รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าอิตาลี ระหว่างวันที่ ๑๖-๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 17, 2011 13:38 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. ภาวะเศรษฐกิจในช่วง ๒ สัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ยังคงทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซบเซาต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ซึ่งปรากฎว่ามียอดจำหน่ายต่ำกว่าประมาณการคือขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเพียง ๐.๔% เท่านั้น เนื่องจากประชาชนยังคงระมัดระวังในการใช้จ่ายซึ่งเป็นผลจากความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

๒. หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจและสมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอิตาลี (CONFINDUSTRIA) ได้ออกมากล่าวว่าเศรษฐกิจอิตาลีในปี ๒๕๕๓ มีการขยายตัวเป็นที่พอใจคือ+๑.๓% เมื่อเทียบกับประมาณการเดิมที่คาดว่าจะเท่ากับ +๑.๑% และมีการขาดดุลเพียง ๔.๖% ของ GDP (ประมาณการไว้ ๕% ของ GDP) ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ภาษี VAT (+๐.๙%) และการลดลงของรายจ่าย(-๐.๕%) อย่างไรก็ดี หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นถึง ๑๑๙% ของ GDP (ปี ๒๕๕๒ เท่ากับ ๑๑๖% ของ GDP) ยังคงเป็นปัญหาที่อิตาลียังคงต้องเผชิญ โดยประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอิตาลีได้กล่าวว่า รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปด้านภาษี การเปิดตลาดให้เสรีและง่ายมากขึ้นในการทำธุรกิจและการลงทุนในด้านการวิจัยการและนวัตกรรมให้มากขึ้นจึงจะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้ตามเป้าหมาย

๓. สมาคมผู้ประกอบการสินค้าศิลปาชีพและธุรกิจขนาดเล็กแห่งเมืองเมสเตร (CGIA Mestre) ได้รายงานว่าภาวะเงินเฟ้อทำให้ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรื่อนอยู่ที่ ๘๕๗.๓ ยูโร และจะแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่ได้แก่ ทางตอนเหนือซึ่งมีค่าครองชีพสูงกว่าภาคอื่นๆ จะเท่ากับ ๙๘๙.๓ ยูโร, ภาคกลาง ๘๙๗.๙ ยูโร และภาคใต้ ๖๓๔.๘ ยูโร ทั้งนี้ การที่คนอิตาลีต้องใช้จ่ายมากขึ้นเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการคมนาคม

๔. ISTAT ได้รายงานภาวะเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เพิ่มสูงขึ้นถึง ๒.๔% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจาก ๑.๕% ในเดือน มกราคม ๒๕๕๔ เป็น ๑.๘ %

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วของ ESSO Italy อยู่ที่ ๑.๕๘๖ ยูโร/ลิตร ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์นับแต่ตุลาคม ๒๕๕๑ (ที่ทำสถิติสูงขึ้นถึง ๑.๕๖๐ ยูโร/ลิตร) ส่วนราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยในอิตาลีจะอยู่ที่ ๑.๕๖๑ ยูโร/ลิตร และราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ ๑.๔๕๗ ยูโร/ลิตร

๕. ISTAT ได้รายงานการคาดการณ์ว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ดัชนีราคาผู้บริโภคแห่งชาติ (รวมยาสูบ) เพิ่มสูงขึ้น ๐.๓% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (สูงขึ้น ๒.๔% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) โดยเฉพาะค่าคมนาคม (+๐.๘% ) ค่าที่พักอาศัยและสาธารณูปโภค (๐.๕%) สินค้าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (+๐.๔%) ค่ารักษาพยาบาล(+๐.๓%) ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงได้แก่ การศึกษา (-๐.๑%)

คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม ISTAT ได้รายงานว่าในปี ๒๕๕๓ คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมและรายได้ในภาคอุตสาหกรรม(Industrial Turnover) ได้เพิ่มขึ้นถึง ๑๓.๙% และ ๑๐.๑% ตามลำดับ สูงสุดนับแต่ปี ๒๕๕๑ (ปี ๒๕๕๒ คำสั่งซื้อลดลง ๒๒.๔% และรายได้ลดลง ๑๘.๗%) โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ (๒๑.๒%)

อย่างไรก็ดี คำสั่งซื้อและรายได้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ กลับลดลง ๑๑.๒% และ ๓.๙% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

๖. ISTAT ได้รายงานว่าในปี ๒๕๕๓ อิตาลีขาดดุลการค้า ๒๗.๓ พันล้านยูโร เทียบกับปี ๒๕๕๒ ที่ขาดดุลการค้า ๕.๙ พันล้านยูโร โดยในเดือนธ.ค.๕๓ ขาดดุล ๒.๗ พันล้านยูโร เทียบกับเดือนธ.ค.๕๒ ที่ขาดดุลการค้า ๑๓๘ ล้านยูโร

๗. ธนาคารแห่งอิตาลีได้รายงานว่า ณ สิ้นปี ๒๕๕๓ อิตาลีมีหนี้สาธารณะ ๑,๘๔๓.๒ พันล้านยูโร เปรียบเทียบกับปี ๒๕๕๒ ที่มีหนี้สาธารณะ ๑,๗๖๓.๙ พันล้านยูโร ในด้านรายได้ภาษี อิตาลีจัดเก็บได้ ๓๙๗.๕ พันล้านยูโร ลดลงจากปีก่อนที่จัดเก็บได้ ๔๐๑.๔ พันล้านยูโร หรือลดลง ๐.๙๗%

