รายงานภาวะเศรษฐกิจและการค้าของกรีซประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 17, 2011 13:34 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. สำนักงานสถิติแห่งชาติกรีซ (The Hellenic Statistical Authority-ELSTAT) รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจ ดังนี้

๑.๑ ภาวะเงินเฟ้อ ในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ กรีซมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ๕.๒% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม ๒๕๕๓ ที่เท่ากับ ๒.๔% และลดลง ๐.๗% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ๒๕๕๓

๑.๒ การจำหน่ายปลีก ยอดการขายปลีกในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ ลดลง ๑๒% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ หรือลดลง ๑๑.๑% เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๑/๒๕๕๒ โดยยอดจำหน่ายลดลงในสินค้าสำคัญๆ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องใช้ในบ้าน (-๒๖.๖%) ผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอางค์ (-๑๒.๕%) น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันเครื่อง (-๑๐.๗%) ร้านขายอาหารขนาดใหญ่ (-๘.๘%) และร้านหนังสือ (-๖.๑%)

๑.๓ ดัชนีราคานำเข้าสินค้า ดัชนีราคานำเข้าสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ เพิ่มขึ้น ๖.๖% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น ๖.๓% เมื่อเทียบกับในช่วง ๑๒ เดือนที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ดัชนีราคานำเข้าสินค้าจากในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น ๒.๑% ในขณะที่ดัชนีราคานำเข้าสินค้าจากประเทศนอกสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น ๑๑% และในเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ ดัชนีเพิ่มขื้น ๑.๗% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ โดยค่าเฉลี่ยดัชนีราคานำเข้าสินค้าของปี ๒๕๕๓ เพิ่มขึ้น ๖.๖% ในเดือนมกราคม-ธันวาคม ๒๕๕๓ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๒

๑.๔ ดัชนีราคาผู้ผลิต ในเดือน ธ.ค.๕๓ ดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมของกรีซ (ทั้งตลาดภายในและภายนอกประเทศ) เพิ่มขึ้น ๗.๖% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น ๕% จาก เดือนก่อน ซึ่งเป็นผลจากดัชนีราคาผู้ผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ๖.๙% และดัชนีราคาผู้ผลิตภายนอกประเทศเพิ่มขึ้น ๑๐% (เพิ่มขึ้น ๑.๘% จากเดือนพฤศจิกายน และเพิ่มขึ้น ๐.๒% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี ๒๕๕๒) โดยมีดัชนีค่าเฉลี่ย ๑๒ เดือนเพิ่มขึ้น ๖.๗% หลังจากลดลง ๕.๘% เมื่อเดือน พย. ๕๓

          ๑.๕ ผลผลิตเครื่องดื่ม การผลิตเครื่องดื่มลดลงอย่างต่อเนื่องมา ๓ ปีแล้ว ส่วนใหญ่เป็นน้ำอัดลมและเบียร์ ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของการผลิตเครื่องดื่มภายในประเทศ เนื่องจากการลดค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนของชาวกรีกและรายได้จากภาคการท่องเที่ยวลดลง โดยในปี ๒๕๕๓ ผลผลิตเครื่องดื่มทั้งหมดลดลง -๗.๘% เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๒ ลดลง -๓.๙% เมื่อเทียบกับปี ๒๕๔๘ และลดลง-๔.๘% เมื่อเทียบระหว่างปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒ แบ่งออกเป็นผลผลิตน้ำแร่และคาร์บอนเนท (-๐.๙%) น้ำอัดลมและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์        (-๑๑.๓%) เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (Ouzo, Tsipouro, บรั่นดี, เหล้า) (-๐.๖%) เบียร์ (-๗.๕%) และไวน์ (-๘.๒%) (ผลผลิตเครื่องดื่มในปี ๒๕๔๘ มีสัดส่วน ๖.๐% ของอุตสาหกรรมการผลิตในกรีซ)

๑.๖ การว่างงาน สำนักงานสถิติแห่งเฮเลนนิค (The Hellenic Statistical Authority-ELSTAT) ได้รายงานผลสำรวจว่า อัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ เพิ่มสูงขึ้นเป็น ๑๓.๙% (เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนซึ่งเท่ากับ ๑๐.๖% และเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ ที่เท่ากับ ๑๓.๕%) โดยมีจำนวนคนที่ได้รับการจ้างงาน ๔,๓๐๗,๐๕๔ คน จำนวนคนว่างงานระยะสั้น ๖๙๒,๕๗๗ คน และจำนวนคนว่างงานระยะยาว ๔,๓๒๐,๙๒๗ คน จำนวนคนทำงานลดลง ๑๕๗,๑๗๖ คนเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ (ลดลง ๓.๕%) และลดลง ๖๒,๔๘๙ คนเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ (ลดลง ๑.๔%) ส่วนจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น ๑๖๐,๖๒๔ คน (เพิ่มขึ้น ๓๐.๒%) เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ และ ๘,๕๓๐ คนในเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ (เพิ่มขึ้น ๑.๒%)

