อันฮุย ... มณฑลบ้านเกิดผู้นำจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 10, 2011 16:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เมื่อหลายวันก่อน ผมได้มีโอกาสไปเข้าร่วมงานเลี้ยงขอบคุณในโอกาสฉลองวันขึ้นปีใหม่ที่รัฐบาลมณฑลอันฮุย (Auhui) จัดขึ้น ณ โรงแรม Four Seasons ฝั่งผู่ซี (Puxi) ใจกลางนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai) เยื้องที่ตั้งของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้นี่เอง เมื่อเดินเข้าร่วมงาน ผมสังเกตเห็นสิ่งดี ๆ ของการเตรียมการและการต้อนรับมากมาย ยิ่งเมื่อได้รับฟังคำกล่าวเปิดงานของท่านฮว๋า เจี้ยนหุย (Hua Jianhui) รองผู้ว่าการมณฑลฯ ที่มีบุคลิกที่สวยสง่าและรับผิดชอบในด้านเศรษฐกิจและการค้าแล้ว ผมรู้สึกประทับใจในความเป็นมืออาชีพทั้งในด้านการนำเสนอและความลึกของข้อมูล สืบค้นไปมาพบว่าท่านรองผู้ว่าฯ ฮว๋าสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมและผ่านงานสำคัญมามากมายทีเดียว ซึ่งสะท้อนว่ามณฑลอันฮุยจะได้รับประโยชน์จากความรู้ความสามารถและมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาของจีนยิ่งขึ้นในอนาคต กอรปกับผมได้รับทราบข่าวว่ารัฐบาลมณฑลอันฮุยจะจัดคณะผู้แทนระดับสูงไปเยือนไทยอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนมีนาคม ศกนี้ วันนี้ ผมเลยถือโอกาสรวบรวมข้อมูลมาเขียนแนะนำมณฑลที่มีศักยภาพแห่งนี้ของจีนให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกันมากขึ้น

ที่มาที่ไปและสภาพภูมิประเทศของ “อันฮุย”

ก่อนหน้านี้ ผมเคยสงสัยว่าชื่อมณฑลแห่งนี้มีความเป็นมาและความหมายเช่นไร ค้นไปสืบมาจึงถึงบางอ้อว่า “อันฮุย” เป็นชื่อย่อของเมืองสำคัญ 2 เมืองในมณฑล ได้แก่ เมืองอันชิ่ง (Anqing) เมืองเอกในอดีต และเมืองฮุยโจว (Huizhou) ซึ่งปัจจุบันคือเมืองหวงซาน (Huangshan City) อันฮุยยังมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “หว่าน” (Wan) ซึ่งแปลว่า “ขาวบริสุทธิ์” และเป็นชื่อของเขตแดน แม่น้ำ และภูเขาในบริเวณมณฑลอันฮุยแต่ครั้งโบราณกาล

ในช่วงแรกของการก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อันฮุยถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ภูมิภาค ได้แก่ หว่านเป่ย (Wanbei) หรืออันฮุยเหนือ และหว่านหนาน (Wannan) หรืออันฮุยใต้ แต่ต่อมาในปี 2495 รัฐบาลจีนได้ประกาศให้เขตทั้งสองได้ถูกรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งนับเป็นการก่อกำเนิดของมณฑลอันฮุยอีกครั้งจวบจนปัจจุบัน

พื้นที่ทางตอนเหนือเป็นพื้นที่ราบและมีดิน น้ำ และสภาพอากาศที่ดี จึงเป็นพื้นที่เหมาะสำหรับการเกษตรกรรม พื้นที่ย่านนี้มีแม่น้ำหวยเหอ (Huai He) ซึ่งอยู่ระหว่างแม่น้ำเหลือง (Yellow River) หรือแม่น้ำหวงเหอ (Huang He) และแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River) สองสายน้ำที่ใหญ่ที่สุดของจีน ไหลพาดผ่านทางตอนเหนือของมณฑล ในแต่ละปี แม่น้ำหวยเหอช่วยซัดเอาตะกอนดินจำนวนมากที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุสำหรับการเพาะปลูกมาสู่พื้นที่ทางตอนเหนือ แต่บ่อยครั้งสายน้ำนี้ก็เป็นต้นเหตุของปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากเช่นกัน นอกจากนี้ ตอนกลางของมณฑลยังมีทะเลสาบจ้าวหู (Lake Chaohu) ขนาดราว 800 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่ที่สุดและนับเป็น 1 ใน 5 ทะเลสาบน้ำจืดชื่อดังของจีน ทะเลสาบแห่งนี้ยังนับเป็นแหล่งน้ำสำคัญบริเวณตอนกลางของมณฑล ขณะที่ทางตอนใต้มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูง โดยมีเทือกเขาต้าปี่ (Dabie Mountains) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และเทือกเขาหวงซาน (Huangshan Mountains) หรือ “Yellow Mountain”อันเลื่องชื่อ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑล แม้พื้นที่ทางตอนใต้ของมณฑลจะเป็นแนวเทือกเขาสูงมากมาย แต่แม่น้ำแยงซีเกียงอันยิ่งใหญ่ก็ยังสามารถเสาะหาช่องทางระหว่าง 2 แนวเขาสูงพาดผ่านด้านซีกตะวันตกเฉียงใต้ทอดยาวขึ้นสู่ตอนกลางของมณฑลและไหลลงสู่ทะเลทางตอนเหนือของนครเซี่ยงไฮ้จนได้ ลำน้ำที่ยาวเหยียดดังกล่าวก่อให้เกิดทะเลสาบน้ำจืดน้อยใหญ่มากมายตามแนวแม่น้ำสายนี้ ด้วยสภาพเทือกเขาสูงและสายน้ำและทะเลสาบที่กระจายตัว ทำให้สภาพอากาศทางตอนใต้จึงแปรปรวนและแตกต่างจากทางตอนเหนือมาก

