ญี่ปุ่นเป็นตลาดอาหารสำคัญของโลก นำเข้าสุทธิสินค้าอาหารมูลค่า ปีละร่วม 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และงานแสดงสินค้า FOODEX Japan เป็นงานแสดงสินค้านานาชาติสำหรับสินค้าอาหารที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มีผู้ร่วมแสดงสินค้ากว่า 30 ประเทศทั่วโลก ผู้แสดงสินค้าจึงใช้กลเม็ด สร้างจุดขายมาแข่งขันกันอย่างเต็มที่
ในฐานะที่ไทย เป็นประเทศผู้ผลิตอาหารสำคัญรายหนึ่ง จึงได้เข้าร่วมแสดงสินค้าในงาน FOODEX เป็นประจำทุกปี สำหรับงาน FOODEX Japan 2011 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-4 มีนาคม 2554 กรมส่งเสริมการส่งออก นำทัพผู้ผลิตสินค้าอาหาร 51 ราย ร่วมแสดงสินค้า และสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว จัดกิจกรรมพิเศษเสริมเพื่อการขยายตลาดในญี่ปุ่น รวมทั้งให้มี impact จูงใจต่อผู้เข้าชมงาน ได้แก่ สาธิตการปรุงอาหารไทย จัดสัมมนาเพื่อตลาดผลไม้ที่มีศักยภาพในตลาดญี่ปุ่น รวมทั้งนัดหมายล่วงหน้าเจรจาธุรกิจระหว่างฝ่ายจัดซื้อกลุ่ม AEON กับผู้ส่งออกไทย 10 ราย โดยในวันที่ 4 มีนาคม 2554 ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางพรทิวา นาคาศัย) ได้เยี่ยมชมคูหาผู้แสดงสินค้าไทย ในงานด้วย
งาน FOODEX ปีนี้ มีผู้แสดงสินค้าทั้งสิ้น 2,399ราย เป็นบริษัทญี่ปุ่น 992 ราย ผู้แสดงสินค้าต่างชาติ 1,407 ราย ผู้เข้าเยือนงาน ซึ่งมีทั้งผู้นำเข้า ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร ผู้ประกอบการค้า รวมทั้งภัตตาคาร ทั้ง 4 วันจำนวน 74,936 คน
ส่วนผู้แสดงสินค้าในคูหาไทยปีนี้ ประกอบด้วย ผู้ผลิตสินค้าอาหารไทยจำนวน 50 บริษัท สินค้าหลากหลายประเภท เช่น แป้ง ผลิตภัณฑ์จากข้าว อาหารกึ่งสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส น้ำพริก ซอสปรุงสำเร็จ ผักผลไม้แช่แข็ง-แปรรูป น้ำผลไม้ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ของหวานไทยปรุงสำเร็จ ชอกโกแล็ต เป็นต้น นอกจากนี้ มีสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงมูลนิธิโครงการหลวง นำผักสดอินทรีย์ อาหารแปรรูป และกาแฟร่วมแสดงด้วย ผู้แสดงสินค้าไทยจำนวนมากส่งสินค้ามาญี่ปุ่นแล้ว ทั้ง ในรูป brand ไทย และ วางจำหน่ายใน brand ของผู้นำเข้า/ผู้จำหน่ายญี่ปุ่น
บริเวณคูหาไทยปีนี้ มีผู้เข้าเยือน และเจรจาธุรกิจคึกคักตลอดงาน ด้วยการออกแบบคูหา ที่รูปแบบ มี stylish การตกแต่งสวยงาม สีสันโดดเด่น กอรปกับผู้แสดงสินค้าไทยนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มานำเสนอ ทั้งอาหารไทยกึ่งสำเร็จรูปที่เตรียมรับประทานได้สะดวก เช่น ก๋วยเตี๋ยวสำเร็จรูปหลากรส ข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวเหนียวทุเรียนปรุงสำเร็จ น้ำผลไม้ในบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหมๆ เครื่องดื่ม organic และ snack เป็นต้น
กิจกรรมสาธิตการปรุงอาหารที่คูหาไทย มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญอาหารไทยทำการสาธิต เพื่อแนะนำอาหารไทยใหม่ๆ รวมทั้งสอดแทรกเกร็ดเกี่ยวกับ วัตถุดิบอาหารไทย การใช้เครื่องปรุงไทย ให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักมากขึ้น พร้อมแสดงตัวอย่างสินค้าที่มีแสดงในงาน โดยทำการสาธิตอาหารพร้อมแจกชิมทุกวัน วันละ 3 รอบ สาธิตอาหารวันละประเภท คือ อาหารชาววัง อาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว อาหารประเภทยำ และของหวาน การสาธิตแต่ละรอบได้จัดพิธีกรญี่ปุ่นมืออาชีพช่วยบรรยายด้วย โดยได้รับความสนใจ จากผู้เข้าชมจำนวนมาก