๑.๗ ดุลการค้า ณ เดือนธันวาคม ๒๕๕๓ กรีซขาดดุลการค้า ๑,๔๔๘.๕ ล้านยูโร ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนซึ่งขาดดุล ๑,๗๐๓ ล้านยูโร หรือลดลง ๑๔.๙% และในช่วง ๑๒ เดือน (มค.-ธค.) ของปี ๒๕๕๓ กรีซขาดดุลการค้า ๒๒,๕๕๗.๒ ล้านยูโร ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งขาดดุล ๓๓,๙๑๖ ล้านยูโร หรือลดลง -๓๓.๕ %

การนำเข้า ณ เดือนธันวาคม ๒๕๕๓ กรีซนำเข้ามูลค่า ๒,๙๘๕.๔ ล้านยูโร ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนซึ่งนำเข้ามูลค่า ๓,๔๓๑.๓ ล้านยูโร หรือลดลง ๑๓.๐%

ในช่วง ๑๒ เดือน (มค.-ธค.) ของปี ๒๕๕๓ กรีซนำเข้ามูลค่า ๓๘,๔๕๓.๓ ล้านยูโร ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ๒๐.๙%

การส่งออก ณ เดือนธันวาคม ๒๕๕๓ กรีซส่งออกมูลค่า ๑,๕๓๖.๙ ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า ๑,๒๖๔ ล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้น ๒๑.๖%

ในช่วง ๑๒ เดือน (มค.-ธค.) ของปี ๒๕๕๓ กรีซส่งออกมูลค่า ๑๕,๘๙๖.๑ ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ๘.๓%

๒. Mr. Spyros Kouvelis รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศกรีซ ได้เปิดเผยถึงแผนงานด้านเศรษฐกิจการทูตในปี ๒๕๕๔ ซึ่งย้ำว่า กระทรวงการต่างประเทศจะมุ่งเน้นความร่วมมือที่ดีที่สุดระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกระตุ้นเศรษฐกิจกรีซ โดยสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงต่างๆ องค์กรด้านการส่งออก และหอการค้าในการทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมสินค้าและบริการของกรีซในตลาดจำเพาะ นอกจากนี้ยังเน้นให้จังหวัดต่างๆ ในกรีซกระตุ้นผู้ประกอบการท้องถิ่น ผู้ประกอบการรายใหม่สร้างสินค้าที่มีคุณภาพและแบรนด์สินค้า ทั้งนี้ในช่วง ๑๑ เดือน (มค.-พย.) ของปี ๒๕๕๓ การส่งออกเพิ่มขึ้น ๗% และในเดือนพย. ๒๕๕๓ การส่งออกเพิ่มขึ้น ๓๘% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ภูมิภาคเป้าหมาย ๗ ภูมิภาคได้แก่ สหภาพยุโรป อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง อาฟริกาเหนือ ทะเลดำ Causasus เอเชียตะวันออกไกล ละตินอเมริกา อาฟริกา-Sub Saharan

สินค้าส่งออกที่สำคัญของกรีซ ได้แก่ อาหาร พลังงาน วัสดุก่อสร้าง การก่อสร้าง การท่องเที่ยว สุขภาพและเครื่องมือ (เครื่องจักรและอุตสาหกรรม)

๓. ตัวชี้วัดเศรษฐกิจกรีซ ณ วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ (ข้อมูลจาก Hellenic statistical Authority)

                                                จำนวน        % เปลี่ยนแปลง       % เปลี่ยนแปลง
                                                (ราย)        เมื่อเทียบกับเดือน    เมื่อเทียบกับช่วง

