อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเครื่องดื่มในฮ่องกง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 25, 2011 13:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาพรวมทั่วไป

  • ผลจากข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีนแผ่นดินใหญ่ (CEPA) ล่าสุด ทำให้มีรายการผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ที่ส่งออกจากจีนไปฮ่องกงได้รับประโยชน์จากภาษีเท่ากับ 0 เพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้ารังนก น้ำมันพืชผสม ถั่ว Pistachio ทั้งสดและแห้ง ในขณะที่อาหารที่ได้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้ มากที่สุดก็ยังคงเป็นอาหารสำหรับเทศกาลต่างๆ เช่น ขนมไหว้พระจันทร์
  • ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในอาหาร โดยเฉพาะประเทศจีน และญี่ปุ่น ที่มีการดำเนินการควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารอย่างเข้มงวด ทั้งการผลิตภายในประเทศและการนำเข้า
  • ในปี 2010 ฮ่องกงส่งออกอาหารแปรรูปและเครื่องดื่มมูลค่า 4,725 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 18% และนำเข้ามูลค่า 15,045 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 21%

อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเครื่องดื่มของฮ่องกง ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องการนำเข้าเพื่อการส่งออกต่อ (Re-export) ในปี 2010 ฮ่องกง Re-export สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม มูลค่า 4,418 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 90 ของสินค้าที่นำเข้าทั้งหมด โดยมีจีนแผ่นดินใหญ่เป็นตลาด re-export ที่สำคัญ คิดเป็น 1 ใน 3 ของการ re-export ทั้งหมด ฮ่องกงถือเป็นประตูการค้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารตะวันตก ซึ่งมีความต้องการมากขึ้นเป็นลำดับ

  • จำนวนผู้ประกอบการสินค้าอาหารในฮ่องกง
                         Manufacture         Import-export trade
No. of Establishments    796(Dec 2009)       4,020(Dec 2009)
Employment               22,456(Dec 2009)    22,030(Dec 2009)
ที่มา : Industry statistics cover activities in Hong Kong Only
  • ผู้นำเข้า/ผู้ค้าอาหารรายใหญ่ในฮ่องกง ได้แก่ บริษัท Dah Chong Hong , Four Seas, Asia Pacific(HK) Ltd., EDO Trading Co, Kwan Hong Yuen Trading Co., Ltd. Yu Kee Trading Co., Ltd. Sun Shun Fuk เป็นต้น
  • โรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มในฮ่องกงมีไม่มาก และส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตเพื่อบริโภคภายในฮ่องกง สินค้าที่ผลิตได้แก่ บะหมี่สำเร็จรูป มักกะโรนี เส้นสปาเกตตี ขนมปังกรอบ ขนมและเค้ก และรวมถึงอาหารทะเลกระป๋อง/ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์จากนม ซอสปรุงรสและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ นอกจากนี้เนื่องจากอาหารเอเซียเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นในหมู่ชาวตะวันตก ทำให้เครื่องปรุง อาทิ soy sauce, soya milk และ oyster sauces จากฮ่องกงส่งออกเพิ่มขึ้น มีสินค้าดังกล่าวแบรนด์ฮ่องกง เช่น Vitasoy, Lee Kum Kee ขายดีในตลาดจีน และต่างประเทศทั่วโลก
  • บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารจากต่างประเทศหลายรายมาลงทุนผลิตอาหารในฮ่องกง เช่น บริษัท Nissin จากญี่ปุ่น มาลงทุนผลิตบะหมี่สำเร็จรูปในฮ่องกง จนปัจจุบันเป็นผู้นำสินค้านี้ในฮ่องกง หรือบริษัท Ajinomoto มาซื้อกิจการบริษัท Amoy และผลิต frozen dim sum และ Sauces
  • จีน เป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของฮ่องกง บริษัทฮ่องกงหลายราย เช่น Garden, Hop Hing และ Lam Soon ได้ขยายตลาดสู่จีน โดย Garden ได้ไปร่วมลงทุนกับ Hua Jia Co., Ltd. ใน Dongguan, และ Gong Yang Co., Ltd. ใน Yang Zhou ผลิตสินค้าอาหารขายในจีน โดยอาศัยข้อได้เปรียบด้านมาตรการความปลอดภัยในการผลิตอาหารของฮ่องกง เป็นจุดขาย

ในปัจจุบันชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนแผ่นดินใหญ่เปลี่ยนไป มีรายได้เพิ่มขึ้น มีซุปเปอร์มาร์เก็ตมาแทนตลาดสดดั้งเดิมมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารที่สะดวกในการปรุง และรับประทานขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้จำนวนประชากรที่เป็น ผู้หญิงทำงาน ผู้สูงอายุ และคนโสดมีเพิ่มขึ้น ต้องการเวลาในการปรุงอาหารและเลือกซื้อสินค้าอาหารน้อยลง ทำให้สินค้าประเภท Pre-made ของซอสและเครื่องปรุง อาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋อง เป็นที่นิยมมากขึ้น

  • ผู้ผลิตอาหาร และเครื่องดื่มรายใหญ่ของฮ่องกงได้ขยายเครือข่ายไปทั่วโลก โดยการจัดตั้งสำนักงานหรือโรงงานในตลาดหลักๆ เช่น Lee Kum Kee มีโรงงานและสำนักงานสาขาในจีน สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร Vitasoy มีโรงงานใน Shenzhen และ Shanghai รวมทั้งใน สหรัฐ ฯ และออสเตรเลีย

ช่องทางการกระจายสินค้า

  • ติดต่อกับผู้ซื้อ/ผู้บริโภคโดยตรง ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มฮ่องกงจะติดต่อโดยตรงกับผู้นำเข้าและซุปเปอร์มาเก็ต ต่างประเทศ ในขณะที่บริษัท Trading อาหารของฮ่องกงจะมีบทบาททั้งในการแนะนำสินค้าอาหารตะวันตกให้กับผู้บริโภคชาวจีนและฮ่องกง และช่วยบริษัทขนาดเล็กในฮ่องกงและจีนขายสินค้าไปยังต่างประเทศด้วย
  • ตั้งผู้แทนจำหน่าย/สำนักงานสาขาในต่างประเทศ มิสินค้าแบรนด์ฮ่องกงหลายรายที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในต่างประเทศ เช่น บริษัท Garden (biscuits, cakes and candies) บริษัท Doll (instant noodle) บริษัท Vitasoy (soft drink) บริษัท Amoy, Lee Kum kee (cooking sauces) และ Lam Soon (edible Oils) โดยเริ่มจากการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่นิยมในฮ่องกงก่อน แล้วขยายไปตั้งผู้แทนจำหน่าย หรือสำนักงานสาขาในต่างประเทศเพื่อช่วยส่งเสริมการขาย เช่น Vitasoy Group ปัจจุบันได้ขยายสาขาไปทั่วโลกกว่า 30 ประเทศ
  • การเข้าร่วมกิจกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติ/คณะผู้แทนการค้า เดินทางไปศึกษาและพบปะเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ งานแสดงสินค้าสำคัญที่ฮ่องกงแนะนำ ได้แก่ Food Expo ฮ่องกง, Canton Fair นครกวางโจว และ Style HK Show เมือง Wuhan, Fuzhou และ Chongqing

