รายงานสถานการณ์ความไม่สงบในบาห์เรน...ล่าสุด..เดือนมีนาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2011 11:23 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานกาณณ์ความไม่สงบในประเทศบาห์เรนที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลยังน่าวิตก ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2554 King Hamad ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 3 เดือน

กลุ่มผู้ประท้วงปักหลักที่จตุรัส "เพิร์ล" ในกรุงมานามาประเทศบาห์เรน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก และให้มีการปฏิรูปทางการเมืองจากคณะผู้ปกครองราชวงศ์ Khalif ต่อมา King Hamad Bin Issa Al Khalifa แห่งบาห์เรนยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝ่ายค้านที่ต้องการสัญญาณที่ชัดเจนเรื่องการปฏิรูปการเมืองให้อำนาจประชาชนเลือกตั้งรัฐบาลโดยตรง และเพื่อยุติการลุกฮือต่อต้าน โดยได้สั่งให้ปล่อยนักโทษการเมืองบางส่วนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เพื่อลดแรกกดดัน แต่ก็ไม่เป็นที่พอใจ ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลบาห์เรนหลายพันได้คนเดินขบวนไปยังหน้ากระทรวงมหาดไทยในกรุงมานามา เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดในวันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2554 และเกิดเหตุปะทะกันอย่างหนักระหว่างกองกำลังเจ้าหน้าที่บาห์เรนและกลุ่มผู้ประท้วงที่เป็นมุสลิมชีอะห์ เป็นผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 200 คน

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 รัฐบาลผู้ปกครองซึ่งเป็นมุสลิมสุหนี่ได้เปิดทางให้กองกำลังจากชาติพันธมิตรในอ่าวเปอร์เซียเข้ามาช่วยดูแลรักษาความไม่สงบภายในประเทศ โดยซาอุดิอาระเบียส่งกองกำลัง 1000 นาย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ส่งตำรวจ 500 นาย เข้าไปในบาห์เรนโดยใช้ยานพาหนะทางบกทหารผ่านสะพานที่สร้างขึ้นเชื่อมระหว่างบาห์เรนกับซาอุดิอาระเบีย เพื่อช่วยสนับสนุนคณะผู้ปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นิกายสุหนี่ซึ่งเป็นชนส่วนน้อยของบาห์เรน (หรือร้อยละ 30 ของประชากร) ที่กำลังเผชิญกับการประท้วงต่อต้านที่นำโดยชาวชีอะห์ ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ขยายวงออกไป

กองกำลังจากภายนอกเหล่านี้จะเข้ามาช่วยปกป้องสถานที่สำคัญต่างๆ อย่างสถานีไฟฟ้าและคลังน้ำมันต่างๆ ซึ่งกองกำลังทั้งสองชาตินี้เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังกลุ่มสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ หรือ Gulf Cooperation Council : GCC ซึ่งประกอบด้วยประเทศ 6 ชาติในย่านอ่าวเปอร์เซีย ได้แก่บาห์เรน โอมาน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย และคูเวต

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม King Hamad ของบาห์เรนได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 3 เดือนและมอบหมายให้ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพบาห์เรนมีอำนาจเด็ดขาดในการปราบปรามการชุมนุมของมุสลิมนิกายชีอะห์ที่เป็นมุสลิมกลุ่มใหญ่ (ร้อยละ 70 ของประชากร)ในประเทศ การส่งกำลังต่างชาติเข้าไปในบาห์เรนสร้างความกังวลใจให้กับองค์การสหประชาชาติ และได้เตือนเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวพร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฎิบัตทุกอย่างเพื่อไม่ให้มีการใช้กำลังและความรุนแรง รวมทั้งโฆษกรัฐบาลสหรัฐฯได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายจะต้องเคารพสิทธิของประชาชนในบาห์เรนสูงสุด

รัฐบาลซาอุฯและสหรัฐอาหรับฯ แถลงการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้ว่า อยู่ในกรอบภายใต้ข้อตกลงของกลุ่ม GCC ที่ระบุว่าอันตรายใด ๆ ที่จะพึงเกิดขึ้นกับความมั่นคงของประเทศสมาชิก ให้ถือเสมือนเกิดขึ้นกับประเทศสมาชิกทั้งหมด ทั้งสองประเทศจึงได้สนองตอบข้อเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศบาห์เรนเพื่อช่วยเหลือดังกล่าว

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านได้ออกมาประนามการใช้กองกำลังต่างประเทศครั้งนี้ ซึ่งทำให้รัฐบาลบาห์เรนไม่พอใจและถือว่าเป็นการแทรกแซงการเมืองภายในบาห์เรน และตอบโต้ด้วยการเรียกทูตบาห์เรนประจำอิหร่านกลับประเทศ

เหตุการณ์ในบาห์เรนจะยังไม่สงบในเวลารวดเร็ว สาเหตุไม่ใช่แต่เพียงความต้องการปฎิรูปการปกครอง แต่เกี่ยวเนื่องกับความเหลื่อมล้ำทางศาสนาและนิกาย และมีการแทรกแซงจากภายนอกโดยเฉพาะอิหร่านและซาอุดิอาระเบีย

การค้าระหว่างไทยกับบาห์เรนเมื่อปี 2553 มูลค่ารวม 331 ล้านเหรียญสรอ ไทยส่งออกประมาณ 131 ล้านเหรียญสรอ ได้แก่สินค้า รถยนต์ เครื่องประดับอัญมณี ผลิตภัณฑ์ทองแดง ข้าว เครื่องปรับอากาศ ผ้าผืน ตู้เย็น คอมเพรสเซอร์ และเสื้อผ้า ในขณะที่นำเข้าจากบาห์เรนมูลค่า 199.5 ล้านเหรียญสรอ. ได้แก่ สินค้า น้ำมันสำเร็จรูป เศษเหล็ก เหล็ก และผลิตภัณฑ์เคมี เป็นต้น

สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบาห์เรนอาจจะขยายวงกว้าง จะมีผลกระทบต่อไทยทางอ้อมจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่วนผลกระทบต่อการค้าและส่งออกของไทยนั้น ยังไม่เห็นผลกระทบรุนแรง เนื่องจากไทยส่งออกไปบาห์เรนมูลค่าน้อย และมีการนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำมันสำเร็จรูป อย่างไรก็ตามสคร.ดูไบจะติดตามสถานการณ์และรายงานให้ทราบต่อไป

สำนักงานการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