สภาพเศรษฐกิจ ... เติบโตไม่น้อยหน้าใคร

ในระหว่างปี 2548-2553 มณฑลอันฮุยนับว่าประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของมณฑลอันฮุยได้ก้าวกระโดดกว่าเท่าตัวจาก 535,000 ล้านหยวนเป็น 1,200,000 ล้านหยวนจนมีขนาดเศรษฐกิจขึ้นไปอยู่ในระดับกลางของจีน ขณะเดียวกันรายได้ภาครัฐ (Fiscal Revenue) ก็เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจากเพียง 65,700 ล้านหยวนเป็น 206,380 ล้านหยวน ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์คงที่รวม (Total Investment in Fixed-Assets) ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเพียง 252,100 ล้านหยวนเป็นกว่า 1,180,000 ล้านหยวนในช่วงเวลาดังกล่าว

กำลังซื้อของผู้คนในพื้นที่แถบนี้ได้เติบใหญ่และเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ขณะที่มาตรฐานการครองชีพก็ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการค้าปลีกในสินค้าอุปโภคบริโภคและรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่ขยายตัวในอัตราสองหลักมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังพบว่าการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเฉลี่ยในส่วนของสินค้าอาหารมีสัดส่วนน้อยลงและขยายตัวในส่วนของภาคบริการ อย่างไรก็ดี หากเทียบกับของมหานครและมณฑลอื่นในแถบบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงแล้ว ก็พบว่า มณฑลอันฮุยนับว่ายังล้าหลังอยู่มาก โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวตกอยู่ประมาณ 18,500 หยวน คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของพื้นที่อื่นในภูมิภาค

อันฮุยนับเป็นพื้นที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรหลายประเภทที่สำคัญของจีน อาทิ ข้าว ข้าวสาลี มันฝรั่งหวาน ฝ้าย เมล็ดน้ำมันพืช และชา โดยเฉพาะผลผลิตด้านธัญพืชและน้ำมันพืชติดอันดับ 6 ของประเทศ ขณะที่สินค้าประมงน้ำจืดก็มีมูลค่าติดอันดับ 4 ของจีน อย่างไรก็ดี ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างเศรษฐกิจของมณฑลอันฮุยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยภาคการเกษตรมีสัดส่วนลดลงกว่าเท่าตัว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.5 เป็นร้อยละ 50 ของผลผลิตมวลรวมของมณฑล โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 70 เป็นอุตสาหกรรมหนัก โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอุปกรณ์ การผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงาน ยานยนต์และชิ้นส่วน เหล็กและเหล็กกล้า และอาหารแปรรูป

โครงสร้างเศรษฐกิจมณฑลอันฮุย (สัดส่วนร้อยละ)

                                            2548                    2543                    2553*
          อุตสาหกรรมปฐมภูมิ                    32.3                    25.6                    15
          อุตสาหกรรมทุติยภูมิ                    36.5                    36.4                    50
          อุตสาหกรรมภาคบริการ                 31.3                    38.0                    35

หมายเหตุ *ประมาณการ

อย่างไรก็ดี โครงสร้างทางเศรษฐกิจของมณฑลอันฮุยยังมีลักษณะกระจุกตัวในเชิงภูมิศาสตร์อยู่ค่อนข้างสูง โดยมี 3 เมืองเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ นครเหอเฝย (Hefei) เมืองอู๋หู (Wuhu) และเมืองอันชิ่ง มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวมเกือบร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของมณฑล นอกจากนี้ เมืองเหล่านี้ยังล้วนตั้งอยู่ในบริเวณตอนกลางของมณฑล จึงทำให้พื้นที่ตอนกลางเป็นกลจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของมณฑลอันฮุย

นอกจากการเป็นเมืองเอกของมณฑลแล้ว นครเหอเฝยยังเป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรมากและมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากที่สุด กล่าวคือ ปัจจุบัน นครเหอเฝยมีจำนวนประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 5 ล้านคน และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 43,000 หยวน ทำให้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของมณฑล คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 ของจีดีพีของมณฑล อู๋หูเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงตามมาติด ๆ ที่ราว 40,000 หยวน และมีสัดส่วนทางเศรษฐกิจอยู่ราวร้อยละ 10 ของทั้งหมด ขณะที่เมืองอันชิ่ง ซึ่งเคยเป็นเมืองเอกของมณฑลในอดีต ก่อนย้ายไปยังนครเหอเฝยเมื่อปี 2489 มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียงประมาณ 15,000 หยวนเท่านั้น และมีสัดส่วนอยู่ร้อยละ 8 ของจีดีพีของมณฑล

ในด้านการค้าระหว่างประเทศ อันฮุยส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอุปกรณ์ เหล็กม้วน และยานยนต์และชิ้นส่วนเป็นสำคัญ โดยมีตลาดสำคัญได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง ขณะเดียวกันก็นำเข้าแร่และโลหะใช้แล้ว และเครื่องจักรอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง โดยเฉพาะจากชิลี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ

ในด้านการลงทุน อันฮุยประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีการลงทุนจากต่างประเทศในมณฑลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะนับแต่ปี 2550 ที่การลงทุนฯ ไต่ขึ้นไปเฉียด 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และขยายตัวต่อเนื่องจนมูลค่าการลงทุนฯ ทะลุ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2553 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67 และอสังหาริมทรัพย์ อีกร้อยละ 13 ของมูลค่าการลงทุนของต่างชาติโดยรวม โดยมีฮ่องกงเข้าไปลงทุนโดยตรงมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 60 ของทั้งหมด ตามมาด้วยสหรัฐฯ และสิงคโปร์

อันฮุย ... มีอะไรเด่นดัง

อันฮุยอาจจัดเป็นมณฑลใหม่ในสายตาของชาวไทย แต่สำหรับชาวจีนแล้ว อันฮุยนับว่ามีชื่อเสียงและศักยภาพในการพัฒนาในหลายส่วนด้วยกันประการแรก มณฑลแห่งนี้ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี โดยมีพื้นที่โดยรวม 139,600 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 1.45 ของพื้นที่โดยรวมของประเทศจีน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประเทศไทย และด้วยจำนวนประชากรถึง 65 ล้านคน ทำให้อันฮุยติด 10 อันดับแรกของมณฑลที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดของจีน อันฮุยตั้งอยู่ตอนกลางด้านซีกตะวันออกของจีน และมีเขตเศรษฐกิจสำคัญรายรอบมากมาย ได้แก่ เหอหนาน (Henan) เจียงซู (Jiangsu) เจ้อเจียง (Zhejiang) เจียงซี (Jiangxi) และหูเป่ย (Hubei) ประการสำคัญ อันฮุยยังนับเป็น 1 ใน 4 มณฑล/มหานครสำคัญของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River Delta) ร่วมกับเซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง พื้นที่ส่วนนี้จึงเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของ “หัวมังกร” ของเศรษฐกิจที่มีขนาดและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และรายได้เฉลี่ยต่อหัวในระดับแนวหน้าของจีน

ประการที่ 2 ระบบและโครงข่ายลอจิสติกส์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อันฮุยได้รับการสนับสนุนในการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งขยายโครงข่ายเชื่อมโยงเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก ทั้งทางทะเล-แม่น้ำ ถนน รถไฟ และการบินจนอยู่ในระดับที่ดีของประเทศ

ด้วยเส้นทางแม่น้ำแยงซีเกียงที่ทอดยาวพาดผ่านตอนล่างจากตะวันตกขึ้นสู่ตอนกลางด้านซีกตะวันออกของมณฑลรวมเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร ทำให้อันฮุยเป็นเส้นทางผ่านของเรือขนส่งสินค้ามากมายและเป็นจุดขนถ่ายสินค้าที่ดีของด้านซีกตะวันออกตอนใน โดยมีท่าเรือสำคัญที่สามารถรับเรือขนาด 10,000 เดดเวทตันได้ตลอดปีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ หม่าอันซาน (Ma’anshan) อู๋หู ถงหลิง (Tongling) ฉือโจว (Chizhou) และอันชิ่ง นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้วางแผนก่อสร้างท่าเรือเหอเฝย (Hefei Port) ที่พร้อมสรรพด้วยระบบลอจิสติกส์ที่ทันสมัย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2563 และมีขีดความสามารถในการรองรับสินค้าประมาณ 56 ล้านตันต่อปี โดยเฉพาะสินค้าตู้คอนเทนเนอร์

ปัจจุบัน อันฮุยมีโครงข่ายถนนที่หนาแน่นระดับแนวหน้าของประเทศ และมีทางด่วน (Expressway) รวมระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร และมีเส้นทางหลักอีกหลายสายที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงและก่อสร้างใหม่ การเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงก็ช่วยให้สามารถเดินทางจากเมืองหลักอย่างนครเหอเฝยไปยังเมืองเศรษฐกิจสำคัญรายรอบด้วยความสะดวกและรวดเร็ว อาทิ การเดินทางไปนครหนานจิง (Nanjing) เมืองหลักของมณฑลเจียงซูใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ไปอู่ฮั่น (Wuhan) เมืองเอกของมณฑลหูเป่ยเพียง 2 ชั่วโมง และไปนครเซี่ยงไฮ้ภายใน 3 ชั่วโมง การขยายโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในอนาคตยังจะช่วยให้การเดินทางไปกรุงปักกิ่ง (Beijing) และนครฝูโจว (Fuzhou) เมืองเอกของมณฑลฝูเจี้ยนได้ภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมง

มณฑลแห่งนี้ยังมีสนามบินระดับมาตรฐานระหว่างประเทศอยู่ถึง 6 แห่ง นอกจากสนามบินหลักอย่าง “Luogang Airport” ใจกลางนครเหอเฝยที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันแล้ว รัฐบาลอันฮุยยังกำลังก่อสร้างสนามบินระหว่างประเทศแห่งใหม่ “Xinqiao International Airport” ซึ่งจะเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า และคาดว่าจะรองรับผู้โดยสารได้ 6-7 ล้านคนต่อปี

