล้วปรากฏว่าราคานำเข้าของไทยสูงกว่าราคานำเข้าจากจีน แต่ใกล้คียงกับราคานำเข้าคู่แข่งอื่นๆ (ราคานำเข้าจากไทย ๑๔,๒๙๘ เหรียญสหรัฐฯ จีน ๕,๗๐๒ เหรียญสหรัฐ เกาหลีใต้ ๑๑,๕๐๐ เหรียญสหรัฐฯ มาเลเซีย ๘,๒๗๐ เหรียญสหรัฐฯ ไต้หวัน ๙,๕๒๕ เหรียญสหรัฐฯ ฮ่องกง ๕,๑๐๘ เหรียญสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ๒๐,๖๕๐ เหรียญสหรัฐฯ)
(๕.) ข้อมูลจากสมาคมผู้ค้าเครื่องปรับอากาศและระบบเครื่องทำความร้อนอิตาลี (Italian Associations of Traders of Air Conditioning/Heating and Hydro Sanitary Sector-ANGAISA) ปรากฎว่าอิตาลีมีผู้ประกอบการสินค้าเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อนประมาณ ๙๓,๐๐๐ บริษัท ซึ่งคาดว่าในปี ๒๕๕๓ ตลาดจะมีการขยายตัว +๔.๔% เมื่อเทียบกับปีก่อน และคาดว่าในปี ๒๕๕๔ จะขยายตัวเพียง +๒.๘% เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๓
(๖.) แนวโน้มตลาดเครื่องปรับอากาศที่ใช้ในรถยนต์ไม่สดใสเนื่องจากรัฐบาลอิตาลีไม่มีมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินที่ให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว ส่วนเครื่องปรับอากาศที่สามารถใช้ได้ทั้งระบบความเย็นและความร้อน ที่เรียกว่า Multi-function เน้นการประหยัดพลังงาน ไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม และมีระบบความปลอดภัยที่ดี ยังคงมีแนวโน้มที่ดี
(๗.) จากข้อมูลการนำเข้าเครื่องปรับอากาศ (พิกัด ๘๔๑๕) ในช่วง ๑๑ เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ๒๕๕๓ ของ EUROSTAT ปรากฏว่าไทยครองตลาดเป็นอันดับที่ ๓ โดยมีประเทศที่อิตาลีนำเข้า ๕ อันดับแรก ได้แก่ จีน (สัดส่วน ๒๗.๒๑%) เชครีพับลิค (๑๗.๙๗%) ไทย (๑๒.๓%) ญี่ปุ่น (๗.๓%) และเบลเยี่ยม (๖.๘%)
ประเทศคู่แข่งสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย (๒.๘๓%) เกาหลีใต้ (๒.๔๖%) และไต้หวัน (๐.๑๔%)
๓.๒ เครื่องนุ่งห่ม
การส่งออกในช่วง ๑ เดือนแรก (มกราคม) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๓.๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๕.๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -๓๖.๓๕ เนื่องจาก
(๑.) เป็นการเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจอิตาลีเริ่มฟื้นตัวจากการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เช่น มาตรการด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วงเงิน ๔๒๐ ล้านยูโร เป็นต้น
(๒.) เศรษฐกิจอิตาลีในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ยังคงซบเซาทำให้ผู้ประกอบการรอดูสถานการณ์และจะขายสินค้าเท่าที่มีอยู่ในสต็อกออกไปก่อน เนื่องจากในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ที่ผ่านมามียอดจำหน่ายสินค้าต่ำกว่าที่ประมาณการไว้คือ -๐.๗% โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ ๖๓ ของยอดจำหน่ายทั้งหมด ซึ่งสมาคมผู้ประกอบการค้าปลีกแห่งอิตาลีได้คาดการณ์ว่ายอดขายในเดือน มค-กุมภาพันธ์ ๕๔ จะลดลงถึง -๖% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
(๓.) โดยที่ช่วง มกราคม-กุมภาพันธ์เป็นช่วงเทศกาลลดราคาของห้างร้านต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์ในอิตาลี ทำให้ผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าแบรนด์เนมมากกว่าการซื้อสินค้าเสื้อผ้าที่มีราคาและคุณภาพในระดับกลาง-ต่ำ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่อิตาลีนำเข้าจากจีน ไทย เวียดนาม บังคลาเทศ และศรีลังกา)