แนวโน้มตลาด

  • ด้วยจำนวนของประชากรสูงวัยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ สินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับสินค้าที่สะดวกในการซื้อ/บริโภค เช่น microwave /packaged foods จะเป็นที่นิยมมากขึ้น
  • ผู้บริโภคจะระมัดระวังในการบริโภคสินค้าที่มีการตัดต่อทางพันธุกรรม (GMO) แม้ว่าปัจจุบัน CODEX กำลังอยู่ระหว่างการกำหนดเกณฑ์ในการติดฉลากสินค้า GMO อยู่ แต่มีหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน ได้กำหนดเป็นข้อบังคับให้สินค้าที่มี GMO ทุกชนิด ต้องติดฉลาก GMO ในขณะที่จีน กำหนดให้สินค้า 5 รายการ ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ฝ้าย rapeseed และ มะเชือเทศ ที่มีการตัดต่อทางพันธุกรรมต้องติดฉลาก GMO ส่วนสหรัฐอเมริกาและแคนาดากำหนดให้ติดฉลาก GMO เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีการตัดต่อทางพันธุกรรมแล้วก่อให้เกิดการแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมที่ไม่เป็น GMO ในด้านลักษณะ คุณค่าทางโภชนาการ และการไวต่อประสาทสัมผัสของมนุษย์ สำหรับในฮ่องกงอาหารแปรรูปที่ประกอบด้วยวัตถุดิบ GMO ตั้งแต่ 5% ขึ้นไปแนะนำให้ต้องติดฉลาก GMO
  • การซื้อสินค้าของชำทาง Internet กำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นในเอเชีย แม่บ้านที่ทำงานด้วยในไต้หวัน และญี่ปุ่น นิยมสั่งซื้อสินค้าอาหารรวมทั้งผลไม้และผักสดผ่าน Internet ในขณะที่ในจีน การสั่งซื้อสินค้าของชำออนไลน์เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ จะนิยมสั่งซื้อสินค้าอาหารประเภทอาหารบรรจุถุง /อาหารแปรรูป ขนมขบเคี้ยว มากกว่าการซื้ออาหารสดออนไลน์

การใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้ากับจีน (CEPA)

ผลจากข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่(CEPA) ตั้งแต่ปี 2003 ทำให้สินค้าที่ผลิตในฮ่องกงที่ตกลงกันส่งออกไปจีนไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งสินค้าอาหารของฮ่องกงเป็นสินค้าที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากข้อตกลงนี้ โดยเฉพาะ ขนมไหว้พระจันทร์ เนื้อกระป๋อง น้ำซุปสกัด รังนก ซอสต่างๆ ขนม และเครื่องดื่ม สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกณฑ์การพิจารณาแหล่งกำเนิด สามารถเข้าดูในเว็ปไซค์ http://www.tid.gov.hk/english/cepa/index.html

แนวโน้มสินค้า

  • ให้ความสำคัญกับอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่ารสชาติ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีประชากรในวัยชราเพิ่มขึ้น ซึ่งในวัยนี้จะเน้นอาหารที่ปรุงง่าย มีคุณค่าทางอาหารสูงมากกว่ารสชาติอาหาร
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่อุดมไปด้วย sugar, sodium, fats, carbohydrates, cholesterol and calories มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ ที่มีปริมาณคลอเรสตอรอล คาร์โบไฮเดรต และไขมันต่ำ เช่น ใช้น้ำตาลอ้อยแทนน้ำเชื่อมในเครื่องดื่ม ลดจำนวนแคลอรี่และไขมันในไอศกรีม หรือการพัฒนาอาหารลดความอ้วนของ บริษัท Danone, Unilever, Kraft ที่เพิ่มใยอาหารบางอย่างในอาหาร ทำให้อิ่มเร็วและดูดชึมช้า ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต้องอาศัยการวิจัยพัฒนา และเทคโนโลยีการผลิตระดับสูง
  • สินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ (Organic Food) ยังคงเป็นที่นิยมทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ในสหรัฐฯ สัดส่วนการขาย Organic Food คิดเป็นร้อยละ 3.5 ของการขายอาหารทั้งหมด ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์อาหารเกษตรอินทรีย์มีความหลากหลายขึ้น ครอบคลุมไปถึง ชีส เนื้อสัตว์ ไวน์ เครื่องเทศ ถั่ว อาหารกระป๋อง ฯลฯ อาหารเกษตรอินทรีย์โดยทั่วไป หมายถึงอาหารที่ปลูกหรือผลิตโดยปราศจากการใช้สารเคมีสังเคราะห์ ในปุ๋ย ยาฆ่าแมลง สารกันเสีย และไม่มีการตัดต่อทางพันธุกรรม การจำกัดความอาจแตกต่างไปในแต่ละประเทศแต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่เป็นอาหารที่ต้องการมาตรฐานสูงในการปลูกและการผลิต ผลิตภัณฑ์ Organic foods มีขายเพิ่มมากขึ้นในซุปเปอร์มาเก็ต
  • อาหารเอเซียเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่ชาวตะวันตก เช่น อาหารจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ไทย เกาหลี เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและดัดแปลงให้เข้ากับเมนูอาหารตะวันตก อาหารแปลกใหม่มีคุณภาพสูงได้รับการตอบรับอย่างดี วัตถุดิบในการปรุงอาหาร เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว ข้าวบาสมาติกและข้าวหอมมะลิ กะทิ ขิง เครื่องแกง เป็นที่นิยมขายในซุปเปอร์มาเก็ตในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
  • เครื่องดื่มให้พลังงาน (Energy Drink) เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ เหนือเครื่องดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มอื่นๆธรรมดาทั่วไป มีการเติมวิตามิน น้ำแร่ คาแฟอีน นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสนอเครื่องดื่มเพื่อบำรุงความงาม สุขภาพ เช่นน้ำผลไม้ flavoured water น้ำสมุนไพร และชาดอกไม้
  • อาหารที่มีสีสัน รูปลักษณ์ดึงดูดความสนใจเด็กจะได้รับความนิยม เช่น บริษัท Heinz กับผลิตภัณฑ์ซอสมะเขือเทศสีเขียว สีขมพู บริษัท Parkay กับมาการีนสีชมพูและสีฟ้า บริษัท Dannon กับโยเกริต์ Dannon Sparkl’ins ที่เกิดสีสรรเมื่อมาคนให้เข้ากัน เป็นต้น

