รายงานสินค้าปลาแช่แข็ง..ยูเออี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 16, 2011 11:06 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สินค้า :

ปลาทั้งตัวแช่แข็ง (H.s. code 0303) และเนื้อปลาแช่แข็ง (H.s. code 0304)

2. ภาวะตลาด:

เนื่องจากภูมิประเทศและสภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการกสิกรรม ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออีพึ่งพิงการนำเข้าเป็นหลัก ตลาดสำคัญที่นำเข้า คือ ประเทศอินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ บราซิล อัฟริกาใต้และยุโรป มูลค่าอาหารที่นำเข้ามากเป็นอันดับสองรองจากซาอุดิอาระเบีย Business Monitor International (BMI) ได้ประมาณการนำเข้าอาหารของยูเออีในปี 2014 มูลค่าจะเพิ่มเป็น 9.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวขึ้นร้อยละ 23 และยูเออีจะมีการลงทุนในภาคการขายปลีกมากขึ้น เพราะการขยายตัวของประชากรและผลต่อเนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวที่จะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชากรกลับมาสู่ภาวะปกติ

ยูเออีเป็นประเทศตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเล ทำประมงจับปลาที่มีอยู่ประมาณ 280 สายพันธ์ เป็นปลาสำหรับเชิงพาณิชย์ 20 สายพันธ์ ได้แก่

  • กลุ่มปลา Migratory เช่น ปลาอินทรีย์ ปลาทูน่าและปลาทู (Macarel) จับได้มากช่วงเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม
  • กลุ่มปลา Demersal เช่น ปลากระพงดำ Sea beam จับได้มากช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน ปลาที่จับได้จะนำขึ้นชายฝั่งสำหรับประมูลขายในตลาดหรือส่งเข้าโรงงานแปรรูปต่อไป

ยูเออีออกกฎหมาย ฉบับที่ 23/1999 เพื่อสำหรับคุ้มครองการทำประมงทะเล การอนุรักษ์/การส่งออกสินค้าอาหารทะเลของโรงงานแปรรูป โดยกำหนดให้เจ้าของเรือประมงและกัปตันเรือจะต้องเป็นคนท้องถิ่นเท่านั้น ส่วนลูกจ้างเป็นสัญชาติใดก็ได้ กอร์ปกับราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้น จึงทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการทำประมงลดลงมาก การจับปลาปี 2009 ปริมาณ 118,000 ตัน ปี 2010ลดลงเหลือ 90,000 ตัน

ดังนั้น กระทรวงเกษตรและประมงยูเออี Ministry of Agriculture & Fisheries ออกหลายมาตรการเพื่อฟื้นฟูและสนับสนุนให้ความช่วยเหลือชาวอาหรับท้องถิ่นในการทำประมง โดยให้เงินช่วยเหลือซื้อเรือประมง เครื่องยนต์สำหรับเรือ ทดแทนค่าน้ำมันดีเซล รวมทั้งช่วยค่าซ่อมแซมเรือประมงให้เจ้าของเรืออีกด้วย

ภาวะการนำเข้า

ประชากรในยูเออีประกอบด้วยชาวต่างชาติจากหลายประเทศ ที่มีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารและประเภทอาหารแตกต่างกัน ปลาน้ำจืดแช่แข็งจำนวนมากนำเข้าเพื่อสำหรับจำหน่ายให้ชาวต่างชาติจากบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ ชาวอินเดียใต้ ซึ่งผู้ซื้อกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นระดับแรงงานจำนวนมากที่ทำงานในยูเออี

ปลาแช่แข็งที่นำเข้าเป็นทั้งปลาทะเลและปลาน้ำจืด สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ปลาทั้งตัว และเนื้อปลาแล่

การส่งออก

ปลาที่จับได้ในประเทศและสามารถส่งออกในลักษณะปลาแช่แข็งทั้งตัวและเนื้อปลาในปี 2009 รวมมูลค่า 5.7 ล้านเหรียญศหรัฐฯ ลดลงจากมูลค่าที่เคยส่งออก 109 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตลาดหลักที่ส่งออกต่อได้แก่ จีน มาเลเซีย อิรัค เวียตนาม ศรีลังกา ซูดาน โซมาเลีย และเคนย่า

การส่งออกต่อ(Re-export)

รัฐดูไบเป็นแหล่งที่ตั้งสำคัญของผู้นำเข้าที่เป็นผู้ดำเนินการสั่งซื้อปลาแช่แข็งเพื่อส่งออกต่อไปประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคตะวันออกกลาง ตลาดรองรับสินค้าที่ส่งออกต่อ (Re-export) ปี 2009 ได้แก่ ประเทศอิรัค ซูดาน โซมาเลีย เคนย่า ศรีลังกา อิหร่านและเติร์กเมนนิสถาน เป็นต้น มูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 3.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดจากมูลค่า 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯที่ได้ส่งออกต่อเมื่อปี 2008

3. ลักษณะสินค้า/ราคา

ปลาแช่แข็งที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นปลาน้ำจืด ได้แก่ ปลานิล ปลายี่สกเทศ ปลานวลจันทร์ ปลาสายพันธ์ Pangasius (ปลาสวาย ปลาเทพา ฯลฯ) และ Nile Perch (ปลาในสายพันธ์ปลาหมอ) ปลาสายพันธ์ Catfish(ปลาดุก) ปลาทะเล เช่น ปลากระพงดำ (black Seabass) ปลาค็อด (Cod) ปลาเทราต์ เป็นต้น

ปลาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือปลานิลทั้งตัว นิยมรับประทานโดยคนงานจากบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินเดีย มีวางจำหน่ายทั่วไปตามซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายของชำ (Grocery) และในตลาดขายส่งปลาทุกรัฐ รองลงไปคือปลายี่สกเทศหรือ Rohu ที่ผู้ซื้อนิยมปลาที่นำเข้าจากพม่าที่สุด ปลานวลจันทร์ทั้งตัว และเนื้อปลาสวายแล่เนื่องจากมีรสชาติดีเนื้อมีสีขาวและไม่มีกลิ่นคาว เป็นต้น

การหีบห่อและวันหมดอายุปลาแช่แข็ง

นิยมบรรจุในถุงพลาสติกใสแบบธรรมดา มีสติ๊กเกอร์ติดระบุรายละเอียด เช่น ชื่อปลา น้ำหนัก ผู้ส่งออกและที่อยู่ บรรจุในกล่องน้ำหนัก 10 กก. หากเป็นสินค้าสำหรับซุปเปอร์มาร์เกต ถุงพลาสติกออกแบบสวยงามมีตรายี่ห้อสินค้า

  • เนื้อปลา บรรจุในถุงพลาสติกหรือกล่องกระดาษ วันผลิต-วันหมดอายุ 12 เดือน
  • ทั้งนี้ปลาดังกล่าวเป็นปลาที่มีไขมันน้อยกว่า 5%
  • เนื้อปลาที่มีไขมันมาก บรรจุในถุงพลาสติกหรือกล่องกระดาษ

วันผลิต-วันหมดอายุ 6 เดือน

  • ทั้งนี้ปลาดังกล่าวเป็นปลาที่มีไขมันน้อยกว่า 5% หรือมากกว่า

4. คู่แข่งขัน

การเจาะขยายตลาดส่งออกแช่แข็งไปยูเออีนั้นต้องเผชิญกับการแข่งขันในด้านราคาอย่างรุนแรงเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด คู่แข่งขันที่สำคัญของไทย ได้แก่ พม่า เวียตนาม แทนซาเนีย เคนย่า จีน อินเดีย และกัมพูชาที่สามารถส่งออกปลาในปี 2009 ถึง 30,000 ตัน และในอนาคตผู้ส่งออกปลานิลของไทยจะต้องเผชิญกับคู่แข่งจากประเทศอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ที่ได้ลงทุนขยายการเลี้ยงลเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้จะต้องต้องเผชิญการแข่งขันกับปลาทะเลที่จับได้ในประเทศและเป็นที่นิยมบริโภคอยู่แล้วในตลาด

5. ช่องทางการนำเข้า/การตลาด/การจัดจำหน่าย

การนำเข้าปลาแช่แข็งในรัฐดูไบ มีช่องทางการจำหน่ายที่ไม่สับสน โดยผู้นำเข้า และบางส่วนจะดำเนินการในลักษณะ Commission Agent และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ค้าส่งอีกด้วย

6. เงื่อนไขและกฎระเบียบการนำเข้า

6.1 ภาษีนำเข้าร้อยละ 5

6.2 ผู้ซื้อนิยมให้เสนอราคา C&F เป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ

6.3 มาตรการกีดกันทางการค้า : ไม่มี

6.4 วิธีการชำระเงิน : L/C

6.5 การขนส่ง : ขนส่งทางเรือ

7. สรุป&แนวโน้ม

7.1 ปลานิลเป็นปลาที่ตลาดผู้บริโภคยังมีความต้องการสูงเพิ่มขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรมีอัตราการเจริญเติบโตสูงจึงส่งผลต่อแนวโน้มการส่งออก แต่ทั้งนี้ไทยจะต้องปรับปรุงคณภาพของปลาให้มีขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยปรับประสิทธิภาพด้านพันธุ์ปลา เพื่อให้การส่งออกของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดได้

7.2 เนื้อปลาแช่แข็งแบบฟิลเลต สอดรับกระแสห่วงใยสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จะผลักดันให้การบริโภคปลาขยายตัวสูงมาก โดยเฉพาะปลาน้ำจืด ดังนั้นถ้าไทยต้องการขยายการส่งออกปลานิล ไทยต้องเร่งปรับประสิทธิภาพการผลิต โดยเน้นการลดต้นทุนการผลิต ทั้งนี้เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

7.3 ปลาทับทิมมีแนวโน้มจะขยายตลาดได้ เพราะมีคุณสมบัติพิเศษที่จะเป็นปลาเนื้อเศรษฐกิจเพราะมีปริมาณเนื้อมากถึง 40% ของน้ำหนัก เนื้อแน่นละเอียดและสีของเนื้อปลาเป็นสีขาวชมพูคล้ายเนื้อปลาทะเล รสชาติดี และมีโภชนาการสูง สามารถเข้าตลาดระดับกลางถึงสูง และขายผ่านร้านอาหารไทยที่มีลูกค้าถามหาปลาทับทิมกันมาก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่งประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