ก่อน/ไตรมาสก่อน เดียวกันปีก่อน

๑. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ธค. ๒๕๕๓)                                  -๕.๒%              -๕.๗%
๒. คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม (พย. ๒๕๕๓)                                                       +%
๓. การบริโภค (พค. ๒๕๕๓)                                           -๖.๒%             -๑๐.๗%
๔. ภาวะเงินเฟ้อ (มค. ๒๕๕๔)                                         -๐.๗%              +๕.๒%
๕. อัตราการจ้างงาน (พย. ๒๕๕๓)                                      -๓.๕%
(จำนวนคนจ้างงาน)                        ( ๔,๓๐๗,๐๕๔ คน)
๖. อัตราการว่างงาน (พย. ๒๕๕๓)                  ๑๓.๙%               +๐.๔%              +๓.๓%
(จำนวนคนว่างงาน)                           (๖๙๒,๕๗๗ คน)
๗. GDP (ไตรมาส ๓ ปี ๒๕๕๓)                                         -๑.๓%              -๔.๖%

๔. ผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพยุโรป (TROIKA) เดินทางไปตรวจสอบภาวะเศรษฐกิจกรีซก่อนที่จะอนุมัติเงินกู้ยืมครั้งที่ ๔ มูลค่า ๑๕ พันล้านยูโรในเดือน กพ. ๕๔ โดยการตรวจสอบจะมุ่งเน้นการให้สัตยาบันตามบันทึกข้อตกลงและมาตรการเฉพาะเพื่อให้ได้รับเงินกู้ยืมมูลค่า ๑๒.๗๗ พันล้านยูโร (สำหรับปี ๒๕๕๕-๒๕๕๗) มาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่กรีซจัดส่งให้สหภาพยุโรปและจะออกเป็นกฎหมายในช่วงสิ้นเดือนเมษายน ๒๕๕๔ โดยรัฐบาลวางแผนที่จะดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามสัตยาบัน ทั้งนี้ TROIKA ยังคงไม่มั่นใจต่อการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางที่ต้องจัดสรรให้ท้องถิ่น (เช่น โรงพยาบาล เงินกองทุนต่างๆ) การรับมือกับการหลบเลี่ยงภาษี และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ต้องเร่งดำเนินการ

๕. กรีซเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรปที่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินจาก EU/IMF โดยได้รับเงินกู้ยืม ๑๑๐ พันล้านยูโรหลังจากที่โดนบังคับให้ออกจากตลาดทุนเนื่องจากหนี้สินของภาครัฐที่มหาศาลและดุลงบประมาณภายใต้แผน ๓ ขั้นกรีซจะยืมเงินจากกองทุนช่วยเหลือแหล่งใหม่ของ EU เพื่อซื้อพันธบัตรกรีซกลับมาจาก ECB และผู้ถือหุ้นเอกชนราว ๗๕% ของราคาหุ้นปกติ โดย EU และ IMF จะขยายระยะกำหนดเวลาคืนเงินกู้ยืมออกไปเป็น ๓๐ ปี ส่วนผู้ให้กู้ภาคเอกชนที่ถือหุ้นพันธบัตรมากกว่า ๑๐๐ พันล้านยูโรจะยืดระยะเวลาออกไปเป็น ๑๕-๒๐ ปี มาตรการเหล่านี้จะส่งผลต่อการจัดอันดับของหนี้ถึง ๒ ใน ๓ ของหนี้ทั้งหมดภายในสิ้นปี ๒๕๕๔ นี้

๖. ธนาคารแห่งชาติกรีซได้รายงานว่า ในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ รัฐบาลกลางมีรายได้ที่เป็นเงินสดหมุนเวียนเกินดุล ๓๕๒ ล้านยูโร เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนซึ่งขาดดุล ๘๑๘ ล้านยูโร อันเนื่องมาจากงบประมาณรายได้ปกติที่เพิ่มขึ้นเป็น ๔.๙ พันล้านยูโร จากปี ๒๕๕๓ (ที่จัดเก็บได้ ๔.๒ พันล้านยูโร) หรือเพิ่มขึ้น +๑๖% และการลดลงของงบประมาณรายจ่ายที่เท่ากับ ๔.๒ พันล้านยูโร ลดลงจากปีก่อนที่เท่ากับ ๔.๓ พันล้านยูโร (ลดลง-๓%)

ในด้านโครงการลงทุนภาครัฐปรากฎว่า ณ เดือน มค. ๕๔ มีการขาดดุล ๒๐๖ ล้านยูโร จากปีก่อนที่เกินดุล ๑๒๙ ล้านยูโร ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยรวม ๕๗๙ ล้านยูโร ลดลงจากปีก่อนที่เท่ากับ ๕๙๐ ล้านยูโร

