อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องแต่งกายในฮังการี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 28, 2011 10:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายในยุโรป ต้องประสบปัญหาทางด้านการแข่งขันจากประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา และเมื่อหลังปี 2538 ปัญหาก็เริ่มรุนแรงขึ้น หลังจากการยกเลิกระบบโควต้าอย่างต่อเนื่อง ตัวการสำคัญที่เร่งให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น เมื่อประเทศจีนเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO ในปี 2545 และโควต้าสุดท้ายได้ถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2551

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายในยุโรป ต่างยอมรับเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกาภิวัตน์ จนกลายเป็นข้อได้เปรียบและโนว์ฮาวของอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา ฐานการผลิตสินค้าจะถูกจัดตั้งขึ้นในประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำ ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตและมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนเพิ่มอัตราการจ้างงานให้สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2551 ผลผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายในสหภาพยุโรปสูงถึง 200 พันล้านยูโร ด้วยจำนวน 147,000 บริษัท และอัตราการจ้างงานถึง 2.3 ล้านคน

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายฮังการีขึ้นอยู่กับตลาดยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ด้วยอัตราร้อยละ70 ของการผลิต ในฮังการี อุตสาหกรรมนี้มีการสูญเสียอย่างหนักในช่วงระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนับว่ามากกว่าประเทศส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรป หนึ่งในเหตุผลหลักก็คือ สาขานี้ไม่สามารถตอบรับ หรือแก้ไขสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ กล่าวคือ สูญเสียเสรีภาพจากตลาดภายในประเทศ และความล้มเหลวในตลาดยุโรปตะวันออก ระหว่างช่วงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ สาขานี้สร้างความน่าสนใจต่อการลงทุนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การลงทุนส่วนใหญ่จะเน้นไปทางด้านเทคนิคและเทคโนโลยีเป็นจำนวนมาก ปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอมากกว่าเครื่องแต่งกาย เพราะตั้งแต่วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า การลงทุนของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายจึงลดลง

จากข้อมูลสถาบันสถิติ KSH ในปี 2551 ผลผลิตของอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายฮังการี คือ 201 พันล้านโฟรินท์ (ประมาณ 750 ล้านยูโร) เป็นของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายร้อยละ 56 และสิ่งทอร้อยละ 44 การส่งออกสร้างเม็ดเงินได้ 146 พันล้านโฟรินท์ (ประมาณ 540 ล้านยูโร) คิดเป็นร้อยละ 73 ของผลผลิตทั้งหมด มีการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 50,000 คน และเป็นพนักงานสตรีมากกว่าร้อยละ 80

การจัดกลุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย (โดยทั่วไปแล้วเป็นที่ยอมรับและใช้ในวงการสถิติการวิเคราะห์ทางภาคอุตสาหกรรม และแผนพัฒนาทางเทคโนโลยี) ส่วนการจัดกลุ่มอื่นๆ ขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้งานของสาขา เช่น สาขาเครื่องแต่งกาย และสิ่งทอในครัวเรือน เน้นการถ่ายทอดวัฒนธรรมและประเพณี ผ่านทางศิลปะความงามซึ่งเป็นคุณลักษณะเฉพาะของสินค้าเป็นสำคัญ สาขาเทคนิคสิ่งทอ เปรียบเสมือนสายงานใหม่ที่กำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 2513 และเป็นสาขาที่เติบโตมากที่สุดในส่วนของอุตสาหกรรมสิ่งทอ สาขาเทคนิคสิ่งทอเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 30 ในปี 2551 ขณะที่สาขาสิ่งทอในครัวเรือนไม่มีการเปลี่ยนแปลง และสาขาเครื่องแต่งกายลดลงร้อยละ 4 ในช่วงเวลาเดียวกัน

สถานการณ์ของบริษัทฮังการี ในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย

ลักษณะเฉพาะของธุรกิจในฮังการี จะประกอบด้วยผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมาก และผู้บริหารกิจการส่วนบุคคล จำนวนบริษัทที่จดทะเบียนในสาขานี้มีมากกว่า 7,000 ราย บริษัทที่ว่าจ้างพนักงานมากกว่า 20 คนในอุตสาหกรรมสิ่งทอมีจำนวน 178 แห่ง และในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายมีจำนวน 293 แห่ง

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ เช่น ลูกค้าหรือกลุ่มผู้รับสินค้า ประเภทหรือลักษณะของบริษัทในเครือ ตำแหน่งทางการตลาด และความสามารถในการสร้างสรรค์ของบริษัทที่จะปรับตัว และแก้ไขปัญหาต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

สามารถกล่าวได้ว่า ปัจจุบันนี้ อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายเป็นสาขาที่มีการแข่งขันทั่วโลกสูงสุด และมีปริมาณเกินความต้องการของตลาด มีผลกำไรต่ำสุดเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นจากตัวสินค้า การเพิ่มมูลค่าให้ตัวสินค้านั้น ต้องมาจากการออกแบบ การพัฒนาสินค้า และการทำตลาด