ประการที่ 3 รัฐบาลมียุทธศาสตร์และโครงการพัฒนามากมาย ภายใต้ “ยุทธศาสตร์ภาคกลางผงาด” (Central Rise Strategy) ของรัฐบาลกลาง การพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม (Industrialization) และชุมชนเมือง (Urbanization) ในอันฮุยได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลมณฑลอันฮุยได้ให้ความสำคัญและประสบความสำเร็จกับกลยุทธ์สำคัญ 2 ส่วนได้แก่ การรองรับการถ่ายโอนภาคอุตสาหกรรม และการสร้างนวัตกรรมที่เป็นเอกเทศ เขตนำร่องการถ่ายโอนอุตสาหกรรม (Industrial Transfer Demonstration Zone) ในย่านวงแหวนแม่น้ำหว่านเจียง (Wanjiang River Urban Belt) นับเป็นโครงการพิเศษแรกของประเทศเพื่อช่วยรองรับการเคลื่อนย้ายของอุตสาหกรรมจากต่างประเทศและพื้นที่ใกล้เคียง

ในระยะหลัง รัฐบาลอันฮุยยังเดินหน้าโครงการก่อสร้างพื้นที่ทดลองสำหรับนวัตกรรมเอกเทศครบวงจรบริเวณเหอเฝย-อู๋หู-ปั้งปู้ (Hefei-Wuhu-Bangbu Independent Innovation Comprehensive Experimental Area) และแผนงานขั้นทดลองมณฑลอันฮุยของโครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีแห่งชาติ (Anhui’s Experimental Program of the National Technological Innovation Project) เพื่อมุ่งเน้นการบ่มเพาะขีดความสามารถในการแข่งขันแก่กิจการด้านนวัตกรรมและอุตสาหกรรมใหม่เชิงยุทธศาสตร์ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่วิทยาการด้านนวัตกรรม ผู้เกี่ยวข้องในวงการ และการผสมผสานระหว่างการผลิต การเรียนรู้ และการวิจัย เพื่อสร้างอันฮุยให้ก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งการปรับโครงสร้าง

การดำเนินนโยบายและโครงการพัฒนาดังกล่าวช่วยให้ระดับของการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและความสามารถในการรองรับการถ่ายโอนอุตสาหกรรมเข้ามาสู่มณฑลพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงการปรับโครงสร้างและการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปิดรับสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระดับที่สูงขึ้นในอนาคต

ประการที่ 4 ทรัพยากรดี ในด้านทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจุบัน มณฑลอันฮุยมีประชากรมากกว่า 65 ล้านคน พอ ๆ กับของประเทศไทยเลยทีเดียว โดยร้อยละ 80 อาศัยอยู่ในชนบท อันฮุยมีรากฐานทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ เช่น ระบบวรรณกรรมแบบเจี้ยนอัน (Jian’an Liturature) และการเขียนแบบทงเฉิง (Tongcheng Essays) ลิทธิเต๋า (Taoism) ที่โด่งดังทั่วโลกก็ก่อกำเนิดขึ้น ณ แห่งนี้ อันฮุยจึงมีสถาบันการศึกษาด้านภาษาและศิลปวัฒนธรรมอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้คนจำนวนมากในมณฑลแห่งนี้ล้วนแฝงไว้ด้วยความเป็นศิลปินและนักปรัชญา อันฮุยเป็นบ้านเกิดของผู้ค้าชาวฮุย (Hui) จึงนับว่ามีขนบธรรมเนียมที่ดีในการประกอบการ นอกจากนี้ อันฮุยยังอุดมไปด้วยทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยปัจจุบันมีสถาบันวิจัยระดับมณฑลและระดับประเทศรวมกว่า 200 แห่ง โดยเฉพาะสถาบันวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์แห่งนครเหอเฝย (Hefei Institutes of Physical Science) ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Chinese Academy of Sciences) และวิทยาลัย/มหาวิทยาลัยด้านวิจัยและเทคโนโลยีที่ผลิตบัณฑิตในด้านนี้อีกกว่า 400 แห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจีน (University of Science and Technology of China) ที่มีหลักสูตรระดับปริญญาเอกถึง 138 โครงการ ด้วยจำนวนประชากรและกลไกการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทำให้มณฑลอันฮุยมีความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนด้านทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดี

นอกเหนือจากการเป็นแหล่งเพาะปลูกสินค้าเกษตรที่สำคัญของจีน มณฑลอันฮุยยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญมากมายถึงเกือบ 140 ชนิด คิดเป็นมูลค่าเกือบ 2,000 ล้านหยวน และมีแหล่งทรัพยากรสำรองมากถึง 71 ชนิด ในจำนวนนี้ มีทรัพยากรธรรมชาติสำรอง 38 ประเภทที่มีปริมาณมากติด 10 อันดับแรกของจีน โดยเฉพาะแร่เหล็กที่เมืองหม่าอันซาน ถ่านหินที่เมืองหวยหนาน (Huainan) และทองแดงที่เมืองถงหลิง จึงทำให้มีอุตสาหกรรมแปรรูปเข้าไปลงทุนในเมืองดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ มณฑลอันฮุยยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทางประวัติศาสตร์ชั้นนำของจีน โดยสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งได้รับการจัดชั้นเป็น “มรดกโลกขององค์การสหประชาชาติ” (UNESCO World Heritage) โดยเฉพาะหมู่บ้านโบราณและเทือกเขาหวงซาน บริเวณตอนใต้ของมณฑล ทำให้อันฮุยมีนักท่องเที่ยวไปเยือนปีละราว 150 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 100,000 ล้านหยวนต่อปี และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งนี้ ในจำนวนนี้มีสัดส่วนของเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่มาจากฮ่องกง ไต้หวัน และมาเก๊า

พูดถึงเขาหวงซานแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะชื่นชมในวิวทิวทัศน์ที่วิจิตรบรรจงของยอดเขาสูงที่มีรูปลักษณ์ไม่ซ้ำแบบ และสอดแทรกด้วยทิวสน เฟิร์น และต้นไม้สูงท่ามกลางเมฆหมอกที่รายล้อม เทือกเขาแห่งนี้จึงมีเสน่ห์ชวนหลงใหล ไม่ว่าจะมองจากในระดับใดก็ตาม ความงดงามดังกล่าวปรากฏอยู่ในบทกวีและภาพวาดในอดีตและภาพถ่ายในปัจจุบันมากมาย แม้ว่าเมืองจีนจะเต็มไปด้วยเทือกเขาที่งดงามหลายแห่ง แต่ผู้คนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ครั้นเมื่อเห็นหวงซาน ท่านจะลืมทุกเทือกเขาที่เคยไปเยือน” แม้กระทั่งผู้กำกับหนัง 3 มิติชื่อดังเรื่อง “Avatar” ยังบอกว่า เขาได้แรงบันดาลใจด้านการออกแบบฉากหลังของภาพยนต์สุดฮิตจากเทือกเขาแห่งนี้นี่เอง

เทือกเขาแห่งนี้ยังเต็มไปด้วยยอดเขาสูง โดยเฉพาะ 3 ยอดเขาที่สูงที่สุดของมณฑล ไล่ตั้งแต่ “เหลียนหัวเฟิง” (Lian Hua Feng) หรือ “Lotus Peak” สูง 1,864 เมตร “กวงหมิงติง” (Guang Ming Ding) หรือ “Bright Summit Peak” สูง 1,840 เมตร และ “เทียนตู้เฟิง” (Tian Du Feng) หรีอ “Celestial Peak” สูง 1,829 เมตร นอกจากนี้ ต้นสนในเทือกเขาเหลาซานต่างหยั่งรากบนหิน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งทนทาน และเมื่อเดินไต่ขึ้นสู่ภูเขาสูงก็จะเห็นทะเลเมฆที่ทอดยาวลัดเลาะซอกเขาอย่างน่าพิศวง ทำให้มณฑลอันฮุยนับเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศต่างหลั่งไหลมาเยือน ประมาณว่าในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเทือกเขาแห่งนี้มากกว่า 15 ล้านคนต่อปี

ประการที่ 5 อุตสาหกรรมเข้มแข็ง นับแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 มณฑลอันฮุยได้ผลักดันการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงจำนวนหลายแห่ง โดยเฉพาะในเหอเฝยและอู๋หู อาทิ National Hefei Economic and Technological Development Area, Hefei Hi-Tech Industrial Development Zone, Wuhu Economic and Technological Development Zone และ Wuhu Export Processing Zone ซึ่งช่วยดึงดูดและรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมชั้นนำที่มีศักยภาพของต่างชาติและของจีนเข้าสู่พื้นที่เป็นจำนวนมาก National Hefei Economic and Technological Development Area ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 และได้รับการยกระดับให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระดับชาติเมื่อปี 2543 เขตฯ ดังกล่าวนับว่าเป็นฐานการผลิตที่ทันสมัยและสำคัญที่สุดของมณฑล โดยในปี 2552 เขตฯ ดังกล่าวได้รับการคัดเลือกเป็นเขตพัฒนาฯ มีศักยภาพในการลงทุนอันดับ 5 และได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบของฐานอุตสาหกรรมแปรรูปสมัยใหม่ของจีน ปัจจุบันมีกิจการของจีนและต่างชาติจำนวนมากเข้าไปลงทุน อาทิ โคคา-โคลา (Coca-Cola) เอบีบี (ABB) ยูนิลิเวอร์ (Unilever) มิตซูบิชิ (Mitsubishi) ฮิตาชิ (Hitachi) ไห่เอ๋อร์ (Haier) เจเอซี (JAC) และชิโนทรานส์ (Sinotrans) ขณะที่ Hefei Hi-Tech Industrial Development Zone นับเป็นนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงที่มีชื่อเสียง โดยรองรับกิจการกว่า 3,000 ราย ในจำนวนนี้ กว่าร้อยละ 10 เป็นของต่างชาติ อาทิ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ซิสโก้ (Cisco) ไอบีเอ็ม (IBM) แคร์เรียร์ (Carrier) มอนซานโต้ (Monsanto) อัลฟา (Alpha) เอบีบี (ABB) ซันโย (Sanyo) โตชิบา (Toshiba) และมารูเบนนิ (Marubeni) และกว่า 50 รายเป็นกิจการที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของจีนและต่างชาติ นอกจากนี้ นิคมฯ แห่งนี้ยังเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องใช้ภายในบ้านที่ใหญ่ที่สุดในจีนตะวันออกปัจจุบัน

