เขตคันไซและความท้าทายใหม่ในปี 2011

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 8, 2011 16:37 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เศรษฐกิจของคันไซกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง จากภาคการผลิตในอุตสาหกรรมหนักและเครื่องจักรกล คันไซกำลังเพิ่มบทบาทตัวเองในการเป็นผู้นำด้าน พลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม ดิจิตัลคอนเท้นต์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เพิ่มมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าเขตคันไซมีลักษณะอุตสาหกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะซึ่งแตกต่างจากอุตสาหกรรมทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น คือ

  • คันไซกับการเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการผลิต

เขตคันไซเป็นศูนย์กลางของการผลิตมาช้านาน นับแต่อดีตผู้ประกอบการในแถบโอซากาและโกเบเป็นผู้ผลิตและคิดค้นสินค้าใหม่ๆ แต่เดิมโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากก็ตั้งอยู่ในเขตคันไซก่อนที่จะกระจายไปยังแถบคันโตหรือกรุงโตเกียว สินค้าจากคันไซที่เป็นนวัตกรรมใหม่และมีจำหน่ายทั่วโลก อาทิ คัฟนู้ดเดิ้ล คาราโอเกะ และวิดีโอเกมส์ ล้วนเป็นผลผลิตจากบริษัทในเขตคันไซทั้งสิ้น

  • มีผู้ประกอบการ ขนาดกลางและย่อม (SMEs) อยู่จำนวนมาก

ลักษณะเฉพาะของบริษัทขนาดกลางและเล็กในเขตคันไซคือมีความทันสมัยและมีความคล่องตัวในการจับความต้องการของตลาดมาก ราวร้อยละ 99 ของบริษัทที่จดทะเบียนการค้าในเขตคันไซเป็นบริษัทขนาดย่อม สะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์ของพ่อค้าคันไซที่ชอบเป็นผู้ประกอบการมากกว่าลูกจ้างในบริษัท สมาพันธ์การค้า Kankeiren เรียกกลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมนี้ว่า KISP: Kansai Independent Supply Partner พลังของกลุ่ม KISP ซึ่งนับเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของคันไซ เพื่อให้คันไซก้าวไปสู่ Manufacturing hub ของโลกต่อไป

  • คันไซกับการเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม

ในอดีตบริเวณคันไซโดยเฉพาะนครโอซากาได้ประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก มีการขยายตัวของโรงงานเพิ่มขึ้นจำนวนมากในแต่ละปีไม่สอดคล้องกับกับการจัดการกับสิ่งแวดล้อมซึ่งยังขาดการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง ต่างกับปัจจุบันที่คันไซเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีตและตื่นตัวกับธุรกิจจัดการสิ่งแวดล้อม มีการสร้างศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อม รวมถึงการคิดค้นพัฒนาพลังงานทางเลือกต่างๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการจัดตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ โรงงานแบตเตอรี่แบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โรงงานบำบัดน้ำเสีย นอกจากนี้ที่อ่าวโอซากายังมีชื่อที่รู้จักกันในนาม Panel Bay หรือ Battery Bayเพราะในบริเวณรอบอ่าวมีโรงงานผู้ผลิตจอภาพประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งอยู่จำนวนมาก อาทิ

แผง Solar Cells

1. Kaneka Solatech (Toyooka)

2. Mitsubishi Electric (Kyoto)

3. Kyocera (Ise)

4. Kyocera (Yokaichi)

5. Kyocera (Shiga Yasu)

6. Sanyo Electric (Shiga)

7.Sanyo Electric (Nishikinohama)

8. Sharp (Katsuragi)

9. Sharp (Sakai)

ลิเธียมไอออน แบตเตอรี่

10. GS Yuasa Group (Kusatsu)

11. GS Yuasa (Fukushiyama)

12. GS Yuasa (Kyoto)

13. GS Yuasa (Ritto)

14. Sanyo Electric (Kaizuka)

15. Sanyo Electric (Minami Awaji)

16. Sanyo Electric (Tokushima)

17.Sanyo Electric (Kasai)