(๔.) การที่ราคาวัตถุดิบโดยเฉพาะฝ์ายและเส้นใยสังเคราะห์ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีความกังวลที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น และชะลอการซื้อจนกว่าสถานการณ์ราคาที่เพิ่มสูงขึ้นจะลดลงในระดับปกติ
(๕.) หอการค้าด้านแฟชั่นของอิตาลี (สินค้าเสื้อผ้า เครื่องหนัง/รองเท้า และเครื่องประดับ) ได้รายงานว่าในปี ๒๕๕๓ มียอดเงินหมุนเวียน (Turnover) ในอุตสาหกรรมแฟชั่นมูลค่า ๖๐.๒ พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปีก่อน +๖.๕% และคาดการณ์ว่าในปี ๒๕๕๔ จะมีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น +๘% โดยจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี ๕๔ และจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ยังได้รายงานแนวโน้มของแฟชั่นในปี ๒๕๕๔ ว่าจะมีดีไซน์ที่เป็นลายเส้น ดอกไม้ และมีสีสันสดใส เช่น สีแดง
(๖.) อิตาลีจะนำเข้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเพื่อจำหน่ายในตลาดระดับกลาง-ต่ำ ในขณะที่จะเป็นผู้ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายและส่งออกในตลาดระดับสูง
ข้อมูลการนำเข้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม (Knit Apparel) พิกัด ๖๑ จาก EUROSTAT ล่าสุด (มกราคมพฤศจิกายน) ปี ๒๕๕๓ ปรากฎว่าประเทศที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ ๕ อันดับแรก ได้แก่ จีน (มูลค่า ๑,๙๕๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๒๘.๒%) สเปน (มูลค่า ๕๐๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ, ๗.๒๕%) ฝรั่งเศส (มูลค่า ๔๓๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ, ๖.๓๓%) บังคลาเทศ (มูลค่า ๔๐๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ, ๕.๙๑%) และตุรกี (มูลค่า ๓๗๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ, ๕.๓๖%)
ไทยครองตลาดเป็นอันดับที่ ๒๐ (มูลค่า ๓๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๕๖%) โดยสินค้าที่อิตาลีนำเข้าส่วนใหญ่ ได้แก่ เสื้อ T-Shirt (๒๑.๑๑%๗) เสื้อผ้าเด็ก (๑๗.๓๘%) ชุดชั้นใน (๑๒.๖๗%) และเสื้อเชิ้ตผู้ชาย/เด็ก (๑๐.๑๙%)
ประเทศคู่แข่งสำคัญอื่นๆ ได้แก่ อินเดีย (มูลค่า ๒๔๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๓.๕%) ศรีลังกา (มูลค่า ๒๐๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๒.๙%) เวียดนาม (มูลค่า ๓๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๔๙%) และ กัมพูชา (มูลค่า ๓๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๔๖%)
(๗.) เป็นที่น่าสังเกตว่า อิตาลีนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งหุ่มจากกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ +๖๘.๘๔% แม้จะมีสัดส่วนการนำเข้ายังไม่มากก็ตาม และหากพิจารณาเฉพาะสินค้าเสื้อ T-shirt ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่อิตาลีนำเข้าจากไทย ปรากฎว่าสินค้าไทยมีราคาสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ คือ จีน (๓.๗๒ เหรียญสหรัฐฯ/ชิ้น) บังคลาเทศ (๑.๘๕ เหรียญสหรัฐฯ/ชิ้น) อินเดีย (๓.๔๔ เหรียญสหรัฐฯ/ชิ้น) กัมพูชา (๓.๒๕ เหรียญสหรัฐฯ/ชิ้น) อินโดนีเซีย (๔.๑๓ เหรียญสหรัฐฯ/ชิ้น) และไทย (๔.๖๗ เหรียญสหรัฐฯ/ชิ้น)
๓.๓ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์/อุปกรณ์
การส่งออกช่วง ๑ เดือนแรก (มกราคม) ของปี ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๒.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -๒๓.๒๖ เนื่องจาก