ในส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมและอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ณ เดือน ธค. ๕๓ ปรากฎว่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเกิน ๑๒ เดือนเท่ากับ ๓.๖๘% จาก ๒.๑๐% ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๒) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้แก่ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเป็น ๑๔.๔๐% (จาก ๑๔.๐๘% ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๒) และเงินกู้ยืมสำหรับธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็น ๖.๗๙% (จาก ๕.๘๑% ในเดือน ธค. ๕๒ ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการจำนองผันผวนและเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น ๓.๖๕% (จาก ๓.๐๘%)

๗. ผลการสำรวจของสมาคมผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (Greek small-and-medium sized enterprises Associaion: GSEBEE) แห่งกรีซ พบว่า SMEs ในกรีซกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจขั้นรุนแรง โดย ๑ ใน ๔ กำลังจะปิดบริษัทลงในปี ๒๕๕๕ สืบเนื่องจากการสำรวจครั้งที่แล้วในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๓ ปรากฏว่าจะมีธุรกิจปิดตัวลง ๑๗๐,๐๐๐ รายภายในสิ้นปี ๒๕๕๔ แต่ผลการสำรวจล่าสุดพบว่า จะมีธุรกิจปิดตัวลง ๒๒๕,๐๐๐ รายและอีก ๒๒๐,๐๐๐ รายจะเลิกกิจกรรมทางธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้การจ้างงาน ๓๒๐,๐๐๐ ตำแหน่งตกอยู่ในภาวะเสี่ยง นอกจากนี้ยังพบว่า เงินทุนหมุนเวียนในกิจการลดลงเฉลี่ย ๓๐% ในขณะที่ ๓๐% ของผู้ประกอบการ SMEs จ่ายเงินล่าช้า และ ๔๐% กำลังมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินค่าจ้าง ส่วนอีก ๓๐% แจ้งว่าถูกบังคับให้ลดเวลาทำงานลง นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ยืมจากธนาคารด้วย ดังนั้น สมาคมฯ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่ผู้ประกอบการภาครัฐ เพิ่มความยืดหยุ่นด้านการจ่ายเงินประกันสังคมให้มากขึ้นและให้ประโยชน์ด้านสถานะของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ให้มากขึ้นด้วย

๘. ธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งสหภาพยุโรป (The European Investment Bank - EIB) ร่วมกับกระทรวงการคลังและการพัฒนากรีซให้การสนับสนุนเงินกู้ยืมแก่บริษัทขนาดกลางและย่อมวงเงิน ๑ พันล้านยูโรต่อปีในอีก ๓ ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ธนาคาร EIB และธนาคารพาณิชย์ของกรีซ ๑๐ แห่งได้ให้เงินทุนกู้ยืมรวม ๑.๓ พันล้านยูโรแก่ SMEs ในกรีซมาแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ซึ่งมีบริษัทมากกว่า ๑,๖๐๐ บริษัทได้เสนอโครงการขอกู้ยืมเงินใน ๒ ปีที่ผ่านมาและเงินกองทุนดังกล่าวได้ขยายไปยังบริษัทและแรงงานกว่า ๓,๐๐๐ ราย โดยโครงการหนึ่งที่กรีซได้รับการสนับสนุนคือ โครงการ Jeremie ซึ่งเป็นกองทุนกู้ยืมมูลค่า ๒๕๐ ล้านยูโร ก็ได้มีการลงนามในข้อตกลงทางการเงินกับ Alpha Bank แล้ว และกำลังจะลงนามกับ National Bank มูลค่า ๑๒๐ ล้านยูโร อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งโครงการดังกล่าวจะให้เงินกู้ยืมวงเงิน ๔๐๐ ล้านยูโรแก่ SMEs ภายในปีนี้

๙. จากรายงานของบริษัท PRICEWATERHOUSE ซึ่งจัดทำรายงานการจัดอันดับอสังหาริมทรัพย์ที่น่าลงทุนในโลกโดยมืออาชีพด้านอสังหาฯ ๖๐๐ คน จัดอันดับให้อีสตันบูลอยู่ในอันดับที่ ๑ และ Dublin อยู่ในอันดับท้ายสุด ส่วนเอเธนส์จัดอยู่ในอันดับที่ ๒๖ ใน ๒๗ เมืองในสหภาพยุโรป (สูงกว่า Dublin) ทั้งนี้ผลการจัดอันดับให้เอเธนส์และ Dublin อยู่ในอันดับท้ายๆ เนื่องจากนักลงทุนมืออาชีพมีความกังวลใจต่อปัญหาด้านการเงินของกรีซและไอร์แลนด์ ในขณะที่อิสตันบูลอยู่ในอันดับแรกเนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในตุรกี ลอนดอนและมิวนิคเป็นเมืองอันดับ ๒ และ ๓ ตามลำดับ ในขณะที่แฟรงเฟริ์ต เบอร์ลินและแฮมเบริ์ก ติดอันดับ ๑๒ เมืองต้นๆ ที่น่าลงทุนในยุโรป