ในตลาดเครื่องแต่งกายฮังการี ประกอบด้วยบริษัทผู้ผลิตสิ่งทอจำนวนน้อย แต่ผู้ผลิตเครื่องแต่งกายมีจำนวนมาก ผู้ผลิตสิ่งทอต้องประสบกับปัญหาสองด้านคือ การแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาถูก และการปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น

ในสาขาเครื่องแต่งกาย บริษัทขนาดกลางและใหญ่ ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 100 คน ต่างเป็นบริษัทในเครือของบริษัทข้ามชาติทั้งสิ้น บริษัทขนาดเล็ก (มีพนักงาน 50-100 คน) ไม่มีสายป่านยาว ทำงานด้วยนักออกแบบของตนเอง และสร้างคอลเลคชั่นตามฤดูกาล ณ ปัจจุบัน บริษัทส่วนใหญ่ผันตัวเองไปเป็นเพียงซัพพลายเออร์ ผลิตสินค้าให้กับบริษัทขนาดใหญ่ เพราะเป็นวิถีทางที่จะช่วยให้กิจการขนาดเล็กสามารถอยู่รอดได้

SWOT analysis

Strength

  • คุณภาพดี
  • มีวัฒนธรรมสิ่งทอที่สืบต่อกันยาวนาน
  • แรงงานที่มีความชำนาญสูง
  • นักออกแบบมีความคิดสร้างสรรค์

Weakness

  • ราคาสินค้าสูงกว่าคู่แข่งขันมาก (จากจีน เวียดนาม เกาหลี)
  • การตอบสนองทางด้านข้อมูล ข้อเสนอทางธุรกิจ หรือคำถามต่างๆช้ามาก
  • เงื่อนไขการค้าไม่เป็นที่ชื่นชอบมากนัก (การขนส่งใช้เวลานาน เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าปริมาณมาก และเงื่อนไขการชำระเงินไม่ยืดหยุ่น)

Opportunities

  • ตำแหน่งที่ตั้งของฮังการี
  • ผู้ผลิตฮังการีมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์หลายปี ในการร่วมงานและเป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัททางแถบยุโรปตะวันตก
  • การตั้งสำนักงานสาขาของบริษัทไทย ซึ่งได้รับความสำเร็จและประสบการณ์สูงในการทำตลาดแถบยุโรป

Threats

  • รวดเร็ว และยืดหยุ่นสูง จึงจะสามารถแทรกซึมตลาดได้มากกว่าคู่แข่งขัน ช้าเพียงเล็กน้อย อาจเป็นการพลาดโอกาสอันใหญ่หลวง
  • เสนอสินค้าคุณภาพแต่ราคาแพง สร้างความเสียหายต่อภาพพจน์สินค้า
  • สินค้าไม่มีตัวตนอยู่ในตลาด

การตลาด

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการค้าเช่นกัน รูปแบบบริษัทในเครือที่สืบต่อกันยาวนานทั้งค้าปลีกและค้าส่ง ต่างสูญหายหรือต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ แม้กระทั่งธุรกิจส่วนตัวของนักลงทุนต่างชาติ (เช่นบริษัทของออสเตรีย Kleider Bauer ) ก็ต้องล้มเลิกกิจการ การทำธุรกิจมีทั้งความเสี่ยงในด้านปัญหาภาษีศุลกากร ตามกระแสสินค้านำเข้าจากกลุ่มสหภาพยุโรป และปัญหาสินค้าราคาถูกจากประเทศจีน ทั้งหมดนี้ ไม่เพียงแต่มีผลกระทบต่อราคาสินค้าตามห้างสรรพสินค้าเท่านั้น ตลาดรวม ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน

ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทค้าปลีกในเครือที่มีชื่อเสียงมากมาย เข้ามาทำตลาดในฮังการี เช่น Charles V?gele (สวิสเซอร์แลนด์), Hennes&Mauritz (สวีเดน), C&A (เยอรมนี), Zara (สเปน)

ช่องทางการนำสินค้าเครื่องแต่งกายสู่ผู้บริโภค

  • ตัวแทนจำหน่าย (Agent) ได้รับข้อเสนอจากซัพพลายเออร์ต่างชาติ และดำเนินการขายสินค้าตามข้อสัญญาทางธุรกิจ
  • ผู้นำเข้าหรือผู้ค้าส่ง (Importer or wholesaler) ช่องทางนี้เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ความแตกต่างระหว่างทั้งสองคือ ผู้ค้าส่งซื้อสินค้าโดยตรงจากซัพพลายเออร์ในประเทศ ขณะที่ผู้นำเข้ามีหุ้นส่วนทางธุรกิจในต่างประเทศ การทำงานของผู้ค้าส่ง โดยปกติแล้วจะทำตัวอย่างส่งไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หลังจากนั้นลูกค้าจะมาเยี่ยมชมที่คลังสินค้า และทำการซื้อขายสินค้า การทำงานของผู้นำเข้าและค้าส่ง มีการจ้างนักท่องเที่ยวให้นำสินค้าที่หลากหลายจากแหล่งผลิต มาเสนอขายแก่พวกเขาเหล่านั้น
  • ผู้ผลิต (Makers/producers) โดยปกติแล้ว จะมีร้านขายส่งหรือร้านขายสินค้าจากโรงงานของตัวเอง ซึ่งก็คือคลังสินค้าที่ประกอบด้วยร้านขายปลีกขนาดใหญ่ 2-3 แห่ง
  • ผู้ค้าส่งหลายรายจะร่วมทำธุรกิจเฉพาะกับตัวแทนจำหน่ายแห่งภูมิภาคเท่านั้น
  • ปัจจัยในการตัดสินใจซื้อ “ราคา การออกแบบ คุณภาพ ความพึงพอใจ และรสนิยม”