(๑.) ผู้ประกอบการชะลอการสั่งซื้อ เนื่องจากมีการสั่งซื้อไว้เพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ก่อนหน้าแล้ว โดยสมาคมผู้ค้าปลีกได้รายงานว่าในปี ๒๕๕๓ การบริโภคลดลง -๑.๑% เมื่อเทียบกับปีก่อน
(๒.) ในตลาดอิตาลี สินค้าโทรศัพท์มือถือเป็นสินค้าที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมและมีแนวโน้มตลาดที่ดี โดยเฉพาะสินค้าที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ และใช้ประโยช์ได้หลากหลาย เช่น สมาร์ทโฟน ซึ่งส่วนใหญ่อิตาลีจะนำเข้าจากจีน ส่วนสินค้านำเข้าจากไทยส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องรับ/เครื่องส่งโทรสารและอุปกรณ์ ซึ่งมักนิยมใช้ในสำนักงานและไม่ได้มีการซื้อบ่อยๆ
(๓.) ข้อมูลการนำเข้าของ EUROSTAT ในช่วง ๑๑ เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี ๒๕๕๓ สำหรับสินค้าโทรศัพท์และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ์า (พิกัด ๘๕๑๗) ปรากฎว่าประเทศที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ ๕ อันดับแรก ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ (มูลค่านำเข้า ๑,๓๙๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๒๕.๗๘%) จีน (มูลค่านำเข้า ๙๐๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๑๖.๗๒%) สวีเดน (มูลค่านำเข้า ๓๙๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๗.๒๘%) สหราชอาณาจักร (มูลค่านำเข้า ๓๖๐ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๖.๖๔%) และฮังการี (มูลค่านำเข้า ๓๔๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๖.๔๓%)
ไทยครองตลาดเป็นอันดับที่ ๑๔ (มูลค่านำเข้า ๖๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๑.๑๘%) โดยมีคู่แข่งสำคัญได้แก่ เกาหลีใต้ อันดับที่ ๗ (มูลค่านำเข้า ๒๔๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๔.๕๕%) ไต้หวัน อันดับที่ ๑๓ (มูลค่านำเข้า ๖๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๑.๒๒%) เวียดนาม อันดับที่ ๑๖ (มูลค่านำเข้า ๕๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๑.๐๖%) ญี่ปุ่น อันดับที่ ๑๘ (มูลค่านำเข้า ๔๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๗๕%) และมาเลเซีย อันดับที่ ๒๑ (มูลค่านำเข้า ๒๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน ๐.๔๒%)
(๔.) มีรายงานว่าเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ เป็นต้นไป คณะกรรมาธิการยุโรปจะออกข้อกำหนดในทางการค้าสำหรับอุปกรณ์การชาร์ตแบตเตอรีให้สามารถใช้ได้กับโทรศัพท์มือถือทุกประเภทและทุกแบรนด์ (ยกเว้นประเภทที่ใช้ได้กับการส่งข้อมูลต่างๆ ระหว่างโทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น สมาร์ทโฟน ซึ่งมีสัดส่วน ๕๐% ของตลาดโทรศัพท์มือถือในอิตาลี) โดยเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๒ ได้มีการทำความตกลงกันระหว่างผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือจำนวน ๑๔ บริษัท ได้แก่ Apple, Emblaze, Huawei, LG, Motorolla, NEC, Nokia, Qualcomm, Rim, Samsung, Sony Ericsson, Alcatel, Texas Instrument และ Atmel เพี่อผลิตโทรศัพท์มือถือพร้อมอุปกรณ์เพื่อชาร์ตแบตเตอรีที่สามารถใช้ได้กับทุกแบรนด์ดังกล่าว (ต้องมีมาตรฐานการผลิตเป็นไปตามข้อกำหนดที่ M/455 EN ตุลาคม ๒๕๕๒ และควบคุมโดยหน่วยตรวจสอบมาตรฐานของสหภาพยุโรป คือ CEN, CENELEC และ ETSI) ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินและสะดวกในการใช้เครื่องชาร์ตเพียงตัวเดียวกับโทรศัพท์หลายๆแบรนด์ รวมทั้งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่าข้อกำหนดดังกล่าวจะสามารถบังคับใช้ได้อย่างแพร่หลายภายในสิ้นปี ๒๕๕๔ และในชั้นต่อไปก็จะพิจารณาบังคับใช้กับอุปกรณ์ชาร์ตเบตเตอรี่สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายวีดีโอ และกล้องดิจิตอล