กฎ/ระเบียบในการนำเข้าสินค้าอาหารของฮ่องกง

1. ข้าว

  • ข้าวถือเป็นสินค้าควบคุมของฮ่องกง โดยรัฐบาลจะต้องสำรองให้มีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้น การนำเข้าข้าวจะต้องมีใบอนุญาตนำเข้า โดยยื่นใบสมัครกับหน่วยงาน Trade and Industry Department โดยสามารถสอบถามได้ที่ Email: enquiry@tid.gov.hk หรือโทร (852) 2398 5570

2. ผัก-ผลไม้

  • การนำเข้าผัก/ผลไม้ การนำเข้ามาฮ่องกงต้องแสดงใบรับรองปลอดศัตรูพืช และ Health Certificate จากต้นทาง ทั้งนี้ จะมีการสุ่มตรวจสอบสารตกค้าง จากหน่วยงาน Food and Environmental Hygiene Department เป็นระยะๆ หากพบสารตกค้าง เกินกำหนด จะสั่งระงับการขายและการนำเข้าทันที สำหรับสินค้าผลไม้จากไทยที่ต้องระวังอย่างมาก คือ ปริมาณการตกค้างของ สารซัลเฟอร์ได อ๊อกไซด์ [So2] ในการถนอมลำไยให้คงทนอยู่ได้นาน

3. เนื้อหมู/วัว/ไก่ แช่เย็นแช่แข็ง

  • ฮ่องกงมีการควบคุมการนำเข้า(Import Control) โดยผู้นำเข้าต้องขออนุญาต (Permit) และขอใบอนุญาตนำเข้า (Import License)

4. อาหารทะเลแช่แข็ง

  • อาหารทะเลแช่แข็งนำเข้ามาต้องแสดงใบ Health Certificate จากต้นทาง

5. อาหารประเภทอื่นๆ

  • สินค้าอาหาร นอกจากกฏข้อบังคับเพื่อสุขอนามัยและแหล่งกำเนิดสินค้าแล้ว ฮ่องกงยังมี กฏหมายฉลากโภชนการ เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภคและควบคุมมิให้มีการโฆษณาสรรพคุณสินค้าเกินจริง โดยกำหนดให้สินค้าทุกประเภทต้องแสดงรายละเอียดคุณค่าทางโภชนาการ (7+ Energy) และหากสินค้าที่มีการโฆษณาสรรพคุณ (อาทิ “ปราศจากน้ำตาล” “ไขมันต่ำ” “มีเส้นใยสูง” “ไม่มีคอเลสเตอรอล”) ต้องมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ สามารถเปิดหาและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็ปไซค์ http://www.fehd.gov.hk

จัดทำโดย: สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