๑๐. สถาบันวิจัยและคาดการณ์ด้านการท่องเที่ยวเปิดเผยว่า รายได้จากการท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ๔.๕% ในปี ๒๕๕๔ ทำให้ GDP เพิ่มขึ้น ๑% และส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้มียอดการจองโรงแรมล่วงหน้าเพิ่มขึ้น ๓% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ซึ่งในปีที่เศรษฐกิจดีกรีซมียอดจองล่วงหน้าเพิ่มขึ้นถึง ๒๕%) ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในอียิปต์ส่งผลให้นักท่องเที่ยวหันมาเที่ยวที่กรีซแทน ส่วนสหพันธ์ผู้ประกอบการโรงแรมกรีซรายงานว่า มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมียอดจองจากอังกฤษเพิ่มขึ้น ๗.๙% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่มีความสนใจเพิ่มสูงขึ้นจากประเทศรัสเซีย ฝรั่งเศสและอิตาลี

๑๑. ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของกรีซ

       รายการ                       มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)                     อัตราการขยายตัว (ฑ%)
                      ปี๒๕๕๑         ปี๒๕๕๒       ปี ๒๕๕๒         ปี๒๕๕๓        ปี๕๒/๕๑         ปี๕๓/๕๒
                                             (ม.ค.-พ.ย.)   (ม.ค.-พ.ย.)                  (ม.ค.-พ.ย.)
ดุลการค้า              ๖๔,๖๒๘        ๔๗,๒๐๐       ๔๔,๐๔๐        ๒๗,๙๖๓       -๒๖.๙๗%        -๓๖.๕๑%
(Trade balance)
การส่งออก             ๒๖,๔๐๔        ๒๐,๔๖๔       ๑๘,๖๒๑        ๑๘,๘๙๘       -๒๒.๔๙%          ๑.๔๙%
(Export)
การนำเข้า             ๙๑,๐๓๒        ๖๗,๖๖๔       ๖๒,๖๖๑        ๔๖,๘๖๑       -๒๕.๖๗%        -๒๕.๒๒%
(Import)

๑๑.๑ ปี ๒๕๕๓ (ม.ค.-พ.ย.) กรีซมีมูลค้าการค้ารวม ๖๕,๗๕๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลง -๑๙.๐๙% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการค้ารวม ๘๑,๒๘๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ แยกเป็นการส่งออกมูลค่า ๑๘,๘๙๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้ามูลค่า ๔๖,๘๖๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้กรีซขาดดุล ๒๗,๙๖๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

๑๑.๒ การส่งออก กรีซส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรปเกือบ ๕๐% โดยมีประเทศที่กรีซส่งออกสำคัญ ๑๐อันดับแรก ได้แก่ เยอรมัน (สัดส่วน ๑๑.๕๕%) อิตาลี (๑๑.๔๘%) ไซปรัส (๗.๑๘%) บัลแกเรีย (๖.๗๒%) สหรัฐอเมริกา (๔.๘๕%) สหราชอาณาจักร (๔.๔๑%) ตุรกี (๔.๑๕%) โรมาเนีย(๓.๘๖%) ฝรั่งเศส(๓.๗๑%) และมาเซโดเนีย(๒.๗๒%)

ประเทศในแถบเอเชียที่กรีซส่งออกสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน (สัดส่วน ๐.๖๓%) อินเดีย(๐.๓๙%) สิงคโปร์(๐.๒๒%) ฮ่องกง(๐.๒%) อินโดเนเซีย(๐.๒%) เกาหลีใต้(๐.๑๘%) ไทย (๐.๐๙%)

สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินแร่และน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ยา อะลูมิเนียม พลาสติก เครื่องจักรไฟฟ้า อาหารสำเร็จรูป เหล็ก เครื่องจักร

๑๑.๓ การนำเข้า กรีซยังคงนำเข้าสินค้าจากประเทศในสหภาพยุโรปเป็นหลัก โดยมีประเทศที่กรีซนำเข้าสินค้า 10 อันดับสำคัญ ได้แก่ เยอรมนี (สัดส่วน ๑๒.๓%) อิตาลี (๑๑.๔๘%) จีน(๖.๒๖%) ฝรั่งเศส(๕.๔๙%) เนเธอร์แลนด์(๕.๔๒%) รัสเซีย (๕.๐๙%) เกาหลีใต้(๕.๐๓%) เบลเยี่ยม(๓.๙๕%) สเปน (๓.๖๕%) และสหราชอาณาจักร (๓.๔๓%)

