การทำธุรกรรมการเงินกับธนาคารในสหรัฐฯ สำหรับบริษัทต่างชาติที่เปิดสาขาในสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 28, 2011 11:25 —กรมส่งเสริมการส่งออก

บริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในสหรัฐฯ

ปัจจุบัน บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ สหรัฐอเมริกา มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ มูลค่าการลงทุนในปี 2552 จากกลุ่มประเทศในภูมิภาค เอเชียซึ่งเป็นธุรกิจสัญชาติ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง

เกาหลี ไต้หวัน อินเดีย อินโดนิเซีย มาเลเซีย และไทย มีมูลค่าถึง 390, 980 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับมูลค่าการลงทุนจากบริษัทต่างชาติที่ตั้งอยู่ในเขต ตอนกลาง (Midwest) ของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งสำนักงานส่งเสริม การค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก ดูแลจำนวน 16 มลรัฐ มีมูลค่า 289,437 ล้านเหรียญฯ ซึ่งจำแนกตามประเภทที่มีสัดส่วนอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ อิเลคทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล เครื่องมือแพทย์ ธุรกิจการเกษตร ปิโตรเลียมและพลังงาน รวมทั้งการเปิดบริษัทค้าปลีกและค้าส่ง เป็นต้น

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานฯ ชิคาโก ได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลจาก Mr. Kevin R Kalus รองประธาน JPMorgan Chase Foreign Multinational Corporate Group (FMNC) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของธนาคาร Chase ในสหรัฐฯ และ Mr. Bela Szabados ตำแหน่ง Business Relationship Manager ของ Chase Business Banking ทางด้านการดำเนินธุรกรรมกับธนาคารสำหรับริษัทต่างชาติที่มีสำนักงานสาขา (Subsidiary) ในสหรัฐฯ มีข้อมูลสังเขป ที่อาจจะประโยชน์กับผู้ประกอบการไทย ดังนี้

ข้อกำหนดทั่วไปในการเปิดบัญชีประเภทธุรกิจ (Business Account) ของบริษัทต่างชาติในสหรัฐฯ จำเป็นต้องประกอบด้วย

1.ใบจดทะเบียนบริษัทของรัฐ (State Certification) ซึ่งการจดทะเบียนบริษัทในรูปแบบต่างๆ จะต้องปฏิบัติภายใต้กฏหมายของสหรัฐฯ

2.หมายเลขภาษีการค้า (U.S. Federal Tax Identification Number) ซึ่งจะได้รับเมื่อมีการจัดตั้ง/จดทะเบียน/บริษัทใหม่

3.ผู้ที่มีอำนาจลงนามในบัญชีของบริษัท จะต้องมายื่นเรื่องการเปิดบัญชีกับทางธนาคารด้วยตนเอง

อนึ่ง ในการเปิดบัญชีกับธนาคารในสหรัฐฯ บุคคลที่มิได้มีถิ่นฐานในสหรัฐฯ (Non-Residents) ไม่จำเป็นจะต้องมีหมายเลข US Social Security Number (SSN)

หมายเลข Social Security Number (SSN) คือหมายเลขประจำตัวของพลเมืองสหรัฐฯ (U.S. Citizen) หรือบุคคลต่างด้าวที่มีถิ่นฐานถาวรในสหรัฐฯ (Permanent Resident ที่ถือใบเขียว-Green Card) หรือบุคคลต่างด้าวที่ถือวีซ่าประเภทอื่นแต่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในสหรัฐฯ ถูกต้องตามกฏหมายในระยะเวลาที่กำหนดจากหน่วยงาน Department of Homeland Security (DHS)

การให้บริการทั่วไปของธนาคารในสหรัฐฯ เหมือนกับธนาคารต่างๆ การบริการรับโอนเงินทั้งในและต่างประเทศ การชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ (Bill Payments) การจ่ายเงินเดือนพนักงาน (Payroll Payments) การบริการด้านการป้องกันการฉ้อฉลบัญชี การให้บริการด้านระบบแจ้งเตือนภัยทาง Online จัดส่งบัญชีรายเดือน บริการด้าน ACH Collections & Payments ( ACH-Automated Clearing House) ซึ่งเป็นบริการการจ่ายเงิน (Credit) และหักเงิน (Debit) แบบอัตโตมัติในบัญชี เป็นต้น

การให้สินเชื่อสำหรับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาเปิดสำนักงานสาขาในสหรัฐฯ ธนาคารจะพิจารณาจาก

  • เงินลงทุน/ วงเงิน Credit ของบริษัท
  • ระยะเวลาของเงินกู้
  • ระบบการเงินของบริษัท , Letter of Credit

กุญแจสำคัญในการพิจารณาการให้สินเชื่อ

1. บัญชีการเงินย้อนหลัง 3 ปี

2. บัญชีการเงินของบริษัทแม่

3. Letter of Credit ของบริษัทแม่

หากผู้ประกอบการไทย ที่มีแผนการในการเปิดสำนักงานสาขาในสหรัฐฯ นอกจากการเตรียมตัวในด้านการจัดหาทนายความ/บริษัทที่ปรึกษาในการจัดตั้งบริษัท หรือบริษัทจัดทำบัญชี ฯลฯ แล้ว สำหรับข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมในการเปิดบัญชีธนาคารในการทำธุรกรรมต่างๆ สำนักงานฯ ใคร่ขอแนะนำให้ติดต่อสอบถามข้อกำหนด/รายละเอียดเพิ่มเติมโดยตรงที่ Mr. Bela Szabados Relationship Manager, Chase Business Banking RM Channel Email : bela.szabados@chase.com (ดูแลบริษัทที่มีเงินทุนตั้งแต่ 2 -20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

หรือ Mr.Kevin R.Kalus, Vice President, Foreign Multinational Corp.

Tel: 312-732-6569 Email: Kevin.r.kalus@chase.com (ดูแลบริษัทที่มีเงินทุนตั้งแต่ 20 ล้านเหรียญฯ ขึ้นไป)

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