ปัจจุบัน มณฑลอันฮุยมีกิจการเทคโนโลยีสูงอยู่กว่า 450 ราย และในจำนวนนี้ จำนวน 15 รายเป็นกิจการสำคัญในระดับประเทศ ทั้งนี้ กิจการของมณฑลอันฮุยที่ชูหน้าชูตามีอยู่ในหลายอุตสาหกรรม ในด้านการเกษตร Anhui Huqiao Traditional Chinese Medicine Technology Co., Ltd. นับเป็นกิจการที่ชั้นนำที่มีศักยภาพสูงของอันฮุย โดยได้รับการยกย่องเป็น “A High-Tech Enterprise of Anhui Province” กิจการผลิตยาจีนตามธรรมชาติ โดยเพาะปลูก วิจัยและพัฒนา คัดสรร และแปรรูปสินค้าเกษตรเบื้องต้นเพื่อเป็นยาบำรุงร่างกาย สินค้ามากมายของบริษัทฯ มีสิทธิบัตรคุ้มครองและได้รับรางวัลต่าง ๆ นานา อาทิ “High-Tech Products of Anhui” และรางวัลชนะเลิศ “Scientific and Technical Progress” ของ Association of Traditional Chinese Medicine ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังทำตลาดสินค้ามากมายหลายร้อยชนิดดังกล่าวออกไปทั่วประเทศจีนและตลาดต่างประเทศ

อีกกิจการหนึ่งได้แก่ Anhui Luan Guapian Tea Industry Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้ผลิตชาชั้นนำของจีน ภายใต้แบรนด์ "Hui Six" ซึ่งได้รับรางวัลอันทรงคุณค่ามากมาย อาทิ "Quality of Anhui Agricultural Award", "Brand-Name Products in Anhui Province", "China International Agricultural Expo Gold " "The King of Tea" และ “CCTV Challenge Cup” ชาของบริษัทฯ ยังนับเป็นหนึ่งในของที่ระลึกที่ท่านประธานาธิบดีหู จิ่นเทา (Hu Jintao) มอบให้แก่ท่านประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ของรัสเซีย (Russia) เมื่อคราวมาเยือนจีนเมื่อหลายปีก่อน

ในอุตสาหกรรมยานยนต์ Anhui Jianghuai Automobile Co., Ltd. หรือที่รู้จักภายใต้แบรนด์ “JAC” เป็นผู้ผลิตรถยนต์นั่งและรถบรรทุกชั้นแนวหน้าของจีน โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เหอเฝย กิจการได้ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องจนมีกำลังการผลิตภายในประเทศมากกว่า 400,000 คันต่อปี และได้จัดตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในหลายภูมิภาค และขยายตลาดออกไปกว่า 100 ประเทศ อีกกิจการหนึ่งได้แก่ Chery Automobile เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ เมืองอู๋หู ซึ่งอยู่ห่างจากนครเหอเฝยไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 150 กิโลเมตร เชอรี่ประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และกลายเป็นผู้ผลิตอันดับ 7 ของจีนในปี 2553 ด้วยยอดการผลิตเกือบ 700,000 คัน จากเดิมที่ผลิตได้เพียงประมาณ 2,000 คันในปี 2543 กิจการนี้ออกไปตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในหลายประเทศ อาทิ อิหร่าน รัสเซีย มาเลเซีย อียิปต์ อุรุกวัย บราซิล และตุรกี และยังส่งรถยนต์หลากหลายรุ่นไปทำตลาดในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยในปัจจุบัน

กิจการชั้นนำในวงการยานยนต์ของจีนในมณฑลอันฮุยอีกรายหนึ่งที่ไม่เอ่ยถึงคงไม่ได้ ได้แก่ Anhui Hualing Automobile Co., Ltd. กิจการรายนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 และทำความร่วมมือด้าน เทคโนโลยีระยะยาวกับผู้ผลิตรถบรรทุกชั้นนำของญี่ปุ่น อย่างฟูโซ่ (Fuso) และอีซูซุ (Isuzu) ปัจจุบัน บริษัทฯ มีพนักงานอยู่กว่า 2,000 คนและผลิตรถบรรทุกหนักจำนวน 30,000 คันต่อปีภายใต้ตราสินค้าสำคัญได้แก่ CAMC, HUALING STAR, HUNAN โดยได้รับการสนับสนุนจากทีมวิจัยและพัฒนาที่เข้มแข็งทั่วประเทศมากมาย อาทิ Qinghua University, Jilin University, Hunan University และ Hefei University

นอกจากนี้ ยังมีกิจการด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจอย่าง Huangshan Trustlink Launder Tech Co., Ltd. ที่ผลิต “ลูกบอลซักผ้า” (Launderball) ซึ่งช่วยเราสามารถซักผ้าได้ด้วยเครื่องโดยไม่ต้องใส่ผงซักฟอกแม้แต่น้อย ว่าง่าย ๆ ใช้ลูกบอลนี้ใส่ลงไปแทนผงซักฟอกได้เลย ฟังดูแปลก ๆ ใช่ไหมครับ ผมลองซักด้วยไอ้เจ้าลูกบอลนี้ดูแล้วสะอาดเหลือเชื่อจริง ไร้กลิ่นตกค้าง แถมยังไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย จึงนับเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งโลกอนาคตที่ลงทุนโดยชาวจีนโพ้นทะเลในมณฑลแห่งนี้