เป็นที่น่าสังเกตุว่ากรีซนำเข้าจากจีนมากเป็นอันดับ ๓ และมีประเทศคู่แข่งของไทยที่สำคัญ ได้แก่ อินเดีย (อันดับที่ ๒๕ สัดส่วน ๐.๙๘) ไต้หวัน (๐.๓๔) อินโดเนเซีย (๐.๒๘) และมาเลเซีย (๐.๒๒)

สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยา เรือ เครื่องจักร เครื่องจักรไฟฟ้า สินแร่และน้ำมัน ยานพาหนะ พลาสติก เหล็ก

๑๒. กระทรวงการพัฒนาท้องถิ่นและความสามารถในการแข่งขัน (The Regional Development and Competitiveness Ministry) ได้เปิดเผยว่าในเดือนมี.ค. ๕๔นี้ รัฐบาลกรีซจะประกาศกฎหมายเพื่อการลงทุนฉบับใหม่ วงเงิน 650 ล้านยูโร ในการให้การอุดหนุนทางการเงิน (Subsidies) และ ๑.๕ พันล้านยูโรสำหรับการช่วยเหลือด้านภาษีซึ่งจะทำให้เงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือด้านการลงทุนในปี ๒๕๕๔ สูงถึง ๔ พันล้านยูโร โดยในเดือนพ.ค. ๕๔ รัฐบาลจะริเริ่มโครงการกองทุนเพื่อผู้ประกอบการ (Enterprise Fund) โดยการให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจ SME วงเงิน ๑.๒ พันล้านยูโร กองทุน Enalio Fund วงเงิน ๓๕ ล้านยูโรที่ให้แก่ผู้ประกอบการประมง และกองทุนสำหรับผู้ประกอบการด้านสินค้าเกษตรวงเงิน ๑๕๐ ล้านยูโร

นอกจากนี้ ภายในเดือนพ.ค.๕๔ กระทรวงการพัฒนาฯจะเปิดเผยแผนปฏิบัติการ และกฎระเบียบเกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้กรีซเป็นประเทศที่น่าลงทุนในการทำธุรกิจมากขึ้นด้วย

๑๓. สำนักงานสถิติแห่งเฮเลนิกรายงานว่าในปี ๒๕๕๓ อุตสาหกรรมการต่อเรือของกรีซได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตเศรษฐกิจทำให้การผลิตลดลงอันเนื่องมาจากไม่มีการดำเนินธุรกรรม และการผลิตเพื่อการหมุนเวียน สต๊อกแต่อย่างใด หลังจากที่ในปี ๒๕๕๒ การผลิตได้ลดลงเป็นประวัติการณ์ถึง ๑๖.๕% โดยในช่วง ๑๑ เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ของปี ๒๕๕๓ ปรากฎว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอุปกรณ์การขนส่งลดลงถึง 57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (ลดลง ๖๕.๓% เมื่อเทียบกับปี ๒๕๔๘) และการผลิตเรือรบลดลง ๑๖.๑๕% นอกจากนี้การผลิตเรือที่ใช้งานอื่นๆ (เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง, เรือดำน้ำและเครนที่ใช้ในเรือ) ก็มีการผลิตลดลง ๑๓.๘% อุปกรณ์จำพวกถังลอยน้ำลดลง 18.6% เรือที่ใช้ในการกีฬาและพักผ่อนลดลง ๒๕.๓% และจักรยานน้ำลดลง ๑๘.๓%

ทั้งนี้ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา (ไตรมาส ๒ ของปี ๒๕๕๑-ไตรมาส ๒ ของปี ๒๕๕๓) การจ้างงานในอุตสาหกรรมการต่อเรือของกรีซลดลงอย่างมากถึง ๑๗.๔% (จำนวนการส่งแรงงานลดลงจาก ๑๒,๖๐๐ คน เหลือเพียง ๑๐,๔๑๐ คน)

