สายด่วนจากสำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองเจนไนรายงานว่าเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมาคณะโลจิสติกส์ไทยได้บุกไปเปิดตลาดโลจิสติกส์ ที่เมืองเจนไน ประเทศอินเดีย ประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย มีบริษัทโลจิสติกส์อินเดียนับร้อยรายสนใจร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทไทย แถมท่าเรือเจนไนก็สนใจร่วมมือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยพัฒนาท่าเรือ“มารีนา”เป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวของอินเดีย
นายไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ ผอ. สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองเจนไนเปิดเผยว่าคณะโรดโชว์โลจิสติกส์ของไทยที่เดินทางไปเจนไนครั้งนี้ เป็นการผสานนโยบายร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมการส่งออก การท่าเรือแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยในการกระตุ้นให้ตลาดอินเดียตระหนักถึงความสำคัญของประเทศไทยในการเป็น Hub ด้านการขนส่งและกระจายสินค้าสู่ตลาดอาเซียน โดยไทยมีจุดแข็งในเรื่องการเป็นสี่แยกอินโดจีน ที่มีถนนเชื่อมท่าเรือทวาย (พม่า)-พิษณุโลก-ท่าเรือดานัง และถนนสิงคโปร์ — มาเลเซีย-กรุงเทพ-ผ่านถนน R 3 ของลาวไปสิบสองปันนาในจีน นอกจากนั้นในอนาคตยังสามารถเชื่อมโยงกับอินเดียผ่านถนนอัสสัม-พม่า-ไทยได้อีกด้วย ในอีกด้านหนึ่ง ไทยยังเป็นประตูสู่ประเทศต่างๆ ที่ไทยมีข้อตกลง FTA ด้วย เช่น จีน อาเซียน ออเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย อีกทั้งอาเซียนจะกลายเป็น Single market ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าด้วย ส่งผลให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์อินเดียมีความกระตือรือล้นเป็นพิเศษที่จะร่วมเป็นพันธมิตรกับไทยในระหว่างการโรดโชว์ครั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบรับกับโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นภายใต้ Single market ของอาเซียน
นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่าผลตอบรับของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของอินเดียดีเยี่ยม และต่างยอมรับว่าประเทศไทยสามารถเป็น Hub ด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนได้แน่นอน ทั้งนี้สองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่านอกจากความร่วมมือด้านการขนส่งแล้ว ยังสามารถมีความร่วมมือด้านต่างๆ ของห่วงโซ่อุปทานร่วมกันได้อีกด้วย อาทิเช่น คลังสินค้าทันบน การจัดการสินค้าเน่าเสียง่าย และการกระจายสินค้าไทยในตลาด 1.1 พันล้านคนของอินเดีย
ในโอกาสเดียวกันนี้การท่าเรือเจนไนแจ้งว่าอินเดียมีโครงการเมกกะโปรเจคก่อสร้างท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว “มารีนา” ซึ่งอยู่ห่างจากท่าเรือเจนไนไม่มากนัก โดยจะพัฒนาเป็นท่าเรือจอดเรือยอร์ชเช่นเดียวกับภูเก็ตของไทย ซึ่งฝ่ายไทยยินดีสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว
“การเปิดตลาดโลจิสติกส์ในครั้งนี้ยังนับเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับ Kitchen of the word เช่นไทยในการเจาะตลาดสินค้าอาหารในอินเดียอย่างจริงจังและยั่งยืนในอนาคตต่อไป” นายไพศาล กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: http://www.depthai.go.th