สำหรับการจัดสัมมนา ในบริเวณงานนั้น เนื่องจาก ญี่ปุ่นนำเข้าผลไม้เมืองร้อนจำนวนมาก ปัจจุบันคุณภาพ รสชาติของผลไม้ไทยเป็นที่รู้จัก และยอมรับมากขึ้น สำนักงานฯจึงจัดสัมมนา 2 เรื่องด้วยกัน คือ วันที่ 2 มีนาคม 2554 จัดบรรยายนำเสนอข้อมูลให้ผู้เข้าร่วมสัมมนารับทราบการใช้เทคโนโลยีเครื่องตรวจสอบคุณภาพผลไม้ไทยก่อนส่งออก ได้แก่ ตรวจสภาพเนื้อมังคุด วัดความหวานของมะม่วง วันที่ 4 มีนาคม 2554 จัดบรรยายแนะนำ สับปะรดไทยพันธุ์นางแล และภูแล ซึ่งผลมีขนาดเล็กสอดคล้องกับเงื่อนไขที่จะใช้ประโยชน์ภายใต้ JTEPA
หลังจากสัมมนา ขณะนี้ มีบริษัทผู้นำเข้าผลไม้ ผู้ประกอบการซุปเปอร์มาร์เก็ต และธุรกิจค้าปลีก ที่เข้าร่วมสัมมนา ติดต่อสำนักงานฯ สนใจนำเข้าสับปะรด มะม่วง รวมทั้งผลไม้อื่นๆของไทย ผู้นำเข้าและประกอบธุรกิจเครือซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดกลาง 2 ราย ซึ่งเดิมนำเข้าผลไม้เขตร้อนจากฟิลิปปินส์ และประเทศอื่น แสดงความสนใจที่จะจัดส่งเสริมการขายผลไม้ และผลิตภัณฑ์อาหารไทยในช่วงกลางปีนี้
นอกจากการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า เชิญชวนนักธุรกิจ ผู้นำเข้าญี่ปุ่นเข้าเยี่ยมชมคูหาไทย ร่วมกิจกรรมพิเศษในงานแล้ว สำนักงานยังได้ประประสานกับกลุ่ม AEON ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ในญี่ปุ่น นัดหมายให้ฝ่ายจัดซื้อผลิตภัณฑ์อาหารประเภทต่างๆ ในเครือ AEON เจรจาธุรกิจ กับผู้แสดงสินค้าไทย จำนวน 10 บริษัท ในบริเวณงาน เมื่อวันที่ 2 มีนาคมด้วย ซึ่งทาง AEON ได้ตกลงกับผู้ส่งออกไทยบางรายที่จะทดลองวางตลาดสินค้าในเทศกาลสินค้าไทย ปลายเดือนเมษายน 2554 ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตในเครือ AEON ทั่วประเทศ เช่น บะหมี่เกี๊ยวปรุงสำเร็จ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล รวมทั้งรอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ส่งออกบางราย ก่อนการพิจารณาสั่งซื้อต่อไป
ผลการเข้าร่วมแสดงสินค้า และจัดกิจกรรมพิเศษเสริมในงานครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการเจรจาสั่งซื้อสินค้า ผลไม้ และผลิตภัณฑ์อาหารไทย ประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดว่ายอดการสั่งซื้อทั้งปี ไม่ต่ำกว่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ปี 2553 ญี่ปุ่นนำเข้าอาหารมูลค่า 51,327 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้าจากไทย 3,383 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 11.3 มูลค่านำเข้าจากไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.59 สัดส่วนมูลค่านำเข้าสินค้าอาหารจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 4.92 เมื่อปี 2550 สินค้าอาหารจากไทยยังมีโอกาสขยายตัวต่อไปได้ โดยนอกจากการสร้างความมั่นใจ ในคุณภาพ ความปลอดภัยแล้ว ต้องมีการพัฒนาสินค้าใหม่ รูปแบบใหม่ๆ ดึงดูดความสนใจ สอดคล้องกับรสนิยม และการดำรงขึวิตประจำวันของผู้บริโภคด้วย
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ที่มา: http://www.depthai.go.th