18. Hitashi Maxwell (Oyamazaki)

19. Panasonic (Wakayama)

20. Panasonic (Moriguchi)

21. Panasonic (Suminoe)

จอภาพ LCD และจอภาพ Plasma

22. IPS Alpha Technology (Himeji)

23. Panasonic Plasma Display (Amagasaki)

24. Sharp (Sakai)

  • คันไซกับการบริหารจัดการกับทรัพยากรน้ำ

ประเทศญี่ปุ่นมีความชำนาญในเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียเป็นอย่างมาก เทคโนโลยีที่ใช้ในตลาดโลกปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีที่ผลิตจากประเทศญี่ปุ่นถึงร้อยละ 60 ของตลาดโลก Osaka City’s Waterworks Bureau (OCWB) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ นับเป็นหน่วยงานของรัฐแห่งแรกของโลกที่ได้รับ ISO 22000 หรือมาตรฐานสากลด้านอาหารในปี 2008 ปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนในคันไซก็ร่วมมือกันพัฒนาระบบบำบัดน้ำซึ่งถูกนำมาใช้ในประเทศต่างๆของโลกต่อมา อาทิ การร่วมมือพัฒนาการบำบัดน้ำเสียกับ เทศบาลเมืองโฮจิมินห์ ของประเทศเวียดนาม (Saigon Water Corporation:SAWACO)

  • คันไซกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Next-Generation Robotics

เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และแนวโน้มบ่งชัดว่าประชากรสูงวัยจะมีจำนวนมากขึ้น สวนทางกับจำนวนทารกแรกเกิดที่น้อยลงในแต่ละปี รัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องหาทางรับมือกับปัญหาความไม่สมดุลของจำนวนประชากรในประเทศเป็นการเร่งด่วน ซึ่งหนึ่งในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวคือการใช้หุ่นยนต์เพื่อทุ่นแรงและสนับสนุนการดำเนินชีวิตประจำวันของประชากรสูงวัยจำนวนมากในประเทศ Next Generation Robotics คือการขยายขอบข่ายการใช้งานของหุ่นยนต์ที่ไม่จำกัดอยู่เพียง

ในโรงงาน แต่ทว่าครอบคลุมถึงการใช้งานในครัวเรือนอีกด้วย ปัจจุบันได้มีการจัดตั้ง Kansai Next-Generation Robot Promotion Council ขึ้นเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการใช้งานใน 4 ลักษณะ คือ 1. Safety and Security 2. Medical and Welfare 3 Education 4. Life space design

  • คันไซกับการเป็นศูนย์กลาง แห่งการวิจัยและพัฒนา

เขตคันไซเป็นที่รวมของมหาวิทยาลัย และศูนย์กลางการวิจัย ที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านเวชภัณฑ์ ซึ่งมีโรงงานผลิตและบริษัทที่เกี่ยวข้องตั้งอยู่จำนวนมากนอกจากนี้ยังมีบริษัท IT , Life Science Environmental , etc. สาขาของการวิจัยและพัฒนาอาจแยกย่อยได้ อาทิ

Kansai Science City (Keihanna) ตั้งอยู่ระหว่างจังหวัดใหญ่ทั้ง 3 ของเขตคันไซคือโอซากา เกียวโต และ นารา ก่อสร้างแล้วเสร็จไปปี 1987 เป็นที่ตั้งขององค์กร ทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งด้านการศึกษาและการพาณิชย์ ปัจจุบัน มีผู้อยู่อาศัยในเมืองนี้ราว 237,000 คน เป็นที่ตั้งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ จำนวน 111 องค์กร มีนักวิจัย อาศัยอยู่ในพื้นที่จำนวน 6,565 คน ส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรม IT นาโนเทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม

Next-Generation Supercomputer ตั้งอยู่ที่ โกเบ พอร์ต ไอร์แลนด์ โซน 2 มีกำหนดเปิดใช้งานในปี 2012 จุดมุ่งหมายคือการประมวลผลและการคำนวนทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เมื่อแล้วเสร็จจะมีประสิทธิภาพการประมวลผลเป็นอันดับต้นๆของโลก ซึ่งจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถของการวิจัยและพัฒนาเชิงวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศญี่ปุ่นได้อีกมาก

สคร.โอซากา มีความเห็นว่าเขตคันไซ เป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจดั้งเดิมของญี่ปุ่น และปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ที่สำคัญที่สุดมาโดยตลอด อีกทั้งมีท่าเรือขนาดใหญ่ที่สำคัญถึง 2 แห่งคือที่โกเบและโอซากา มีสนามบินนานาชาติถึง 3 แห่งในบริเวณใกล้เคียงกัน ทำให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าเป็นไปด้วยความคล่องตัว นอกจากนี้เขตคันไซยังพุ่งเป้าในการบุกเบิกแนวทางอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ หุ่นยนต์ ดิจิตัลคอนเท้นต์ พลังงานทดแทน และอื่นๆ ที่กำลังจะมีบทบาทเหนือกว่าอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมในอนาคตและมีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่า จึงน่าศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ของเขตคันไซเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ที่ประเทศไทยต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครโอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