๔ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจอิตาลี ณ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
จำนวน ราย / % % เปลี่ยนแปลงเมื่อ % เปลี่ยนแปลง ของกำลังแรงงาน เทียบกับเดือนก่อน/ เมื่อเทียบกับช่วง ไตรมาสก่อน เดียวกันปีก่อน 1. การผลิตภาคอุตสาหกรรม (มกราคม 54) +0.5% +3.5% 2. คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม (มกราคม 54) +2% +4.1% 3. การบริโภค (ธันวาคม 53) +0% -0.5% 4. ภาวะเงินเฟ้อ (มกราคม 54) +0.4% +2.1% 5. อัตราการจ้างงาน (ธันวาคม 53) 57% +0% -0.1% (จำนวนคนจ้างงาน) (22,924,000 คน) 6. อัตราการว่างงาน (ธันวาคม 53) 8.6% +0% +0.2% (จำนวนคนว่างงาน) (2,146,000 คน) 7. GDP ไตรมาส 4 ปี 53 1,520,870 +0.1% +1.3%
(ล้านยูโร) ที่มา : Confindustria; Confcommercio และ ISTAT
๕. ข้อคิดเห็น
๕.๑ คาดว่าเศรษฐกิจอิตาลี ในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๔ ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องโดย GDP ไตรมาส ๔ ของปี ๒๕๕๓ ขยายตัวเพียง ๐.๑ % เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่การบริโภคและการจ้างงาน ณ เดือน ธันวาคม ๒๕๕๓ คงที่ (๐%) และอัตราเงินเฟ์อเพิ่มขึ้น +๐.๔%
๕.๒ อย่างไรก็ดี หากมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านการคลังและเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ออกมาใช้เมื่อกลางเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ วงเงิน ๕.๗ พันล้านยูโร (สำหรับปี ๒๕๕๔) เช่น การช่วยเหลือค่าประกันสังคมให้แก่นายจ้าง เพื่อมิให้เลิกจ้างงาน และการขยายเวลาไม่เก็บเงินภาษีโบนัส เป็นต้น รวมทั้งมาตรการให้เงินช่วยเหลือให้แก่ประชาชนปรับปรุงที่พักอาศัยและซื้อรถจักรยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (วงเงิน ๒,๐๐๐ ล้านยูโร) สามารถมีผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็จะช่วยให้สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของอิตาลีมีการขยายตัวที่ดีขึ้น
๕.๓ นอกจากนี้เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ รัฐบาลอิตาลีได้ให้ความเห็นชอบการขยายเวลาการพักชำระหนี้ของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ซึ่งหมดอายุลงเมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๔ ออกไปอีก ๖ เดือน (จนถึง ๓๑ กรกภาคม ๒๕๕๔) ซึ่งเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ก็ได้ขยายเวลาการพักชำระหนี้ให้แก่ครอบครัวที่กู้เงินเพื่อซื้อบ้านด้วยเช่นเดียวกัน โดยจนถึงขณะนี้มีผู้ประกอบการได้รับการขยายเวลาพักชำระหนี้แล้ว ๑๙๐,๐๐๐ ราย (๗๕% ของจำนวนที่ยื่นขอรับการช่วยเหลือ ๒๕๒,๐๐๐ ราย) ทั้งนี้ ขนาดบริษัทที่จะได้รับความช่วยเหลือคือ ต้องมีลูกจ้างน้อยกว่า ๒๕๐ คน และมีมูลค่าการค้า (Turnover) ต่ำกว่า ๕๐ ล้านยูโรต่อปี
๕.๔ สินค้าที่คาดว่ายังคงมีแนวโน้มที่ดี ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม
ที่มา: http://www.depthai.go.th