ชาวอิหร่านนิยมการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยในแต่ละปี มีชาวอิหร่านเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศไทยกว่าปีละแสนคน อย่างไรก็ดี อิหร่านเป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด การบริการท่องเที่ยวสำหรับชาวอิหร่านจะต้องสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลามเช่นกัน
การท่องเที่ยวฮาลาล (Halal Tourism) ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองความต้องการของชาวมุสลิม เริ่มตั้งแต่การให้บริการจากประเทศต้นทางจนถึงประเทศปลายทาง เช่น การโรงแรม, การขนส่ง, ร้านอาหาร, การพักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งการให้ความบันเทิงต่างๆ จะต้องไม่ขัดกับหลักหรือกฎศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ การจัดเตรียมสถานที่เพื่อปฎิบัติภาระกิจทางศาสนา (ห้องละหมาด) ต้องมีตลอดการเดินทางอีกด้วย การให้บริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สถานที่พัก อาหาร ฯลฯ จะต้องพิจารณาหลักการและเงื่อนไขที่ระบุไว้ตามหลักศาสนาอิสลาม เช่น ต้องละเว้นจากการให้บริการเครื่องดื่มที่มีสารแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม, สระว่ายน้ำในโรงแรมต้องแยกบริเวณชาย-หญิงออกจากกัน เป็นต้น
หลักการของมาตรฐานฮาลาลการท่องเที่ยว คำนิยาม: หลักการทั่วไปของมาตรฐานฮาลาลในส่วนของการท่องเที่ยวหมายถึงการปฏิบัติหรือการรักษากฎและระเบียบของศาสนาในการให้บริการด้านการท่องเที่ยว (การท่องเที่ยวด้านนันทนาการและสันทนาการ การท่องเที่ยวรอบโลก หรือการท่องเที่ยวที่มีจุดประสงค์เฉพาะ เช่นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เศรษฐกิจ การตลาด การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือการแสวงบุญที่เกี่ยวข้อง)
ข้อกำหนด:
๑. ต้องให้บริการนักท่องเที่ยวตามหลักศาสนาอิสลามตลอดการเดินทาง
๒. มัคคุเทศน์และพนักงานต้องเคารพและรักษาระเบียบวินัยตามหลักศาสนาอิสลาม
๓. ห้ามให้บริการใดๆ ที่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม
๔. เลือกสถานที่พักตามมาตรฐานฮาลาล เช่น โรงแรม ค่ายพัก และอื่นๆ
๕. เลือกใช้ภัตตาคารหรือร้านอาหารตามมาตรฐานฮาลาล
๖. เลือกใช้บริการการขนส่งตามมาตรฐานฮาลาล
มาตรา 1 ต้องให้บริการตามมาตรฐานฮาลาล
มาตรา 2 ต้องฝึกอบรมให้ความรู้แก่พนักงานผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยว
มาตรา 3 การให้บริการนักท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล สถานให้บริการการรักษา หรือบ่อน้ำแร่ และอื่นๆ ต้องเลือกสถานที่ที่เป็นไปตามเงื่อนไขของฮาลาล
มาตรา 4 ตลอดระยะเวลาการเดินทาง นักท่องเที่ยวสามารถปฏิบัติภารกิจทางศาสนาได้ จึงจะต้องมีบริการด้าน เวลา สถานที่ ข้อบ่งชี้เพื่อการละหมาดหรือการถือศิลอด ไว้ด้วย
มาตรา 5 ห้ามมิให้มีการปะปนระหว่างสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ ในกิจการที่ขัดต่อหลักการศาสนา
มาตรา 6 ห้ามจัดกำหนดการท่องเที่ยวในสถานที่ต้องห้ามหรือสถานที่ที่ขัดต่อหลักการศาสนา หลักการของมาตรฐานฮาลาลการโรงแรม
คำนิยาม: วัตถุประสงค์ของการใช้หลักฮาลาลในเรื่องของโรงแรม ก็เพื่อให้บริการต่างๆ เช่นการท่องเที่ยว ร้านอาหาร การสันทนาการ นันทนาการ การขนส่ง มัคคุเทศน์ การชำระล้าง การใช้เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ และการแต่งกาย สอดคล้องกับหลักฮาลาล
ข้อกำหนด:
๑. การบริการด้วยน้ำและสุขลักษณะตามมาตรฐานฮาลาล
๒. ให้บริการด้านการปฏิบัติภารกิจทางศาสนา
๓. หลีกเลียงการบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในห้องพัก
๔. ร้านอาหารจะต้องเป็นไปตามหลักฮาลาล
๕. พนักงานโรงแรมจะต้องประพฤติตามหลักศาสนาอิสลาม
๖. หลีกเลี่ยงการนำเสนอบริการที่ขัดกับกฎอิสลาม
มาตรา 1 น้ำจากท่อน้ำ (ที่ต่อจากอ่างเก็บน้ำสะอาด) จะต้องมีในที่ทุกสถานที่ที่กำหนด เช่น ที่พักอาศัย ทั้งที่ส่วนตัวหรือสาธารณะ เช่น ห้องน้ำ ห้องส้วม ร้านอาหาร ห้องซักแห้ง ห้องซักผ้าเช็ดตัวหรือผ้าปูที่นอน ฯลฯ
มาตรา 2 มีบริการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติภารกิจทางศาสนา ได้แก่ บ่งชี้ทิศในทุกห้อง และมีห้องละหมาด
มาตรา 3 การจัดห้องสำหรับฮาลาลต้องไม่มีบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ไม่ว่าจะในตู้เย็นหรือบาร์หรือร้านอาหาร)
มาตรา 4 การบริการอาหาร เครื่องดื่ม จะต้องปฎิบัติตาม "มาตรฐานอาหารฮาลาล"
มาตรา 5 พนักงานจะต้องปฎิบัติตามและเคารพกฏอิสลาม มาตรา 6 ห้ามให้บริการต้องห้ามตามกฏอิสลาม (เช่น การจัดงานพิธีรวมชายหญิง การจัดงานเต้นรำ การจัดงานผิดกฎหมายทางเพศ การเยือนสถานที่ผิดกฎหมาย ในการท่องเที่ยวหรือการเดินทาง)
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน เห็นว่าการท่องเที่ยวฮาลาลน่าจะเป็นจุดขายสำหรับการท่องเที่ยวไทยได้ เนื่องจากครอบครัวชาวมุสลิมจะพิจารณาเลือกการท่องเที่ยวตามหลักฮาลาลก่อน ซึ่งตุรกีและมาเลเซียได้ใช้การท่องเที่ยวฮาลาล เป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมให้ไปท่องเที่ยวในประเทศของตน
รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน
ที่มา: http://www.depthai.go.th