รมว.พาณิชย์สั่งทูตทั่วโลกเกาะติดสถานการณ์ภัยธรรมชาติกระทบการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 16, 2011 10:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รมว.พาณิชย์สั่งทูตทั่วโลกเกาะติดสถานการณ์ภัยธรรมชาติกระทบการค้า กรมส่งออกฯชี้เหตุที่เกิดมีทั้งโอกาส-ข้อพึงระวัง ยันเดินหน้าโปรเจ็คสร้างพ่อครัวร้านอาหารไทยแท้ในญี่ปุ่น เซ็นเอ็มโอยูผลิต 3,000 ร้าน ผู้ส่งออกไทยมั่นใจยันทำการค้าได้ปกติ

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กำลังติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว เกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้รับความเสียหายอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า มีผลต่อการค้าและการลงทุนของไทยที่เข้าไปทำตลาดในญี่ปุ่นอย่างไร เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงาน จึงไม่สามารถคาดการณ์ ตัวเลขความเสียหายได้ แต่หลังจากที่ได้หารือกับทูตพาณิชย์ ที่ประจำอยู่ในญี่ปุ่นทั้ง 3 สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) 3 แห่งในญี่ปุ่นแล้ว คือ โตเกียว โอซาก้า และฟูกูโอกะ จะสามารถนำข้อมูลมาประเมินแล้วหามาตรการช่วยเหลือต่อไป

“ให้ทูตพาณิชย์ไทยทั่วโลกเตรียมความพร้อมและติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งจากการเมืองภายในประเทศ และภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม โดยให้รายงานกลับมาทุกสัปดาห์ เพื่อจะได้หา แนวทางรับมือได้ทันท่วงที เพื่อปรับแผนรับมือการส่งออกไม่ให้กระทบต่อเป้าหมายการเติบโตที่ตั้งไว้ 10% หรือ 209,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ”นางพรทิวา กล่าว

อย่างไรก็ตามผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นโอกาสและข้อพึ่งระวัง กล่าวคือ คาดว่าจะมีการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารเพิ่มมากขึ้น แม้ว่า อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย โดยเฉพาะ ข้าวหอมมะลิไทยไปญี่ปุ่น หลังจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการนำคณะภาคเอกชนไทยเดินทางเจรจาซื้อขายข้าวกับญี่ปุ่น และญี่ปุ่นมีความสนใจในการสั่งซื้อสินค้าข้าวหอมมะลิไทยมากขึ้น และเริ่มมีคำสั่งซื้อทดลองตลาดอยู่ในขณะนี้ ที่ผ่านมามีการตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวไทยไปญี่ปุ่น ในปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 ตัน จากในปีก่อนที่มีการส่งออก จำนวน 300,000 ตัน และเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ยอดคำสั่งซื้อทั้งหมดอาจหายไป

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เผยว่า ตัวเลขการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในปี 2553 มีมูลค่า 20,415.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 21.75 % ที่ผ่านมาปีนี้มกราคม 2554 มีการส่งออกเพิ่มขึ้น 31.35 % คิดเป็นมูลค่า 1,893 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ ยางพารา รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ไก่แปรรูป ส่งออก742 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อาหารทะเลกระป๋อง 588 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง 329 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า ในวันอังคารที่ 15 มีนาคมนี้ กรมฯร่วมกับผู้ประกอบการไทยในญี่ปุ่น โดยสถาบันวัฒนธรรมไทยศึกษา ณ กรุงโตเกียว และสถาบันราชภัฏสวนดุสิต ลงนามจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมอาหารไทยในประเทศญี่ปุ่น เพื่ออบรมคนไทย ภายใต้หลักสูตร “การประกอบธุรกิจอาหารไทยรสชาติต้นตำรับไทย” โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 3-5 ปี จะผลิตพ่อครัวแม่ครัวอาหารไทยที่มีฝีมือเพื่อเปิดร้านอาหารไทยอย่างน้อย 3,000 แห่งในญี่ปุ่น

“อาหารไทยเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สามารถซึมซับวิถีธรรมชาติ เพราะมีเครื่องปรุงสมุนไพร กระบวนการสร้างสุขระหว่างการประกอบอาหาร จึงต้องมีการเรียนรู้เทคนิคเพื่อรักษาความยั่งยืนในการทำร้านอาหารไทยให้เป็นโซ่ทองคล้องใจคนทั้งโลก พร้อมกันนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายในการเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในญี่ปุ่น ถือว่าสอดคล้องกับอัตลักษณ์ด้านอาหารและอุตสาหกรรมบริการ”นางนันทวัลย์ กล่าว

ทั้งนี้โครงการนี้เป็นนโยบายของนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เพื่อดำเนินการ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(เจเทปา) ที่จะพัฒนาความร่วมมือ 7 สาขา ในการผลักดันครัวไทยสู่ครัวโลก ซึ่งกรมส่งเสริมการส่งออก ผลักดันการใช้ประโยชน์ของเจเทปาอย่างแท้จริงและยั่งยืน ได้จัดคณะสื่อมวลชนไทยไปกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 22-29 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อสำรวจและเห็นถึงความต้องการซื้อสินค้าและบริการไทยในตลาดญี่ปุ่น

นางพิมพ์ใจ มัตสุโมโต้ ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมไทยศึกษา ณ กรุงโตเกียว และกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีแอนด์เอฟ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า สถาบันฯ ร่วมกับสถาบันราชภัฏสวนดุสิต และกรมส่งเสริมการส่งออก ซึ่งประกอบธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับห้างค้าปลีกค้าส่งอาทิ กลุ่มเซเว่นแอนด์ไอ พร้อมประกอบธุรกิจภัตตาคารและมีโรงเรียนสอนทำอาหารในญี่ปุ่น กล่าวถึงความมั่นใจในการประกอบธุรกิจในญี่ปุ่นภายหลังการเกิดภัยธรรมชาติว่า ไม่รู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นได้สร้างระบบป้องกันภัยและการช่วยเหลือไว้เป็นอย่างดีเยี่ยม ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตกันได้ตั้งแต่เย็นวันเสาร์ที่ 12 มีนาคมแล้ว ซึ่งโตเกียวและโอซากาเสียหายเล็กน้อย

“ยังไม่มีผู้นำเข้าสินค้ารายใดยกเลิกคำสั่งซื้อ ในทางกลับกันต้องรอสักระยะหนึ่งเพื่อดูสถานการณ์ เพราะในทางกลับกันอาจเป็นโอกาสการส่งสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าไปในญี่ปุ่นได้เพิ่มมากขึ้น แต่เชื่อว่าจะมีการสั่งซื้อสินค้าจำเป็นเพิ่มขึ้นแน่นอน อย่างไรก็ตามความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการไทยจะมีการรวมตัวกันในรูปแบบต่างๆ เช่น เงิน ข้าว และอื่นๆ ตามความต้องการ และความเหมาะสมต่อไป”

สำหรับการเดินทางมาไทยครั้งนี้ นอกจากจะทำสัญญาเปิดอบรมแล้ว ยังติดตามสำรวจสวนผลไม้ในแถบภาคตะวันออกและภาคเหนือเพื่อส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่น โดยปีนี้บริษัทมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น อาทิ มะม่วง 500 ตัน เป็น 1,700 ตัน และขณะนี้กำลังเริ่มทำตลาดสับปะรดพันธุ์ภูแลกับนางแล เนื่องจากสับปะรดเป็นที่นิยมในตลาดญี่ปุ่นเป็นอย่างมากมีการนำเข้าถึงปีละแสนตัน ซึ่งตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดไว้ที่ 5-10% ปัญหาการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในขณะนี้ คือ ต้องควบคุมคุณภาพถึงแหล่งผลิต ซึ่งจำเป็นที่ผู้ส่งออกต้องใส่ใจและสอนให้เกษตรกรรู้ถึงการเก็บเกี่ยวในช่วงที่เหมาะสม เพื่อให้ได้สินค้าดีที่สุด

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