๘. ผลการสำรวจของหน่วยงานเพื่อการจำนอง ผลปรากฎว่าครอบครัวชาวอิตาลีที่เลือกที่จะปรับปรุงบ้านใหม่ผ่านการกู้ยืมเงินทุนด้วยการจำนองจะมีความต้องการใช้เงินเฉลี่ย ๑๔๒,๐๐๐ ยูโร ระยะเวลาผ่อนชำระคืน ๒๐ ปี โดยเงินกู้ยืมดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนเกือบ ๕๐% ของราคาทรัพย์สิน และนิยมใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ ทั้งนี้ ในการสำรวจได้ใช้ข้อมูลจากผู้ขอกู้ยืมจำนวน ๖๐,๐๐๐ รายซึ่งมีอายุเฉลี่ย ๔๒ ปี

๙. รัฐบาลอิตาลีได้พยายามบีบให้ผู้รับบำนาญถึงร้อยละ ๖๕ ที่จะได้รับเงินบำนาญน้อยกว่า ๗๕๐ ยูโรต่อเดือน โดยเลขานุการทั่วไปของ CGIL ได้เปิดเผยว่าการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลไม่ใช่การแก้ปัญหาของประเทศ แต่ในทางกลับกันถือเป็นการลบหลู่ประชาชนผู้รับบำนาญที่บังคับให้ต้องยอมรับสิ่งที่รัฐบาลถือว่าเป็นการช่วยเหลือทั้งๆ ที่จำนวนบำนาญดังกล่าวไม่เพียงพอต่อความเป็นอยู่ทั้งในด้านความสง่างามเหมาะสม และสุขอนามัยเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย

นอกจากนี้ CGIL ยังได้เปิดเผยผลการสำรวจว่าประชาชนในแถบตอนกลางและตอนเหนือของประเทศมีเงินใช้เพื่อใช้จ่ายประจำวันมากเป็นอันดับต้นๆ ส่วนประชาชนในแถบตอนใต้โดยเฉพาะแคว้นบาซิลิกาต้ามีเงินเพื่อใช้จ่ายชีวิตประจำวันน้อย

๑๐.ประธานธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งสหภาพยุโรป (The European Investment Bank = EIB) ได้เปิดเผยว่ามีความพร้อมในการสนับสนุนให้แก่ประเทศในภูมิภาคแถบเมดิเตอร์เรเนียนใต้ ในการปรับเปลี่ยนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยการจัดตั้งวงเงินสำหรับการให้กู้ยืม ๖ พันล้านยูโร ภายในปี ๒๕๕๔-๒๕๕๖ โดยประเทศดังกล่าว ได้แก่ ตูนีเซีย และอียิปต์ (ยกเว้นลิเบีย)

๑๑. EUROSTAT ได้เปิดเผยผลการจัดอันดับประเทศที่ร่ำรวย โดยการปรับปรุงข้อมูล GDP ของประชาชน (ซึ่งได้จากอำนาจซื้อมาตรฐาน) ของภูมิภาคยุโรป ๒๗๑ ประเทศ ปรากฎว่าลอนดอนและลักเซมเบิร์กเป็นท้องถิ่นที่ร่ำรวยที่สุด ในขณะที่อิตาลีไม่ติดอยู่ใน ๒๐ อันดับ แต่อย่างใด ทั้งนี้อาณาเขตในอิตาลีที่ร่ำรวยที่สุด ได้แก่ โบลซาโน (๑๓๗%) ลอมบาร์ดี(๑๓๔%) และเอมิเลียโรมาญญ่า (๑๒๗%)

๑๒. รัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลีเปิดเผยว่า การจลาจลในลิเบียไม่ส่งผลกระทบต่ออิตาลีโดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งอิตาลีนำเข้าจากลิเบียค่อนข้างมาก โดยหน่วยงาน ENI แห่งอิตาลีที่นำเข้าก๊าซธรรมชาติโดยทางท่อส่งก๊าซสีเขียว (Green stream pipe line) จากลิเบียกล่าวว่ามีสต็อกเพียงพอและสามารถนำเข้าจากแหล่งอื่นทดแทนได้

ในด้านคนอิตาลีที่อาศัยอยู่ในลิเบียจำนวนประมาณ ๖,๐๐๐ คนนั้น รัฐบาลอิตาลีได้จัดส่งเครื่องบิน และเรือเพื่อไปรับกลับจากลิเบียมาอิตาลีแล้วจำนวนกว่า ๑,๓๐๐ คน นอกจากนี้ อิตาลียังได้รับผู้อพยพจากเหตุการณ์ดังกล่าวอีกจำนวน ๖,๓๐๐ คน (ประมาณ ๑๐๐ คนเป็นชาวตูนีเซีย)

ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของอิตาลี ฝรั่งเศส สเปน กรีซ ไซปรัส และมอลต้า ได้ขอให้คณะกรรมาธิการยุโรป จัดตั้งกองทุนพิเศษ "Solidarity Fund" เพื่อรับมือกับปัญหาการอพยพเร่งด่วนจากประเทศในแถบอาฟริกาเหนือ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาหนัก โดยจะให้ผู้อพยพอาศัยอยู่ในอิตาลีได้ถึง ๖ เดือน หรือขยายได้ถึง ๑๘ เดือน กรณีสหภาพยุโรปมีคำแนะนำ และหากผู้อพยพไม่ขอลี้ภัยก็จะส่งกลับประเทศต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