อย่างไรก็ดี ประธานสหภาพเจ้าของกิจการเรือแห่งกรีซ (President of Greek Shipowners Union) ได้กล่าวว่า ผู้ประกอบการเดินเรือกรีซคาดหวังที่จะเห็นการปรับโครงสร้างของกระทรวงพาณิชย์นาวี (The Historic Merchant Marine Ministry) ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการของตำรวจท่าเรือ และปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการเดินเรือ เช่น การจูงใจให้คนรุ่นใหม่สนใจอาชีพเดินเรือ และยกระดับการฝึกอบรมด้านการเดินเรือ เป็นต้น

๑๔. นาย Yiannis Djarmantidis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเดินเรือและประมง (Maritime Affairs Fisheries Minister) ได้นำคณะเจ้าของกิจการเรือ และผู้ประกอบการด้านการเดินเรือเดินทางไปเยือนจีนเมื่อกลางเดือนก.พ.๕๔ โดยได้หารือกับหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนจากธนาคาร ผู้บริหารจากบริษัทการเดินเรือและประธานกลุ่มบริษัทในเครือ Cosco โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและขยายความร่วมมือในอุตสาหกรรมการต่อเรือ และการขนส่งทางเรือ รวมทั้งความร่วมมือด้านท่าเรือ และองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างย่งในประเด็นการให้กู้ยืมเงินของธนาคารจีนแก่นักธุรกิจ เจ้าของบริษัทเดินเรือ และความจำเป็นในการก่อตั้งกองทุนพิเศษ (ซึ่งเป็นความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย)ขึ้นในจีนเพื่อให้แก่ผู้ประกอบการเรือของกรีซ

๑๕. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศกรีซ (นายSpyros Kouvelis) ได้เปิดเผยถึงโอกาสในการร่วมลงทุน และดำเนินธุรกิจระหว่างไซปรัสและกรีซซึ่งมีแนวโน้มที่ดีแม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงบ้างก็ตาม โดยเห็นว่าทั้งกรีซและไซปรัสจะช่วยส่งเสริมระหว่างกันให้เป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งในคาบสมุทรบอลข่าน ทะเลดำ และยุโรปตะวันตก เนื่องจากนับตั้งแต่ไซปรัสได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปก็ถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีสถานะและบทบาททางยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วในแถบเมดิเตอร์เรเนียน และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็ง เนื่องจากเป็นสะพานเชื่อมด้านเศรษฐกิจระหว่างสหภาพยุโรป เอเชียและแอฟริกา นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อให้ไซปรัสเป็นเกาะแห่งความมั่นคง สงบ และก้าวหน้าสำหรับทุกชุมชน และหวังว่าจะมีความร่วมมือที่ดีกับไซปรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านพลังงาน และการหาความร่วมมือใหม่ๆระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกรีซ

ทั้งนี้การแลกเปลี่ยนทางการค้าแบบทวิภาคีระหว่างกรีซและไซปรัสมีมากกว่า ๑ พันล้านยูโร โดยไซปรัสเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ ๓ ของกรีซ รองลงมาจากเยอรมนีและอิตาลี (คิดเป็นร้อยละ ๒๕ ของการนำเข้าทั้งหมดของไซปรัส) ในขณะที่ไซปรัสส่งออกไปกรีซเพีย ๑๘% ของการส่งออกทั้งหมด

ในด้านการลงทุนทางตรง ในปี ๒๕๕๒ กรีซมีการลงทุนในไซปรัสเพิ่มขึ้น มีมูลค่า ๗๑๐.๒ ล้านยูโร และเป็นการลงทุนในสาขาสำคัญๆ ได้แก่ การบริการให้คำปรึกษา การพาณิชย์ และการก่อสร้าง

๑๖. ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกรีซ (นาย Yiorgos Proropoulos) ได้กล่าวในการประชุมรัฐสภาแนะนำให้รัฐบาลเพิ่มความพยายามในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะให้มากขึ้น และคาดว่าในปี ๒๕๕๔ คุณภาพในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินภายในประเทศและอัตราการขยายตัวของการให้สินเชื่อจะเป็น ๐ หรือติดลบ เศรษฐกิจอิตาลีจะหดตัวอยู่ ๓% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีผลกระทบอย่างมากต่อการบริโภคและการลงทุนโดยในปี ๒๕๕๓ ลดลงถึง ๑๘% อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ๑๒.๕% ของกำลังแรงงาน คิดเป็นตำแหน่งงานว่างถึง ๑๐๐,๐๐๐ ตำแหน่ง และคาดว่าในปี ๒๕๕๔ จะคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังได้แนะให้รัฐบาลมุ่งเน้นการดำเนินแผนงบประมาณที่เข้มงวดมากกว่าการอัดฉีดแผนปฏิบัติการระยะกลางที่รัฐบาลเสนอเพื่อตัดลดการขาดดุลงบประมาณลง ให้เหลือ ๒.๖%ของ GDP ในปี ๒๕๕๗ รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลตัดลดการใช้จ่ายในหน่วยงานทั่วไปของรัฐ การปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนควบคู่ไปกับการปิดหน่วยงานรัฐที่ไม่มีความจำเป็นลง การปฏิรูปโครงสร้างประเทศในวงกว้าง เช่น การยืดหยุ่นในตลาดแรงงาน การยกระดับด้านการศึกษา การตั้งเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดโดยการเปิดเสรีอาชีพที่สงวนไว้เป็นต้น