ราคา มีการแข่งขันที่รุนแรงมากในตลาดเครื่องแต่งกาย จึงไม่มีบริษัทที่ผูกขาดการครองตลาด ดังนั้น ราคา จึงขึ้นอยู่กับข้อเสนอและปริมาณที่ต้องการซื้อ โดยปกติแล้ว ข้อเสนอมักเกินกว่าความต้องการสินค้า รวมถึงความเป็นไปได้ในการนำเข้าอย่างเสรีจากประเทศในเขตอียู

การออกแบบ คุณภาพ ความพึงพอใจ และรสนิยม มีความแตกต่างอยู่สองแนวทาง แบบแรกคือ แนวอนุรักษ์นิยม (เกือบทั้งหมดเป็นลักษณะเฉพาะของผู้ผลิตจากเยอรมนี) แบบที่สองคือ แนวหนุ่มสาว (เป็นลักษณะของผู้ผลิตจากอิตาลี และ ฝรั่งเศส) ในแนวอนุรักษ์นิยมจะใช้วิธีผลิตสินค้าเป็นปริมาณมาก และตั้งราคาในระดับปานกลาง ส่วนในแนวหลังจะผลิตสินค้าจำนวนน้อย แต่ตั้งราคาที่สูงกว่า

ประเทศคู่แข่งขัน

          - จีน        คือคู่แข่งขันที่ใหญ่สุด  การออกแบบ และคุณภาพสินค้าต่ำ แต่ราคาถูกมาก
  • ตุรกี สินค้ามีคุณภาพดีกว่า และผลิตจำนวนน้อยกว่าจีน จึงเหมาะสมสำหรับการส่งออก
  • สมาชิกอียู เช่น อิตาลี สเปน มีข้อได้เปรียบในการขยายระยะเวลาการจ่ายเงิน (long term credits) แก่ลูกค้าที่มี

ศักยภาพ (ตามข้อมูลบริษัทประกันภัยสินเชื่อในประเทศนั้นๆ) ซึ่งต่างจากผู้ส่งออกของไทยที่ไม่สามารถเสนอเงื่อนไขนี้ได้

พฤติกรรม และ แรงจูงใจในการซื้อของผู้บริโภคในฮังการี และยุโรป

บริษัทวิจัยตลาด GFK ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าในประเทศต่างๆ เพื่อศึกษาว่าอะไรคือแรงจูงใจก่อนการตัดสินใจซื้อ ผลการสำรวจประชากรจำนวน 20,000 คนจาก 20 ประเทศ ตอบคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการแต่งตัว ร้อยละ 83 ให้เหตุผลในการซื้อเสื้อผ้าเพราะความจำเป็น รองลงมาร้อยละ 73 เพราะการจัดโปรโมชั่น (ส่วนใหญ่จาก เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และตุรกี) ร้อยละ 54 ซื้อเพราะเป็นความสุข ที่มาของสินค้ามีความสำคัญร้อยละ 52 และมีเพียงร้อยละ 38 เท่านั้นที่คำนึงถึงแฟชั่นล่าสุดเป็นปัจจัยในการซื้อ

การมีแนวทางการทำงานที่หลากหลาย คือการสั่งสมประสบการณ์ต่อสาขาวิชาชีพนั้นๆ อย่างไรก็ตาม “ราคา” ยังคงเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ต่อการตอบสนองของประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้น ผู้ซื้อจึงเลือกซื้อสินค้าราคาถูกจากผู้จำหน่ายที่ตลาดจีน เพื่อเพิ่มปริมาณการซื้อได้มากขึ้น สำหรับกลุ่มผู้ซื้อที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องราคา แต่เครื่องแต่งกายตามสมัยแฟชั่นล่าสุด กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นชาวเมืองที่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินรายได้ และกลุ่มนักธุรกิจหนุ่มสาว หรือวัยกลางคน

จากสถิติล่าสุดปี 2553 การซื้อเครื่องแต่งกายของผู้บริโภค ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ระหว่างคู่แข่งขันตลาดเครื่องแต่งกาย ห้างสรรพสินค้า บริษัทสิ่งทอในเครือข้ามชาติที่ทำการลดราคา และร้านค้าจากเอเชียตะวันออก มีผลการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น

ที่มา: KSH, VG, Hungarian Society of Textile, Technology and Science

สคร. ณ กรุงบูดาเปสต์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