ประการสุดท้าย มณฑลแห่งนี้ยังเป็นมณฑลบ้านเกิดของผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลจีนหลายท่าน โดยเฉพาะท่านประธานาธิบดีหู จิ่นเทา เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำจีนคนปัจจุบัน ท่านอู๋ ปังกั๋ว (Wu Bang Guo) ประธานสภาประชาชน และท่านหลี่ เค้อเฉียง (Li Ke Qiang) รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการวางตัวว่าจะขึ้นรับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในอีก 2 ปีข้างหน้า จากการสืบค้นประวัติของท่านหู จิ่นเทาพบว่า ท่านเกิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2485 ที่เมืองไถ่โจว (Taizhou) มณฑลเจียงซู (Jiangsu) แต่เนื่องจากบรรพบุรุษรุ่นคุณปู่ของท่านมีพื้นเพดั้งเดิมมาจากเมืองจี๋ชี๋ (Jixi) มณฑลอันฮุย ทำให้ข้อมูลทางราชการมักระบุว่าท่านเป็นคนเมืองจี๋ชี๋ โดยไม่ค่อยเอ่ยถึงมณฑลเจียงซูแต่อย่างใด

ผมขอเรียนว่า แต่เดิมอันฮุยไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้คนมากเท่าไหร่หรอก ครั้นเมื่อท่านหู จิ่นเทาและผู้บริหารระดับสูงท่านอื่น ๆ ขึ้นรับตำแหน่ง หลายอย่างก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา กิจการและโครงการขนาดใหญ่จำนวนมากก็ผุดขึ้น โดยได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนจำนวนมหาศาลจากส่วนกลาง ด้วยการขึ้นรับตำแหน่งของผู้นำในยุคหน้าและการสานต่อนโยบายเดิมของรัฐบาลจีน ทำให้ดูเหมือนว่าความยิ่งใหญ่ของมณฑลอันฮุยดูจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น

ทิศทางการพัฒนาในอนาคต ... มุ่งมั่น ชัดเจน

ภายใต้แผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 12 มณฑลอันฮุนประกาศจะยึดแนวคิดหลัก “1 แนวคิด 1 เส้นทางหลัก 5 เส้นทางรอง 6 เป้าหมาย และ 10 ภารกิจสำคัญ” โดยแนวคิดหลักเป็นเรื่องการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ บนพื้นฐานของการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อเร่งการฟื้นฟูและเติบใหญ่ของมณฑลขึ้นสู่เวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยยึดถือการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาชุมชนเมือง การปรับโครงสร้างและการพัฒนา การเปิดเสรีและการพัฒนา นวัตกรรมและการพัฒนา การพัฒนาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ในส่วนของ 6 เป้าหมายหลักในปี 2558 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผน 5 ปีฉบับดังกล่าวนั้น รัฐบาลมณฑลอันฮุยกำหนด “5 Doubles” หรือการเพิ่มเท่าตัวใน 5 ประการ อาทิ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของมณฑล รายได้ทางการเงิน มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์และบริการ เป็นต้น เพื่อมุ่งสร้างเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่งคั่งภาคประชาชน สิ่งแวดล้อม และสังคมจริยธรรม

ความชัดเจนและความถูกต้องของทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพุ่งผงาดของมณฑลอันฮุย ผมเชื่อมั่นว่า ในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นอันฮุยในฐานะของการเป็นส่วนสำคัญที่จะเสริมสร้างให้เขตเศรษฐกิจบริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียงแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และภายใต้การสนับสนุนจากส่วนกลาง ผมเชื่อมั่นว่า อันฮุยจะก้าวออกไปเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจโลกในระดับที่สูงขึ้นและอาจเร็วกว่าที่เราคาดคิดไว้มาก ซึ่งจะเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมากมาย

โอกาสและการเตรียมความพร้อมของไทย

ก่อนอื่น เราต้องยอมรับกันก่อนว่า อันฮุยนับเป็นมณฑลหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยยังรู้จักและเข้าไปประกอบการค่อนข้างน้อย ที่ผ่านมา คนไทยไปเยือนอันฮุยในรูปของการท่องเที่ยวเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ในระยะหลังพบว่า มีผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยหลายรายที่ส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายหรือเข้าไปพัฒนาความร่วมมือด้านการลงทุนในพื้นที่ จากสถิติพบว่า จนถึงสิ้นปี 2553 มีกิจการของไทยเข้าไปจดทะเบียนในอันฮุยประมาณ 100 ราย คิดเป็นมูลค่าลงทุนรวม 290 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ปรากฏชัดเจนอยู่ก็ได้แก่ การเข้าลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้า เช่น อาหารสัตว์ และผลิตน้ำมันพืช บางรายก็ไปร่วมทุนกับ Cable Technology Co., Ltd. ในการผลิตสายไฟฟ้า ขณะที่กลุ่มปูนซิเมนต์ไทยได้เข้าไปมีความร่วมมือในการผลิตสินค้ากับผู้ประกอบการท้องถิ่นอย่าง Anhui Conch Cement Co., Ltd. เช่นกัน ทั้งนี้ในปี 2553 มีการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จำนวน 1 ราย นอกจากนี้ ยังพบว่า มหาวิทยาลัยคริสเตียน (Christian University) ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐมก็มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยท้องถิ่น อาทิ Anhui University

จากการตรวจสอบยังพบว่าผู้ประกอบการไทย เช่น กิจการในเครือซีพีนำเข้าสารผสมอาหาร (Food Additives) จาก Anhui Zhengzheng Biology Technology Co., Ltd. ขณะที่ดับเบิ้ลเอ (AA) ผู้ผลิตกระดาษและกิจการพลังงานไฟฟ้าชั้นนำของไทยก็จัดหารถบรรทุก CAMC ติดตั้งแก๊ซ NGV มาใช้งาน ขณะที่ค่ายยนตรกิจก็จับมือกับซีพีนำเข้ารถยนต์เชอรีไปทำตลาดที่เมืองไทย รวมทั้งการนำเข้าเครื่องจักรในอุตสาหกรรมสิ่งทอจาก Anhui Tiandi Group แต่การค้าระหว่างไทยและมณฑลอันฮุยก็ยังมีมูลค่าค่อนข้างจำกัด กล่าวคือ ในปี 2553 ไทยนำเข้าสินค้าจากอันฮุยประมาณ 240 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 17.1 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปุ๋ย ที่มีสัดส่วนร้อยละ 15 ของทั้งหมด ขณะเดียวกัน ไทยส่งออกสินค้าไปอันฮุยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 85.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 111.4 เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะยางพาราและมันสำปะหลังเส้นที่มีมูลค่าเกือบร้อยละ 60 ของทั้งหมด

นอกจากเราไม่ควรจะมองข้ามความสำคัญของอันฮุยแล้ว แต่ไทยเรายังควรให้ความใส่ใจกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและกิจการในมณฑลอันฮุยให้มากขึ้น เพราะนอกเหนือกิจการชั้นนำที่ผมกล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว อันฮุยยังมีกิจการหลายรายที่เข้าไปรับงานก่อสร้างและลงทุนประกอบการที่เมืองไทย โดยมีมูลค่าสัญญากว่า 42 และเงินลงทุน 31.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีกิจการอีกหลายรายที่มีสินค้าที่มีศักยภาพเตรียมไปเปิดสำนักงานตัวแทนหรือส่งสินค้าเข้าไปเริ่มทำตลาดในบ้านเรา อาทิ Anhui Jinhe Industrial Co., Ltd. และ Anhui Yinfeng Daily Cosmetics Co., Ltd. เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารที่จัดขึ้นที่ประเทศไทย และยังมีกิจการจำนวนมากที่เข้าไปจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมายที่เมืองไทย อาทิ เมื่อเดือนมีนาคม 2549 TCM Corporation ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องมือยกขนชั้นนำของญี่ปุ่นที่มีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในอันฮุยก็เคยยกพลไปจัดประชุมสัมมนาผู้จัดจำหน่ายทั่วโลกที่กรุงเทพฯ

ผมเชื่อมั่นอีกว่า เศรษฐกิจของมณฑลอันฮุยจะเติบโตอีกมากในอนาคต ยิ่งหากดูตามแนวทางปัจจัย “การเมืองนำเศรษฐกิจ” ภายใต้ระบบการเมืองและเศรษฐกิจของจีนแล้ว ก็ยิ่งมั่นใจว่า อันฮุยจะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ การต่อสานขั้วอำนาจของผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลกลางและการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนารัฐวิสาหกิจและเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของมณฑลจะยังคงเดินหน้าต่อไป ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์เจาะเข้าเชื่อมและเข้าไปประกอบการในมณฑลอันฮุยให้มากขึ้น เพื่อพยายามเกาะเกี่ยวเอาประโยชน์จากการเติบโตที่มีเสถียรภาพของมณฑลแห่งนี้ ในด้านการค้า ไทยเราอาจต้องเร่งจัดคณะผู้แทนระดับสูงเข้าไปสำรวจตลาดและกระชับความสัมพันธ์ รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของสินค้าและบริการของไทยในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเข้าร่วมหรือจัดงานแสดงสินค้าไทยในเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนครเหอเฝยและเมืองอู๋หู

ในด้านการลงทุน มณฑลอันฮุยก็ยังเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ เพราะขณะที่นครเซี่ยงไฮ้และเมืองใหญ่ในมณฑลเจ้อเจียงและเจียงซูมีทางเลือกจากการเข้าไปลงทุนที่มากหน้าหลายตาของกิจการต่างชาติในพื้นที่ แต่มณฑลอันฮุยยังเปิดรับต่อการลงทุนของต่างชาติด้วยเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นมากกว่า ผลจากความตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนที่มีผลใช้บังคับเต็มรูปนับแต่ต้นปี 2553 ที่ผ่านมา และความแกร่งกล้าและการเปิดกว้างสู่โลกภายนอกของกิจการในอันฮุย ภายใต้ความพยายามในการผลักดันกลยุทธ์ “บุกโลก” (Go Global Strategy) ของรัฐบาลจีนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทำให้ผมเชื่อมั่นว่า เราจะได้เห็นการขยายตัวของการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและอันฮุยมากขึ้นในอนาคต ไทยเราต้องเร่งสะท้อนความสำคัญของการเป็น “ฐานการผลิตสินค้าคุณภาพ” และ “ศูนย์กลางการกระจายสินค้าในภูมิภาคอาเซียน” ให้รัฐบาลและผู้ประกอบการของอันฮุยได้ตระหนัก นอกจากนี้ ไทยยังควรสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของทั้งสองภูมิภาคเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป สิ่งทอ ยานยนต์ และเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์และความแข็งแกร่งในการแข่งขันให้แก่กิจการและเศรษฐกิจของไทยและของอันฮุยในอนาคต

พร้อมหรือยังที่เราจะกระชับไทย-อันฮุยเพื่อเศรษฐกิจในระยะยาว

รวบรวมและเรียบเรียงโดย

ดร. ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ผอ. สคร. ณ นครเซี่ยงไฮ้

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