๑๗. กระทรวงการคลังกรีซได้เสนอแผนงบประมาณระยะกลาง ( ปี ๒๕๕๕-๒๕๕๘) ต่อคณะรัฐบาล โดยมีเป้าหมายหลักคือลดการขาดดุลงบประมาณให้เหลือ ๓ พันล้านยูโรในปี ๒๕๕๘ (จากเดิม ๑๗ พันล้านยูโร) การลดลงของการขาดดุลงบประมาณดังกล่าวจำนวน ๒ ใน ๓ ส่วน จะมาจากการตัดลดรายจ่ายและไม่รวมการตัดรายจ่ายเพิ่มเติมในด้านค่าจ้างและเงินบำนาญ หรือการเพิ่มภาษี

ทั้งนี้กระทรวงการคลังกรีซได้คาการณ์ภาวะเศรษฐกิจในปี ๒๕๕๔ ดังนี้ - GDP = -๓% (ปี ๒๕๕๓ = -๔.๕%) - อัตราการว่างงาน = ๑๔% - จำนวนผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่เสียงต่อการปิดกิจการ = ๑๒๐,๐๐๐ ราย - การขาดดุลงบประมาณ = ๑๕.๖% ๑๒. การค้าไทย-กรีซ ไทยเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 28 ของกรีซ โดยมีประเทศคู่ค้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี อิตาลี จีน เนเธอแลนด์ และเกาหลีใต้

๑๒.๑ ในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ไทยส่งออกสินค้ามากรีซทั้งสิ้นมูลค่า ๑๑.๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งส่งออกมูลค่า ๑๘.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลง -๓๙.๕๘%

สินค้าส่งออกสำคัญ ๕ อันดับแรกได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบมูลค่า ๒.๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๒๓๙.๓๗%) เม็ดพลาสติกมูลค่า ๑.๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ ๒๔๓.๗๗%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปมูลค่า ๐.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๒๐๒.๓๖%) รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบมูลค่า ๐.๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๙๑.๘๓%) และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบมูลค่า ๐.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ( -๓๐.๒๓%)

สินค้าที่มีการส่งออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-๙๑.๘๓%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-๗๐.๙๑%) อัญมณีและเครื่องประดับ (-๗๘.๒๓%) และเครื่องนุ่งหุ่ม (-๓๗.๕๘%)

สินค้าที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (๒๓๙.๓๗%) เม็ดพลาสติก ( ๒๔๓.๔๗%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (๒๐๒.๓๖%) อาหารสัตว์เลี้ยง (๗๙๗.๐๓%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (๑๖๗.๐๖%) และผลิตภัณฑ์พลาสติก (๙๔.๐๕%)

๑๒.๒ ในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ไทยนำเข้าสินค้าจากกรีซทั้งสิ้นมูลค่า ๔.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งนำเข้ามูลค่า ๔.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น ๑๓.๘๙%

สินค้านำเข้าสำคัญ ๕ อันดับแรกได้แก่ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ มูลค่า ๒.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๖.๐๖%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบมูลค่า ๐.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๕๑.๔๖%) สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์มูลค่า ๐.๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๑๙.๔๘) เครื่องใช้เบ็ดเตล็ดมูลค่า ๐.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๕๒๒.๗๓%) และเคมีภัณฑ์มูลค่า ๐.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๐.๙๙%)

สินค้าที่มีการนำเข้าลดลงต่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป (-๙๕.๕๑%) และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (-๘๖.๔๐%)

สินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นต่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด (+๕๒๒.๗๓%) แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ (+๑,๒๔๑.๕๘%) ปูนซีเมนต์ (+๑๒๔.๗๖%) พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช (+๖๓๕.๑๔%) เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค (+๕๕๑.๗๒%) และ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ (+๑,๐๖๖.๖๗%)

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